xs
xsm
sm
md
lg

ถกจริยธรรม "ให้กำเนิดทายาทหลังตาย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การให้กำเนิดทารกจากอสุจิของพ่อผู้ล่วงลับ สามารถทำได้ในทางการแพทย์ แต่ยังเป็นข้อถกเถียงกันในเรื่องจริยธรรม (ไลฟ์ไซน์/Shutterstock)
ไม่ผิดจริยธรรมแน่หรือ ที่จะให้กำเนิดทารกจากอสุจิของพ่อผู้ล่วงลับ? คำถามที่หมิ่นเหม่ในแง่ของจริยธรรม และยังเหมือนเป็นการฝืนต่อกฎเกณฑ์ธรรมชาตินี้ กำลังเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางในสหรัฐฯ ที่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเร่งทำการศึกษาเพื่อหาข้อสรุปอันไปสู่แนวทางการกำหนดนโยบายในการนำเอาเซลล์สืบพันธุ์ของชายที่เสียชีวิตไปแล้วมาปฏิสนธิกับไข่ของภรรยาผู้สูญเสียสามีอันเป็นที่รัก

ดร.แลร์รี ลิปชูลต์ซ (Dr.Larry Lipshultz) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขับถ่ายปัสสาวะ แห่งวิทยาลัยแพทยศาสตร์เบเลอร์ (Baylor College of Medicine) ในมลรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ กล่าวว่า เรื่องนี้อาจเป็นไปได้ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ที่แพทย์จะสามารถเก็บอสุจิของฝ่ายชายที่เสียชีวิตไปแล้ว เพื่อนำไปผสมกับไข่จากฝ่ายหญิงที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งในปัจจุบันมีความต้องการให้เก็บอสุจิจากผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว (postmortem sperm retrieval : PMSR) มากขึ้น แต่ถึงกระนั้น ในสหรัฐฯ เองก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการควบคุมการเก็บเอาอสุจิจากผู้ล่วงลับไว้ใช้งานหลังการตายของเขา

"เมื่อรัฐบาลยังไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดๆต่อเรื่องนี้ สถาบันการแพทย์ก็ควรจะออกกฎระเบียบของตนเอง เพื่อดูแลและควบคุมการทำงานที่ยังเต็มไปด้วยข้อกังขาในเรื่องจริยธรรมเป็นการชั่วคราวไปก่อน" ลิปชูลต์ซ ได้ให้เหตุผลไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร เฟอร์ทิลิทีแอนด์สเตอริลิที (Fertility and Sterility) ซึ่งเป็นวารสารเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์และการเป็นหมัน

จากรายงานของไลฟ์ไซน์ระบุว่า การร้องขอให้มีการเก็บเซลล์สืบพันธุ์จากผู้ล่วงลับ อาจมาจากความต้องการของภรรยาหรือบิดามารดาของชายหนุ่มที่เสียชีวิตอย่างกระทันหันก่อนที่จะมีโอกาสให้กำเนิดทายาท หรืออาจมาจากความต้องการของผู้ป่วยหนักที่อาจเสียชีวิตในไม่ช้า และหวังอยากเก็บเซลล์สืบพันธุ์ของตนไว้เพื่อใช้งานหลังจากที่ตนได้จากไปแล้ว

ทว่าสถาบันการแพทย์หลายแห่งที่พยายามร่างระเบียบปฏิบัติสำหรับเรื่องดังกล่าว ต้องเผชิญกับความเป็นห่วงกังวลในเรื่องของจริยธรรมมากมาย เช่นว่า บุคคลผู้เสียชีวิตนั้นยินยอมให้มีการนำเอาอสุจิของเขาไปใช้ภายหลังจากที่เขาจากไปแล้วหรือไม่? ไม่ว่าใครก็ตามสามารถร้องขออสุจิของเขาได้ใช่หรือเปล่า? และมันดีที่สุดแล้วหรือที่จะให้ทารกลืมตาดูโลกโดยปราศจากบิดาผู้ให้กำเนิด? แต่มีสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนทุกคนจะเห็นพ้องต้องกันนั่นคือ ความประสงค์ของฝ่ายชายที่เสียชีวิตไปนั้นจะต้องชัดเจน

"หลักสำคัญของแนวทางการปฏิบัติต่อเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของการให้กำเนิดทารกโดยปราศจากการยินยอมของพวกเขา" ความคิดเห็นของอาร์เทอร์ แคปแลน (Arthur Caplan) หัวหน้าแผนกจริยธรรมทางการแพทย์ ศูนย์การแพทย์ลังกอน มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU Langone Medical Center) ซึ่งเขามิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลยกับบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารเฟอทิลลิที แอนด์ สเตอริลลิที

องค์กรด้านการแพทย์บางแห่งก็ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้อย่างเคร่งครัด และร้องขอให้มีการยินยอมจากบุคคลผู้เสียชีวิตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ก่อนที่แพทย์จะทำการเก็บเซลล์อสุจิของเขา อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องโดยมากมักจะมาจากกรณีที่ผู้ชายเสียชีวิตอย่างไม่คาดฝัน โดยที่ยังไม่เคยคิดที่จะให้ความยินยอมที่ชัดเจน

ลิปชูลต์ซกล่าวว่าในกรณีที่ไม่ปรากฏหนังสือแสดงเจตจำนงค์ให้ความยินยอมที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากชายนั้น สถาบันการแพทย์บางแห่งก็ยังคงเคารพในความต้องการของเขา หากมีพยานหลักฐานแสดงว่าอสุจิที่เก็บไว้นั้นเป็นความปรารถนาของผู้ตายเอง เช่นกรณีตัวอย่าง หากคู่สมรสพยายามที่จะมีบุตรและได้มีการนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับเพื่อนหรือครอบครัว นั่นก็แสดงนัยว่าฝ่ายชายยินยอม

