xs
xsm
sm
md
lg

3 นักวิจัยหญิงกับตำแหน่งใหม่ “สตรีในงานวิทยาศาสตร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้ายไปขวา) ดร.ศันสนีย์ น้อยสคราญ, ดร.ปุณณมา ศิริพันธ์โนน,  ดร.อทิตยา ศิริภิญญานนท์
3 นักวิจัยหญิงผู้มีผลงานโดดเด่นคนละด้าน “ดร.ปุณณมา ศิริพันธ์โนน” ผู้ตั้งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วยนาโน “ดร.ศันสนีย์ น้อยสคราญ” ผู้ปรารถนาค้นคำตอบเหตุใดบางคนถึงแสดงอาการไข้เลือดออก ขณะที่บางคนไม่ แม้ติดเชื้อไวรัสก่อโรคเช่นเดียวกัน และ “ดร.อทิตยา ศิริภิญญานนท์” นักเคมีวิเคราะห์ผู้เป็น “จิ๊กซอว์” ในการวิเคราะห์อนุภาคนาโนสำหรับนักวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ คว้าทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์”

บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศรายชื่อผู้ได้รับทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2555 ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือกับ สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าดวยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ซึ่งได้รับทุนจะได้รับทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท

ผู้ได้รับทุนวิจัยในปีนี้ ได้แก่ ผศ.ดร.ปุณณมา ศิริพันธ์โนน จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในสาขาวัสดุศาสตร์ ดร.ศันสนีย์ น้อยสคราญ จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และ ผศ.ดร.อทิตยา ศิริภิญญานนท์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในสาขาเคมี ซึ่งเป็นสาขาใหม่ที่เพิ่งเพิ่มขึ้นมาในปีนี้

สำหรับผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.ปุณณมา เป็นงานวิจัยด้านเทคโนโลยีระดับนาโนสำหรับการพัฒนาการตกแต่งสำเร็จสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีโจทย์วิจัย 2 ด้าน คือ การพัฒนาสิ่งทอให้มีคุณภาพดีขึ้นแต่ต้นทุนต่ำลง โดยพัฒนาการยึดเกาะของอนุภาคนาโนกับสิ่งทอให้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพของสิ่งทอ เช่น การใช้อนุภาคกับเส้นใยธรรมชาติอย่างฝ้าย ซึ่งเป็นที่นิยมของยุโรป เป็นต้น

งานวิจัยอีกด้านมาเป็นผลสืบเนื่องจากความต้องการแก้ปัญหาน้ำเสียจากการฟอกย้อมในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งการฟอกย้อมเป็นสิ่งจำเป็นที่เลี่ยงไม่ได้สำหรับสิ่งทอ แต่น้ำทิ้งนั้นปนเปื้อนด้วยสารเคมีที่จำเป็ต้องได้รับการบำบัดการปล่อยทิ้ง หากแต่ผู้ประกอบมองว่าการบำบัดน้ำเสียเป็นเทคโนโลยีที่ต้องลงทุน แต่ไม่ได้ผลตอบแทนทำให้มีการลักลอบปล่อยทิ้ง จึงพัฒนาเทคโนโลยีบำบัดที่มีต้นทุนถูก

“ในการบำบัดน้ำเสียนั้นมีการสารดูดซับสารฟอกย้อม แต่ไม่สามารถดูดซับได้ 100% จึงพัฒนาสารดูดซับนาโนที่มีขาดรูพรุนพอเหมาะกับสารฟอกย้อม ซึ่งทำขึ้นจากดินชนิดหนึ่ง และดูดซับสารฟอกย้อมได้ทั้งหมด และมีต้นทุนถูก ส่วนการนำกลับไปใช้ใหม่นั้น ในตอนนี้อาจจะเอาไปใช้เพนท์ลายในงานศิลปะได้ เพราะสารดูดซับจะเปลี่ยนสีไปตามสีฟอกย้อม หรืออาจเผาไล่สีเพื่อนำสารดูดซับกลับมาใช้ใหม่ แต่ยังมีต้นทุนที่แพงอยู่” ผศ.ดร.ปุณณมา กล่าว

ส่วน ดร.อทิตยา นั้น ศึกษาทางด้านเคมีวิเคราะห์ โดยมีงานวิจัยที่เน้นศึกษาการกระจายขนาดของอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรมในตัวอย่างอาหาร ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคและสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาและประยุกต์เทคนิคการแยกแบบไหลภายใต้สนาม (field-flow fractionation) เพื่อวิเคราะห์ขนาดและการกระจายขนาดอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม

ดร.อทิตยา กล่าวว่า สนามที่ศึกษามีอยู่หลายสนาม อาทิ สนามเนื่องจากแรงไหลของของเหลว และสนามเนื่องจากการเหวี่ยงสู่ศูนย์กลาง เป็นต้น ซึ่งในเมืองไทยมีผู้สนใจและวิจัยการวิเคราะห์อนุภาคนาโนอยู่มาก แต่การวิเคราะห์อนุภาคนาโนด้วยการใช้เทคนิคการแยกแบบไหลภายใต้สนามนั้น เป็นเทคนิคที่มีการศึกษาแค่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล

“งานด้านเคมีวิเคราะห์เป็น “จิ๊กซอว์” เล็กๆ ที่นำไปสานต่อสานของนักวิทยาศาสตร์คนอื่นที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ เพื่อการพัฒนาชาติ เศรษฐกิจและสังคมต่อไป ซึ่งเคมีวิเคราะห์จะช่วยบอกได้ว่ามีอะไรอยู่ในสารเคมีนั้นๆ” ดร.อทิตยา กล่าว

สำหรับ ดร.ศันสนีย์ นั้น เผยว่า สงสัยเหตุใดผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเด็งกี่บางรายจึงมีอาการของโรคไข้เลือดออก แต่บางรายก็ไม่มีอาการ โดยพบความสัมพันธ์ระหว่างโปรตีนไวรัส เอ็นเอส-1 (NS-1) กับการแสดงอาการของโรค และพบโปรตีนดังกล่าวมากในเลือดคนไข้ที่แสดงอาการ อีกทั้งยังเป็นโปรตีนที่สัมพันธ์กับระดับความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ยังกำลังหาโปรตีนของร่างกายมนุษย์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับโปรตีนไวรัสดังกล่าว เมื่อทราบแล้วก็จะนำไปสู่การพยากรณ์ของโรคได้

ด้าน นางสดับพิณ คำนวณทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การมอบทุนวิจัยนี้ดำเนินมาครบ 10 ปีแล้ว โดยมีนักวิจัยสตรีที่ได้รับทุนมาแล้ว 40 คน และปีนี้มีพิธีมอบทุนวิจัยในวันที่ 25 ธ.ค.โดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จะเสด็จเป็นองค์ประธาน

“งานวิจัยคือหัวใจของเรา เพราะเราเป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยนักวิจัย* เรามีนักวิจัย 3,600 คน ทำงานอยู่ใน 56 แผนกวิจัย และมีศูนย์วิจัยกระจายอยู่ทั่วโลก 19 แห่ง งานวิจัยจึงเป็นกุญแจสำคัญต่อองค์กรของเรา” นางสดับพิณ กลาว

*มร.ยูชีน ชูแลร์ นักเคมีที่ค้นคว้าสูตรครีมย้อมผม ที่ปลอดภัยต่อเส้นผมและหนังศีรษะเป็นรายแรกของโลก คือ ผู้ก่อตั้งลอรีอัล
นางสดับพิณ คำนวณทิพย์ (ขวา) แสดงความยินดีกับนักวิจัยทั้งสามคน






กำลังโหลดความคิดเห็น