xs
xsm
sm
md
lg

René Theophile Laennec แพทย์ผู้ประดิษฐ์เครื่องฟังหน้าอก

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

René Theophile Laennec ประดิษฐ์ เครื่องฟังหน้าอกเพื่อวินิจฉัยโรค
ในวันที่ 20 เมษายน ค.ศ.1801 René Laennec วัย 20 ปีซึ่งเป็นนักศึกษาแพทย์ฝึกหัดแห่งกองทัพบกฝรั่งเศสได้ออกเดินเท้าจากเมือง Nantes ในแคว้น Brittany ไปปารีสเพื่อศึกษาแพทย์เพิ่มเติมกับ Jean Corvisart ผู้เป็นแพทย์หลวงที่มีชื่อเสียงโด่งดังในจักรพรรดิ Napoleon Bonaparte แม้หนทางจะไกลร่วม 400 กิโลเมตรก็ตาม แต่ Laennec ก็ไม่ย่อท้อ เพราะรู้สึกเบื่อที่จะเรียนต่อที่ Nantes และมั่นใจว่า Corvisant สามารถให้ความรู้ที่ดีกว่าและทันสมัยกว่าอย่างแน่นอน

ถึงจะเป็นหนุ่มบ้านนอกที่มีร่างเล็กคือ สูงเพียง 160 เซนติเมตร มีน้ำหนักตัว 55 กิโลกรัม และมีฐานะยากจนก็ตาม แต่ Laennec ก็ได้สร้างความประทับใจเมื่อได้แสดงความสามารถให้ Corvisart เห็นโดยการวิเคราะห์อาการของคนไข้คนหนึ่งได้อย่างถูกต้องว่าเป็นโรคหนองในช่องว่างทรวงอก (empyema) ในขณะที่ Francois Broussais ซึ่งเป็นนิสิตแพทย์ที่ได้ร่ำเรียนกับ Corvisart มาเป็นเวลานานกลับคิดว่าคนไข้เป็นโรคปอดอักเสบ (pneumonia)

การเสียหน้าในครั้งนั้นได้ทำให้ Broussais รู้สึกเจ็บแค้นมาก จึงตั้งปณิธานในใจว่าจะขอเป็นศัตรูกับ Laennec ตราบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิตจะหาไม่

René Theophile Laennec เกิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1781 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ที่เมือง Quimper ในฝรั่งเศส บิดาเป็นอัยการศาลที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตทำงาน เมื่อมารดาเสียชีวิตด้วยวัณโรค และบิดาแต่งงานใหม่ Guillaime Francois Laennec ซึ่งเป็นลุงของ Laennec และเป็นแพทย์จึงเข้ามาอุปถัมภ์หลานชายวัย 6 ขวบ การเข้ามาช่วยนี้ จึงทำให้แม่เลี้ยงกับพ่อรู้สึกโล่งใจ Laennec ได้ถูกส่งตัวไป Nantes เพื่อพักผ่อนและเรียนหนังสือกับลุงซึ่งเปิดคลินิกรักษาคนไข้ที่นั่น

ครั้นเมื่อบิดารู้ข่าวว่า Laennec ตัดสินใจจะเรียนแพทย์ก็รู้สึกประหลาดใจเล็กน้อย แต่ก็สนับสนุน Laennec จึงได้เข้าเรียนแพทย์ที่ Nantes โดยอาศัยอิทธิพลการสนับสนุนของลุง เมื่อสำเร็จการศึกษา ก็ได้ไปทำงานในโรงพยาบาลที่ Nantes โดยมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการพันแผลและทำความสะอาดแผลของทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบที่เมือง Marengo และตามบริเวณเทือกเขา Alps ซึ่งงานที่ต้องทำนี้ Laennec รู้สึกว่าไม่สำคัญอะไรเลย จึงคิดจะไปศึกษาแพทย์ต่อที่ปารีสซึ่งมีแพทย์ที่สำคัญและยิ่งใหญ่หลายคนเป็นครูสอน และลุงก็ตกลงสนับสนุนอย่างเต็มที่ว่าหลานไม่ควรใช้ชีวิตเป็นแพทย์กระจอกในเมืองเล็กๆ เช่น Nantes ซึ่งไม่มีอะไรเด่นดัง นอกจากกิโยตีนที่ใช้ตัดศีรษะคนได้ดีเท่าเครื่องที่ใช้ที่ปารีส และลุงได้แนะนำให้ Laennec ไปศึกษาเพิ่มเติมกับ Nicolas Corvisart des Marest เพื่อจะได้เป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงในอนาคต

