xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวแบบวิทย์พิชิตลมร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การเดินทางท่องเที่ยวเป็นวิธีดับร้อนยอดนิยม แต่ถ้าคิดจะเที่ยวทั้งทีก็น่าจะเปิดโอกาสให้ตัวเองได้รับทั้งสาระและความสนุก ถือเป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว เที่ยวไป...รู้ไป...หาทางพลิกแพลงการท่องเที่ยวเพื่อเติมเต็มความคิดพร้อมพิชิตลมร้อน

สัปดาห์นี้นายปรี๊ดขอมาแบบเบาๆ เพื่อรับเทศกาลสงกรานต์และวันหยุดยาวที่กำลังจะมาถึง เลยอยากลองเสนอแนวคิดในการจัดทริปท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้คู่ความสนุกไปพร้อมๆ กัน เพราะหากพูดถึงการท่องเที่ยวแล้ว หลายท่านอาจมองว่าเป็นการ “ชาร์จพลัง” ให้ตนเอง หรือเป็นการใช้เวลากับเพื่อนฝูงและครอบครัว แต่ในมุมมองของนายปรี๊ดและนักเดินทางอีกหลายๆ คน มีมุมมองว่าการเดินทางท่องเที่ยว คือการแปลงประสบการณ์ให้เป็นความรู้ก้อนใหม่ ค้นหาแรงบันดาลใจ และเสริมทักษะชีวิตให้ตนเองแก้ปัญหาที่พบเจอได้ดีขึ้น

อันที่จริงแล้วการท่องเที่ยว หรือทัศนศึกษาเพื่อหาประสบการณ์ชีวิตนั้นมีศาสตร์ของตนเอง ไม่ใช่แค่เรื่องที่คิดกันสนุกๆ เท่านั้น โดยทั่วไปการเรียนรู้ในรูปแบบนี้เรียกว่า “การเรียนรู้จากประสบการณ์ หรือ experiential learning” โดยมีจุดเริ่มต้นจากนักการศึกษาและนักวิทยาศาสตร์ที่เสนอแนวความคิดเรื่องการแปลงประสบการณ์เป็นความรู้และการพัฒนาในระดับตัวตนมาตั้งแต่คริตส์ศตวรรษที่ 18

ส่วนโมเดลการเรียนรู้ที่นายปรี๊ดชอบและขอหยิบยกมาเสนอ คือ โมเดลการเรียนรู้ของ John Wilson และ Colin Beard นักการศึกษาเพื่อการพัฒนาองค์กรชาวอังกฤษ ซึ่งเสนอโมเดลนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2003 ว่าด้วยการเกิดความรู้ใหม่จากประสบการณ์นั้นเหมือนกับ “ฟันเฟืองของกุญแจตู้นิรภัยระบบ 3 ล็อก” ที่มีระบบซ้อนกันเป็นสามชั้น

มีชั้นแรกคือ สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่กระตุ้นเราจากภายนอก (external environment) เช่น แสง สีแสง สายลม แสงแดด การเดินทาง การเผชิญปัญหา ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้เราต้องใช้สัมผัสต่างๆ ในปลดล็อคชั้นที่สอง ซึ่งหมายถึงการรับรู้ (sensors) ด้วยตา หู จมูก ปาก ผิวหนัง และผ่านมาจนชั้นสุดท้าย คือ การประมวลผลภายในตนเอง (internal environment) ด้วยอารมณ์ ความรู้สึกที่ต้องสื่อสารออกไปเป็นระบบสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น การพูด การบันทึก บทเพลง ตรรกะ การเคลื่อนไหว

