ศูนย์วิจัยพลังงานแสงอาทิตย์และไฮโดรเจนในเยอรมนีเผยความสำเร็จในการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออน ให้สามารถชาร์จใหม่ได้ถึง 10,000 รอบ หากนำมาใช้งานกับรถไฟฟ้าก็จะใช้แบตฯ ก้อนดังกล่าวได้นานถึง 27 ปี แต่ต้องชาร์จทุกวัน
รายงานของ Phys.org ระบุว่า เจ้าหน้าที่บริษัทศูนย์วิจัยพลังงานแสงอาทิตย์และไฮโดรเจนบาเดน-วืทเทมเบิร์ก (Centre for Solar Energy and Hydrogen Research Baden-Württemberg :ZSW) ในเยอรมนี เผยว่าได้พัฒนาแบตเตอรีลิเทียม-ไอออน ที่สามารถประจุไฟซ้ำได้ถึง 10,000 รอบ โดยที่ยังคงเก็บประจุได้ 85% เมื่อใช้งานถึงรอบดังกล่าว
หากใช้งานแบตเตอรี่ดังกล่าวกับรถไฟฟ้า ทีมวิจัยระบุว่า ผู้ใช้สามารถประจุไฟซ้ำทุกวันเพื่อใช้งานแบตเตอรีก้อนดังกล่าวนานถึง 27.4 ปี ขณะที่แบตเตอรีของยานพาหนะไฟฟ้าในปัจจุบันมีราคาแพงมาก แต่ต้องเปลี่ยนหลังจากใช้งานเพียง 8-10 ปี หรือบางกรณีเพียงแค่ 3 ปี และกลายเป็นปัจจัยที่หลายคนไม่เลือกใช้รถไฟฟ้า
อายุแบตเตอรี่ที่ยาวนานได้ 25-30 ปี ซึ่งอาจจะทนกว่าชิ้นส่วนอื่นๆ ของรถยนต์ รวมถึงทนกว่าตัวรถเอง อีกทั้งมีราคาไม่แพง จะกลายเป็นเหตุผลกระตุ้นให้ผู้ซื้อรถเปลี่ยนใจจากรถยนต์ที่ยังต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิล มาเป็นรถไฟฟ้าแทน
ทว่าการประกาศของ ZSW ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่อุตสาหกรรมยานนต์มากนัก เพราะเมื่อปีที่ผ่านมาทางบริษัทได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารเจอร์นัลออฟพาวเวอร์ซอร์ส (Journal of Power Sources) ซึ่งอธิบายถึงงานวิจัยด้านการปรับปรุงกระบวนการผลิตอิเล็กโทรดระดับอุตสาหกรรม ซึ่งพวกเขาอ้างว่าจะยืดอายุการใช้งานแบตเตอรีลิเทียมไอออนได้อย่างมหาศาล
ทีมวิจัยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงความหนาของอิเล็กโทรด การอัดแน่นของอิเล็กโทรดระหว่างการใช้งาน และชนิดของสารตัวนำที่ใช้ในโครงสร้างที่มีวิศวกรรมแบบใหม่ จะช่วยยืดอายุแบตเตอรี่ให้สามารถประจุไฟได้มากครั้งขึ้น โดยการออกแบบแบตเตอรี่ใหม่นี้ให้ความหนาแน่นของกระแสมากกว่าแบตเตอรี่ปัจจุบัน 4 เท่า (แบตเตอรีปัจจุบันมีความหนาแน่นกระแส 1,100 วัตต์ต่อกิโลกรัม) และถูกออกแบบเพื่อใช้สำหรับพลังงานที่ได้จากลม ฟาร์มเซลล์แสงอาทิตย์ และยานยนต์
ระหว่างแถลงข่าว ZSW ไม่ได้เผยว่าพวกเขาตั้งเป้าส่งแบตเตอรี่แบบใหม่ไปยังผู้ผลิตเพื่อใช้สำหรับรถยนต์หรืออุปกรณ์สำรองพลังงานทางเลือก ซึ่ง Phys.org ตีความว่าทางบริษัทน่าจะกำลังทดสอบว่า แบตเตอรี่ไม่เพียงแค่ทนอย่างเดียว แต่ประหยัดพลงงานด้วย โดยทางบริษัทยังระบุด้วยว่า ได้ออกแบบเซลล์พลังงานแบบใหม่เอง รวมถึงกำลังพัฒนากระบวนการผลิตระดับอุตสาหกรรมสำหรับแบตเตอรีด้วย