xs
xsm
sm
md
lg

ลงใต้เยือนโรงไฟฟ้าพลัง “รากยางพารา” ใหญ่สุดในเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รากไม้ยางพาราที่ถูกเข้าเครื่องสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ และลดความชื้นก่อนนำไปเข้าโรงไฟฟ้า
เมื่อ 32 ปีที่แล้วเขาเห็นต้นยางพาราที่ให้น้ำยางจนวาระสุดท้ายถูกโค่นแล้วเผาทิ้งอย่างไร้ประโยชน์ แต่ด้วยกระบวนการคิดที่ได้รับการหล่อหลอมจากการเรียนสถาปัตย์ จุฬาฯ เขาจึงเกิดแนวคิดนำไม้ยางมาสร้างเป็นของเล่นไม้ยางพาราเจ้าแรกของโลก แต่ยังมีปัญหาให้เขาขบคิดต่อว่าจะทำประโยชน์อะไรจากรากยางพาราได้บ้าง

นายวิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ ประธานกรรมการ บริษัท แปลนครีเอชั่นส์ จำกัด เล่าให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ฟังว่า เมื่อ 32 ปีที่แล้วเขาเห็นชาวสวนยางโค่นและเผาต้นยางที่หมดอายุการกรีดลงอย่างน่าเสียดาย แต่กระบวนการคิดที่ได้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เขาเกิดแนวคิดในการสร้างของเล่นไม้ยางพาราขึ้นเป็นรายแรกของโลก

แม้ว่าจะแก้ปัญหาที่คาใจได้แล้วแต่ก็ยังไม่ถึงที่สุด เพราะยังเหลือรากไม้ที่นำมาสร้างประโยชน์ไม่ได้ และชาวสวนยังต้องเผาทิ้งอยู่ดี เขาจึงพยายามคิดหาวิธีใช้ประโยชน์ แล้วพบว่ารากไม้ยางส่าวนหนึ่งสามารถบดเป็นขี้เลื่อยเพื่ออัดขึ้นรูปเป็นของเล่นได้ แต่ก็ยังมีไม้ส่วน

รากยางพาราที่ขุดขึ้นมาส่วนหนึ่งสามารถนำไปบดเป็นขี้เลื่อยเพื่อผลิตเป็นของเล่นภายใต้แบรนด์ “แปลนทอยส์” แต่ก็ยังมีส่วนที่ดินติดอยู่เยอะและนำมาผลิตเป็นของเล่นไม่ได้ จึงเกิดแนวคิดว่าน่าจะนำไปผลิตพลังงาน

โครงการผลิตพลังงานจากชีวมวลของ บริษัท แปลน อีโคเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด บริษัทลูกของแปลนครีเอชั่นส์คือทางออกหนึ่งว่าจะนำรากไม้ยางพาราไปใช้ประโยชน์อะไร โดยชีวมวลจากต้นยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ได้กลายเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น (Gasification) ของบริษัทที่ตั้งอยู่ที่ ต.ในควน อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง

“โดยทั่วไปเขามักใช้ชีวมวลไปเผาเพื่อต้มน้ำผลิตไอสำหรับเดินเครื่องกำเนิดผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ถ้าทำอย่างนั้นก็จะมีควันออกมาและต้องใช้น้ำเยอะ เราจึงพยายามหาเทคโนโลยี และได้รู้จักกับเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่าตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลก แต่พอน้ำมันราคาถูก เทคโนโลยีเลยไม่ได้รับการพัฒนา มีอยู่ไม่กี่ประเทศที่ยังคงพัฒนาต่อ มีจีน อินเดีย เพราะเขาอยากมีพลังงานทดแทน” วิทูรย์กล่าว

ผู้บริหารของแปลนทอยส์บอกเราว่ากว่าจะได้โรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีกำลังผลิต 5 เมกะวัตต์นี้ เขาต้องเดินทางไปดูงานในหลายพื้นที่ ทั้งในอินเดีย จีนและยุโรป รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ซึ่งมีหมู่บ้านเล็กๆ หมู่บ้านหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาตินำเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากอินเดียไปติดตั้ง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในหมู่บ้าน และผลิตกระแสไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น

“ผมไปดูแล้วประทับใจ เป็นพลังงานสำหรับชุมชนจริงๆ น่ารักมากเลย เขาอยากดูทีวีตอนไหนก็สตาร์ทเครื่อง 15 นาทีก็เสร็จแล้ว แต่ละบ้านก็จะหอบเอาเศษไม้ กิ่งไม้มาคนละท่อนสองท่อนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า พอดูจบก็แยกย้ายกันกลับบ้าน” วิทูรย์เล่าถึงความประทับใจ และบอกว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่ผลิตกระแสไฟฟ้ามาใช้เท่าที่จำเป็น ต่างจากผลิตไฟฟ้าในระบบใหญ่ของไทยที่ผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาสำรองการใช้ หากไม่มีการใช้ก็เสียไปโดยเปล่าประโยชน์