ท้ายที่สุดก็จะถูกถอดบทเรียนสรุปเป็นองค์ความรู้ หรือรูปแบบการเรียนรู้เฉพาะตนเอง เช่น รู้จักวางแผน การตระหนักรู้ การสร้างกิจกรรมในแบบตนเอง หรือสร้างเสริมความสามารถในการคาดการณ์ได้อย่างมีเหตุมีผล ซึ่งการเทียบเคียงระบบการเรียนรู้ด้วยระบบล็อค 3ชั้นนี้ เป็นแค่เพียงตัวอย่างเบื้องต้นซึ่งผู้คิดค้นระบุว่า สามารถเติมปัจจัยต่างๆ เข้าไปในโมเดลได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ตามสิ่งกระตุ้นที่อาจจะเพิ่มขึ้นตามพัฒนาการของสังคมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นก็จะเกิดตามมาอย่างหลากหลายไม่จำกัดด้วยเช่นกัน
สถานที่บางแห่งไม่ปรากฏในคู่มือการท่องเที่ยว หรือแพคเกจทัวร์ แต่กลับเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่ต้องค้นหาด้วยตนเอง ในภาพเป็นทุ่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสวนอาหารของบรรดาพะยูนบริเวณเกาะลิบง จ.ตรัง ซึ่งจะปรากฏเมื่อเวลาน้ำลง การมีโอกาสได้เดินสำรวจด้วยตนเองทำให้เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของพะยูนมากขึ้นกว่าการอ่านเพียงตำรา
เปรียบเสมือนการจับคู่ของรหัสตามการหมุนฟันเฟืองกุญแจตู้นิรภัยที่สามารถสร้างรหัสใหม่ได้เป็นร้อยเป็นพันชุด ตามแต่จำนวนฟันเฟืองที่ใส่เข้าไปในระบบ และเมื่อไขให้ลงตัวก็จะเกิดความรู้และทักษะชีวิตใหม่ๆ ให้เจ้าของตู้สะสมไว้เป็นสมบัติเพื่อใช้แก้ปัญหาได้ในอนาคต

การเรียนรู้จากประสบการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งคือ “สร้างเสริมทักษะชีวิต” จึงอาจไม่เกี่ยวข้องกับ ระดับปริญญา หรือการศึกษาในระบบ แต่เป็นการเรียนรู้จากสัมผัสที่มนุษย์ทุกคนมีเท่าเทียมกัน คือ การลงมือทำ และสัมผัสของร่างกาย ซึ่งหากพูดง่ายๆ ก็อาจหมายความว่า ถ้าใครผ่านประสบการณ์มามากก็จะเรียนรู้ได้มาก ใครมีประสบการณ์น้อยก็เรียนรู้ได้น้อย

หากแต่สิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม คือระบบล็อกจะหมุนไม่ได้หากไม่มีความสามารถในการถอดองค์ความรู้ และเชื่อมโยงบทเรียนใหม่กับบทเรียนเดิมสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ใหม่ของตนเองได้ เช่น ด.ช.หนึ่ง มีโอกาสไปเที่ยวทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่โปรแกรมการท่องเที่ยวมีเพียงนั่งรถชมเมือง ชูสองนิ้วถ่ายรูปตามสถานที่ชื่อดัง แวะกินของอร่อย เหนื่อยก็กลับเข้าที่พัก นั่งเล่นแท็บเล็ต แล้วก็กลับบ้านนอนสบาย หากมองว่า ด.ช.หนึ่ง มีโอกาสพบเจอเรื่องใหม่ๆ อยู่เสมอก็คงไม่ผิด แต่หากมองในรายละเอียดแล้ว วิถีการท่องเที่ยวของเขากลับซ้ำซาก ขาดการเผชิญปัญหาและสิ่งกระตุ้นแปลกใหม่ให้ฝึกแก้ไขสถานการณ์

เมื่อเปรียบเทียบกับ ด.ญ.สอง แม้ไม่ค่อยได้ไปเที่ยวที่ไหนบ่อยๆ แต่หากเริ่มต้นท่องเที่ยวครั้งใด พ่อแม่ก็มักกระตุ้นให้เธอหาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ชักชวนให้เดินทางด้วยวิธีการที่ยังไม่เคยทดลอง เลือกที่พักในชุมชนท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ลองทำกิจกรรมแปลกใหม่ ตลอดการเดินทางของ ด.ญ.สอง จึงถูกกระตุ้นให้เกิดความสนใจสิ่งรอบตัวโดยไม่ต้องบังคับ และอาจมีปัญหาที่ต้องแก้ไขเฉพาะหน้า แต่ความลำบากก็จะมีส่วนให้เชื่อมโยงปัญหาและสร้างความรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น คำถามที่สำคัญก็คือ “ประสบการณ์ท่องเที่ยว” ของเด็กคนไหนที่มีคุณค่าในด้านการพัฒนาความคิดและทักษะชีวิตมากกว่ากัน?
การขอร่วมวงเก็บปลาแกะปูออกจากอวนทำให้ได้เรียนรู้เรื่องราวสนุกๆ เช่น ถ้าเจอปูก้านตายาวติดอวนจะพยากรณ์ได้ว่าแปลว่าพายุกำลังจะเข้าฝั่ง เป็นต้น
นั่นอาจเป็นเหตุผลที่หลายๆ คนเริ่มสะท้อนภาพว่าเด็กสมัยใหม่มักแก้ปัญหาในชีวิตไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักถ้าเทียบกับคนรุ่นเก่า ก็อาจเพราะสภาพสังคมที่มีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ก็อันตรายเกินกว่าผู้ปกครองจะไว้ใจให้เด็กๆ ออกไปเล่นนอกบ้าน ได้ลุยโคลนคลุกดินเหมือนในสมัยก่อน อีกทั้งเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นก็ทำให้การแก้ปัญหาแบบ “แมนนวล” ลดลง ประสบการณ์และปัญหาที่กระตุ้นให้เกิด ทักษะชีวิต ระบบคิด และองค์ความรู้ใหม่ๆ ในชีวิตของเด็กในยุคปัจจุบันจึงอาจมีโอกาสพัฒนาน้อยลงกว่าเดิม

