xs
xsm
sm
md
lg

สำนักจัดการคุณภาพน้ำ คพ. เผยแจ้งเตือน 4 ครั้ง คราบน้ำมันเคลื่อนตัวเข้าเกาะเสม็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระยอง - สำนักจัดการคุณภาพน้ำ คพ.เผยแจ้งเตือน 4 ครั้ง ว่า คราบน้ำมันจะเคลื่อนตัวไปยังเกาะเสม็ด แต่คงเป็นเหตุสุดวิสัยที่บริษัทพีทีที โกลบอลฯ ไม่สามารถจำกัดวงล้อมได้ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เตือนฝ่ายปฏิบัติเก็บกู้คราบน้ำมันชี้มีสารก่อมะเร็ง ด้านนักวิจัยฯ เผยสารเคมีที่อยู่ในน้ำมัน จะส่งผลให้สัตว์ทะเลเจริญเติบโตช้าลง และเป็นหมัน

น.ส.พรศรี มิ่งขวัญ ผอ.ส่วนแหล่งน้ำทะเล สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับประสานให้จัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในเรื่องการเคลื่อนตัวของคราบน้ำมัน ซึ่งเราก็คาดการณ์ถูกต้องว่า คราบน้ำมันจะเคลื่อนตัวไปยังเกาะเสม็ด โดยแจ้งเตือน 4 ครั้ง แต่คงเป็นเหตุสุดวิสัยที่บริษัทพีทีที โกลบอลฯ ไม่สามารถจำกัดวงล้อมของคราบน้ำมันได้ เนื่องจากมีปัจจัยอื่นคือ กระแสลมที่แรงมาก

ทั้งนี้ กรมฯ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการอนุมัติให้ใช้สารกำจัดคราบน้ำมัน เท่าที่ทราบตั้งแต่เกิดเหตุ บริษัท พีทีที โกลบอลฯ ได้รายงานมาว่าใช้สารกำจัดคราบน้ำมันไปแล้ว 3.2 หมื่นลิตร โดยสารที่ใช้คือ Oil SILICON NSTYPE 2/3 ซึ่งสารกำจัดคราบน้ำมันนั้นมีหลายชนิด ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ลดสารที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมให้ต่ำลงแล้ว และได้รับการยอมรับในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การใช้สารกำจัดคราบน้ำมันจะมีประสิทธิภาพในช่วงที่น้ำมันรั่วไหลออกมาจากแหล่งกำเนิดไม่เกิน 48 ชั่วโมง หลังจากนั้นแล้วน้ำมันจะแปรสภาพ ไม่แนะนำให้ใช้สารกำจัดคราบน้ำมันต่อ และควรใช้สาร หรือวิธีการอื่นในการกำจัด

ด้านนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้สภาพของอ่าวพร้าว ของอุทยานเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด เหมือนกับทะเลโคลนทั้งหาด ระหว่างนี้มีหลายฝ่ายช่วยกันเก็บกวาดทำความสะอาดอย่างเต็มที่ ทั้งการสูบ ดูด และการซับน้ำมันออก ทั้งจากน้ำทะเล ชายหาด พื้นทราย และก้อนหินออกมาให้เร็วที่สุด

โดยพื้นทรายที่อ่าวพร้าวนั้น เป็นทรายแน่น ถูกน้ำมันเคลือบลงในพื้นทรายประมาณ 1 ซม. แต่หากมีคลื่นซัดน้ำที่ยังปนเปื้อนน้ำมันเข้ามา โอกาสที่ทรายจะถูกปนเปื้อนเพิ่มขึ้นก็มีอีก ดังนั้น ที่ต้องทำคือ จัดการกับน้ำมันในน้ำให้หมดไปก่อน จากนั้นจึงค่อยจัดการกับทราย และก้อนหินที่เปื้อนคราบน้ำมัน โดยนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รมว.ทส. กำชับให้เร่งจัดการขจัดคราบน้ำมันภายใน 15 วัน

“สำหรับทรัพยากรใต้ทะเลที่จะต้องเสียหาย ได้มีการหารือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่องการลงไปสำรวจใต้ทะเลในพื้นที่ที่มีคราบน้ำมัน ขณะนี้ยังทำไม่ได้ เพราะคลื่นแรงสูงถึง 3 เมตร อีกทั้งคราบน้ำมันก็ยังหนาอยู่ ต้องรอให้สถานการณ์ดีกว่านี้ก่อนถึงลงไปสำรวจได้ ส่วนการเรียกร้องค่าเสียหายนั้น เบื้องต้นกรมเจ้าท่าจะเป็นเจ้าภาพในการฟ้องร้อง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปสำรวจความเสียหาย รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่แต่ละหน่วยงานใช้ในการดำเนินงาน เช่น ค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าอาหาร เบี้ยเลี้ยง ส่วนภาคเอกชน และชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายก็ต้องรวบรวมข้อมูลให้กรมเจ้าท่า เพื่อฟ้องร้องต่อไป” นายวิเชียร กล่าว

