xs
xsm
sm
md
lg

การไหลทางสังคมและเศรษฐศาสตร์เชิงอุณหพลศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: บุรินทร์ กำจัดภัย

(การไหลไม่ใช่แค่นั้น ตอนที่ 2)

เมื่อตอนที่แล้วผมได้เล่าให้ท่านผู้อ่านฟังเรื่องการไหลในธรรมชาติแล้วครับ การไหลในธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นทั่วไปและเกิดขึ้นในบริบทของการศึกษาค้นคว้าของทุกสาขาวิชาเช่นวิทยาศาสตร์โลกและดาวเคราะห์ สมุทรศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา ปฏิกิริยาเคมี วิศวกรรมศาสตร์ ในฟิสิกส์ของดาวฤกษ์และดวงอาทิตย์ ดาราศาสตร์ ในวัสดุ ในระบบทางชีววิทยาและทางการแพทย์ ในระบบวงจรไฟฟ้าและวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ และอื่นๆ อีกมาก
การไหลเกิดขึ้นในทุกสาขาวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
วันนี้จะเล่าเรื่องการไหลของปริมาณทางวิทยาศาสตร์สังคม (สังคมศาสตร์) ครับ เดิมทีแนวคิดในการสร้างแบบจำลองทางสังคมนั้นได้รับอิทธิพลจากวิธีสร้างแบบจำลองในวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นฟิสิกส์ เคมี หรือชีววิทยา จนต่อมาสังคมศาสตร์ได้ผนวกแนวคิดทางจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์เข้าไปด้วย

ถ้าไม่คิดว่าการไหลของเราเป็นการไหลแบบน้ำที่กำลังไหลไป หากแต่เป็นเรื่องของการถ่ายโอน (transfer) ของปริมาณบางสิ่งบางอย่าง การไหลของสิ่งหนึ่งจึงเป็นการถ่ายโอนปริมาณของสิ่งนั้นไปยังอีกที่หนึ่งนั่นเองครับ

สำหรับการไหล (ถ่ายโอน) ของความร้อนในวิชาอุณหพลศาสตร์นั้นโดยมากจะไม่ก่อประโยชน์และหมดสิ้นไปตรงนั้นเอง เช่น ถ้าเราเอากาแฟร้อนๆ สักถ้วย วางไว้ในห้องแอร์ หรือขนมน้ำแข็งใสที่กำลังละลาย เป็นต้น การไหลของความร้อนสำหรับสองเหตุการณ์นี้เป็นการไหลไปแล้วไหลเลยครับ แต่ในการไหลของความร้อนบางลักษณะนั้นหากเราจัดวางจัดเตรียมส่วนประกอบของระบบดีๆแล้ว เราสามารถทำให้การไหลของความร้อนนั้นทำให้เกิด “งานกล” (หรือกระทั่งงานแม่เหล็ก หรืองานไฟฟ้า) ขึ้นได้ การไหลของความร้อนผ่านระบบที่สามารถสร้าง “งาน” ได้นี้เราเรียกการทำงานของเครื่องยนต์ความร้อน เมื่อระบบอุปกรณ์ที่เรียกว่าเครื่องยนต์ความร้อนนี้ทำงานย้อนกลับทิศทางอุปกรณ์นี้จะเรียกว่า “ตู้เย็น” เราจะเห็นได้ว่าการไหลบางประเภทนั้นสามารถสร้างงานที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ หากมีการจัดวางอุปกรณ์ในระบบให้เหมาะสมครับ
การไหลของความร้อนบางประเภทนั้นสามารถสร้างงานที่นำมาใช้ประโยชน์ได้  เช่นในเครื่องยนต์ความร้อน
จากตอนที่แล้วท่านผู้อ่านคงจำได้ว่าการที่จะมีการไหลเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องมีความแตกต่างกันของ “ศักย์แห่งการไหล” ณ สองตำแหน่ง ศักย์แห่งการไหลซึ่งก็คือ “อำนาจ” (ชื่อคุณพ่อผมเองครับพี่น้อง) นี้จะเท่าเทียมกันไม่ได้ที่สองตำแหน่ง มิเช่นนั้นจะไม่มีการไหลเกิดขึ้นครับ ผมจะเรียกตำแหน่งที่มีแหล่งของศักย์อำนาจนี้ตั้งอยู่ว่า pole หรือขั้วแห่งอำนาจ ดังนั้นหากเราอยากให้การไหลทำงานที่เป็นประโยชน์ได้ เราต้องจัดการให้ระบบเป็นอุปกรณ์เครื่องยนต์ และต้องมีขั้วแห่งอำนาจที่ขนาดอำนาจแตกต่างกันอย่างน้อยก็สองขั้วครับ (no pole ก็ no work ครับ) เช่น ในกรณีของการไหลของความร้อนก็ต้องมีอุณหภูมิที่ต่างกันสองแห่ง การไหลของประจุไฟฟ้าก็ต้องมีขั้วไฟฟ้าที่ให้ศักย์ไฟฟ้าแตกต่างกันสองแห่ง (ต่างกันนิดนึงก็ตรงที่การไหลของประจุไฟฟ้านั้นไม่อาจนำมาจัดวางเป็นเครื่องยนต์ได้ และเพราะประจุไฟฟ้ากับงานนั้นเป็นคนละสิ่งกัน ไม่เหมือนกับในกรณีของความร้อนที่สามารถกลายเป็นงานได้)
การไหลในเครื่องยนต์นั้นสร้างงานที่เป็นประโยชน์ได้ แต่ประสิทธิภาพที่ได้จะค่อนข้างต่ำ
ขั้วอำนาจที่ให้ขนาดของศักย์ที่แตกต่างกันจะทำให้เกิดการไหลขึ้นในตัวกลางต่อเนื่อง
คิดกันเล่นๆ ว่า ทุกอย่างมันเกี่ยวกับการไหล หรือการถ่ายโอนทั้งสิ้น แล้วในระบบสังคมล่ะ การไหลอะไรบ้างที่เกิดขึ้นในวิชาต่างๆที่ว่าด้วยระบบทางสังคม

