นักวิจัยหญิงไทยหยิบ “เทาน้ำ” ใส่แผ่นเจลพอกหน้า นอกจากต้านริ้วรอยและให้ความชุ่มชื้นแล้ว ยังมีฤทธิ์ต้านกระและฝ้า สร้างความฮือฮาจนคว้ารางวัลพิเศษจากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์ของผู้หญิงที่เกาหลีใต้ เจ้าตัวเผยพร้อมผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้ว
ผลงานแผ่นเจลพอกหน้าจากสาหร่ายเตาหรือสไปโรไจรา (Spirogyra) ที่พัฒนาขึ้นโดย ดร.ดวงพร อมรเลิศพิศาล จากคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพิ่งได้รับรางวัลเหรียญทองจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของนักวิจัยหญิงนานาชาติเกาหลี ประจำปี 2556 (Korea International Women’s Invention Exposition 2013: KIWIE 2013) ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 30 เม.ย.-5 พ.ค. 56 ณ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ และได้รับรางวัลพิเศษจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาเกาหลี (Korea Intellectual Property Office: KIPO)
ทั้งนี้ ดร.ดวงพร ได้เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงความพิเศษของรางวัลที่ได้รับว่า สำหรับรางวัลเหรียญทองที่ได้นั้นเป็นรางวัลเหมือนการตัดเกรด หากคะแนนถึงเกณฑ์ก็ได้รับรางวัลนี้ และจะมีเหรียญรางวัลมาวางไว้ให้ที่บูธแสดงผลงาน หากแต่รางวัลพิเศษจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของเกาหลีนั้นจะมอบรางวัลให้บทเวที แสดงถึงความพิเศษที่มากกว่า
อะไรคือความโดดเด่นของแผ่นเจลพอกหน้าจากสาหร่ายเตา?
ดร.ดวงพรให้ข้อมูลว่า สาหร่ายเตา หรือ เทาน้ำเป็นสาหร่ายสีเขียว ที่เราพบได้ตามแหล่งน้ำจืดทั่วไป แต่พบมากในภาคเหนือและอีสาน โดยจะพบหลังตามทุ่งนาหลังฤดูทำนา และชาวบ้านนำมาบริโภคเป็นอาหารพื้นบ้านมานานแล้ว เนื่องจากมีโภชนาการสูง โดยประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ และปัจจุบันมีการนำทรัพยากรจากธรรมชาติมาพัฒนาเป็นอาหารสุขภาพและเวชสำอางจำนวนมาก
จากการศึกษาทางพฤกษเคมีพบว่า สาหร่ายเตามีฤทธิ์ทางชีวภาพ โดยสารสกัดน้ำที่ได้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ซึ่งหากนำมาใช้กับผิวแล้วจะให้ความชุ่มชื้นและลดเลือนริ้วรอย ที่สำคัญคือยังพบว่ามีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ “ไทโรสิเนส” ที่เป็นสาเหตุให้เกิดฝ้า กระและจุดด่างดำ อันเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่าสารสกัดที่ต้านอนุมูลอิสระทั่วไป จึงทำให้เกิดแนวคิดว่าควรนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ด้านความงาม
“พอกหน้าแค่ 20 นาที จะให้ได้ผลต้องใช้อย่างต่อเนื่องอาทิตย์ละครั้ง และควรใช้คู่กับเซรั่มสาหร่ายเตาที่อาจารย์พัฒนามาคู่กัน โดยตัวเซรั่มใช้ทุกวันเช้า-เย็น” ดร.ดวงพรกล่าว และบอกว่าด้วยคุณสมบัติดังกล่าวสร้างความสนใจจากบริษัทเกาหลีและติดต่อขอนำไปจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ หากอาจารย์ได้ร่วมโครงการกับทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งติดต่อบริษัทเอกชนคือ บริษัท สมาร์ทไลฟ์ จำกัด มาเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นเจลพอกหน้านี้แล้ว ซึ่งอีกไม่นานจะวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์
ตั้งเป้าหมายสร้างผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกส์
เป้าหมายของ ดรงดวงพรคือพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกส์ที่ไร้สารเคมี โดยจะเข้าไปติดต่อเกษตรใน จ.แพร่ ซึ่งเพาะเลี้ยงสาหร่ายเตาเป็นอาชีพ เพื่อให้ผลิตสาหร่ายแบบปลอดสารเคมี และผลิตเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานผลิตแผ่นเจลพอกหน้า อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าของสาหร่ายเตาจะแผ่นจะไม่กี่บาทให้เป็นหลายร้อยหลายหมื่นได้
นอกจากเป็นแผ่นเจลพอกหน้าแล้ว ดร.ดวงพรและคณะยังพบว่า สาหร่ายมีคุณสมบัติช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดจากการทดลองในหนู จึงได้พัฒนาเป็นเครื่องดื่มสุขภาพ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นโยเกิร์ต ซึ่งผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากเส้นใยอาหารซึ่งช่วยในเรื่องระบบขับถ่ายด้วย
ในการพัฒนาแผ่นเจลพอกหน้าใช้เวลาเพียง 1 เดือน แต่ทั้งนี้เป็นผลจากการสั่งสมองค์ความรู้มายาวนาน โดย ดร.ดวงพรเคยทำงานอยู่ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และศึกษาเกี่ยวกับสาหร่ายทะเลเป็นเวลา 10 ปี กระทั่งเริ่มศึกษาเกี่ยวกับสาหร่ายน้ำจืดในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ย้ายไปทำงานที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้
สำหรับการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับนักวิจัยหญิงที่เกาหลีใต้นั้น ทาง วช.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้คัดเลือกผลงานนักวิจัยหญิงไทยที่ได้รับสิทธิบัตรแล้วไปประกวดในเวทีดังกล่าว ซึ่งมีผลงานส่งเข้าประกวด 300 ผลงานจาก 25 ประเทศ โดยเป็นผลงานจากเกาหลี 160 ผลงาน และผลงานจากประเทศต่างๆ อีก 140 ผลงาน
นอกจากแผ่นเจลพอกหน้าแล้ว ยังผลงานอื่นๆ ที่ได้รับรางวัลอีก เช่น ระบบไบโอรีแอคเตอร์ (Bioreactor) สำหรับอุตสาหกรรมการขยายพันธุ์พืช” ของ รศ.ดร.นพมณี โทปุญญานนท์ และ ดร.พูนพัฒน์ พูนน้อย จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาเกาหลี และสมาคมอุตสาหกรรมสตรีเกาหลี การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากใบข้าว ของ ผศ.ดร.สุธยา พิมพ์พิไล มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ได้รับรางวัลเหรียญเงิน จากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาเกาหลี และสมาคมอุตสาหกรรมสตรีเกาหลี เป็นต้น