xs
xsm
sm
md
lg

เปิดประสบการณ์เยือนทะเลทรายที่ไร้น้ำฝนเป็นร้อยๆ ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทะเลทรายอะทาคามาที่แห้งแล้งและอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 5,000 เมตร บางจุดไม่มีฝนตกมาเป็นเวลาร้อยๆ ปี (เครดิตภาพประกอบทั้งหมด Clara Moskowitz/SPACE.com)
เมืองไทยที่แสนร้อน อาจร้อนไม่เท่าทะเลทรายแห่งนี้ที่บางแห่งไร้ฝนตกมาเป็นร้อยๆ ปี จนภูมิประเทศดูคล้ายดาวอังคารมากกว่าบนโลก แต่ก็เป็นที่ตั้งของกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่

“ริมฝีปากของฉันแห้งผากและผิวฉันก็แห้งและแตกเป็นขลุยระหว่างที่ฉันยืนอยู่ท่ามกลางทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดในโลก ถึงกระนั้นสภาพอากาศก็สงบนิ่งอย่างอัศจรรย์ยิ่ง ด้วยสายลมเอื่อยๆ ขาดความชุ่มชื้นที่พัดมาเป็นระยะๆ” คลารา มอสโกวิทซ์ (Clara Moskowitz) นักเขียนอาวุโสของไลฟ์ไซน์ เขียนเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้เยือนทะเลทรายอะคาคามา (Atacama Desert) ในชิลี 

เธอไปเยือนทะเลทรายดังกล่าวเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเข้าร่วมการเปิดตัวกล้องโทรทรรศน์วิทยุอัลมา (ALMA telescope) ซึ่งมีชื่อเต็มว่า อะทาคามาลาร์จมิลลิมิเตอร์/ซับมิลลิมิเตอร์อะเรย์ (Atacama Large Millimeter/submillimeter Array) และเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่เกิดจากความร่วมมือระดับนานาชาติของชาติในยุโรป อเมริกาเหนือและเอเชียตะวันออกกับประเทศชิลี

กล้องโทรทรรศน์ดังกล่าวมีเสารับสัญญาณเรียงกัน 66 แห่งบนพื้นที่ทะเลทรายที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 5,000 เมตร ที่ตั้งอยู่บนที่ราบสูงยาโนเดชาฮ์นันตอร์ (Llano de Chajnantor) หรือชาฮ์นันตอร์พลาโต (Chajnantor Plateau) ซึ่งมอสโกวิทซ์ ไม่แน่ใจว่าอะไรทำให้เธอรู้สึกระทึกมากกว่ากัน ระหว่างหอดูดาวที่น่าตื่นตาหรือสิ่งแวดล้อมที่เหมือนเป็นอีกโลกหนึ่ง

มอสโกวิทซ์บรรยายว่าทะเลทรายอะตาคามานั้นแห้งแล้งมาก บางพื้นที่นั้นไม่ได้รับน้ำฝนมาเป็นร้อยๆ ปี บางจุดเป็นสีส้มและสีแดงชวนให้ถึงภูมิประเทศบนดาวอังคารมากกว่าบนโลก แต่บางพื้นที่ก็ได้รับน้ำฝนมากพอที่จะเกื้อหนุนไม้พุ่มเตี้ยๆ และพืชจำพวกตะบองเพชร

“ณ เส้นขอบฟ้า เห็นภูเขาไฟที่ตั้งชันและเทือกเขาแอนดีส (Andes) ที่ปกคลุมด้วยหิมะตั้งตระหง่าน ภูเขาไฟหลายลูกยังคงปะทุและปล่อยควันออกจากปลายยอด ผลพลอยได้จากภูเขาไฟเหล่านี้คือเกลือที่ตกเกลื่อนกราดไปทั่วทะเลทราย ทำให้พื้นดินบริเวณกว้างถูกปกคลุมด้วยประกายสีขาว ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้รวมกันทำให้ภูมิทัศน์เหล่านี้ไม่เหมือนสถานที่ใดๆ ที่ฉันเคยเห็นมาก่อน” มอสโกวิทซ์ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้พบเห็น

รายงานของมอสโกวิทซ์ยังอ้างคำอธิบายจากนักวิทยาศาสตร์ว่า หอดูดาวบนทะเลทรายแห่งนี้เป็นหอดูดาวที่ซับซ้อนและเป็นโครงการที่ต้องใช้ความพยายามอย่างยากยิ่งกว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์ เสารับสัญญาณแต่ละตัวนั้นเป็นจานรับสัญญาณวิทยุกว้าง 12 เมตร ซึ่งพื้นผิวของจานรับสัญญาณต้องราบเรียบและไม่ขรุขระเกิน 25 ไมครอนหรือความหนาประมาณเส้นผมมนุษย์

ภาพที่ได้จากเสารับสัญญาณทั้งหมดของกล้องอัลมาจะสร้างภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ที่ให้รายละเอียดเทียบเท่ากล้องโทรทรรศน์ 1 ตัวที่มีอุปกรณ์รับแสงกว้าง 16 กิโลเมตร ซึ่งโครงการสรา้งกล้องโทรทรรศน์นี้ใช้เวลาวางแผน 30 ปี และก่อสร้างอีก 10 ปี
บางแห่งังพอได้รับน้ำฝนให้พืชได้เจริญเติบโตบ้าง
แล้งจัดขาดความชื้นจนเหมาะแก่การตั้งกล้องโทรทรรศน์ที่มีระบบอันซับซ้อนและต้องใช้ความพยายามในการก่อสร้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์อย่างกล้องโทรทรรศน์วิทยุอัลมา
กล้องโทรทรรศน์วิทยุนี้มีเสารับสัญญารวิทยุกว่า 66 เสา เป็นจานรับสัญญาณที่กว้างถึง 12 เมตร
ผิวจานต้องรายเรียบและคลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 25 ไมครอน


ฐานปฏิบัติการที่อยู่ต่ำลงไปจากที่ตั้งหอดูดาว






กำลังโหลดความคิดเห็น