เมื่อเดินทางถึงปารีส Laennec เริ่มสร้างชื่อเสียงว่าเป็นคนเก่งที่มีความสามารถและมีสติปัญญาสูง อีกทั้งมีจิตใจเมตตาต่อคนยากไร้ ส่วนเพื่อนๆ ก็เริ่มรู้ว่าเขาเป็นคนที่เคร่งศาสนาแคทอลิก และศรัทธาในสถาบันกษัตริย์มาก

ในปี 1802 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ Laennec กำลังเรียนกับ Corvisart เขาได้เขียนรายงานเรื่องวิธีวิเคราะห์โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (peritonitis) ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้แพทย์ในสมัยนั้นสับสนและงุนงงเป็นเวลานานแล้ว บทความที่เขียนอย่างละเอียด สมบูรณ์และถูกต้องนี้ ได้ทำให้บรรดาแพทย์ต่างๆ ในปารีสรู้สึกประทับใจมาก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Laennec ก็เริ่มมีชื่อเสียง และได้นำเสนองานวิจัยอย่างต่อเนื่อง
ภาพเหมือน René Theophile Laennec
ความสำเร็จในการเรียนแพทย์ของ Laennec ทำให้บิดารู้สึกภูมิใจและพอใจมาก จึงเขียนจดหมายถึงลูกชายขอให้ช่วยหางานให้ทำโดยอาศัยบารมีของ Corvisart แต่ Laennec ได้เขียนจดหมายบอกบิดาว่า มิได้สนิทสนมกับอาจารย์ถึงขนาดไหว้วาน ดังนั้น จึงขอร้องให้บิดาทำงานที่ Quimper ต่อไป เพราะที่ปารีสมีอัยการล้นเมืองแล้ว Laennec ได้จบจดหมายโดยขอให้พ่อส่งเงินมาให้ 60 ฟรังก์ โดยอ้างว่าค่าครองชีพในปารีสค่อนข้างสูง ทำให้ต้องหยิบยืมเงินของเพื่อนๆ มาใช้จ่ายเป็นค่าเล่าเรียน

ในการสอบครั้งสุดท้ายเพื่อสำเร็จการศึกษา Laennec ได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “Propositions on the Doctrine of Hippocrates in Regard to the Practice of Medicine” การที่เลือกหัวข้อนี้เพราะ Laennec มีความศรัทธาและเลื่อมใสในคำสอนของ Hippocrates ยิ่งกว่าอาจารย์แพทย์ทุกคนที่เคยสอนตนมา ในวิทยานิพนธ์เล่มนั้น Laennec ได้อธิบายความหมายด้านปรัชญา วิธีสังเกตอาการไข้และความคิดเห็นต่างๆ ของ Hippocrates เกี่ยวกับวิชาแพทยศาสตร์อย่างละเอียด

หลังสำเร็จการศึกษา Laennec เริ่มสนใจเรื่องโรคหัวใจและโรคปอด และได้รับข้อมูลจาก Corvisart ว่าที่เมือง Graz ในออสเตรียมีแพทย์คนหนึ่งชื่อ Leopold Auenbrugger ซึ่งมีวิธีวิเคราะห์อาการโรคโดยการเคาะหน้าอกคนไข้

Auenbrugger ผู้นี้เคยดำรงตำแหน่งเป็นแพทย์หลวงในองค์จักรพรรดินี Marie Therese แห่งอาณาจักรออสเตรีย ในวัยเด็กได้เคยสังเกตบิดาผู้เป็นเจ้าของโรงเตี้ยมว่า เวลาต้องการรู้ปริมาณเบียร์ในถังโดยไม่ต้องเปิดฝา บิดาจะใช้นิ้วดีดที่ถังเบียร์เพื่อฟังเสียงสะท้อนที่ก้องจากถัง ครั้นเมื่อ Auenbrugger เติบใหญ่ และประกอบอาชีพเป็นแพทย์ เขาเกิดความคิดว่า ลำพังสายตาคงไม่ดีพอที่จะช่วยแพทย์วิเคราะห์โรคของคนไข้ได้ถูกต้องสมบูรณ์ เพราะคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคเดียวกันอาจแสดงอาการแตกต่างกัน และคนที่เป็นโรคแตกต่างกันอาจแสดงอาการเหมือนกัน

