xs
xsm
sm
md
lg

หนูรู้ไหม...มีความลับอะไรอยู่ในข้าวโพด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิจกรรมลุยสวนข้าวโพดจำลอง
นอกจากข้าวที่เป็นอาหารหลักแล้ว หลายคนคงจะได้ทานข้าวโพดอยู่เป็นประจำ อย่างอาหารเช้าซีเรียล หรือน้ำนมข้าวโพด แต่จะมีใครรู้บ้างไหมว่า กว่าที่ข้าวโพดจะโตขึ้นมาให้เราได้ทาน กว่าจะเป็นอาหารรูปแบบต่างๆนั้น ผ่านกระบวนการความมหัศจรรย์มากมาย และรู้หรือไม่ว่าข้าวโพดเป็นได้มากกว่าอาหารให้เรากิน

เราเคยสงสัยถึงต้นกำเนิดของข้าวโพดบ้างไหมว่า แท้จริงแล้วข้าวโพดถือกำเนิดมาได้อย่างไร? ชื่อว่า “ข้าวโพด” ทำให้เราสันนิษฐานได้ว่า เป็นพืชตระกูลเดียวกับข้าว และให้สารอาหารประเภทแป้งเช่นกัน แต่ข้าวโพดนั้นได้มีต้นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกา และในปี พ.ศ. 2463 ม.จ.สิทธิพร กฤษดากร ได้นำข้าวโพดเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรกพร้อมหมูและไก่พันธุ์ดีให้เกษตรกรได้ปลูกเลี้ยงประกอบอาชีพกัน

ข้อมูลน่าอัศจรรย์ทั้งหลายของข้าวโพดเปิดเผยภายใน “ค่ายนักสืบข้าวโพด...พืชมหัศจรรย์ทางเลือกในอนาคต” ที่ทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้จัดกิจกรรมศึกษาความรู้ ความสำคัญของข้าวโพด ต้อนรับปิดเทอมสำหรับเด็กและเยาวชน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 เข้าร่วมกิจกรรมขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 เม.ย. 2556 ณ อาคารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

ด้วยความอร่อยของข้าวโพดทำให้กลายเป็นพืชที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่นิยมทานเป็นอาหารจานหลักจึงมียอดสถิติในการเพาะปลูกมากที่สุดในโลก รองลงมาคือ จีน สหภาพยุโรป และบราซิล ตามลำดับ แต่ในปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์ก็พยายามคิดค้นหาประโยชน์จากข้าวโพดมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตเป็น “เอทานอล” เพื่อผลิตเชื้อเพลิง ซึ่งให้มูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการของโลกในตอนนี้ และสหรัฐฯ ยังให้ความสำคัญในการสกัดน้ำมันจากข้าวโพดเป็นอันดับหนึ่งและสูงถึง 40% ของทั้งหมด นอกนั้นก็นำมาประกอบอาหาร ใช้เป็นอาหารสัตว์ แปรรูปส่งอออกต่างประเทศ สารให้ความหวาน จนถึงน้ำเชื่อม

ใช่ว่าข้าวโพดจะมีลักษณะฝักอวบ สีเหลือง รสหวานชวนน้ำลายสออยู่แบบเดียว นั่นเป็นเพียงข้าวโพดพันธุ์ยอดนิยมคือ “ข้าวโพดหวาน” ที่เราเห็นบ่อยๆ และหาซื้อได้ทั่วไป ถ้าเราลองได้มีโอกาสได้เดินทางไปยังต่างจังหวัดแถบอีสาน บริเวณสองข้างทางจะมีร้านขายของเรียงราย หนึ่งในนั้นต้องเป็นข้าวสีขาวขุ่นๆ ขนาดเล็กกว่า เราเรียกกันว่า “ข้าวโพดข้าวเหนียว” พันธุ์ข้าวโพดนั่นมีมากมายเกินกว่าจะกล่าวหมด

ภายในค่ายได้เชิญ นายลิขิต มณีสินธุ์ นักปรับปรุงพันธุ์พืชหรือกรรมการผู้จัดการบริษัทรีลซีด (Real Seed) และกรรมการคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) มาเป็นวิทยากรให้ควารู้แก่เยาวชนในค่าย

ลิขิตกล่าวว่าข้าวโพดมีมากมายหลายพันธุ์ เพราะมีการผสมข้ามสายพันธุ์กันจนแตกย่อยออกมามากมาย แต่แบ่งตามลักษณะของแป้งและเปลือกหุ้มเมล็ด ได้ 7 ชนิด ก็คือ ข้าวโพดหัวบุบ (dent corn), ข้าวโพดหัวแข็ง (flint corn), ข้าวโพดหวาน (sweet corn), ข้าวโพดคั่ว (pop corn), ข้าวโพดข้าวเหนียว (waxy corn), ข้าวโพดแป้ง (flour corn) และข้าวโพดป่า (pod corn) ซึ่งแต่ละชนิดก็จะนำไปใช้ประโยชน์แตกต่างกันไป

