xs
xsm
sm
md
lg

ถอดความสำเร็จแก้ปัญหาน้ำแบบชาวบ้านริมโขง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องสูบน้ำติดตั้งแอร์แว (ท่อปิด 2 ท่อ) เพื่อช่วยเพิ่มแรงดันน้ำ
นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นต้นแบบให้อีกหลายชุมชน เมื่อชาวบ้านริมโขงใน จ.อุบลราชธานี ลุกขึ้นมาทำวิจัยแก้ปัญหาน้ำแล้งในท้องถิ่น จนปัจจุบันมีน้ำใช้เหลือเฝือ แต่ยังปลูกฝังให้คนในชุมชนประหยัดน้ำ และพร้อมจะตั้งศูนย์การเรียนรู้ให้คนนอกเข้าไปศึกษาได้ถึงท้องถิ่น

นายคำพัน เชิดชัย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านผาชัน ต.สำโรง อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี เล่าให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ฟังว่า ในอดีตนั้นหมู่บ้านของเขาที่แม้จะอยู่ริมโขงแต่ก็ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างมาก ซึ่งหลายหน่วยงานพยายามเข้าไปช่วยเหลือแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ชาวบ้านผาชันต้องใช้เครื่องสูบน้ำจากโขงมาใช้ในหมู่บ้าน แต่ด้วยสภาพที่ตั้งอยู่บนที่สูงและเป็นที่ลาดชันทำให้เครื่องสูบน้ำที่ต้องสูบน้ำขึ้นที่สูงกว่า 30 เมตร พังในเวลาอันรวดเร็ว หลายหน่วยงานพยายามเข้าไปช่วยเหลือ รวมถึงมีการตั้งประปาในหมู่บ้าน แต่เมื่อไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาได้ ที่ทำการประปาจึงร้างในที่สุด
ความพยายามของชาวบ้านในการติดตั้งอุปกรณ์สูยน้ำจากบุ่งในน้ำโขง
กระทั่งเมื่อปี 2547 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เข้าไปช่วยเหลือ และสนับสนุนให้ชาวบ้านเลือกปัญหาเร่งด่วนของชุมชนมาเป็นหัวข้อทำวิจัย ซึ่งแรกเริ่มนายคำพันและผู้นำหมู่บ้าน 7 คน เสนอที่จะศึกษาเรื่องการท่องเที่ยว แต่ถูกลูกบ้านทักท้วงว่า น้ำในชุมชนไม่พอใช้จึงควรจะแก้ปัญหาของชุมชนก่อน

นายคำพันสารภาพว่า แรกทีเดียวเขาเข้าใจว่า สกว.จะให้เงินติดตั้งเครื่องสูบน้ำหรือสร้างแหล่งเก็บน้ำ แต่กลายเป็นว่าชาวบ้านต้องทำวิจัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน ชาวบ้านในชุมชนต้องออกสำรวจแหล่งน้ำใกล้ๆ ว่า อยู่ที่ไหนบ้างและมีปริมาณน้ำเท่าใด เปรียบเทียบกับการใช้น้ำของชาวบ้านในชุมชน

ชาวบ้านผาชันพบว่ามีแหล่งน้ำถึง 14 แห่งใกล้ชุมชน เช่น บุ่ง (พื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มแม่น้ำมูล แม่น้ำชีและแม่น้ำสารคาม) สระ ฝาย บ่อน้ำตื้น เป็นต้น ขณะที่ชาวบ้านใช้น้ำน้อยกว่าปริมาณของน้ำในแหล่งน้ำทั้งหมด แต่ชาวบ้านต้องคิดต่อว่าจะนำน้ำจากที่ไหนมาใช้ในหมู่บ้าน 
ภาพแสดงการทำงานของเครื่อง แอร์แว
เบื้องต้นชาวบ้านได้ข้อสรุปว่ามีแหล่งน้ำใหญ่ๆ 2 แห่งที่จะนำมาใช้ได้ คือ บุ่งพระระคอนในแม่น้ำโขง และ ฝายวังอีแร้งที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน ในส่วนของการนำน้ำจากบุ่งมาใช้นั้นชาวบ้านได้ระดมความคิดแก้ปัญหาเครื่องสูบน้ำพังเมื่อสูบน้ำขึ้นที่สูง ซึ่งมีลูกบ้านเสนอความเห็นว่า เคยเห็นสายยางรั่วที่มีอากาศเข้าไปภายในได้มีแรงส่งน้ำที่แรงขึ้น จึงน่าจะลองใส่อากาศในท่อส่งน้ำจากเครื่องสูบน้ำดูบ้าง

