เอเอฟพี - โบอิ้ง ผู้ผลิตอากาศยานยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ยืนยันเครื่องบินรุ่น 787 ดรีมไลเนอร์ มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน หลังสำนักงานบริหารการบินสหรัฐฯ (FAA) สั่งสายการบินทุกแห่งระงับใช้งานฝูงบินรุ่นดังกล่าว เพื่อตรวจสอบปัญหาเกี่ยวกับแบตเตอรี่ลิเธียมซึ่งอาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้
จิม แมคเนอร์นีย์ ผู้บริหารโบอิ้ง ระบุในแถลงการณ์วานนี้ (16) ว่า “เรามีความมั่นใจว่าเครื่องบินรุ่น 787 ดรีมไลเนอร์ มีความปลอดภัย และเรารับรองความสมบูรณ์พร้อมของเครื่องบินรุ่นนี้”
“เราจะทำทุกมาตรการเพื่อให้ลูกค้าและผู้โดยสารมั่นใจในความปลอดภัยของ 787 และนำเครื่องบินรุ่นนี้กลับมาใช้งานตามปกติ”
สายการบิน ออล นิปปอน แอร์เวย์ส และเจแปน แอร์ไลน์ส ของญี่ปุ่นได้สั่งหยุดบิน ดรีมไลเนอร์ 787 ทั้งฝูงไปแล้วเมื่อวานนี้ (16) และหลังจากที่มีประกาศเพิ่มเติมจากเอฟเอเอ เท่ากับดรีมไลเนอร์ถูกระงับการบินแล้วถึง 30 ลำ จากทั้งหมด 50 ลำที่ใช้งานอยู่ทั่วโลก
“ความปลอดภัยของผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องบินโบอิ้งคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญอันดับหนึ่ง โบอิ้งพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งเอฟเอเอ และจะสอบสวนหาสาเหตุของปัญหาให้เร็วที่สุด” แมคเนอร์นีย์แถลง
ผู้บริหารโบอิ้งกล่าวเสริมอีกว่า “บริษัทรู้สึกเสียใจที่เหตุขัดข้องล่าสุดส่งผลกระทบถึงตารางบินของลูกค้า และสร้างความไม่สะดวกต่อผู้โดยสารของสายการบินที่เป็นลูกค้าเรา”
เอฟเอเอตัดสินใจสั่งหยุดบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ สืบเนื่องจากกรณีที่สายการบิน ออล นิปปอน แอร์เวย์ส ลำหนึ่งลงจอดฉุกเฉินทางตะวันตกของญี่ปุ่น เมื่อวานนี้ (16) และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ออล นิปปอน แอร์เวย์ส 787 อีกลำหนึ่งก็ขอลงจอดฉุกเฉินที่เมืองบอสตัน
ออล นิปปอน แอร์เวย์ส และ เจแปน แอร์ไลน์ส ซึ่งถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ของดรีมไลเนอร์ ประกาศระงับใช้ฝูงบินรุ่นนี้ไปจนถึงวันพฤหัสบดี (18) เป็นอย่างน้อย เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย
ออล นิปปอน แอร์เวย์ มีฝูงบินดรีมไลเนอร์ทั้งสิ้น 17 ลำ ส่วน เจแปน แอร์ไลน์ส มีอยู่ 7 ลำ ซึ่งเมื่อรวมกันคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของดรีมไลเนอร์ที่ใช้งานอยู่ทั่วโลกในขณะนี้
โบอิ้ง ได้รับคำสั่งซื้อดรีมไลเนอร์ 787 จากสายการบินทั่วโลก รวมทั้งสิ้นเกือบ 850 ลำ
ดรีมไลเนอร์ได้รับยกย่องให้เป็นนวัตกรรมใหม่แห่งวงการบิน ด้วยส่วนประกอบและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีน้ำหนักเบา แทนที่จะใช้อะลูมิเนียมและระบบไฮดรอลิกเหมือนเครื่องบินรุ่นเก่า ด้วยเหตุนี้จึงได้รับความสนใจจากสายการบินทั่วโลกที่ต้องการลดรายจ่ายด้านเชื้อเพลิง