เอเอฟพี - กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่น เผยวันนี้ (28) ว่า เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยไม่พบปัญหาสำคัญในสายการผลิตแบตเตอรีสำหรับเครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ แต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคมรายหนึ่ง เผยว่า ไม่พบปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพ หรือปัญหาทางเทคนิคสำคัญใดๆ หลังเจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่น และสหรัฐฯ สิ้นสุดการตรวจสอบโรงงานผู้ผลิตแบตเตอรี จีเอส ยัวซา เป็นเวลา 1 สัปดาห์
ขณะที่หน่วยงานกำกับการบินต่างพุ่งเป้าไปที่แบตเตอรีลิเทียม-ไอออน ว่า เป็นสาเหตุของปัญหาที่ทำให้เครื่องบินออล นิปปอน แอร์เวยส์ (เอเอ็นเอ) ต้องลงจอดฉุกเฉินเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา โดยยังได้เผยภาพซากแบตเตอรีที่ได้รับความเสียหายดำไหม้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ถอดออกจากเครื่องบินลำดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระบุว่า ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า แบตเตอรีดังกล่าวลุกไหม้ ขณะที่ข้อมูลจากเครื่องบันทึกข้อมูลการบินของเที่ยวบินนั้นยังแสดงให้เห็นว่า แบตเตอรีไม่ได้เกิดอาการไฟกระชากด้วย
ทั้งนี้ จีเอส ยัวซา เป็นเพียง 1 ในหลายๆ บริษัทผู้รับจ้างจากห่วงโซ่การผลิตทั่วโลกที่ซับซ้อน ซึ่งทำให้โบอิ้งต้องส่งมอบดรีมไลเนอร์ให้กับเอเอ็นเอล่าช้าไปถึง 3 ปี ในปี 2011 ที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคมคนดังกล่าว ยังเสริมว่า ขณะที่ทางการจะตรวจสอบซัปพลายเออร์ของชิ้นส่วนต่างๆ ที่ใช้ในกล่องแบตเตอรีดังกล่าวต่อไป
ด้านหนังสือพิมพ์ธุรกิจ นิกเกอิ รายงานว่า เจ้าหน้าที่กำลังสืบค้นบริษัทแห่งหนึ่งในเมืองฟูจิซาวะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงโตเกียว ซึ่งผลิตอุปกรณ์ควบคุมไฟฟ้า และอุณหภูมิในกล่องแบตเตอรี
ก่อนหน้านี้ สำนักงานบริหารการบินสหรัฐฯ (เอฟเอเอ) ผู้กำหนดมาตรฐานการบินของอเมริกา ออกคำสั่งระงับการขึ้นบินของดรีมไลเนอร์ทุกเครื่องเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะแน่ใจว่า ระบบแบตเตอรีซึ่งใช้อยู่ในเครื่องบินรุ่นนี้มีความปลอดภัย