TCELS -หมอยันเห็บหมัดเข้าปอดเป็นไปไม่ได้ เผยผลวิจัยขนหมาแมวเป็นวัคซีนเสริมภูมิให้เด็กไม่เป็นโรคภูมิแพ้ง่าย
นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กล่าวถึงกรณีมีข่าวเห็บและหมัดและขนสุนัขและแมว เข้าไปในปอดก่ออันตรายต่างๆ ตามปรากฏเป็นข่าวคราวใหญ่โต ว่า เป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น ตนในฐานะมีประสบการณ์ตรงมีคุณยายอายุ 96 ปี นอนอยู่ชั้นล่างส่วนของบ้านมีทั้งสุนัขและแมวนับรวมได้ 7 ตัว และมีน้องชายเป็นสัตวแพทย์ซึ่งยืนยันว่าไม่มีทางเป็นไปได้
นพ.กฤษดา กล่าวว่า ในทางตรงกันข้ามกับส่งผลดีด้วยซ้ำดังมีผลวิจัยรับรองว่า ขนสุนัขและแมวเป็นเสมือนวัคซีนเสริมภูมิให้เด็กไม่แพ้ง่ายคล้ายกับยา “อิมมูนบำบัด” อีกทั้งยังสามารถช่วยฝึกพัฒนาการสมองป้องกันเด็กก้าวร้าวและช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้เด็กอ่อนโยนมีเมตตา นอกจากนั้นยังมีอีกหลายต่อหลายสิ่งที่คนรักสัตว์ควรต้องรู้ คือ เห็บออกไข่และแพร่พันธุ์ตัวอ่อนบนพื้นดินเป็นหลัก โดยเฉพาะตามซอกหลืบอับๆ ดังนั้นวิธีป้องกันมันที่ดีที่สุดคือ การล้างพื้นด้วยน้ำยาฆ่าเห็บและหมัด
ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ กล่าวว่า เด็กที่เติบโตมาในบ้านที่เลี้ยงสัตว์อย่างสุนัขและแมวตั้งแต่ขวบปีแรกพบภาวะภูมิแพ้น้อยกว่าเด็กที่ไม่เคยอยู่กับสัตว์เลี้ยงเลยถึง 66-77% นี่เป็นการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแพทย์จอร์เจีย (Medical college of Georgia) นอกจากนั้นปัจจุบันก็ยังมีการเพาะสุนัขพันธุ์ที่เสี่ยงแพ้น้อย (Hypoallergenic dog breeds) ขึ้นมาแล้วนับสิบสายพันธุ์ด้วยซึ่งเหมาะกับเด็กที่เป็นภูมิแพ้จะได้เลี้ยงสัตว์
“สำหรับข้อสันนิษฐานที่ว่า ขนสัตว์เข้าปอดนั้น ข้อนี้โอกาสยิ่งยากครับที่ขนสัตว์จะเข้าไปลึกล้ำถึงปอดที่ประกอบด้วยถุงลมขนาดเล็กและหลอดลมฝอยที่มีขนาดจิ๋วสุดๆ ถ้าจะจับขนหมาแมวยัดเข้าไปในปอดให้ได้ในปริมาณมากๆ ก็เหมือนกับการสนเข็ม เข้าไปในที่แคบแสนแคบครับ ท่านว่ามันจะเข้าไปได้มากแค่ไหนอีกทั้งในปาก, คอและจมูกของคนเรามีกลไกที่ป้องกันสิ่งแปลกปลอมจำพวกขนเหล่านี้อยู่ นอกจากนั้นในถุงลมเองก็มีเซลล์ที่คอยดักจับสิ่งแปลกปลอมอีกชั้นหนึ่งด้วย” นพ.กฤษดา กล่าว
สำหรับความเชื่อที่ว่า กินเนื้อสุนัขเป็นยาบำรุง เนื้อสุนัขเป็นสูตรกระตุ้นร่างกายนั้น ขอยืนยันว่า อันตรายสุด ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสนัขหรือแมว ลองนึกดูว่าขนาดเรากินเนื้อหมูหรือเนื้อวัวยังต้องรู้แหล่งที่มา รู้โรงฆ่าว่าต้องได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ แต่เนื้อหมานี่ลักลอบฆ่ากันดังนั้นไม่มีที่ใดที่ได้รับการรับรองแน่และแหล่งที่มาก็ต้องไปแอบขนกันมาจากที่ที่ไม่รู้เหนือใต้แล้วเมื่อจับมารวมกันมากๆ ก็มักเกิดโรคระบาดที่ติดกันในหมู่สุนัขได้ นพ.กฤษดา กล่าว
ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ กล่าวย้ำว่า สิ่งที่น่าห่วงคือ คนที่คิดว่า สุนัขที่เลี้ยงไว้ ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าแล้ว หากมากัดแล้วไม่เป็นไรนั้น ขอให้ระวังไว้ให้ดี โดยเฉพาะในหน้าร้อนนี้ ยิ่งถ้าถูกกัดจนเลือดตกยางออกแม้จะเพียงเลือดซิบหรือถูกน้ำลายสัตว์ที่บริเวณเยื่อบุของร่างกายอย่าง ตา, จมูก และช่องปาก ควรต้องไปพบแพทย์และปรึกษาเรื่องการรับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าสำหรับคนไว้ด้วย การฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการดูแลสุนัขที่รักของเรา แต่เขาก็เหมือนกับคนตรงที่ร่างกายยังมีระบบอื่นๆอีกที่ควรต้องตรวจ บางตัวมีเห็บเกาะกินเลือดเสียจนซีด ดังนั้น วิธีง่ายๆ ที่เราทำได้คือพาสุนัขของเราไปให้สัตวแพทย์ตรวจร่างกายให้อย่างน้อยสักปีละ 1 ครั้ง