Auenbrugger จึงคิดใช้วิธีเคาะหน้าอกคนไข้เพื่อทดสอบว่า ในร่างกายคนไข้มีของเหลวมากหรือน้อยเพียงใด และของเหลวปรากฏอยู่ที่ใดบ้าง แม้รูปทรงของอกของทุกคนจะมีลักษณะไม่เหมือนถังเบียร์เลยก็ตาม ทั้งนี้เพราะ Auenbrugger ได้เคยเห็นศพ เวลาถูกผ่า บางศพปอดมีน้ำอยู่เต็ม บางปอดก็ว่างเปล่า และบางปอดมีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นข้อมูลที่แพทย์รู้ หลังจากที่คนไข้เสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้น จึงไม่มีประโยชน์ใดๆ เพราะ Auenbrugger ต้องการรู้ข้อมูลลักษณะนี้ ในขณะที่คนไข้ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อจะได้หาทางรักษาได้ทันท่วงที ดังนั้น จึงใช้วิธีเคาะหน้าอกคนไข้ทุกคนที่มาให้เขารักษา เพื่อฟังเสียงสะท้อนจากภายในทรวงอก

ในเมื่อ Auenbrugger เป็นนักดนตรีที่มีความสามารถ ดังนั้น จึงมีประสาทหูที่ค่อนข้างไวต่อคุณภาพของเสียงที่ได้ยิน และใช้เสียงดังกล่าวช่วยในการวิเคราะห์โรคของคนไข้ แต่วิธีของ Auenbrugger ก็ไม่สมบูรณ์ดีทีเดียวนัก เพราะถ้าอวัยวะที่อักเสบอยู่ลึกในโพรงอก เสียงสะท้อนจากอวัยวะนั้นอาจฟังไม่แตกต่างจากอวัยวะที่ทำงานปกติ นอกจากนี้เวลา Auenbrugger ซักถามอาการของคนไข้ คำบอกเล่าของคนไข้อาจไม่ถูกต้องสมบูรณ์ เพราะความจำของคนไข้อาจคลาดเคลื่อน ปัจจัยลบเหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้การวินิจฉัยโรคผิดพลาดได้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม Auenbrugger ก็ได้พบว่า กรณีคนไข้ที่เป็นวัณโรคปอด (phthisis) เวลาเขาเอานิ้วเคาะที่หน้าอก เสียงสะท้อนที่ได้ยินจะแหลมสูง ส่วนคนไข้ที่ปอดมีโพรงขนาดใหญ่ เวลาเคาะจะได้ยินเหมือนเสียงชามแตก
ภาพร่าง stethoscope ของ René Theophile Laennec
ประสบการณ์เหล่านี้ได้ชักนำให้ Auenbrugger เรียบเรียงตำราขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อ “A New Invention which Enables the Physicians to Detect the Diseases Hidden Within by the Percussion of the Human Chest” แม้สำนวนการเรียบเรียงจะสละสลวยเพียงใด แต่แพทย์ในสมัยนั้น (ค.ศ.1761) ประมาณ 99% ไม่ได้สนใจอ่านหนังสือเล่มนี้เลย และ 1% ของคนที่สนใจนั้นมีแพทย์ชื่อ Maximilan Stoll ซึ่งเป็นอาจารย์ของ Jean Corvisart ดังนั้นวิธีคิดของ Auenbrugger จึงถูกถ่ายทอดส่งตรงถึง Laennec ซึ่งก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีเคาะหน้าอกคนไข้ เพราะเขาได้เห็นว่าแพทย์บางคนมีลีลาการเคาะที่รุนแรงจนคนไข้รู้สึกเจ็บที่หน้าอก นอกจากนี้ Laennec ก็คิดว่าลำพังเสียงสะท้อนที่ได้ยินจากทรวงอกมิสามารถบอกสภาพการทำงานของอวัยวะอื่นๆ เช่น หัวใจว่าเต้นถูกหรือผิดจังหวะเพียงใด ถ้าแพทย์ไม่เอาหูแนบที่หน้าอกคนไข้ แต่วิธีนี้มิใช่วิธีที่แพทย์สามารถทำได้ในกรณีที่คนไข้เป็นผู้หญิง ดังการรักษาที่ Laennec กระทำในปี 1816 ซึ่งในเวลานั้น เขากำลังดำรงตำแหน่งหัวหน้าแพทย์ที่โรงพยาบาล Necker และถูกตามตัวไปรักษาหญิงอ้วนคนหนึ่งซึ่งกำลังมีอาการเจ็บที่หน้าอกด้านซ้าย นั่นแสดงว่าเป็นอาการของคนเป็นโรคหัวใจ (angina pectoris) เพราะเธอเป็นสาวโสด ดังนั้นการที่แพทย์จะเอาหูของเขาไปแนบที่หน้าอกเธอ จึงเป็นเรื่องผิดจริยธรรม และแม้เธอจะอนุญาตก็ตาม Laennec ก็คงไม่ได้ยินเสียงอะไร เพราะเธออ้วนมากจนไขมันในร่างกายเธอดูดกลืนเสียงหัวใจเต้นไปจนหมด