หากแบ่งตามการใช้ประโยชน์จะแบ่งได้อีก 4 ด้าน คือ ข้าวโพดใช้เมล็ด (grain corn) ปลูกเพื่อเก็บเมล็ดแก่ใช้เป็นอาหารสัตว์และมนุษย์ หรือทำอุตสาหกรรมอย่างอื่น, ข้าวโพดหมัก (silage corn) ปลูกเพื่อตัดต้นสดมาหมักใช้เป็นอาหารสัตว์, ข้าวโพดอาหารสัตว์ (fodder corn) ปลูกเพื่อตัดต้นสดไปใช้เลี้ยงสัตว์, ข้าวโพดฝักอ่อน (baby corn) ใช้ฝักอ่อนปรุงอาหาร

ลิขิตให้ข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าข้าวโพดโบราณมีแค่ 3 ชนิด คือ ข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดเทียน และข้าวโพดหวาน แต่ปัจจุบันมีข้าวโพดมากกว่า 100 ชนิด โดยประเทศไทยนิยมปลูกข้าวโพดหัวบุบและหัวแข็งมาทำอาหารสัตว์มากที่สุด และปลูกข้าวโพดหวานส่งออกต่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก

“ตอนแรกผมนึกว่าข้าวโพดใช้กินได้อย่างเดียว แต่พอมาเข้าค่ายก็รู้เพิ่มอีกว่าข้าวโพดยังทำน้ำมันได้อีก ผมชอบความแปลกของข้าวโพดตรงที่เวลาติดฝักและโตแล้ว จะมียอดด้านบนเหมือนรวงข้าว อันนั้นคือเกสรละอองเรณูตัวผู้ พอมีเวลาลมพัดมาละอองเรณูก็จะถูกพักลงมาด้านล่างที่ตรงโคนใบที่มีไหมเป็นเส้นใยม้วนๆ อยู่ เค้าเรียกว่า รังไข่ จากนั้นจะผสมพันธุ์กันกลายเป็นฝักข้าวโพด เวลาเราปลูกก็ต้องปลูก 10 ต้นขึ้นไป ไม่อย่างนั้นมันจะไม่ติดฝัก และต้นนึงจะติดฝักได้ไม่เกิน 3 ฝักเท่านั้นครับ” น้องฟรอส หรือ ด.ช.อภิรักษ์ เมืองเกษม จากโรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมเล่าให้ฟัง

ภายในงานมีกิจกรรมให้น้องได้เข้าสัมผัสเรื่องราวของข้าวโพดมากกว่าในหนังสือหรือทีวี อย่างกิจกรรมไร่ข้าวโพด โดยจะนำข้าวโพดนับสิบพันธุ์มาให้น้องๆ ได้ดู สัมผัส หรือแกะฝักออกจากต้นให้เห็นกับตาเลยว่ามีลักษณะเช่นไร ต้นใบ ดอก สูง ยาวเพียงไร เด็กๆ ต่างตื่นตาตื่นใจกับการได้สัมผัสธรรมชาติอย่างเต็มที่ เด็กๆ ได้ลองนำข้าวโพดมาปรุงอาหารกันอย่างสนุกสนาน ทั้งข้าวโพดอบเนย น้ำนมข้าวโพด และสลัดข้าวโพด

น้องมิ้นท์ หรือ เมธาพร กนกวรานนท์ จากโรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมเล่าว่า เราสังเกตข้าวโพดได้ไม่ยาก อย่างข้าวโพดอ่อน จะมีขนาดเล็กๆ และยาวไม่เท่าฝักพันธุ์อื่นๆ เพราะยังไม่โตเต็มที่ เมล็ดบนฝักจะเล็กมาก ฝักอ่อนๆ กรอบๆ กินได้ทั้งฝักเลยค่ะ ส่วนข้าวโพดสีม่วงได้ชื่อนี้มาเพราะสีเมล็ดที่เป็นม่วงเข้มจนเกือบดำ ซึ่งเรามักจะเอาไปต้มกินกัน ส่วนข้าวโพดเทียน พันธุ์นี้แม้ว่าจะโตเต็มที่แล้วก็มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 15 เซ็นติเมตร เมล็ดบนฝักก็น้อยกว่า มีแถวน้อยกว่า แต่ความหวานนั้นเป็น 2 เท่าของข้าวโพดหวาน ส่วนข้าวโพดที่เป็นสีขาวขุ่นเรียกว่า ข้าวโพดข้าวเหนียว

