ปัญหาการฆ่าช้างยังคงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และไม่เพียงแค่ช้างตัวผู้ที่ตกอยู่ในอันตราย หากแต่ช้างตัวเมียมีความเสี่ยงถูกฆ่าเอาอวัยวะ หรือพรากลูก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศสัตว์ป่าได้เสนอหลายทางออก ทั้งการทำพันธุกรรมเพื่อเป็นหลักฐานเอาผิดผู้ลักลอบเอาช้างออกจากไป จนถึงเป็นข้อมูลเพื่อการจัดการย้ายช้างสู่แหล่งที่อยู่ใหม่อย่างสมดุล สุดท้ายคือปลูกจิตสำนึกและสร้างนักวิจัยช้างป่าหรือนักจัดการช้างป่ารุ่นใหม่
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เผยสภาพช้างป่าในประเทศไทยว่า จากการประเมินประชากรช้างป่าเมื่อปี 2555 พบว่า มีช้างป่าอยู่ประมาณ 3,000-3,500 ตัว กระจายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 68 แห่ง โดยกระจายในอุทยานแห่งชาติ 38 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 30 แห่ง ซึ่งมีพื้นที่อาศัยของช้างป่าประมาณ 52,000 ตร.กม.หรือ 30% ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในประเทศไทย โดยในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีพื้นที่ 1.8 ล้านไร่ มีช้างประมาณ 250 ตัว แบ่งเป็นกลุ่มต้นแม่น้ำเพชรบุรี และกลุ่มช้างป่าละอู
สาเหตุของการเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่านั้น นายชัยวัฒน์ ชี้ว่าปัญหาต่างๆ เกิดจากการเพิ่มจำนวนประชากรของคนกับช้างป่า ทำให้เกิดการชิงพื้นที่ มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย และทำเกษตรกรรม อันเป็นเหตุให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ประการหนึ่งคือช้างป่าออกมากินพืชผลการเกษตร นำมาซึ่งการปะทะกันระหว่างช้างป่าและคน
ด้านปัญหาที่รุนแรงมากขึ้น และส่งผลให้จำนวนประชากรช้างลดลงอย่างเห็นได้ชัด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งประจาน เผยว่าน่าจะเป็นการลักลอบฆ่าช้าง โดยกระบวนการลักลอบฆ่าช้างจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ ฆ่าเอางา ฆ่าเอาลูกเพื่อนำมาทำธุรกิจท่องเที่ยว วิธีการคือการฆ่าแม่หรือพี่เลี้ยง หรือตัวอื่นๆ เพียงเพื่อให้ได้ลูกช้างตัวเดียว และฆ่าเอาอวัยวะ
“คนบางกลุ่มนิยมเอางาและงวงมาประดับเพื่อความสิริมงคล นำหางช้างมาร้อยถักเป็นแหวน หรือนำอวัยวะเพศทั้งผู้และเมีย มาทำยาโด๊ปและเมตตามหานิยม บางก็เอาน้ำมันช้างโขลงมาทำเมตตามหานิยมอีกเช่นกัน ซึ่งเหล่านี้เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมากและมีค่าตอบแทนสูง โดยราคางาช้างอยู่ที่กิโลกรัมละ 20,000-30,000บาท งาช้างคู่หนึ่งหนักประมาณ 10 กิโลกรัม การล้มช้างครั้งหนึ่งมีรายได้นับแสน ซึ่งคุ้มค่ากับการเสี่ยงโทษสูงสุดจำคุกเพียง 4 ปี ปรับ 40,000 บาท หากไม่เคยต้องคดีก็ได้ลดหย่อนครึ่งหนึ่ง และกรณีอื่นๆ ไปตามระเบียบ” นายชัยวัฒน์ ชี้ปัญหา
ด้วยขนาดพื้นที่กว่า 1.8 ล้านไร่ของอุทยานแห่งชาติก่งกระจาน แต่มีเจ้าหน้าที่เพียง 309 คน และเฉลี่ยแล้วแต่ละคนจะดูแล พื้นที่ถึง 20,000 ไร่ ซึ่งนายชัยวัฒน์กล่าวว่ายังไม่เพียงพอต่อการดูแลอย่างได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งค่าดูแลอุทยานแต่ละปีเฉลี่ยไร่ละ 1.50 บาทต่อคนเท่านั้น
“จากการตรวจพบตามป่าลึก หรือตะเข็บชายแดน มักจะพบคนกลุ่มน้อย หรือบุคคลไร้สัญชาติที่มักเดินป่าทำมาหากินเป็นอาชีพ หลังการตรวจสัมภาระพบข้าวของ อาหารเครื่องใช้ต่างๆ รวมแล้วคนละ 80 กิโลกรัม ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ล่าสัตว์ อาทิ ปืนอาก้า ปืน M16 ตะขอ สับช้าง จึงยึดไว้เพื่อป้องกันการล่าสัตว์ แต่ไม่ได้จับกุมแต่อย่างใด ทั้งนี้ก็น่าเห็นใจทั้งสองฝ่าย ชาวบ้านต้องหาของป่าล่าสัตว์ตามวิถีปกติ และเจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ ดังนั้นจึงต้องปฏิบัติตามขอบเขตที่สมควรควบคุมการล่าสัตว์ที่ผิดกฎหมาย และยังต้องหลีกเลี่ยงการปะทะกันอีก” นายชัยวัฒน์กล่าว