เมื่อไม่มีทางออก Laennec จึงต้องครุ่นคิดหนัก เมื่อถึงเวลาพักเขาไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะซึ่งตั้งอยู่ใกล้พิพิธภัณฑ์ Louvre ณ ที่นั่นเขาได้เห็นเด็ก 4 คนกำลังเล่นเกมส์ชนิดหนึ่งอยู่ เมื่อเด็กคนหนึ่งใช้ตาปูขีดอย่างค่อนข้างแรงๆ ที่ปลายหนึ่งของท่อนไม้ เด็กอีกคนหนึ่งจะเอาหูแนบที่ปลายอีกข้างหนึ่ง การกระทำเช่นนี้ทำให้เด็กๆ รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะคนฟังสามารถได้ยินเสียงที่ถูกส่งมาได้อย่างชัดเจน การสังเกตนี้ทำให้ Laennec ได้ความคิดทันที เพราะเขารู้ว่า เสียงสามารถเดินทางผ่านตัวกลาง เช่น ของแข็ง ของเหลว และอากาศได้ ดังนั้น Laennec จึงรีบเดินกลับโรงพยาบาลทันที แล้วหยิบกระดาษแผ่นหนึ่งจากห้องทำงานมาม้วนเป็นทรงกระบอก จากนั้นก็ปักปลายข้างหนึ่งของทรงกระบอกกระดาษตรงตำแหน่งหัวใจของคนไข้ แล้วเอาหูฟังเสียงหัวใจเต้นที่ปลายอีกข้างหนึ่ง และ Laennec ได้พบว่า เขาสามารถได้ยินเสียงหัวใจผู้หญิงคนนั้นเต้นอย่างชัดเจน เหมือนได้ยินเสียงคนพูดในบ้าน

จากกรณีคนไข้โรคหัวใจ Laennec ได้ทดลองนำท่อกระดาษของเขาไปฟังเสียงสะท้อนในทรวงอกของคนไข้ที่เป็น pneumonia และโรค empyema ซึ่งเขารายงานว่าไม่ได้ยินเสียงเลย และสำหรับคนที่เป็นวัณโรคนั้นเวลาพูด เสียงสะท้อนจะดังเสมือนถูกส่งมาจากผนังอก ครั้นเมื่อ Laennec ตระหนักว่า โพรงในหน้าอกคือแหล่งกำเนิดเสียง เขาจึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า pectoriloquy ซึ่งแปลว่า การสนทนาจากทรวงอก ดังนั้น ในมุมมองของ Laennec ผู้ชอบเล่นขลุ่ยเป็นชีวิตจิตใจ โรงพยาบาลคือสถานที่ๆ ทรวงอกของคนไข้ส่งเสียงตลอดเวลา แต่เสียงเหล่านี้ไม่ประสานกันเป็นทำนองเพลงที่ไพเราะและน่าฟังเหมือนเพลงในโรงละครโอเปรา