“มีการผสมข้ามสายพันธุ์ด้วย ตัวอย่างเช่นเอาข้าวโพดข้าวเหนียวมาผสมกับข้าวโพดม่วง ได้ชื่อว่า ข้าวโพดข้าวเหนียว 24 เรนนี่ มีสีขาวขุ่นสลับกับสีม่วงอ่อนๆ รสชาติอร่อยมาก เหนียวๆหนืดๆ ไม่ติดฟัน อันสุดท้ายนี้เราเห็นกันบ่อยที่สุด คือข้าวโพดหวาน มันจะมีขนาดฝักที่ใหญ่และยาว สีเหลืองๆ เค้ามักเอาไปทำพวกอาหารเช้าซีเรียล เพราะมีรสชาติหวาน แต่หนูไม่ค่อยชอบกินแล้วมันชอบติดฟัน” น้องมิ้นท์เล่าอย่างฉะฉาน
ภาพหมู่เยาวชนและวิทยากรที่เข้าร่วมกิจกรรม“ค่ายนักสืบข้าวโพด...พืชมหัศจรรย์ทางเลือกในอนาคต”
ม.จ.สิทธิพร กฤษดากร ผู้นำข้าวโพดเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
 นายลิขิต  มณีสินธุ์ นักปรับปรุงพันธุ์พืชหรือกรรมการผู้จัดการ Real Seed และกรรมการคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์พันธุวิศวกรรม วิทยากรพิเศษ
ซ้าย : เกสรตัวผู้, ขวา : รังไข่ที่เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะได้ฝักข้าวโพด
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ให้เด็กๆได้เห็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ตามพันธุ์ของข้าวโพด อย่างเช่น อาหารเช้าซีเรียล น้ำนมข้าวโพด ข้าวโพดกระป๋อง จะอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวโพดหวาน ซึ่งเจ้าหน้าที่กิจกรรม เล่าว่า รสหวานของข้าวโพดแทบจะไม่ต้องอาศัยการเพิ่มน้ำตาลช่วยในการปรุงอาหารเลย หรือถุงอาหารสัตว์มีข้าวโพดที่มีลักษณะเม็ดเหลืองสวยเต็งตึงและแข็งมาก ในเมล็ดนั้นมีแป้งมากเหมาะเป็นอาหารสัตว์ หรือข้าวโพดป๊อปคอร์นสำหรับทำป๊อปคอร์นโดยเฉพาะ แต่ถ้าเป็นขนมกรุบกรอบที่ขายตามท้องตลาดก็มักจะทำมาจากแป้งข้าวโพดเสียส่วนใหญ่ ก็แล้วแต่สูตรของแต่ละบริษัทจะเลือกใช้แป้งแบบไหน

ภายในค่ายยังจัดข้าวโพดที่มีสีสวยวางเรียงราย แต่ไม่น่ากินเสียเลย เพราะเคลือบไปด้วยสารเคมีในการป้องกันมดแมลงมากัดกินเมล็ดข้าวโพดก่อนที่จะโตยืนต้นได้ การเคลือบสารเคมีนี้จะช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรได้มาก เพราะปกติเกษตรจะหยอดเมล็ดปลูกลงหลุมเผื่อเมล็ดเสียหายไม่อาจยืนต้นขึ้นมาได้ไว้จำนวนหนึ่ง ทำให้ต้นทุนเพิ่ม การใส่สีก็เพื่อให้เราแยกออกว่า เมล็ดนั้นไม่ธรรมดามีสารเคมีผสมอยู่ นำมารับประทานไม่ได้นั่นเอง

น้องๆ หลายคนจับกลุ่มทดลองทำอาหารจากข้าวโพด อย่างสลัดข้าวโพด น้ำนมข้าวโพด ซึ่งน้องเบลล์ หรือ ธนภรณ์ ฉิมนาม จากโรงเรียนวัดลาดปลาเค้า สอนวิธีทำว่า การทำน้ำนมข้าวโพด เราจะต้องใช้แกะเมล็ดให้ได้ข้าวโพดหวาน 100 กรัม, น้ำ 250 กรัม, และน้ำตาล 10 กรัม จากนั้นเอาข้าวโพดกับน้ำไปปั่นรวมกันให้ละเอียดพอประมาณ แล้วนำไปเคี่ยวกับน้ำตาลบนไฟอ่อนๆ เป็นอันเสร็จ

“ถ้าอยากกินเย็นๆ ก็เอาไปแช่ตู้เย็นค่ะ รสชาติไม่ค่อยหวาน จืดๆ แต่อร่อย ถ้าเลือกได้อยากกินน้ำแบบนี้ทุกวันดีกว่าซื้อตามตลาดที่เค้าขายแบบหวานเลี่ยนๆ กินแบบนี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพดีค่ะ” น้องเบลล์บอก