การท่องเที่ยวจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผู้ใหญ่สามารถเพิ่มโอกาสให้กับเด็กๆ หรือแม้แต่ตัวผู้ใหญ่เองก็อาจได้พบเจอกับสิ่งใหม่ๆ นอกเหนือจากวิถีชีวิตเดิมๆ ที่วนเวียนอยู่อย่างซ้ำซาก หรือแม้แต่โปรแกรมทัศนศึกษาของโรงเรียนก็ยังแสนสบายมีครูจัดการให้ทุกอย่าง ตั้งแต่เลือกสถานที่ จัดรถ และดูแลตลอดการเดินทาง เมื่อถึงที่ก็มีวิทยากรประกบ เด็กๆ รอจดบันทึกมาส่ง ใครจดได้มากก็รับคะแนนไปเยอะๆ เป็นการท่องเที่ยวแสนสุขที่เด็กๆ ได้รับการป้อนจากครูและคนรอบข้างจนถึงปาก แต่อาจขาดการพัฒนาทักษะชีวิตและการพัฒนาความคิด ตามปรัชญาการจัดการศึกษาที่ต้องประสานทั้ง ความสามมารถในการสร้างความรู้ ทักษะชีวิต และการพัฒนาจิตใจ

นายปรี๊ดจึงขอเสนอวิธีจัดทริปท่องเที่ยวกระตุ้นต่อมการเรียนรู้แบบง่ายๆ ไว้ให้ท่านลองพิจารณา แม้อาจจะไม่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ทุกความสนใจ หรืออาจดูผจญภัยไปสักหน่อย แต่เชื่อว่าหากวันหยุดยาวนี้ท่านทดลองปรับเปลี่ยนมุมมอง และพลิกแพลงโปรแกรมการท่องเที่ยวแบบใหม่ๆ ประสบการณ์ที่ได้รับครั้งนี้อาจมีเรื่องราวสนุกๆ ให้แปลกใจบ้างก็ได้

1. เตรียมข้อมูลก่อนเดินทางและทดลองเดินทางด้วยวิธีใหม่ๆ ...การเตรียมตัวไม่ใช่แค่จองตั๋วและที่พัก แต่หมายถึงการลองค้นหาแหล่งท่องเที่ยวหรือหาวิธีการเดินทางใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยลอง นายปรี๊ดเคยอ่านพบการจัดการห้องเรียนเพื่อไปทัศนศึกษาของครูชาวอเมริกันท่านหนึ่ง โดยครูจะให้นักเรียนข้อหาข้อมูลร่วมกันว่านักเรียนสนใจจะศึกษาอะไร ณ จุดหมายกำลังจะเดินทางไป เมื่อมีข้อสรุปแล้ว ก็ร่วมกันวางแผนว่าจะสามารถเดินทางอย่างไรได้บ้าง มีรถ เรือ เครื่องบิน ออกเวลาไหนแล้วเสียงส่วนมากต้องการเดินทางอย่างไร

เมื่อออกเสียงกันเสร็จเรียบร้อย แผนการเดินทางของห้องเรียนก็จะเริ่มต้นทำให้นักเรียนทุกคนมีส่วมร่วมในการจัดการและพร้อมจะเรียนรู้จากสถานที่ที่ตนเองได้เลือกเอง การจัดการแบบนี้เราสามารถจัดการในครอบครัว หรือในกลุ่มเพื่อนได้เช่นกัน ลองเปลี่ยนจากการจองตั๋วแบบแพกเกจหรือโปรแกรมทัวร์ เปลี่ยนมาจัดทริปตามที่ลูกหลานสนใจ ช่วยกันหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องก่อนเดินทาง