เพราะแผ่นกระดาษที่ Laennec นำมาม้วนใช้นั้นบอบบาง และมีรูปทรงง่าย แพทย์ทั่วไปจึงคิดว่าอุปกรณ์นี้ไม่มีศักดิ์ศรีพอที่แพทย์จะใช้เป็นอุปกรณ์ตรวจคนไข้ ดังนั้น Laennec จึงดัดแปลงและพัฒนาอุปกรณ์โดยการนำท่อนไม้มาเจาะเป็นทรงกระบอกกลวงยาวประมาณ 25 เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 2.5 เซนติเมตร เพื่อใช้ฟังเสียงสะท้อนแทนแผ่นกระดาษม้วน และต้องการจะตั้งชื่ออุปกรณ์ชนิดใหม่ จึงเขียนจดหมายขอชื่ออุปกรณ์จากลุง ซึ่งได้บอกว่าอุปกรณ์น่าจะชื่อ thoracoscope จากคำละติน thorax ที่แปลว่า หน้าอก กับคำกรีก skopein ที่แปลว่า ตรวจ เพราะ Laennec ไม่ต้องการสนธิคำต่างภาษากัน แต่แนวคิดของลุงให้ความหมายดี ดังนั้น Laennec จึงตั้งชื่ออุปกรณ์ใหม่ว่า stethoscope ซึ่งมาจากคำกรีก stethos ที่แปลว่า หน้าอก ชื่อ stethoscope จึงติดมาจนทุกวันนี้ แต่สำหรับ Laennec โดยส่วนตัวแล้ว เขาชอบเรียกอุปกรณ์ที่เขาประดิษฐ์ว่า กระบอง

เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1818 Laennec ได้เสนอผลงานนี้ที่ Academic de Medicin ในปารีส หลังจากนั้น Laennec ได้พัฒนาอุปกรณ์ให้สามารถฟังเสียงจากหน้าอกได้ดีขึ้นๆ โดยนำกรวยไม้มาติดที่ปลายข้างหนึ่งเพื่อโฟกัสคลื่นเสียงให้ดังและฟังชัดขึ้น นี่จึงเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยวิเคราะห์โรคโดยไม่ทำร้ายอวัยวะใดๆ ในร่างกายคนไข้ ภายในเวลาสามปี Laennec ก็สามารถใช้อุปกรณ์ของเขาฟังและจำแนกเสียงที่ปอดคนไข้ส่งออกมาว่ากำลังป่วยเป็นโรคใดเช่น rhonchi (เสียงดังหวืดแห้งในหลอดลม) หรือ egophony (น้ำในช่องปอด) และเมื่อ Laennec พบว่า เหล่าแพทย์ที่ตั้งคลีนิกอยู่นอกกรุงปารีสไม่มีใครรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์นี้เลย และไม่มีอุปกรณ์นี้ใช้ Laennec จึงเขียนตำราเกี่ยวกับอุปกรณ์นี้และพบว่า งานเขียนหนังสือเป็นงานน่าเบื่อ จนทำให้ผู้เขียนรู้สึกเหน็ดเหนื่อยและสุขภาพของเขาได้ทรุดโทรมไปมาก
 stethoscope ที่ถูกพัฒนารูปร่างมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นอุปกรณ์วินิจฉัยโรคอย่างง่ายประจำตัวแพทย์
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1819 ชุดหนังสือที่เรียบเรียงโดย Laennec เรื่อง “On Medicine Auscultation” สองเล่มก็ออกวางตลาด ในราคาเล่มละ 16 ฟรังค์ โดยหนังสือทั้งสองเล่มนี้มีการแนะนำวิธีใช้ stethoscope อย่างละเอียด

ทว่าวงการแพทย์ฝรั่งเศสในยุคนั้นก็ยังไม่รู้สึกยินดียินร้ายกับหนังสือทั้งสองเล่มนี้ ดังจะเห็นได้จากจำนวนคนที่ซื้ออ่านมีน้อย มีแพทย์บางคนคิดว่า มันเป็นอุปกรณ์ที่หลอกลวงคนไข้ อีกทั้งมีรูปร่างเทอะทะน่าเกลียด แต่มีแพทย์อังกฤษคนหนึ่งชื่อ G. Forbes ซึ่งได้แปลหนังสือของ Laennec ชุดนี้ แล้วเขียนคำนิยมทำนองสนับสนุนว่า เพราะเชื้อโรคเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถสื่อสารได้ ดังนั้น stethoscope ของ Laennec จะช่วยให้แพทย์รู้พยาธิสภาพของคนไข้ได้ดี

