ลอรีอัลมอบทุน “สตรีในงานวิทยาศาสตร์” ปีที่ 9 แก่ 4 นักวิจัยหญิงในสาขาวัสดุศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ แพทย์รามาผู้ริเริ่มวิจัยความเกี่ยวข้องปริมาณสารพันธุกรรมบนโครโมโซมกับโรคทางพันธุกรรม นักวิจัยไบโอเทคผู้ศึกษาความสัมพันธ์ระบบโปรตีนกุ้งและไวรัส นักวัสดุศาสตร์ผู้วิจัยสารเติมแต่งเพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ฉลาด และนักวิจัยนาโนเทคผู้พัฒนาอนุภาคนาโนเพื่อใช้ห่อหุ้มสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ
บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด มอบทุนโครงการทุนวิจัยลอรีอัลประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Woman in Science) ด้วยความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ครั้งที่ 9 แก่ 4 นักวิจัยหญิงไทยในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Science) และสาขาวัสดุศาสตร์ (Material Science) โดยทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้ร่วมงานเปิดตัวผู้ได้รับรางวัลเมื่อวันที่ 7 ก.ย.54 ณ โรงแรมแกรนด์ มิลเลนเนียม
ผู้ได้รับรางวัลในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้แก่ ดร.พญ.ณฐินี จินาวัฒน์ จากสำนักงานวิจัยวิชาการและนวัตกรรม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และดร.แสงจันทร์ เสนาปิน จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ส่วนผู้ได้รับรางวัลในสาขาวัสดุศาสตร์ ได้แก่ ผศ.ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ จากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค)
ผลงานของ ดร.พญ.ณฐินี คืองานวิจัยในการศึกษาความเกี่ยวข้องของปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ (DNA) บนโครโมโซมกับโรคทางพันธุกรรม โดยใช้เทคนิคใหม่ในการตรวจดีเอ็นเอทั้งหมดที่เรียกว่า “จีโนม-ไวด์ สนิป อาร์เรย์” (Genome-wide SNP array) ซึ่งเธอบอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ว่าเทคนิคนี้ต่างจากเทคนิคเดิมที่แยกโครโมโซมออกมาแล้วดูด้วยตาเปล่าผ่านกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งใช้กันมากว่า 50 ปีแล้ว แต่เทคนิคใหม่นั้นจะใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการวิเคราะห์ ซึ่งจะให้ผลที่ละเอียดอีกกว่า และทราบความผิดปกติเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นบนตำแหน่งโครโมโซมได้
“เดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีใหม่ที่เราจะหั่นดีเอ็นเอเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วใส่เข้าไปในแผ่นสไลด์ จากนั้นนำไปวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะวิเคราะห์ออกมาได้อย่างละเอียด แม้มีปริมาณดีเอ็นเอขาดหรือเกินเพียงเล็กน้อย ซึ่งต่างประเทศเริ่มนำมาใช้ตรวจคนไข้เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว และเริ่มแพร่หลายเมื่อปี 2551 โดยในสหรัฐฯ ถือว่าวิธีนี้เป็นตัวชี้นำในการตรวจวัดคนไข้ที่เป็นโรคทางพันธุกรรมแต่ไม่มีอาการชี้ชัด” ดร.พญ.ณฐินีกล่าว
ทั้งนี้ ดร.พญ.ณฐินี กล่าวว่าได้เริ่มงานวิจัยนี้มา 2-3 เดือนแล้ว โดยมีกลุ่มตัวอย่างที่พบว่าคนในครอบครัวมีอาการปัญญาอ่อนหรือ พัฒนาการบกพร่อง (Developmental Delay) อย่างน้อย 1-2 คนหลายชั่วรุ่น แต่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่ายีนตัวใดเป็นสาเหตุของโรค ซึ่งหากการศึกษาครั้งนี้สำเร็จอาจได้พบยีนที่เกี่ยวข้องกับโรคเหล่านี้ ผลที่ได้จะนำไปสู่การวินิจฉัยโรคและให้คำปรึกษาเรื่องพันธุกรรม รวมถึงกรณีที่ผู้เข้ารับการปรึกษาต้องการมีทายาทต่อไป