ที่สุดแปลน อีโคเอ็นเนอร์ยี่ได้สร้างโรงไฟฟ้าที่ผสานเทคโนโลยีจากจีนและอินเดีย ซึ่งกระบวนการทำงานเป็นระบบปิดทั้งหมด โดยใส่ไม้เข้าไปในเตาที่เป็นปล่องสูงหลายชั้นและเกิดกระบวนการแก๊สซิฟิเคชัน ซึ่งเมื่อใส่ไม้เข้าไปความร้อนจะทำให้ความชื้นของไม้ลดลง 30-40% โดยน้ำหนัก การเผาไหม้ครั้งแรกเกิดความร้อน 300 องศาเซลเซียส ทำให้ไม้เปลี่ยนโครงสร้างเป็นถ่าน คล้ายกระบวนการเผาถ่านที่จะไม่ใส่ออกซิเจน จากนั้นเข้าสู่กระบวนการที่สอง ซึ่งจะอัดออกซิเจนให้แก่ถ่านยุบตัวลงในเตา ทำให้ถ่านเผาไหม้อย่างรวดเร็ว แล้วเกิดการแตกตัวของอะตอมของไม้และน้ำจากความชื้น จากนั้นเกิดการจับตัวกลายเป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ที่เป็นเชื้อเพลิงติดไฟได้ ก๊าซไฮโดรเจนและมีเทน
โรงไฟฟ้าแก๊สซิฟิเคชันซึ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีเตาแก๊สซิฟิเคชัน 3 เตา อยู่ด้านหน้า (ปล่องสีส้ม)
“พอเราเผาไหม้เสร็จ 25% จะเป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ 15% เป็นไฮโดรเจน 5% เป็นมีเทน ที่เหลือเป็นไนโตรเจน จากนั้นก็จะเอาก๊าซเหล่านี้ไปทำความสะอาด โดยเอาขี้เลื่อยใส่เข้าไปถัง ซึ่งมีขนาดต่างๆ กัน เพราะไม้ที่เผาเสร็จจะมีน้ำมันดินหรือทาร์และฝุ่น ซึ่งเศษฝุ่นและทาร์จะไปจับกับขี้เลื่อย เหลือก๊าซที่ทำความสะอาดแล้ว จากส่งไปที่เครื่องยนต์กำเนิดไฟฟ้าที่เผาไหม้ด้วยก๊าซซึ่งมีอยู่ 13 ตัว เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 500 กิโลวัตต์ ซึ่งสามารถใช้สำหรับบ้านทั่วไปที่ไม่ติดแอร์ได้ประมาณ 5,000 ครัวเรือน” วิทูรย์อธิบายการทำงานของโรงไฟฟ้า

นอกจากนี้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้ายังมีความร้อนและไอน้ำออกมา ซึ่งทางโรงไฟฟ้าวางแผนนำความร้อนไปใช้ในโรงอบไม้ที่อยู่ข้างเคียง ซึ่งเป็นไม้ที่เตรียมสำหรับโรงงานผลิตของเล่น ส่วนไอน้ำจะนำไปผลิตความเย็นเพื่อใช้แทนเครื่องปรับอากาศในสำนักงานควบคุมของโรงอบไม้อีกต่อด้วย ส่วนเหตุผลที่เขาเลือกสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 5 เมกะวัตต์ เนื่องจากคำนวณตามระยะทางในการขนส่งรากไม้ยางพาราในรัศมีไม่เกิน 30 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่ไม่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินปริมาณที่จะลดได้จากการผลิตไฟฟ้าด้วยชีวมวลแทนถ่านหิน

วิทูรย์ยังแนะนำด้วยว่าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้และสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กกว่านี้ได้ ซึ่งทำได้ง่ายกว่าและลงทุนน้อยกว่า โดยอาศัยวัถตุดิบที่มีเหลือเฝือในท้องถิ่น เช่น แกลบ หรือ ไม้อื่นๆ เป็นต้น สำหรับภาคใต้พบว่ามีรากไม้ยางพาราอยู่เหลือเฝือ เพราะเกษตรกรตัดและปลูกใหม่ขึ้นมาทดแทนเรื่อยๆ โดยโรงไฟฟ้าของเขาถือเป็นต้นแบบและเป็นโรงไฟฟ้าแก๊สซิฟิเคชันขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งเขาวางแผนที่จะสร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ของการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลด้วย

เมื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้ก็จะส่งเข้าระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งจะได้กำไรจากส่วนต่างจากการจำหน่ายภายใต้ระเบียบการรับซื้อจากผู้ผลิต คำนวณแล้วคาดว่าจะสร้างรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าได้วันละประมาณล้านกว่าบาท ซึ่งในส่วนของการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลนี้มีต้นทุนสูงถึง 500 ล้านบาท โดยกลุ่มแปลนทอยส์ได้ร่วมลงทุนกับมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม และขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณธกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และเงินสนับสนุนภายใต้โครงการ “นวัตกรรมดี ไม่มีดอกเบี้ย” ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)

“มีคนคุยเรื่องพลังงานทางเลือกเยอะ แต่ไม่ค่อยมีคนทำจริงจัง เราคุยเหมือนกันแต่เราก็ทำด้วย” วิทูรย์กล่าว และบอกถึงข้อดีของโรงไฟฟ้าชีวมวลนี้ว่า เป็นพลังงานทางเลือกที่ช่วยลดการใช้พลังงานถ่านหินและน้ำมัน ช่วยลดภาวะโลกร้อน และสร้างรายได้ให้ชุมชน เพราะอนาคตเกษตรกรจะขายรากยางพาราได้ อีกทั้งเขายังฝันว่าเมื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้เสร็จแล้วโรงไฟฟ้าของเขาจะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องพลังงานทางเลือกต่อไป ซึ่งเป็นความตั้งใจที่เขาอยากจะทำให้แก่สังคมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
นายวิทูรย์ วิระพรสวรรค์ (เสื้อขาว) ชมนำเชื้อเพลิงส่วนหนึ่งซึ่งได้จากชิ้นงานไม้ที่ตำหนิจากโรงงานผลิตของเล่นแปลนทอยส์






กำลังโหลดความคิดเห็น