แม้แพทย์ส่วนใหญ่จะไม่ชื่นชมอุปกรณ์ stethoscope แต่บรรดาคนไข้ไฮโซ เช่น Madame de Chateaubriand กลับรู้สึกศรัทธา เพราะหลังจากที่แพทย์ประจำตัวที่รักษาเธอมีความเห็นว่า อาการไอเรื้อรังของเธอแสดงว่าเธอกำลังเป็นวัณโรค และจะต้องเสียชีวิตภายในเวลา 3 เดือน แต่เมื่อ Laennec ใช้ stethoscope แนบที่หน้าอกเธอเพื่อวิเคราะห์ เขากลับพบว่า เธอเป็นหวัด และจะหายดีในอีกไม่นาน ดังนั้นเมื่อเธอหายป่วย แพทย์ประจำตัวเธอจึงถูกไล่ออกจากงาน และเมื่อชื่อเสียงของ Laennec เริ่มโด่งดัง Duchess de Berry จึงแต่งตั้งให้ Laennec เป็นแพทย์ประจำตัว ทำให้เขามีโอกาสเข้าสังคมชั้นสูงบ่อยขึ้น จนได้ทำหน้าที่เป็นแพทย์รักษาขุนนางกับข้าราชบริพารในราชวงศ์ Bourbon ของฝรั่งเศสหลายคน นี่นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ Laennec มีเงินติดตัว เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ความยากจนทำให้เขาไม่มีเงินเลยและต้องใช้ชีวิตอย่างสมถะที่สุด

ในขณะที่คนไข้ทั้งหลายกำลังชื่นชมและยกย่อง Laennec ว่าเป็นหมอเทวดา ศัตรูเก่าของ Laennec คือ Joseph Victor Broussais ก็ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งๆ ที่เวลาผ่านไปนานถึง 18 ปี แต่ Broussais ก็ยังจำ Laennecได้ดี Broussois คนนี้มีบุคลิกทุกด้านตรงข้ามกับ Laennec เช่น Laennec ผอมซีด แต่ Broussais อ้วนและมีใบหน้าแดงก่ำ Laennec พูดเสียงเบาและช้า แต่ Broussais พูดเสียงดังและพูดเก่ง Laennec นับถือคริสต์ศาสนานิกาย Roman Catholic และจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ แต่ Broussais เป็นคนไร้ศาสนา และศรัทธาในระบบเสรีนิยม นอกจากนี้ Broussais ก็ยังเคืองแค้น Laennec อย่างไม่เคยลืมเลือนที่ถูก Laennec ดูแคลน

ดังนั้นเมื่อ Broussais ได้อ่านตำราที่ Laennec เรียบเรียง และในตำรามีการพาดพิงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 18 ปีก่อน แม้ Laennec จะมิได้ใช้ชื่อ Broussais ตรงๆ ในการบรรยาย แต่ Broussais ก็รู้ดีว่า Laennec หมายถึงตน จึงประกาศขอล้างแค้น Laennec ตราบจนชีวิตจะหาไม่

ตัว Broussais เอง ได้พยายามให้กำเนิดวิทยาการด้านแพทยศาสตร์เชิงสรีรวิทยา (physiological medicine) ซึ่งมีหลักการว่าโรคทุกชนิดเกิดจากการที่อวัยวะในร่างกายทำงานบกพร่องเพราะถูกรบกวน หรือถูกทำลาย ดังนั้นในการรักษา แพทย์จำต้องสนใจเรื่องอาหารการกินของคนไข้ กับเรื่องการเจาะเลือดเสียออกจากร่างกายโดยให้ปลิงดูด และในการรักษาด้วยวิธีนี้ Broussais ได้นำปลิงนับล้านตัวจากฮังการีเข้าประเทศ เพราะมีคนไข้มากมายที่ศรัทธาการรักษาด้วยวิธีนี้ ส่วนวิธีของ Laennec ที่ใช้วิเคราะห์โรคด้วย stethoscope นั้น Broussais คิดว่าเป็นวิธีรักษาของแพทย์ที่เสียสติ
Francois Broussais คู่แข่งคนสำคัญ
การทะเลาะเชิงวิชาการระหว่าง Broussais กับ Laennec จึงเกิดขึ้นอย่างดุเดือดรุนแรงและบ่อยในลักษณะที่ไม่มีใครยอมใคร ในสถานที่ทุกหนแห่ง เพราะ Broussais เป็นนักพูดที่มีน้ำเสียงดัง ฟังชัด และมีลีลาแพรวพราวในการปราศรัย เขาจึงสามารถใช้คำพูดปลุกระดมและเร้าใจผู้ฟังได้ดีกว่า ส่วน Laennec นั้นพูดไม่เก่ง และออกปราศรัยไม่บ่อย อีกทั้งลีลาการพูดก็ไม่เร้าใจและไม่สนุก Laennec จึงเป็นฝ่ายแพ้ทุกครั้งที่มีการเผชิญหน้ากัน

