ออสเตรเลีย-แอฟริกาใต้ ลงขันพื้นที่ตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ที่สุดในโลก บนเนื้อที่ 1 ล้านตารางเมตร นับว่าใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมา พร้อมร่วมมือนานาชาติค้นหาคลื่นสัญญาณจากอวกาศ หวังไขความลับของจักรวาล และค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก คาด อีก 3 ปีได้ลงเสาเข็มโครงการเฟสแรก
โครงการกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ใหญ่ที่สุดในโลก นับเป็นอีกความท้าทายหนึ่งของมนุษย์ในการสำรวจอวกาศ โดยล่าสุด ประเทศออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ ได้ร่วมกันดำเนินโครงการกล้องโทรทรรศน์วิทยุสแควร์กิโลมิเตอร์อาเรย์ (Square Kilometre Array) หรือ “สกา” SKA) ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท
โดยกล้องโทรทรรศน์วิทยุสกานี้ จะประกอบไปด้วย จานรับสัญญาณขนาด 15 เมตร จำนวนกว่า 3,000 จาน และเสาอากาศรับสัญญาณขนาดเล็กอีกหลายพันเสา ซึ่งจะติดตั้งบนพื้นที่ของทั้งสองประเทศ คิดเป็นเนื้อที่รวม 1 ล้านตารางเมตร หรือขนาดประมาณสนามฟุตบอลจำนวน 200 สนาม นับว่าเป็นโครงการกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ตามรายงานข่าวในวารสารเนเจอร์
เพิ่มเติมจากรายงานข่าวของบีบีซีนิวส์ เนื้อที่ของโครงการกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่มีขนาดใหญ่และเสารับสัญญาณจำนวนมากนี้ จะทำให้สามารถรับสัญญาณจากอวกาศได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้นักดาราศาสตร์ไขข้อข้องใจในเอกภาพได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเอกภพในยุคแรกเริ่ม การพิสูจน์ทฤษฎีความโน้มถ่วง (theory of gravity) ของไอน์สไตน์ รวมไปถึงการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก
“วิทยาศาสตร์คือผู้ชนะ” จอห์น โวเมอร์สเลย์ (John Womersley) ประธานบอร์ดโครงการสกาเผยในการแถลงข่าวที่สนามบินชิปโพล (Schiphol Airport) ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ภายหลังการประชุมของสมาชิกในองค์กร เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเขาได้ให้สัมภาษณ์ว่า เดิมทีแอฟริกาใต้และออสเตรเลีย เสนอโครงการแยกกันและแข่งขันกันประมูล ซึ่งตอนแรกก็มีสัญญาณว่าจะมีผู้ชนะการประมูลเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น แต่คณะกรรมการโครงการสกาได้พิจารณาแล้วว่าควรทำด้วยกันทั้ง 2 โครงการ จึงกลายมาเป็นโครงการกล้องโทรทรรศน์สกาดังกล่าว
“ผมคิดว่า มันเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดมาก พวกเรายินดีมากจริงๆที่โครงการนี้กำลังจะเกิดขึ้น” ฟิลิป ไดมอน (Philip Diamond) เผยความรู้สึก ซึ่งเขาเป็นหัวหน้าสาขาดาราศาสตร์และอวกาศ องค์การวิจัยอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์แห่งเครือจักรภพ (Commonwealth Scientific and Industrial Research Organization : CSIRO) ในประเทศออสเตรเลีย
เป้าหมายสำคัญของกล้องโทรทรรศน์วิทยุสกาคือการค้นหาคลื่นวิทยุที่แผ่มาจากนอกโลกด้วยความยาวคลื่นตั้งแต่ระดับ 1 เซนติเมตรถึง 1 เมตร รวมไปถึงกลุ่มของก๊าซไฮโดรเจนที่มาจากการระเบิดของเอกภพในยุคแรกเริ่ม ก่อนที่จะก่อเกิดเป็นกาแล็กซีและดวงดาวมากมายในภายหลัง โดยกล้องโทรทรรศน์สกาจะสามารถระบุตำแหน่งของกาแล็กซีที่มีอยู่นับพันล้านกาแล็กซีได้อย่างแม่นยำ
องค์ประกอบต่างๆ ที่กล้องโทรทรรศน์นี้ตามรอยได้ในอวกาศจะเผยให้นักดาราศาสตร์ทราบรายละเอียดใหม่ๆ เกี่ยวกับ “พลังงานมืด” (dark energy) พลังงานลึกลับที่ส่งผลต่อการขยายตัวของจักรวาลในอัตราเร่ง รวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับอิทธิพลของสนามแม่เหล็กต่อพัฒนาการของดวงดาวและกาแล็กซี และ พัลซาร์ (pulsars) ซึ่งเป็นลำของคลื่นวิทยุที่ถูกส่งออกมาจากดาวนิวตรอนมายังโลกเป็นช่วงๆ คล้ายกับเป็นสัญญาณเวลาที่มีความแม่นยำสูงมาก ซึ่งนักดาราศาสตร์เชื่อว่าวัตถุที่มีความหนาแน่นสูงมากนี้อาจจะซุกซ่อนความลับอะไรที่ยิ่งกว่าทฤษฎีแรงโน้มถ่วง (theory of gravity) ของไอน์สไตน์
กล้องโทรทรรศน์วิทยุสกานี้ มีความไวสูงกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบันถึง 50 เท่า คาดว่า จะสามารถตรวจจับสัญญาณคลื่นวิทยุและเผยให้เห็นภาพของดวงดาวและกาแล็กซีที่เริ่มก่อกำเนิดขึ้นมาในช่วงแรกเริ่มของเอกภพได้ รวมทั้งยังสามารถตรวจจับสัญญาณโทรทัศน์ที่อาจมาจากดาวใกล้เคียงโลกได้ ซึ่งพื้นที่ของโครงการสกานี้จะอยู่ในพื้นที่โครงการเมียร์แคท (MeerKAT) ในทะเลทรายการู ประเทศแอฟริกาใต้ และโครงการออสเตรเลียนสกาพาธไฟน์เดอร์ (Australian SKA Pathfinder) ทางตะวันตกของออสเตรเลีย
ทั้งนี้ สมาชิกในโครงการสกา ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร, เนเธอร์แลนด์, อิตาลี, จีน, แคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และ แอฟริกาใต้ โดยมีอินเดียเป็นสมาชิกสมทบ โดยคาดว่าจะเริ่มโครงการระยะแรกในปี 2014-2015 และคาดว่า จะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2024