นับเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นไม่น้อยสำหรับการพบไข่จระเข้น้ำจืดในป่าแก่งกระจาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำออกมาเพื่อฟักก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เนื่องจากเกรงว่าหากปล่อยให้ฟักเองอาจมีอัตรารอดต่ำ แต่ก็มีเสียงแย้งว่าเป็นการเสียโอกาสศึกษาจระเข้เด็กในธรรมชาติ
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ให้ความเห็นแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงการนำไข่จระเข้น้ำจืด 46 ฟองที่พบบริเวณแม่น้ำเพชรบุรีออกมาฟักว่า เขาได้ทำวิจัยเรื่องจระเข้น้ำจืดมา 3-4 ปีแล้ว โดยพบว่าแม่น้ำในอุทยานที่มีความยาว 60 กิโลเมตรนั้น มีจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย 5 ตัว
จากการสำรวจร่วมกับ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society: WCS) นายชัยวัฒน์กล่าวพบการวางไข่ของจระเข้ แต่เมื่อปล่อยให้ฟักเองกลับไม่พบตัวลูกจระเข้ เนื่องสัตว์ตามธรรมชาติ เช่น ตัวนาก ตัวเหี้-ย ได้ขุดคุ้ยกินหมด อีกทั้งรังล่าสุดยังพบว่าวางไข่ในที่ต่ำมาก จึงมีโอกาสถูกน้ำท่วม ซึ่งภายใน 3 ชั่วโมงก็ตาย
สำหรับไข่ที่เก็บมานั้นพบว่า มีไข่เน่าไป 2 ฟอง และมีไข่ที่มีการผสมเชื้อของตัวผู้ โดยพบจระเข้ตัวผู้และตัวเมีย 2 ตัวอยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งหัวหน้าแก่งกระจาน กล่าวว่าที่ผ่านมาจะใช้รถยนต์ไปขน แต่ปีนี้ได้เฮลิคอปเตอร์มาขนไข่ไปฟักที่ฟาร์มจระเข้ใน จ.นครปฐม ที่มีความพร้อมทั้งในการฟัก การอนุบาล และกำหนดเพศลูกจระเข้ โดยสัดส่วนที่เหมาะสมคือตัวผู้ 1 ตัวต่อตัวเมีย 4 ตัว
“แก่งกระจานเป็นแหล่งอาศัยเดิมของจระเข้น้ำจืดอยู่แล้ว แต่นับจากปี 2514 ที่มีการเปิดเป็นป่าสัมปทาน ทำให้จระเข้ถูกล่าไปมาก” นายชัยวัฒน์ กล่าว พร้อมบอกด้วยว่าการพบจระเข้นั้นเป็นดัชนีชี้วัดถึงวามอุดมสมบูรณ์ ซึ่งแก่งกระจานนั้นมีความหลากหลายของสัตว์ป่าจำนวนมาก
เมื่อถามว่านำจระเข้เลี้ยงที่มีอยู่มากไปปล่อยทดแทนในแหล่งอาศัยเดิมได้หรือไม่ หัวหน้าอุทยานแก่งกระจาน กล่าวว่า ต้องตรวจดีเอ็นเอเสียก่อนว่าเป็นจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยหรือไม่ ซึ่งการปล่อยให้จระเข้ธรรมชาติฟักเองจะมีโอกาสฟักเป็นตัวแค่ 20% แต่ถ้านำมาฟักเองมีโอกาสฟักเป็นตัว 70-80% ในกรณีล่าสุดน่าจะเหลือจระเข้ฟักเป็นตัวและอยู่รอดเพียง 1-3 ตัว
“คาดว่าไข่ที่นำมาฟักมีอายุประมาณ 3 อาทิตย์ ซึ่งปกติจระเข้จะใช้เวลาประมาณ 70 วันเพื่อฟักเป็นตัว” นายชัยวัฒน์ กล่าว
ด้าน นายสัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร นายกสมาคมส่งเสริมการอนุรักษ์และเพาะเลี้ยงจระเข้แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการพบไข่จระเข้ว่าเป็นเรื่องดี ซึ่งการนำออกมาฟักก็ถือว่าดี เพราะหากทิ้งให้ฟักเองจะมีความเสี่ยงในเรื่องศัตรูที่เข้าไปกินไข่ หรือถูกน้ำท่วมเสียหาย แต่การนำไข่ออกมาต้องทำอย่างถูกวิธีและฟักให้ถูกต้องเหมาะสม
อย่างไรก็ดี การนำไข่จระเข้ในธรรมชาติออกมาฟักนั้นกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม (SiamEnsis.org) ว่า แม้การนำออกมาฟักเองลูกจระเข้มีโอกาสรอดสูงกว่า แต่ก็ไม่จำเป็นต้องนำไข่จระเข้ดังกล่าวออกมาฟัก เพราะจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยที่เพาะเลี้ยงไว้นั้นมีจำนวนมากและไม่ถึงขั้นวิกฤตสูญพันธุ์
ดร.นณณ์ ผานิตวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นว่า การฟักเองในธรรมชาติไม่มีทางที่ลูกจระเข้จะรอดหมด แต่ด้วยลำน้ำที่ไม่ใหญ่มากคงเป็นพื้นที่อาศัยแก่จระเข้ได้ไม่กี่ตัว และมีจระเข้สายพันธุ์ไทยอยู่มากมายในแหล่งเพาะเลี้ยง จึงไม่จำเป็นต้องให้จระเข้รอดทั้งหมด หรือนำมาเพาะขยายพันธุ์แต่ประการใด
“คือถ้าเป็นสัตว์ที่หายากในที่เลี้ยงก็ไม่มี ผมเห็นด้วยมากที่ควรจะต้องเก็บมาเพื่อให้มันรอดมากที่สุด อาจจะกระจายปล่อยส่วนหนึ่ง เก็บไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในที่เลี้ยงส่วนหนึ่ง แต่ในกรณีของ ครอโคไดลัส สยามเอ็นซิส (Crocodylus siamensis) ไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย มันเป็นการสูญเสียโอกาสในการวิจัยจระเข้เด็กในธรรมชาติ ซึ่งเป็นโอกาสครั้งแรกของไทย” ความเห็นส่วนหนึ่งของ ดร.นณณ์
นอกจากนี้ ดร.นณณ์ ให้ความเห็นอีกว่าไข่จระเข้ที่พบนั้นอยู่กลางป่า ถึงปล่อยไว้แม่จระเข้คงดูแลไข่เองได้ ต่างจากกรณีจระเข้ที่คลองชมพู จ.พิษณุโลก ซึ่งอยู่ในพื้นท่ี่ป่าไม่ลึกและโดนชาวบ้านรบกวนจนแม่จระเข้ทิ้งรัง อีกทั้งเขายังไม่มั่นใจว่าการลำเลียงลูกจระเข้อายุ 1 ปี จำนวนหลายสิบตัวกลับเข้าไปกลางป่านั้นเป็นเรื่องยากหรือง่ายแค่ไหน