xs
xsm
sm
md
lg

World Plus: การบริจาคอสุจิก่อวิกฤตประชากรร่วมสายเลือด “ล้นเมือง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กฎเกณฑ์การบริจาคอสุจิที่หละหลวมในสหรัฐฯและแคนาดา กำลังก่อปัญหาประชากรที่มีสายเลือดเดียวกันล้นเมือง ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดปกติทางพันธุกรรมหากพี่น้องเหล่านี้จับคู่กันเองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เอเอฟพี - จากเรื่องราวเหลือเชื่อที่ถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ วันนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเริ่มหวั่นวิตกถึงผลกระทบที่เกิดจากการบริจาคเชื้ออสุจิ เนื่องจากกฎหมายที่ยังหละหลวมในแคนาดาและสหรัฐฯทำให้ผู้ชายบางคนต้องกลายเป็น “คุณพ่อ” ของเด็กนับร้อยแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ขณะที่บางประเทศ เช่น อังกฤษ และ ฝรั่งเศส มีกฎหมายระบุชัดเจนว่าเชื้ออสุจิของชายคนหนึ่งจะนำไปผสมเทียมเป็นทารกได้ไม่เกินกี่ราย แคนาดาและสหรัฐฯกลับยังไม่มีการควบคุมในเรื่องนี้

มาตรฐานทั่วๆไปที่ใช้ในหลายประเทศกำหนดให้ชายหนึ่งคนสามารถบริจาคอสุจิเพื่อผสมเทียมเป็นทารกได้ไม่เกิน 20 คน ขณะที่บางประเทศ เช่น เดนมาร์ก กำหนดเพดานสูงสุดไว้ไม่เกิน 25 คน

ธนาคารอสุจิหลายแห่งก็ยังมีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป

กระนั้นก็ดี ใช่ว่ากฎจะต้องเป็นกฎเสมอไป เพราะบางครอบครัวที่ต้องการมีบุตรก็ใช้วิธีเปิดแคตตาล็อกเลือกผู้บริจาค โดยพิจารณาจากลักษณะอันพึงประสงค์ เช่น สีตา หรือ ระดับไอคิว ซึ่งนั่นหมายความว่า ผู้บริจาคบางรายที่ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษอาจมีผู้สืบสายเลือดได้เป็นสิบหรือเป็นร้อยคน

ปรากฏการณ์นี้กลายเป็นปัญหาสำคัญที่นำไปสู่การถกเถียงอย่างกว้างขวางในสหรัฐฯและแคนาดา และจุดประกายให้มีการสร้างภาพยนตร์หรือสารคดีว่าด้วยเรื่องราวโอละพ่อที่เกิดจากการบริจาคเชื้ออสุจิ เช่น ภาพยนตร์ตลก “สตาร์บัก” ซึ่งเข้าฉายในแคนาดาปีนี้ เป็นเรื่องราวของชายโสดที่ยอมขายอสุจิของตัวเองเพื่อหวังรวยทางลัด และสุดท้ายต้องกลายเป็นพ่อของเด็กถึง 533 คน

บาร์รี สตีเวนส์ ผู้กำกับชาวแคนาดา ก็สร้างสารคดีจากประสบการณ์ตรงของตนเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในเด็กซึ่งเกิดจากน้ำเชื้อของผู้บริจาคที่ร่วมงานกับธนาคารอสุจิมานานถึง 3 ทศวรรษ

สตีเวนส์ มีพี่น้องที่เกิดจากบิดาเดียวกันประมาณ 500-1,000 คน กระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งแคนาดา, สหรัฐฯ, ยุโรป และประเทศอื่นๆทั่วโลก

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ สไตล์ เน็ตเวิร์ก ในสหรัฐฯก็เปิดตัวรายการเรียลลิตี้ที่มีชื่อว่า “สเปิร์ม โดเนอร์” (Sperm Donor) โดยมีผู้บริจาคอสุจิ เบ็น ซีสเลอร์ วัย 33 ปี ออกมาเล่าความตกตะลึงเมื่อทราบว่าตนเองมีลูกแล้วถึง 70 คน

แม้สื่อบันเทิงหลายแขนงจะหยิบยกเอาการบริจาคอสุจิมาดัดแปลงให้เป็นเรื่องชวนหัวได้ ก็ตาม แต่ผู้สันทัดกรณีเตือนว่า ในความเป็นจริง การพึ่งพาอสุจิจากผู้บริจาคน้อยรายจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคทางพันธุกรรมและความผิดปกติอื่นๆ

และจะร้ายยิ่งไปกว่านั้น หากมีการ “จับคู่” ระหว่างพี่น้องซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

