xs
xsm
sm
md
lg

จนท.เตรียมรื้อแบตเตอรี่ “ดรีมไลเนอร์” ตรวจสอบเพิ่ม หลังไม่พบหลักฐานไฟกระชาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานบริษัทจีเอสยัวซา ผู้ผลิตแบตเตอรีให้กับเครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ ในกรุงโตเกียว
เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่สอบสวนเหตุเครื่องบินโบอิ้ง ดรีมไลเนอร์ลงจอดฉุกเฉินในญี่ปุ่น เผยวันนี้ (24) ว่าพวกเขาจะรื้อกล่องแบตเตอรี่ หลังจากตรวจสอบแล้วไม่พบหลักฐานว่าเกิดกระแสไฟกระชากฉับพลันแต่อย่างใด

ความเสี่ยงที่จะเกิดไฟไหม้เนื่องจากแบตเตอรี่ร้อนผิดปกติกลายเป็นความกังวลสำคัญ หลังเกิดเหตุที่นักบินต้องนำเครื่องบินของสายการบินออล นิปปอน แอร์เวย์ส ลงจอดฉุกเฉินเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดควันไฟ ซึ่งคาดว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับแบตเตอรี่ของเครื่องบิน

ภายหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่สอบสวนได้เผยภาพแบตเตอรี่ของเครื่องบินลำดังกล่าวซึ่งไหม้เกรียมเป็นสีดำ

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระบุในวันนี้ว่าไม่พบสิ่งบ่งชี้ถึงไฟที่ไหม้แบตเตอรี่ ขณะที่ข้อมูลซึ่งรวบรวมจากอุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบินดิจิตอล หรือกล่องดำยังแสดงให้เห็นว่าไม่มีกระแสไฟกระชากฉับพลันเกิดขึ้นในแบตเตอรี่นั้นด้วย

เจ้าหน้าที่คณะกรรมาธิการความปลอดภัยการคมนาคมขนส่งญี่ปุ่น (เจทีเอสบี) รายหนึ่งชี้ว่า ความจริงแล้ว กระแสไฟในแบตเตอรี่นั้นอยู่ในระดับปกติ และตกลงอย่างรวดเร็ว ก่อนระบบแจ้งเตือนทำงาน ซึ่งทำให้นักบินต้องนำเครื่องลงจอดฉุกเฉิน

เขายังระบุว่า ไม่อาจมองข้ามความเป็นไปได้ที่แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน เหมือนกับที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ ก้อนใดก้อนหนึ่งในจำนวน 8 ก้อนที่ประกอบอยู่ในกล่องแบตเตอรี่มีประจุไฟเกิน จึงจะต้องมีการรื้อกล่องแบตเตอรี่นั้นออกมาตรวจสอบแต่ละหน่วยย่อย

เจ้าหน้าที่จากเจทีเอสบี และคณะกรรมาธิการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นทีเอสบี) จะแยกชิ้นส่วนของกล่องแบตเตอรี่ ณ สำนักงานบริษัท จีเอส-ยัวซา ผู้ผลิตแบตเตอรีของเครื่องบินสายพันธุ์ใหม่ของโบอิ้งดังกล่าวในเมืองเกียวโต

ส่วนเครื่องบรรจุไฟแบตเตอรี่จะถูกส่งไปยังผู้ผลิตในสหรัฐฯ เพื่อดำเนินการตรวจสอบด้วย เจ้าหน้าที่สอบสวนเสริม

ทีมเจ้าหน้าที่นานาชาติซึ่งรวมถึงวิศวกรจากบริษัทเธลส์ ซึ่งออกแบบระบบไฟฟ้าให้กับดรีมไลเนอร์ได้ทำซีทีสแกนแบตเตอรี่ดังกล่าว ณ โรงตรวจสอบของสำนักงานอวกาศญี่ปุ่น ในกรุงโตเกียวแล้วสัปดาห์นี้
ภาพแบตเตอรีที่ไหม้เป็นสีดำของเครื่องบินดรีมไลเนอร์ ของสายการออล นิปปอน แอร์เวยส์ ซึ่งลงจอดฉุกเฉินในญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น