เปลี่ยนมาจอดรถส่วนตัวไว้ที่บ้าน ออกเดินทางด้วยรถสาธารณะที่สะดวกต่อการเดินทาง ทั้งรถไฟ รถประจำทาง หรือเรือโดยสารท้องถิ่นแทน เพราะแม้จะไม่สะดวกสบายแต่ปัญหาและสิ่งที่ต้องพบเจอเป็นเรื่องท้าทายเพื่อฝึกฝนการจัดการ หรือหากต้องขับรถเองก็อาจลองปิด GPS แล้วปรินท์แผนที่จากอินเทอร์เน็ต หรือฝึกให้เด็กๆ ใช้แผนที่ทางหลวง ซึ่งมีรายละเอียดและแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจซ่อนอยู่ตามรายทาง
การทดลองกินปูพื้นบ้านก็ทำให้รู้ว่าลักษณะเนื้อและกล้ามปูแต่ละชนิดมีรสสัมผัสต่างกัน กล้ามปูใบ้แน่นเหนียว แต่กล้ามปูหินที่ดูน่ากินกลับยุ่ยละเอียดคล้ายเนื้อปลา แม้เป็นความรู้ก้อนเล็กแต่ต้องเก็บเกี่ยวด้วยการสัมผัสจากประสบการณ์ตรงเท่านั้น
หากเดินทางไปต่างประเทศลองค้นหาข้อมูลด้วย wiki travel ซึ่งมีคนผู้มากมายนำสถานที่ท่องเที่ยวแปลกๆ และวิธีการเดินทางอย่างละเอียด มาแบ่งปันไว้เพื่อการเริ่มต้นเสาะหาการเดินทางแบบใหม่
2. เลือกพักโฮมสเตย์ท้องถิ่นแทนรีสอร์ทหรือโรงแรม ... หากมีจุดประสงค์เพื่อพักผ่อนเติมพลัง การนอนโรงแรมสวยแสนสบายอาจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่หากอยากสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ต้องลองเปลี่ยนไปพักในโฮมสเตย์พื้นบ้านแทน เพราะคนท้องถิ่นจะให้ข้อมูลและพาคุณไปพบกับวิถีชีวิตแปลกใหม่ได้แบบไม่จำกัด

ตัวอย่างล่าสุดที่นายปรี๊ดและพรรคพวกเลือกไปพักในโฮมสเตย์ในหมูบ้านอิสลามบนเกาะลิบง จากที่ไม่คิดว่าจะมีกิจกรรมอะไรให้ทำมากนัก แต่เอาเข้าจริงบ้านของ “จ๊ะไน” เจ้าของโอมสเตย์เป็นแหล่งรับซื้อของทะเลทุกชนิด แค่นั่งดูความหลากหลายของสัตว์ทะเลที่ชาวบ้านขนมาขายไม่ว่าจะเป็นหอย ปู กุ้ง ปลา ปลิงทะเล ไปจนถึงม้าน้ำก็ตื่นเต้นแล้ว แถมยังรู้ที่มาและจุดหมายของสินค้าแต่ละชนิดด้วย ตกบ่ายก็ขอหิ้วถังเดินตามชาวบ้านออกไปเก็บหอยชักตีน แม้ไม่ได้หอยแต่ได้พบทุ่งหญ้าทะเลกว้างใหญ่ที่เป็นอาหารของพะยูน ซึ่งปรากฏขึ้นหลังน้ำลด