“เราไม่อาจปฏิเสธความเป็นไปได้ว่า เด็กซึ่งเกิดจากผู้บริจาคคนเดียวกันอาจจะมาพบรักกัน มีเพศสัมพันธ์ และมีบุตรด้วยกัน และแน่นอนว่า แม้แต่ตัวผู้บริจาคเองก็อาจเผลอไปมีความสัมพันธ์กับลูกของตนเองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ได้” สตีเวนส์ กล่าว

จูเลียต กีชอง อาจารย์ด้านชีวจริยธรรมจากมหาวิทยาลัยแคลแกรี ระบุว่า ภาวะที่เด็กซึ่งเกิดจากผู้บริจาคอสุจิคนเดียวกันไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกันเองนั้น เกิดขึ้นบ่อยกว่าที่หลายคนคาดคิด

“คนที่ขอรับบริจาคอสุจิมักมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมใกล้เคียงกัน พวกเขามักรู้จักกัน ได้รับคำแนะนำให้ไปพบแพทย์คนเดียวกัน และอาศัยอยู่ในละแวกเดียวกัน เพราะฉะนั้นเด็กที่เกิดมาจึงไม่ได้กระจัดกระจายออกไป”

“การบริจาคอสุจิเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดจากความต้องการของตลาดเป็นหลัก กลไกควบคุมก็คือการพิจารณาของตลาด โดยไม่ได้ใส่ใจว่า อะไรที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อเด็กที่เกิดมา นี่คือสาเหตุของปัญหา”
ภาพอุปกรณ์ซึ่งใช้ในกระบวนการเก็บเชื้ออสุจิ ที่ธนาคารอสุจิครีออส ในเมืองอาร์ฮัส ประเทศเดนมาร์ก เมื่อปี 2009
กีชอง ชี้ว่า แคนาดายังขาดฐานข้อมูลประชากรที่เกิดจากการบริจาคอสุจิ และเสนอให้โรงพยาบาลเลิกปกปิดประวัติผู้บริจาค เพื่อให้การผสมเทียมทารกเป็นไปอย่างโปร่งใสและสามารถควบคุมได้

ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา การบริจาคอสุจิในแคนาดาเป็นไปด้วยความสมัครใจและไม่มีค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้น ทำให้ปริมาณอสุจิในคลังเริ่มลดลง จนบางคลินิกต้องใช้วิธีนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

ความนิยมในผู้บริจาคบางรายยังก่อให้เกิดปัญหาประชากรจำนวนมากมีสายเลือดเกี่ยวพันกัน ซึ่งการก่อตั้งสำนักทะเบียนพี่น้องที่เกิดจากการบริจาคอสุจิ (Donor Sibling Registry) เมื่อปี 2000 เพื่อช่วยให้พี่น้องต่างบิดาได้ทำความรู้จักกัน ก็เป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่า ครอบครัวลักษณะนี้กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“เรามีเด็ก 150 คนที่เกิดจากผู้บริจาคคนเดียวกัน และมีแนวโน้มว่าตัวเลขจะสูงขึ้นอีก” เว็นดี เครเมอร์ ผู้อำนวยการบริหารและหนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักทะเบียนฯ เผย

องค์กรของเธอเปิดโอกาสให้พี่น้องร่วมบิดาได้ทำความรู้จักโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนซึ่งกันและกัน เด็กๆจะทราบแต่เพียงว่าตนเกิดจากผู้บริจาคหมายเลขใด และสามารถคาดคะเนได้ว่าตนมีพี่น้องอยู่เป็นจำนวนมากน้อยแค่ไหน

ฝาแฝดชายหญิง โจนาห์ และ ฮิลิต เจค็อปสัน เริ่มสานความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ เจย์มี และ เจสส์ แคลปออฟ ซึ่งก็เป็นฝาแฝดที่เกิดจากผู้บริจาคคนเดียวกัน

เด็กทั้ง 4 คนรู้จักกันผ่านสำนักทะเบียนฯ จากนั้นจึงเริ่มติดต่อและนัดพบกันบ่อยขึ้น พวกเขายังทราบด้วยว่ามีพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันทั้งหมด 15 คน ซึ่งเคยพบหน้ากันเกือบหมดแล้ว

“พวกเรามีอารมณ์ขันเหมือนกัน รักการเล่นกีฬาเหมือนกัน เราเข้ากันได้ดีมากตั้งแต่แรกเจอ” โจนาห์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น เมื่อปีที่แล้ว

เขาบอกด้วยว่า แม้แรกๆจะรู้สึกขัดเขินบ้าง แต่ก็ “สัมผัสถึงความผูกพันทางสายเลือดได้ในทันที”
กำลังโหลดความคิดเห็น