xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.เล็งปรับเกณฑ์ 1 ทุน 1 อำเภอเพิ่มโอกาสสายอาชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“จาตุรนต์” เตรียมปรับเกณฑ์ 1 อำเภอ 1 ทุน หาหนทางเพิ่มโอกาสเด็กสายอาชีพ ขณะที่ สอศ.เดินหน้าเสนอร่าง 1 อำเภอ 1 ทุน อาชีวะ แบ่ง 77 ทุนส่งเด็กดี แต่ยากจนสายอาชีพ เรียน 13 สาขาที่ประเทศต้องการ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่ นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดศธ. มีข้อเสนอให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนใหม่ โดยเพิ่มการจัดสรรทุนให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากเดิมที่ให้ ม.6 เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) โดยเฉพาะจะเน้นให้ทุนสายอาชีพเพิ่มมากขึ้นว่า ขณะนี้จำนวนผู้รับทุนจากโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนยังมีไม่เต็มจำนวน ดังนั้นคิดว่าควรจะต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้ทุน เพื่อให้มีผู้รับทุนเพิ่มขึ้น รวมถึงขยายโอกาสให้นักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีโอกาสได้รับทุนเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนปัญหาที่เป็นอุปสรรค ทำให้เด็กอาชีวะไม่สามารถเข้ามาแข่งขันกับเด็กสายสามัญได้ รวมทั้งปัญหาที่นักเรียนสายสามัญผ่านการคัดเลือกน้อยนั้น ตนได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสรุปปัญหา อุปสรรคเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ การคัดเลือกทั้งหมด

ทั้งนี้ สำหรับเด็กอาชีวะอาจจะต้องจัดทำหลักเกณฑ์เฉพาะขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้เรียนสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รับทุนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนให้นักเรียนมาเรียนต่อในสายวิชาชีพเพิ่มขึ้นตามนโยบายรัฐบาลเท่านั้น แต่การส่งเสริมให้นักเรียนหันมาสนใจเรียนสายวิชาชีพจะต้องใช้วิธีอื่นๆ ด้วย

ด้าน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า เร็วๆ นี้ ตนจะนำร่างโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน (อาชีวศึกษา) ภายใต้โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนรุ่นที่ 5 เสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณา เพื่อขอจัดสรรทุนให้กับนักเรียนในสายอาชีวศึกษา จำนวน 77 ทุน ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีทั้งในและต่างประเทศ เน้นสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ ใน 13 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ดังนี้ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์ยาง แฟชั่น วัสดุศาสตร์ เกษตรและอาหาร เซรามิก เฟอร์นิเจอร์ไม้และเครื่องเรือน ยานยนต์และชิ้นส่วน ซอฟต์แวร์ แม่พิมพ์ เหล็กและเหล็กกล้า และโลจิสติกส์

สำหรับคุณสมบัติต้องเป็นเด็กเรียนดี มีฐานะยากจน ครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี มีความประพฤติดี สามารถคิดค้นนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเร่งพัฒนาบุคลากร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในกาในการแข่งขันของประเทศ ส่วนข้อเสนอที่จะขยายเกณฑ์ให้ทุนแก่เด็ก ม.3 นั้น ตนเห็นด้วย เพราะจะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้เด็กสนใจมาเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น