สถานการณ์ล่าสุดเจ้าหน้าที่พบช้างตาย 2 ตัว โดยตัวแรกถูกพบเมื่อวันที่ 8 เม.ย.ซึ่งถูกยิงตั้งแต่ 20 มี.ค.และพบอีกตัวในวันที่ 9 เม.ย.ซึ่งถูกยิงตั้งแต่ 2 เม.ย.โดยทั้งสองตัวอยู่ห่างกันไม่เกิน 4 กิโลเมตร ทางเจ้าหน้าที่จึงสันนิษฐานว่ากลุ่มคนร้ายเป็นกลุ่มเดียวกัน
ด้าน รศ.ดร.นริศ ภูมิภาคพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาสัตว์ป่า คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า สถานภาพช้างป่าในปัจจุบันอยู่ในภาวะถูกคุกคาม พบปัญหาการขัดแย้งที่เกิดจากการรบกวนพื้นที่อาศัยเดิมของช้างด้วยการขยาย พื้นที่เพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง หรือกิจกรรมของมนุษย์ในถิ่นของช้าง สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุจูงใจให้ช้างออกมานอกพื้นที่ป่าด้วยความติดใจรสชาติพืช ผลการเกษตร และออกมาหาแหล่งน้ำ รวมถึงปัญหาการลักลอบดักจับ หรือฆ่าเพื่อเอาอวัยวะต่างๆ ทำให้ประชากรช้างป่าลดน้อยลงไปเรื่อยๆ
ปัญหาดังกล่าวนั้น รศ.ดร.นริศ ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาไว้หลายข้อ หนึ่งในจำนวนนั้นคือการมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนประชากรช้างแต่ละพื้นที่ และควรเก็บข้อมูลพันธุกรรมช้างป่าแต่ละตัวเพื่อเป็นหลักฐานเอาผิดผู้ลักลอบนำช้างออกจากป่า และยังใช้จัดการการโยกย้ายประชากรเพื่อให้เหมาะสมแก่พื้นที่ด้วย รวมถึงศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสมแก่ช้าง
“มีวิธีที่จะแก้ปัญหาในระยะสั้นได้ เช่น ทำรั้วไฟฟ้า แต่ควรทำอย่างถูกวิธีปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อคน แต่วิธีนี้ยังมีช่องโหว่ เพราะช้างสามารถเรียนรู้ว่ารั้วไหนมีกระแสไฟหรือไม่ หรือใช้วิธีดันช้างตัวเล็กเบียดจนรั้วพังก็ได้ หรือขุดคูกันช้างป่าเพื่อกั้นเขตระหว่างคนกับช้างป่า ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวทำได้โดย การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน แบ่งพื้นที่ป่าและการเกษตรอย่างชัดเจน หรือการปลูกพืชที่ช้างไม่ชอบตลอดแนวชนป่า เพื่อลดแรงดึงดูดของช้าง” รศ.ดร.นริศ กล่าว
อีกวิธีคือการคุ้มครองพื้นที่อาศัยเดิมของช้างอย่างจริงจัง เสริมปัจจัยแวดล้อมให้เหมาะสมกับช้างมากขึ้น อย่างการปรับปรุงแหล่งน้ำ แหล่งดินโป่ง นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังและป้องกัน ทั้งโรคเก่าและโรคใหม่ เพราะมีเหตุการณ์นำเอาช้างเลี้ยงที่เป็นโรคไปเลี้ยงในป่าซึ่งอาจทำให้ติดต่อไปถึงช้างป่าได้
สุดท้ายคือปลูกจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ให้กับชุมชน โดยเฉพาะเรื่องการหวงแหน การเห็นคุณค่าความสำคัญ เพราะช้างป่าเป็นสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ สร้างรากฐานให้คนอยู่ร่วมกับช้างป่าอย่าสันติสุข รวมถึงผลักดันแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติด้านช้างป่า เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้ตระหนักถึงความสำคัญ และต้องสร้างคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำงานด้านอนุรักษ์ช้างป่าอย่างต่อเนื่อง เช่น นักวิจัยช้างป่า นักการจัดการช้างป่า เป็นต้น
“เจ้าหน้าที่ทำงานเหมือนคนปิดทองหลังพระ ต้องทำงานอย่างลำบาก บุกป่า สำรวจป่าและต้องเผชิญกับพรานล่าสัตว์ที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องอนุรักษ์พื้นที่ไว้ให้ได้ จึงต้องการขวัญกำลังใจในการทำงาน อยากให้ประชาชน ชาวบ้านให้ความร่วมมือกับวิถีแผนการต่างๆ ที่เรานำเสนอ เพื่อช่วยกันปกป้องทรัพยากรของประเทศ มิเช่นนั้นต่อไปเราอาจเหลือเพียงช้างสันดร ช้างที่ไม่มีงา หรือช้างที่แคระไม่สมบูรณ์ ป่าไม้ถูกทำลายจนเหี้ยน ถ้าเราไม่มีป่า เราก็ไม่มีสัตว์ป่าเช่นกัน” รศ.ดร.นริศ ให้ความเห็น
ทั้งนี้ เป็นการให้ความเห็นระหว่างการบรรยายพิเศษเรื่อง “การจัดการช้างในเขตอุทยาน” ที่จัดขึ้นโดย ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตบางเขน เมื่อ 19 เม.ย.56 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้เข้าร่วมฟังบรรยายดังกล่าวด้วย