xs
xsm
sm
md
lg

เจอแบคทีเรียทำยุงมีฤทธิ์ต้านมาลาเรีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานวิจัยพบว่าแบคทีเรียวอลบาเชียทำให้ยุงที่ติดเชื้อมีภูมิต้านทานมาเรียได้ ซึ่งจะลดการเป็นพาหะของโรคมาสู่คน (บีบีซีนิวส์)
นักวิจัยพบสายพันธุ์แบคทีเรียซึ่งทำให้ยุงที่ติดเชื้อมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียได้ ซึ่งปกติคนจะได้รับเชื้อมาลาเรียจากยุง ดังนั้น การค้นพบครั้งนี้จึงเป็นความหวังว่าเมื่อเสริมภูมิต้านทานโรคให้ยุงแล้ว การระบาดของโรคในคนก็จะลดลงตามไปด้วย

ทั้งนี้ มาลาเรียเป็นโรคหลักในสากล ซึ่งองค์การอนามัยโลก (World Health Organisation) ประมาณว่าในแต่ละปีมีคนถึง 220 ล้านคนที่ติดเชื้อโรคมาลาเรีย และเสียชีวิตปีละ 660,000 คนจากโรคดังกล่าว ซึ่งการระบาดของโรคเกิดจากคนได้รับเชื้อในยุง แต่งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ลงวารสารไซน์ (Science) พบแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้ยุงมีภูมิต้านทานเชื้อมาลาเรีย โดยเชื้อมาลาเรียต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดเมื่ออาศัยอยู่ในตัวยุงที่ติดเชื้อ
 
การศึกษาดังกล่าวบีบีซีนิวส์ระบุว่า เป็นผลงานของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท (Michigan State University) ในสหรัฐฯ ซึ่งศึกษาแบคทีเรียวอลแบเชีย (Wolbachia) ซึ่งปกติจะทำให้แมลงต่างๆ ติดเชื้ออยู่แล้ว โดยแบคทีเรียเลือกจะติดต่อเฉพาะจากแมลงตัวเมียไปยังตัวอ่อน

ในแมลงบางชนิดแบคทีเรียชนิดนี้ยังมีความสามารถยอดเยี่ยมในการจัดการให้แมลงสามารถเพิ่มจำนวนตัวเมียเพื่อประโยชน์ของแบคทีเรียเอง โดยบีบีซีนิวส์ได้ยกตัวอย่างการจัดการเช่น วอลบาเชีย จะฆ่าเซลล์ตัวอ่อนเพศผู้ในผีเสื้อและแมลงเต่าทองบางชนิด ในบางสถานการณ์แบคทีเรียสามารถสร้างแมลงตัวผู้ที่ผสมพันธุ์ออกมาได้เฉพาะตัวเมียที่ติดเชื้อ หรือบางครั้งทำให้ต่อตัวเมียบางชนิดมีลูกได้โดยไม่ต้องผสมพันธุ์

โดยปกติยุงก้นปล่อง (Anopheles) ที่เป็นพาหะนำเชื้อมาลาเรียนั้นจะไม่ติดเชื้อแบคทีเรียวอลบาเชีย แต่ในการศึกษาระดับห้องปฏิบัติการได้เผยให้เห็นว่าการติดเชื้อแบบชั่วคราวนั้นทำให้ยุงมีภูมิต้านทานต่อมาลาเรียที่เป็นปรสิตได้ ซึ่งความท้าทายของงานนี้คือการสร้างให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแบบชั่วคราวในยุงที่สามารถส่งต่อเชื้อแบคทีเรียต่อไปได้

จากการศึกษาทีมวิจัยพบว่า สายพันธุ์ของวอลบาเชียนั้นสามารถฝังอยู่ในยุงกุ้นปล่องสายพันธุ์ แอโนฟิลิส สตีเฟนซี (Anopheles stephensi) ตลอดชั่วอายุยุง 34 รุ่น และเชื้อมาลาเรียก็ใช้ชีวิตได้ยากในยุงที่ติดเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ โดยพบว่าระดับเชื้อปรสิตลดต่ำลง 4 เท่าของระดับปกติที่พบในยุง ซึ่งไม่ติดเชื้อแบคทีเรีย

ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยในออสเตรเลียที่เผยให้เห็นว่าแบคทีเรียวอลบาเชียหลายสายพันธุ์นั้นสามารถหยุดการแพร่ระบาดของไข้เด็งกี่จากยุงได้ ซึ่งบีบีซีระบุว่างานวิจัยดังกล่าวล้ำไปกว่างานวิจัยมาลาเรียนี้ และแสดงให้เห็นว่าการทดลองใหญ่ในป่านั้นก็ได้ผลดีด้วย

ดร.แอนโทนี เฟาซี (Dr.Anthony Fauci) ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อสหรัฐฯ (National Institute of Allergy and Infectious Diseases) กล่าวว่า งานวิจัยในออสเตรเลียนั้นเป็นข้อพิสูจน์แนวคิดว่า การทดลองแบบเดียวกันนี้จะได้ผลเมื่อศึกษาในโรคมาลาเรียด้วย ซึ่งหากเราทำให้ยุงเหล่านั้นมีชีวิตรอดและขยายพันธุ์ในสิ่งแวดล้อมของยุงในพื้นที่มีการระบาดของมาลาเรียรุนแรง ก็จะช่วยในการควบคุมโรคมาลาเรียได้ไม่ยาก และมองว่าศักยภาพของงานวิจัยนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ดังนั้น การทำให้งานวิจัยบังเกิดผลจึงเป็นเรื่องท้าทาย

อย่างไรก็ดี ศ.เดวิด คอนเวย์ (Prof.David Conway) จากวิทยาลัยสุขอนามัยและโรคเขตร้อนลอนดอน (London School of Hygiene & Tropical Medicine) อังกฤษ ให้ความเห็นงานวิจัยเรื่องนี้น่าสนใจและเป็นรายงานแรกในเรื่องการแพร่พันธุ์ของแบคทีเรียวอลบาเชีย แต่จำนวนของแบคทีเรียก็ทำให้ฤทธิ์เดชที่ควรจะเป็นอ่อนลง เนื่องจากยุงที่ติดเชื้อแบคทีเรียผลิตไข่ออกมาน้อยกว่ายุงที่ไม่ติดเชื้อ นั่นหมายความว่าในโลกของความเป็นจริงการติดเชื้อแบคทีเรียในยุงก็จะเกิดขึ้นได้ยาก

ศ.คอนเวย์ ยังเตือนอีกว่า งานวิจัยนี้ศึกษาในยุงเพียงสปีชีส์เดียวคือ แอโนฟิลิสสตีเฟนซี ซึ่งเป็นพาหะของมาลาเรียในตะวันออกกลางและเอเชียใต้ หากแต่ยุงสปีชีส์ แอโนฟิลิส แกมเบีย (Anopheles gambiae) ที่เป็นพาหะในแอฟริกานั้นเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่า

ดร.สี จื้อหย่ง (Dr. Zhiyong Xi) จากมิชิแกนสเตท หนึ่งในทีมวิจัยบอกทางบีบีซีว่า ตอนนี้พวกเขาศึกษาในยุงเพียงสายพันธุ์เดียว แต่หากมีเป้าหมายที่ยุง แอโนฟิลิส แกมเบีย ก็ต้องใช้เทคนิคเดียวกันในการศึกษา หากการทดลองดังกล่าวได้ผลเช่นกัน การใช้แบคทีเรียวอลบาเชียก็จะเป็นตัวเสริมของตัวเลือกที่มีในปัจจุบัน เช่น การใช้มุ้งกันยุง และการรักษาด้วยยา เป็นต้น 







กำลังโหลดความคิดเห็น