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า น้ำมันดิบก็เหมือนน้ำมันทั่วไปซึ่งมีสารอินทรีย์ระเหยง่าย เช่น ไฮโดรคาร์บอน ที่เป็นสารก่อมะเร็ง เราจึงเป็นห่วงในเรื่องสุขภาพของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปฟื้นฟูอ่าวพร้าว ซึ่งขณะนี้มีกลิ่นเหม็นมาก โดยในวันที่ 31 ก.ค.นี้ คพ. จะนำเครื่องมือตรวจสอบว่าเกินมาตรฐานหรือไม่ และจะสามารถปฏิบัติงานได้กี่ชั่วโมงจึงจะไม่กระทบต่อสุขภาพ และเจ้าหน้าที่ต้องไม่สัมผัสกับน้ำมันโดยตรง นอกจากนี้ คพ. ได้ให้คำแนะนำทางวิชาการเกี่ยวกับน้ำมันที่สูบขึ้นมาว่าต้องกำจัดอย่างไรจึงจะถูกวิธี และไม่ให้ไปปนเปื้อนกับสิ่งแวดล้อมอย่างอื่นด้วย

ด้าน รศ.ดร.สุชนา ชวนิตย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิจัยหญิงคนแรกของไทยที่ไปทำวิจัยในดินแดนขั้วโลกใต้เมื่อปี 2552 กล่าวถึงกรณีการฟื้นฟูระบบนิเวศของทะเลที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ด ว่า คราบน้ำมันติดบริเวณชายหาดบริเวณโขดหินต่างๆ เมื่อเกาะติดอยู่นานเข้าจะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำประเภทหอยบริเวณโขดหินเป็นอันดับแรก ส่วนคุณภาพของน้ำเองหากภายใน 1 สัปดาห์ ยังไม่กลับคืนสู่สภาพเดิม สัตว์น้ำชนิดต่อมาคือ ปู ปลา กุ้ง จะได้รับผลกระทบเพราะขาดออกซิเจน ในส่วนปะการังที่ต้องการแสงในการเจริญเติบโตเมื่อน้ำมีสีดำก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ส่วนกรณีที่กังวลเรื่องสารเคมีในน้ำมันที่ตกค้างในอาหารทะเลนั้น ขึ้นอยู่กับสารตกค้างในทะเลว่าอยู่ในระยะไหน ถ้ามีคราบน้ำมันอยู่ในระยะผิวน้ำโอกาสที่จะไปตกค้างในห่วงโซ่อาหารที่เรากินอาจมีน้อย หากน้ำมันอยู่ใต้น้ำ โอกาสที่สัตว์เหล่านั้นจะสะสมคราบน้ำมันในตัวจะมีเยอะ

แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณ กรณีสะสมปริมาณมาก เมื่อรับประทานอาหารทะเลเหล่านั้นเข้าไปก็ได้รับสารเคมีที่อยู่ในน้ำมันด้วย แต่ทั้งนี้สารเคมีที่อยู่ในน้ำมันนั้นอันดับแรก จะส่งผลให้สัตว์ทะเลเจริญเติบโตช้าลง และเป็นหมัน ตัวอย่างเช่น ปะการัง แม้ไม่ตายจากคราบน้ำมัน แต่อาจไม่สามารถสืบพันธุ์ได้

ดังนั้น ภายใต้มาตรการฟื้นฟูระบบนิเวศภายหลังการจัดการคราบน้ำมันแล้ว ต้องติดตามผลการฟื้นฟูในระยะยาว คาดว่าจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี เพราะระบบนิเวศบางชนิดเติบโตช้า ยกตัวอย่าง ปะการังใน 1 ปี เติบโตแค่ 1 ซม. ดังนั้น การติดตามแค่ 1 ปีไม่เห็นผล ขณะที่ประเทศอื่นที่เคยเจอเหตุการณ์น้ำมันรั่วในทะเลใช้เวลาติดตามผล 2-3 ปี และถึง 5 ปีด้วยซ้ำ



กำลังโหลดความคิดเห็น