หลังลองผิดลองถูกชาวผาชันก็ได้สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “แอร์แว” ซึ่งเป็นชื่อผสมระหว่าง “แอร์” ในภาษาอังกฤษที่แปลว่าอากาศ กับ “แว” ในภาษาอีสานที่แปลว่า “แวะ” ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่อธิบายลักษณะการทำงานของเครื่องดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยชาวบ้านได้ติดตั้ง “ท่อปิด” จำนวน 2 ท่อใกล้เครื่องสูบน้ำ เมื่อเครื่องทำงานอากาศในท่อจะช่วยดันให้น้ำพุ่งได้แรงขึ้น ผลงานดังกล่าวได้ส่งประกวดระดับประเทศ และได้เงินรางวัลกลับไปยังหมู่บ้าน 200,000 บาท

เมื่อเครื่องแอร์แวทำงานได้อย่างน่าพอใจก็มีชุมชนอื่นๆ จากทั่วประเทศขอนำไปใช้บ้าง แต่ปรากฏว่ามีคำถามกลับมายังชาวบ้านถึงหลักการทำงานของเครื่องดังกล่าว แต่พวกเขาสามารถให้คำตอบได้ จึงได้ขอความช่วยเหลือจากอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อสรุปหลักการทำงานของเครื่องดังกล่าวตามหลักวิชาการอย่างง่ายๆ
นายคำพัน เชิดชัย และ นางมัสยา คำแหง
ส่วนแหล่งน้ำอีกแห่งคือฝายวังอีแร้งนั้นชาวบ้านต้องการสร้างฝายให้สูงขึ้น แต่ติดปัญหาว่าฝายดังกล่าวอยู่ในพื้นที่อุทยาน จึงไม่สามารถสร้างสิ่งก่อสร้างได้ แต่ชาวบ้านได้เข้าเจรจากับเจ้าหน้าที่จนได้รับการ “อนุโลม” พวกเขาจึงใช้เงินรางวัลจากการประกวดเครื่องแอร์แวมาสร้างฝาย และใช้แรงงานในชุมชนช่วยกันสร้าง โดยไม่ต้องจ้างแรงงาน

ปัจจุบันชาวบ้านผาชันเลิกสูบน้ำจากบุ่งในแม่น้ำโขง แต่สร้างฝาย 2 ขั้น และใช้ “แอร์แว” ช่วยในการส่งน้ำไปบางพื้นที่ชองชุมชน ซึ่งนายคำพันบอกว่าเพียง 2 ฝายก็มีน้ำเหลือเฝือสำหรับชุมชนแล้ว แต่ทางชุมชนก็ยังมีการปลูกฝังเรื่องการประหยัดน้ำควบคู่ไปด้วย ด้วยจิตสำนึกว่า แม้จะมีน้ำมากแค่ไหนแต่หากไม่ประหยัดที่สุดน้ำก็ไม่พอใช้

การทำวิจัยของชาวบ้านนั้นเกิดขึ้นด้วยการประสานงานของ นางมัสยา คำแหง ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี ของ สกว. ซึ่งปัจจุบันมีคนนอกเข้าไปดูงานความสำเร็จของชาวบ้านในการบริหารจัดการน้ำภายในชุมชนจำนวนมาก จึงเกิดแนวคิดในการตั้งศูนย์การเรียนรู้ เพื่อผู้นำชุมชนหรือชาวบ้านไม่ต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ ซึ่งคนนอกยังจะได้เห็นวิถีของชาวบ้านอย่างครบวงจร และอนาคตจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ต่อไป

  







กำลังโหลดความคิดเห็น