ทางด้าน ดร.อุรชา เน้นงานวิจัยด้านการออกแบบการกักเก็บสาร (encapsulation) ในรูปอนุภาคนาโนเพื่อรักษาฤทธิ์ทางชีวภาพและควบคุมการปลดปล่อยสาร จากเดิมที่สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจะเสื่อมสลายและไม่คงตัว หากไม่มีสารอื่นมาห่อหุ้ม โดยสารที่นำใช้ห่อหุ้มที่เพื่อกักเก็บสารนั้นจะเน้นการใช้ไขมันและน้ำมัน ซึ่งตัวอย่างผลงานที่จะนำไปใช้จริงแล้วคือครีมและแผ่นแปะที่มีสารสกัดจากพริก ซึ่งปัจจุบันมีนำสารแคปไซซิน (Capsaicin) ในพริกที่ทำให้รู้สึกแสบร้อนไปใช้เป็นยาบรรเทาโรคข้ออักเสบ แต่เดิมไม่สามารถควบคุมการปลดปล่อยปริมาณยาได้ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแสบร้อนและทรมาน แต่เมื่อนำอนุภาคนาโนไปกักเก็บได้ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องแปะหรือทายาบ่อยๆ
ส่วน ผศ.ดร.หทัยกานต์ ทำงานวิจัยด้านการคิดค้นวัสดุเติมแต่งชนิดใหม่เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ฉลาด (smart packaging) โดยเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติในประเทศ เช่น แร่ดินเหนียวหรือนาโนเคลย์ (nano clay) เป็นต้น และได้พัฒนาวัสดุต้นแบบเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อยืดอายุผักและผลไม้ ตลอดจนใช้เป็นเซนเซอร์วัดความสดของพืชผลทางการเกษตร แต่ยังมีคำถามว่าวัสดุที่พัฒนาขึ้นนั้นมีความปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งต้องส่งทดสอบและทำการศึกษาต่อไป โดยคาดว่าจะได้พบประโยชน์จากวัสดุเหล่านี้มากขึ้นไปอีก
สำหรับผลงาน ดร.แสงจันทร์นั้นเป็นงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งจากการระบาดของไวรัส โดยศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างโปรตีน (Protein-protein interaction) ของกุ้ง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างโปรตีนของไวรัส และปฏิสัมพันธ์ระหว่างโปรตีนของไวรัสและกุ้ง ด้วยวิธีที่เรียกว่า “ยีสต์ทูไฮบริด (Yeast to Hybrid assay) ซึ่งเมื่อมีการจับกันของโปรตีนที่ทดสอบในเซลล์ยีสต์จะพบการเปลี่ยนแปลงที่สามารถบอกปฏิสัมพันธ์ระหว่างโปรตีนได้ และความรู้ที่ได้นี้จะนำไปสู่วิธีในการกำจัดหรือยับยั้งไวรัสที่ระบาดในกุ้งได้
ทั้งนี้ ลอรีอัลได้มอบทุนแก่นักวิจัยสตรีไทยภายใต้โครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2545 และได้มอบทุนอย่างต่อเนื่องทุกปีแก่นักวิจัยทั้งหมด 35 คน ด้วยทุนวิจัยละ 200,000 บาท โดยนักวิจัยสตรีที่มีสิทธิรับทุนต้องมีอายุระหว่าง 25-40 ปี และผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2554 นี้จะได้รับรางวัลจาก ศ.ดร.อาดา โยนาธ (Dr.Ada Yonath) นักวิจัยสตรีชาวอิสราเอล ผู้ได้รับรางวัลทุนวิจัยลอรีอัล-ยูเนสโก “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2551 และได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ในปี 2552 และเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลครั้งนี้
นอกจากนี้ยังมีทุนวิจัยระดับสากลคือ โครงการทุนวิจัยลอรีอัล-ยูเนสโก “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (L’Oreal-UNESCO Award for Women in Science) ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ทุนสำหรับนักวิจัยสตรีรุ่นใหม่ โดยคัดเลือกตัวแทนจาก 5 ทวีปๆ ละ 3 คนทั่วโลก และทุนวิจัยสำหรับนักวิจัยสตรีที่มีผลงานเด่นชัดยาวนานอีกทวีปละ 1 คน และได้ดำเนินการมอบทุนมาเป้นปีที่ 13 แล้ว และมีนักวิจัยสตรีที่ได้รับการสนับสนุนทุนดังกล่าวทั้งหมด 1,086 คน ใน 103 ประเทศ