ยังมีข้าวโพดต้มให้น้องพิสูจน์เปรียบเทียบความอร่อยทั้งข้าวโพดข้าวเหนียว และข้าวโพดหวาน จากที่ซักถามเด็กๆ หลายคนตอบเป็นเสียงเดียวกันเหมือนกับ น้องแพรว หรือ อัคริมา วชิรคพรรณ จากโรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ว่าข้าวโพดข้าวเหนียวอร่อยกว่า มันไม่ติดฟัน และไม่หวานไมาก เคี้ยวแล้วเนื้อมันหยุ่นๆ นุ่มๆ เหมือนกินข้าว

เด็กในค่ายบางกลุ่มก็ขะมักเขม้นกับข้าวโพดกัน หมุนไปหมุนมา เราซักถามได้ความว่า เด็กๆ กำลังนับเมล็ดข้าวโพดอยู่ จึงชวนให้สงสัยว่าจะนับเมล็ดที่มากมายได้อย่างไร น้องเอิร์น หรือ ศรุตา เกรียวพิชิตชัย จากโรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม บอกต่อเทคนิคง่ายๆ ว่า แค่นับแถวที่เป็นแนวตั้งและเส้นรอบฝักว่ามีกี่เม็ด แล้วก็คูณกันค่ะ เพราะแต่ละฝักจะมีจำนวนแถวและเม็ดเท่าๆ กันโดยประมาณ และเส้นแถวจะนับได้เป็นเลขคู่เท่านั้น

ยังมีกิจกรรมลุยเข้าไปในไร่ข้าวโพดจำลอง ซึ่งเด็กๆ จะได้พบกับข้าวโพดนับสิบชนิด ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม อย่างข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดข้าวเจ้า ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดสีม่วง ข้าวโพดเทียน ฯลฯ และข้าวโพดที่ผสมข้ามสายพันธุ์ อย่างข้าวโพดข้าวเหนียวสลับสีม่วง ข้าวโพดเทียนลายซึ่งมีสามสีคือ เหลือง ม่วงและขาว ข้าวโพดม่วง 24 เรนนี่ และอีกมากมาย

การลุยเข้าไปในไร่ข้าวโพดจำลองเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองสัมผัสดูต้น ราก ใบ ของต้นข้าวโพดที่มีลักษณะสูงประมาณ 2 เมตร มีใบเรียวยาว พืชใบเลี้ยงเดี่ยวจะมีลักษณะยาวเป็นเส้นๆ มีดอกเหมือนรวงข้าว อยู่ด้านบนสุด มีรากยืนต้นออกมาจากดินเล็กน้อย ที่สำคัญน้องๆได้แกะเปลือกข้าวโพดจากต้นจริงๆ เผยให้เห็นฝักด้านในด้วยมือตัวเอง สร้างความตื่นเต้นว่าต้นโพดที่มีชื่อนี้จะได้ข้าวโพดสีอะไร
ข้าวโพดชนิดต่างๆ
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวโพด
เมล็ดข้าวโพดที่เคลือบสารเคมี ป้องกันมดแมลงกัดกิน
กิจกรรมปรุงอาหารด้วยข้าวโพด
นายลิขิต วิทยากรพิเศษกล่าวทิ้งท้ายว่า จากกิจกรรมนี้ เด็กๆให้ความสนใจกับข้าวโพดเป็นอย่างมาก เราต้องปลูกฝังให้เด็กๆ เห็นคุณค่าของพืชและเกษตรกร ค่ายนี้เป็นแค่ตัวอย่างพืชเกษตร เพราะข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ที่สำคัญอยู่ที่ว่าเราควรให้เขาได้รักธรรมชาติ และรณรงค์ให้นำธรรมชาติเข้ามาอยู่ร่วมกับสังคมเมืองอย่างสมดุล จะเห็นว่าเด็กๆ เก็บเมล็ดข้าวโพดจากค่ายนี้กับไปปลูกที่บ้านกันทุกคน เพราะเขาได้เห็นความมหัศจรรย์แห่งข้าวโพดแล้ว แต่ผลลัพธ์จะประสบความสำเร็จต้องจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

“จากค่ายนี้สะท้อนให้เห็นว่าเด็กของเราห่างไกลธรรมชาติ เขาไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้ เมื่อก่อนเราอยากปลูกอะไรเราปลูกได้ แต่ด้วยสภาพความเป็นอยู่และพื้นที่อันจำกัด ทำให้เราไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้ง่ายๆ เหมือนเมื่อก่อน ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากเสนอให้มีการสร้างสวนสาธารณะกินได้ คือ นอกจากปลูกพืชประดับไว้ดูสวยๆ แล้ว อยากให้มีการปลูกพืชที่กินได้ อย่างปลูกมะม่วงในสวนสาธารณะ ซึ่งจะเป็นสวนแห่งการเรียนรู้ของครอบครัวได้” ลิขิตเสนอความเห็น









กำลังโหลดความคิดเห็น