ประเด็นที่ Broussais นำมาโจมตีหนัก คือ เขากล่าวหาว่า Laennec สนับสนุนให้แพทย์วิเคราะห์โรคมากกว่าจะให้รักษาโรค แต่ Laennec ได้กล่าวแก้ว่า วิธีคิดของ Broussais นั้นเหลวไหล และไร้หลักการ โดยเปรียบ Broussais ว่าเป็น Paracelsus ที่เมาเหล้า เมื่อหมดประเด็นจะโจมตีเชิงวิชาการแล้ว ทั้งสองได้เริ่มโจมตีเรื่องส่วนตัว เช่น Broussais ได้บริภาษ Laennec ว่าเป็นศาสตราจารย์เตี้ยแคระรูปร่างผอม และ Laennec ได้ตอบโต้กลับว่า Broussais ตัวอ้วนเหมือนหมู เป็นต้น

การวิวาทระหว่างแพทย์ทั้งสองได้ทำให้สังคมประชาชนฝรั่งเศสในยุคนั้นแตกแยกเป็นสองฝ่าย เพื่อนฝูงที่สนิทกันกลับโกรธกัน และมีการลอบฆ่าฝ่ายตรงข้ามเนืองๆ Laennec มักถูกฝูงชนที่สนับสนุน Broussais โห่ไล่ในที่สาธารณะหลายครั้ง และเมื่อแพทย์ส่วนใหญ่เชื่อวิธีคิดของ Broussais Laennec จึงรู้สึกท้อแท้ในชีวิตมากจนคิดจะเดินทางกลับบ้านเกิดที่ Brittany เพื่อหนีสังคม ดังนั้น เมื่อถึงต้นปี 1824 Laennec ผู้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์แพทย์ศาสตร์แห่ง Collége de France จึงเดินทางออกจากปารีสโดยมี Madame Argou ผู้เป็นคนใช้ประจำตัวติดตามไปด้วยเพื่อพักผ่อน และรักษาตัว และคนทั้งสองได้เดินทางกลับถึงปารีสในปลายปี เพื่อแต่งงานกัน ทั้งนี้เพราะ Laennec รู้สึกเหงาและว้าเหว่มาก

ในปีต่อมาเมื่อสุขภาพของ Laennec ได้ทรุดลงๆ ด้วยวัณโรคเขารู้ตัวดีว่าวาระสุดท้ายของชีวิตได้ใกล้เข้ามาแล้ว Laennec กับภรรยาจึงเดินทางออกจากปารีสเป็นครั้งสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม 1826 เมื่อถึงบ้านเกิดที่เมือง Ploaré ใน Brittany Laennec แทบหมดแรงเดิน จนภรรยาต้องเรียกแพทย์มาดูอาการ และแพทย์คนนั้นก็ได้ใช้ stethoscope ของ Laennec ตรวจดูอาการของ Laennec แล้วบอกว่า “ปกติ”

ในคืนวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ.1826 นั้นเอง Laennec ซึ่งรู้ตัวตลอดเวลาได้ถอดแหวนหมั้นออกจากนิ้วนาง แล้ววางลงบนโต๊ะใกล้เตียง พร้อมกับบอกภรรยาว่า ถ้าไม่ถอดแหวนออกวันนี้ อีกไม่นานภรรยาก็คงต้องถอดอยู่ดี