ในอุณหพลศาสตร์ (thermodynamics) การไหลของความร้อนทำให้เกิดเหตุการณ์หรือกิจกรรมทางอุณหพลศาสตร์ ในวิชาไฟฟ้าการไหลของประจุทำให้เกิดเหตุการณ์หรือกิจกรรมทางไฟฟ้า

ในเศรษฐศาสตร์ เมื่อมีการเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนมือ(ไหล)ของปัจจัยการผลิต เช่น ทุน แรงงาน ที่ดิน หรือผู้ประกอบการ ก็จะเกิดกิจกรรมทางการผลิตทางเศรษฐกิจขึ้น ผลที่ตามมาก็คือรายได้ประเภท ค่าเช่า (จากการเช่า) กำไร (จากการซื้อขาย) ดอกเบี้ย (จากการลงทุน) หรือค่าจ้าง (จากการใช้แรงงาน) เมื่อมองในแง่บวกครับ (ในแง่ประวัติศาสตร์แล้วจุดกำเนิดของเศรษฐศาสตร์จุลภาคยุคคลลาสิกโดย Adam Smith ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากแนวคิดของกลศาสตร์นิวตันและกฎของแก๊สอุดมคติของโรเบิร์ต บอยล์ ซึ่งส่งผลต่อรูปร่างของแนวคิดสำนักเศรษฐศาสตร์มหภาคของคีนส์ (Keynes) ในแง่ของระบบและการเข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจโดยรัฐ)

ในวิชาการเมือง (รัฐศาสตร์) เมื่อมีการเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนมือ (ไหล) ของ “อำนาจ” จะเกิดกิจกรรมทางการเมืองขึ้น อันนี้ผมรู้น้อยมากครับ

ในวิชาการศึกษา (ศึกษาศาสตร์) เมื่อมีการเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนมือ (ไหล) ของ “ความรู้” จะเกิดกิจกรรมทางการศึกษาคือการเรียนรู้ขึ้น อันนี้ผมไม่ค่อยจะแน่ใจเท่าไรครับ

ในวิชาการสื่อสาร (นิเทศศาสตร์) เมื่อมีการเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนมือ (ไหล) ของ “สาร” (information) จะเกิดกิจกรรมการสื่อสารขึ้น เช่นการส่งและรับสาร มีการเข้ารหัส ถอดรหัสของสาร โดยมีนัยยะที่ของสื่อชัดเจนหรือผ่านสัญลักษณ์ทางอ้อมต่างๆ ของสื่อสิ่งแสดง อันนี้ผมก็รู้น้อยมากครับ

ผมรู้น้อยแค่นี้แต่ขอบังอาจคิดต่อไปเล่นๆเพื่อความสนุกนะครับว่า การไหลถ่ายโอนถ่ายทอดวัฒนธรรมของมนุษย์ในสังคมโลกนั้นเป็นการถ่ายโอน “การยอมรับในเรื่องว่าด้วยคุณค่า (value)” เดิมทีมนุษย์ที่อยู่ในชุมชนคนละซีกโลกจะให้คุณค่าต่างๆ กันกับสิ่งต่างๆ กัน การไหลของวัฒนธรรมจึงเป็นการถ่ายทอดวิธีคิดที่เกี่ยวกับความยอมรับที่ว่าด้วยคุณค่า
การไหลเชิงสังคม
เราต้องใจกว้างครับที่จะยอมรับว่าวิทยาศาสตร์สังคมหรือสังคมศาสตร์นั้น ตั้งอยู่บนข้อสมมติฐานหลายๆประการซึ่งทำให้วิทยาศาสตร์สังคมนั้นเป็น soft science คือกฎของมันไม่แม่นยำมากนักในการทำนายเหตุการณ์ทางสังคม ซึ่งทำให้สังคมศาสตร์นั้น “ยาก” กว่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติในการสร้างแบบจำลอง