ถึงกระนั้น ข้อสมมติฐานธรรมดาสามัญทั่วไปจากการศึกษาวิจัยของลิปชูลต์ซและทีมงานที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ชี้ให้เห็นว่า ชายทุกคนเห็นด้วยกับให้กำเนิดทายาทหลังการตายของเขา ซึ่งจากการศึกษาพบว่าผู้ชาย 85% ไปที่ธนาคารอสุจิเพื่อเตรียมการอนุญาตการใช้งานอสุจิของเขาภายหลังจากที่เขาจากไปแล้ว และไม่ว่าจะเป็นชายที่เคยมีความสัมพันธ์กับคนรัก หรือชายที่เคยเป็นพ่อของเด็กมาแล้ว ส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะยินยอมให้มีการนำอสุจิไปใช้หลังการตายของเขา

ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ แรงจูงใจของกลุ่มบุคคลที่ร้องขอให้มีการเก็บอสุจิของผู้ล่วงลับ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ระบุว่าสมาชิกครอบครัวของผู้จากไปย่อมเศร้าโศกเสียใจมาก จึงอาจตัดสินใจไปตามสภาพการณ์โดยปราศจากเหตุผลก็เป็นได้ ผู้เชี่ยวชาญจึงต้องให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจให้รอคอยเวลาสักสองสามเดือนหรืออาจจะ 1 ปี ก่อนที่จะมีการใช้เซลล์สืบพันธุ์ของผู้ตายในการปฏิสนธิและตั้งครรภ์ต่อไป

ทางด้านแคปแลนตั้งข้อสังเกตว่า มีความกังวลมากมายในเรื่องจริยธรรมที่มาพร้อมกับการปฏิเสธข้อเรียกร้องให้มีการเก็บอสุจิของบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว อาทิ ข้อจำกัดของครอบครัวที่ปารถนาจะสืบเชื้อสายวงศ์สกุล และความกังวลในเรื่องบุคคลภายนอกที่ไม่ควรไปกำหนดว่าใครสามารถมีทายาทต่อไปได้ gxHo9ho

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการดำเนินการเก็บอสุจิภายหลังการเสียชีวิตอย่างไม่ถูกกฎหมายในฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน และอีกหลายประเทศ แม้ว่าจะมีหนังสือยินยอมจากผู้ตายเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม แต่ในสหราชอาณาจักร สามารถทำได้ถ้าหากมีหนังสือยินยอมจากผู้ล่วงลับ ส่วนในอิสราเอลก็สามารถดำเนินการเก็บอสุจิของผู้จากไปไว้ก่อนได้ แต่ตุลาการจะเป็นผู้ตัดสินว่าสามารถนำอสุจินั้นไปใช้ปฏิสนธิและให้กำเนิดทารกต่อไปได้หรือไม่

ขณะที่ในสหรัฐฯ การร้องขอให้มีการเก็บอสุจิหลังของผู้จากไปในบางกรณีได้รับความเห็นชอบภายใต้หลักเกณฑ์ในการบริจาคอวัยวะของรัฐ ซึ่งกฎหมายการบริจาคอวัยวะ ฉบับปรับปรุงแก้ไขในปี 2006 (Universal Anatomical Gift Act of 2006) อนุญาตให้ญาติใกล้ชิดแสดงความยินยอมให้มีการเก็บรักษาอวัยวะหรือเนื้อเยื่อของผู้เสียชีวิตเอาไว้ได้ เว้นแต่มีหลักฐานว่าผู้ตายไม่มีความประสงค์ให้เป็นเช่นนั้น โดยในปี 2006 ตุลาการได้บัญญัติกฎหมายการบริจาคอวัยวะซึ่งหมายรวมถึงอสุจิด้วย ให้สามารถเก็บไว้ได้หากได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของผู้บริจาค ตราบใดที่ผู้บริจาคมิได้มีการปฎิเสธอย่างชัดแจ้ง

จากการวิเคราะห์ข้อมูลของสถาบันการแพทย์ในสหรัฐฯ จำนวน 9 แห่ง ที่มีการจัดทำแนวทางสำหรับการเก็บอสุจิจากผู้ล่วงลับ โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ได้ระบุองค์ประกอบของระเบียบการปฏิบัติงานในเรื่องดังกล่าว ซึ่งสถาบันอื่นๆ สามารถนำไปใช้ในการกำหนดแนวทางของตนเองได้ โดยองค์ประกอบเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แนวทางที่ออกมาเป็นมาตรฐาน เช่น สิ่งที่ถือว่าเป็นหลักฐานของการยินยอม และผู้ที่มีสิทธิร้องขออย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ การศึกษาของทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดยังพบว่า 60% ของสถาบันการแพทย์ที่ทีมนักวิจัยได้ติดต่อเพื่อขอทำการวิจัยในครั้งนี้ต่างระบุว่า พวกเขายังไม่มีข้อกำหนดสำหรับเรื่องดังกล่าว ซึ่งลิปชูลต์ซก็ได้วิเคราะห์ว่า นั่นแสดงให้เห็นว่าสถาบันการแพทย์ที่ถูกร้องขอให้มีการเก็บอสุจิของผู้เสียชีวิต อาจมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินการขัดต่อกฎหมายได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยระบุว่าการศึกษานี้ยังไม่ได้ลงลึกถึงรายละเอียดของแนวทางปฏิบัติใดๆ แต่เป้าหมายในท้ายที่สุดคือการวางนโยบายที่เป็นการเคารพต่อความประสงค์ของผู้ล่วงลับและเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวและเด็กที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต






กำลังโหลดความคิดเห็น