อีกสองชั่วโมงต่อมา Laennec ก็สิ้นใจ สิริอายุ 45 ปี โดยทิ้ง stethoscope ที่ตนประดิษฐ์ให้แก่หลานชาย และบอกว่านี่คือมรดกที่สำคัญที่สุดในชีวิตของลุง แม้ Laennec จะเสียชีวิตในขณะที่มีอายุยังน้อย แต่ก็ได้ทิ้งผลงานที่ยิ่งใหญ่ให้วงการแพทย์ได้มีอุปกรณ์ใช้ในการวิเคราะห์โรค เพราะแพทย์ในสมัยนั้นไม่มีอุปกรณ์ใช้ในการวิเคราะห์โรคเลย จนกระทั่งชายร่างเล็กคนหนึ่งผู้ไม่ยอมเอาหูแนบที่หน้าอกคนไข้คิดประดิษฐ์ stethoscope ขึ้นมาในปี 1816

หลังจากที่ Laennec จากโลกไปแล้ว อุปกรณ์ stethoscope ก็ได้วิวัฒนาการไปตามลำดับในปี ค.ศ.1829 Nicholas Comins ได้เปลี่ยนทรงกระบอกไม้จากท่อนเดียวเป็นสองท่อน โดยให้แต่ละท่อนมีความยาวประมาณ 18 เซนติเมตร และให้ท่อนไม้ทั้งสองโยงถึงกันด้วยท่อยางที่สามารถบิดได้ แพทย์จึงสามารถวางท่อทั้งสองในลักษณะทำมุมกันเพื่อช่วยให้แพทย์สะดวกฟัง หลังจากนั้น Arthur Leared ก็ได้พัฒนาอุปกรณ์ต่อจากที่ใช้ฟังด้วยหูข้างเดียวให้ใช้หู 2 ข้างในการฟัง โดยมีหลอดยาง 2 หลอดโยงจากแท่งไปสู่หูทั้งสองของคนฟัง

ในปี ค.ศ.1878 เมื่อมีการประดิษฐ์ไมโครโฟน แพทย์ได้พบว่าถ้านำไมโครโฟนมาใช้ในเครื่องฟังหน้าอก สัญญาณเสียงที่ได้ยินจะชัดขึ้นไปอีก ยิ่งเมื่อเอากระบัง (diaphragm) ยางมาขึงปิดที่หูฟัง คุณภาพเสียงที่ผ่านมาจะดีขึ้นมาก แต่ในอเมริกาการยอมรับก็ยังไม่แพร่หลาย เพราะแม้แต่ L.A. Connor ซึ่งเป็นผู้จัดตั้งสมาคม American Heart Association ก็ยังใช้ผ้าเช็ดหน้าวางที่หน้าอกคนไข้แล้วเอาหูแนบฟัง โดยไม่ยินดีใช้ stethoscope ของ Laennec

ทุกวันนี้ stethoscope เป็นอุปกรณ์ที่ค่อนข้าง “โบราณ” แต่แพทย์ก็นิยมพกพาติดตัวเวลาออกตรวจไข้ ทั้งๆ ที่อุปกรณ์นี้ทำงานสู้อุปกรณ์ราคาแพงชนิดอื่นๆ เช่น เครื่อง X-ray หรืออุปกรณ์ MRI ไม่ได้ แต่ stethoscope ก็เป็นอุปกรณ์ราคาถูกที่สามารถให้ข้อมูลหยาบๆ แก่แพทย์ได้อย่างรวดเร็ว แพทย์จึงสามารถให้ความเห็นและตัดสินใจด้วยตัวเองได้ในทันที ในขณะที่อุปกรณ์อื่นๆ ที่แพทย์ปัจจุบันใช้ล้วนมีราคาแพง และการวิเคราะห์โรคต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขามาทำงานร่วมกันเป็นทีม

stethoscope ที่ Laennec ประดิษฐ์จึงยังเป็นอุปกรณ์ที่ทรงความมหัศจรรย์ และเป็นสิ่งจำเป็นให้แพทย์ทุกคนต้องใช้ต่อไปในอนาคตอีกนาน

อ่านเพิ่มเติมจาก Moments of Truth: Four Creators of Modern Medicine โดย Thomas Dormandy จัดพิมพ์โดย Wiley ปี 2004

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์

ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น