ศาสตร์ใหม่ๆ ที่ผมได้มีโอกาสได้อ่านบ้างก็คือ เศรษฐศาสตร์เชิงอุณหพลศาสตร์ (Thermodynamical Ecomomics) ครับ ในกระบวนคิดของศาสตร์นี้ เขาได้มองว่า ทุน (capital) ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจนั้นอุปมาก็คือพลังงานภายใน (internal energy) ในทางอุณหพลศาสตร์ และมองว่าการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนมือหรือการลงทุน จึงอุปมาเป็นการถ่ายโอนพลังงานในรูปแบบของ การไหลของความร้อน (heat) หรือ งาน (work) และมีแปรบางตัวในเศรษฐศาสตร์ที่ทำหน้าที่คล้ายกับ “อุณหภูมิ” ของระบบเศรษฐกิจ เรื่องน่าสนใจสำหรับผมก็คือการเปรียบเทียบกระบวนการทางอุณหพลศาสตร์เคมีในปฏิกิริยาเคมีกับกระบวนการทางเศรษฐศาสตร์ครับ
อุณหพลศาสตร์สมดุลกับเศรษฐศาสตร์จุลภาค(สมดุล)
วิชาอุณหพลศาสตร์แบบไม่สมดุล (non-equilibrium thermodynamics) ได้บอกเราว่าโครงสร้างและแบบลาย (structure and pattern formation) จะก่อกำเนิดขึ้นได้เองหากระบบนั้นมีการผลิตเอนโทรปีแบบเชิงเส้น ในการก่อกำเนิดนี้ระบบจะมีการจัดเรียงตัวเอง (self-organization) การจัดเรียงตัวเองนี้เกิดในทางฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ธรณีวิทยาและในระบบทุกประเภททางกายภาพ โดยทั่วไประบบที่มีการผลิตเอนโทรปีแบบเชิงเส้นมักเป็นระบบที่ถูกรบกวนโดยอำนาจภายนอกแบบสม่ำเสมอหรือเป็นคาบ (periodic) ผมมักลองเวลาอาบน้ำครับให้น้ำจากฝักบัวไหลไปตามนิ้วมือของผมโดยไม่ขยับตัวเลย ให้ตกไปกระทบกับพื้นที่ตำแหน่งที่มีคราบสบู่จากการอาบน้ำอยู่ โดยให้น้ำกระทบพื้นที่จุดเดียวซ้ำๆ กัน สักพักหนึ่งเราจะเห็น “แบบลาย” ที่เสถียรระยะสั้นๆ ขึ้นบนคราบสบู่สกปรกนั่นครับ (ถ้าสามารถควบคุมจังหวะน้ำที่ตกลงและป้องกันไม่ให้มีอะไรอย่างอื่นมารบกวนได้ดีครับ) ที่เห็นได้ง่ายที่สุดเลยคือบริเวณใกล้ๆ sink รูระบายน้ำของห้องน้ำ ....... ลองเล่นในอ่างล้างชามดูก็ได้ครับโดยใช้คราบของไขมันน้ำเหลือ (เป็นคอลลอยด์) จากการล้างชามด้วยน้ำยาล้างชาม โดยพยายามให้การรบกวน (ให้น้ำจากก๊อกน้ำหรือให้น้ำไหลออกทาง sink) เกิดขึ้นแบบเป็นจังหวะสม่ำเสมอ
ระบบสังคมที่ไม่สมดุลแต่มีการผลิตเอนโทรปีเชิงสังคมที่เป็นเชิงเส้นจะนำไปสู่การจัดเรียงตัวเองทางสังคมและวัฒนธรรม?
เอาละครับ ถ้าอุณหพลศาสตร์แบบไม่สมดุลทำนายการเกิดแบบลายโครงสร้างได้ คิดเล่นๆ อีกต่อไปว่า ถ้าเรามีกระบวนคิดศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่า สังคมศาสตร์เชิงอุณหพลศาสตร์แบบไม่สมดุล (non-equilibrium thermodynamical social science) ด้วยกรบวนการจัดเรียงตัวเอง (self-organization) จากการผลิตเอนโทรปีเชิงสังคมที่เป็นเชิงเส้น เราจะมีการก่อกำเนิดโครงสร้างและแบบลายเชิงวัฒนธรรม (ความเชื่อ คุณค่า วิถี) (cultural pattern formation) ขึ้นได้ไหมครับ

พบกันใหม่ตอนหน้าครับ

Perspective 7

บุรินทร์ กำจัดภัย

สำเร็จการศึกษาด้านฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยาจากประเทศอังกฤษ
มีอาชีพเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎี ปัจจุบันทำงานวิจัยและสอนในฐานะอาจารย์ประจำที่สถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์ฯ วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน หรือ IF มหาวิทยาลัยนเรศวร

Perspective 7 เป็นบทความเกี่ยวกับทรรศนะของตัวผู้เขียนเองซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ ต่อธรรมชาติ สังคม และปรัชญา ทรรศนะเหล่านี้นำเสนอในหลายประเด็นผ่านหลายเรื่องราวจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองโดยผ่านเลนส์ตาของวิทยาศาสตร์

“สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าศีลธรรมและจารีต คือ สติและการรู้จักตัวตนของตัวเอง”







กำลังโหลดความคิดเห็น