xs
xsm
sm
md
lg

ทำกล้องจุลทรรศน์อินฟราเรดคัดแยก “ไก่เนื้อโคราช” กันเนื้อเลียนแบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไก่เนื้อโคราช
“สถาบันวิจัยซินโครตรอน” โชว์กล้องจุลทรรศน์อินฟราเรด คัดแยกสายพันธุ์ไก่ นำร่องไก่เนื้อโคราช เพิ่มมูลค่าการตลาด และป้องกันการเลียนแบบเนื้อไก่ได้

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุนารี ประสบความสำเร็จการจำแนกไก่เนื้อโคราชจากไก่สายพันธุ์ ทางการค้าและไก่พื้นเมือง ด้วยกล้องจุลทรรศน์อินฟราเรด พบไก่เนื้อโคราชมีปริมาณไขมันและคาร์โบไฮเดรตต่ำกว่าทั้ง 2 สายพันธุ์ เพิ่มทางเลือกการบริโภคแก่ประชาชน อีกทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาด

ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิจัยของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ทีมนักวิจัยประสบผลสำเร็จในการพัฒนาวิธีการตรวจสอบความแท้ของสายพันธุ์ไก่ โดยใช้กล้องจุลทรรศน์อินฟราเรด ระหว่างไก่เนื้อโคราชไก่เนื้อสายพันธุ์ทางการค้าและไก่พื้นเมือง จากผลการวิเคราะห์สามารถจำแนกความแตกต่างของสายพันธุ์ของไก่ได้ถูกต้องถึง 91%

“พบว่าไก่เนื้อโคราชมีปริมาณไขมันและคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่าไก่ทั้งสองสายพันธุ์ อีกทั้งการทดสอบใช้ต้นทุนต่ำ ใช้เวลาในการตรวจสั้น และตัวอย่างที่นำมาทดสอบไม่ต้องผ่านการใช้สารเคมีใดๆ นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านการตลาดได้ทันที และสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้ไปศึกษาต่อเพื่อใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงระบบการเลี้ยงไก่หรือในกรณีที่จะพัฒนาปรับปรุงพันธุกรรมของไก่” ดร.กาญจนา ระบุ



ดร.อมรรัตน์ โมฬี อาจารย์สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า การศึกษาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของเนื้อไก่เป็นขั้นตอนที่สำคัญ เนื่องจากสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการป้องกันการเลียนแบบเนื้อไก่ รวมถึงเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้า โดยได้นำร่องทดสอบในไก่เนื้อโคราช ซึ่งเป็นไก่ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนาสายพันธุ์ไก่เนื้อโคราชเพื่อการผลิตเป็นอาชีพวิสาหกิจชุมชนระยะที่ 1

ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพของกลุ่มเกษตรกร ซึ่ง ดร.อมรรัตน์ ระบุว่า ขณะนี้การเลี้ยงไก่เนื้อโคราชเป็นที่นิยมในหมู่เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น เพราะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี คุณภาพของเนื้อไก่สามารถแข่งขันในท้องตลาดได้ อีกทั้งเนื้อไก่มีความนุ่มชุ่มฉ่ำ แต่ไม่เปื่อยยุ่ยเหมือนเนื้อไก่ทางการค้า จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการเพิ่มอาชีพให้เกษตรกร เป็นทางเลือกการบริโภคไก่สำหรับประชาชน



สำหรับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ตั้งอยู่ในพื้นที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา มีเครื่องกำเนิดแสงสยามเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ให้บริการแสงซินโครตรอนในการวิจัยงานด้านต่างๆ ซึ่งกล้องจุลทรรศน์อินฟราเรดเป็นหนึ่งในเทคนิคของสถาบันฯ สามารถวิเคราะห์โครงสร้างของสารตัวอย่างที่มีความเข้มข้นน้อยได้ และยังสามารถวัดสารตัวอย่างที่มีขนาดเล็ก โดยให้ผลการวิจัยที่ละเอียดแม่นยำ

เทคนิคดังกล่าวสามารถไปประยุกต์ใช้ในงานวิจัยได้หลายด้าน อาทิ ด้านวัสดุศาสตร์ การแพทย์ เกษตรกรรม และสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้ที่สนใจใช้บริการแสงซินโครตรอนเพื่อการวิจัยติดต่อสอบถามได้ที่ส่วนงานบริการผู้ใช้ โทร. 044-271-040 ต่อ 1603-5

กล้องจุลทรรศน์อินฟราเรด





กำลังโหลดความคิดเห็น