ตกค่ำก็ขอติดไปกับคณะหากุ้งที่ติดไฟแยคาดหัวและถือแมวกเล็กๆ ติดมือลงไปตามป่าชายเลนจึงพบว่ากุ้งแชบ้วย กุ้งขาว และกุ้งลายเสือที่เคยซื้อกินในห้างนั้นในธรรมชาติก็มีอยู่มากพอสมควรยิ่งในป่าชายเลนซึ่งเป็นสถานอนุบาลสัตว์น้ำก็ยิ่งมีมาก แค่ฉายไฟฉายไปเจอตาสีแดงสะท้อนกลับมาก็จับกลับมากินได้สบาย พอถึงตอนเช้าที่เจ้าของบ้านแนะนำให้ไปปีนเขาใกล้ๆ หมู่บ้านเพื่อดูพะยูนจากมุมสูง ก็เฉไฉนั่งรถสามล้อห้อทะลุสวนยางไปดูอวนปูตามคำแนะนำของนักซิ่งประจำหมูบ้าน และก็ไม่ผิดหวังเพราะในอวนไม่ได้มีแต่ปูม้าและปูทะเลแบบที่เราซื้อกินแต่มีความหลากหลายสูงมาก
โมเดลการเรียนรู้จากประสบการณ์ของ John Wilson และ Colin Beard  ซึ่งเปรียบวิธีการเรียนรู้ของคนผ่านประสบการณ์เป็นระบบฟันเฟืองของกุญแจตู้นิรภัย อันประกอบด้วยระบบล็อค 3 ชั้น คือ 1) แรงกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอก 2) การรับรู้ผ่านสัมผัสต่างๆ และ 3) การแปรผลด้วยอารมณ์และกระบวนการเรียนรู้ (emeraldinsight.com)
ความรู้ใหม่และทักษะชีวิตเหล่านี้คงไม่เกิดหากนายปริ๊ดเริ่มต้นด้วยการเข้าพักในรีสอร์ตหรูที่ดำเนินการโดยนายทุนจากภายนอก การพักในโฮมสเตย์ที่ดำเนินกิจการด้วยคนในท้องถิ่นจึงไม่ใช่เพียงแต่เป็นการกระจายรายได้ให้ถึงมือคนในชุมชนโดยตรง แต่หมายถึงการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวอย่างเราได้เริ่มต้นค้นหาทักษะชีวิตและความรู้ใหม่ๆ ตั้งแต่ก้าวแรกที่ไปถึงด้วยเช่นกัน

3. ปรับตนเองให้ยืดหยุ่นและไม่เริ่มต้นบ่นด้วยคำว่า “ทำไมแย่แบบนี้?”... การคาดหวังและการยึดติดกับตารางหรือวัตถุประสงค์ในการเดินทางมากเกินไปอาจทำให้ฟันเฟืองของการเรียนรู้หมุนไปสะดุดกับอาการ “อารมณ์เสีย” ได้อย่างไม่รู้ตัว การท่องเที่ยวที่จัดการโปรแกรมด้วยตนเองอาจมีปัญหาและอุปสรรคบ้าง แต่หากคิดไว้เสมอว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจะนำมาซึ่งความรู้และทักษะการเอาตัวรอดใหม่ๆ ได้

การเปิดโอกาสให้ลูกหลานและตนเองได้ผจญภัยกับปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในระดับที่ปลอดภัย อาจเป็นการดีมากกว่าการปกป้องราวไข่ในหิน เพราะการฝึกฝนและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในวัยเด็กหมายถึงการสะสมความรู้เบื้องต้นและทักษะชีวิตง่ายๆ ที่ไม่ซับซ้อน เมื่อเวลาผ่านไปประสบการณ์เหล่านี้จะเป็นฐานเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงเพื่อแก้ปัญหาก้อนใหญ่ที่ซับซ้อนและต้องใช้ทักษะสูงขึ้นได้

ดังนั้น การตั้งต้นด้วยความไม่พอใจ จนเกิดเผลอแสดงอาการเหวี่ยงหรือวีน คนรอบข้างเพราะไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในระหว่างการท่องเที่ยว จึงอาจจะเป็นสัญญาณว่าลูกหลานหรือเพื่อนของคุณเริ่มมีอาการขาดทักษะชีวิตเข้าให้แล้ว การเบี่ยงเบนความสนใจและเตือนให้ตั้งสติเพื่อช่วยกันหาทางแก้ไข จึงอาจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อถอดเป็นบทเรียนของชีวิต เพราะในทางวิทยาศาสตร์กระบวนการแก้ปัญหาคือหัวใจ แม้แต่ในทางพุทธศาสนาการเข้าใจปัญหาและจัดการด้วยสติได้ก็ถือว่าเป็นคนที่สมบูรณ์เช่นกัน

วันหยุดยาวอาจถือเป็นของขวัญที่ทำให้พ่อแม่และคนทำงานได้พักผ่อน เด็กๆ ได้ละวางการแข่งขันในห้องเรียน และเปิดโอกาสให้ครอบครัวหรือเพื่อนสนิทมิตรสหายมีโอกาสได้ใช้เวลาร่วมกัน แม้บางคนจะมองว่าการท่องเที่ยวเป็นเพียงวิธีพักผ่อนของคนที่แข็งแรง มีเงิน และมีเวลา แต่หากร่วมกันจัดการให้ดีการท่องเที่ยวสามารถแปลงกายเป็นบทเรียนจากของจริงที่สามารถสร้างเสริมทักษะชีวิตจากปัญหาและประสบการณ์ได้ไม่น้อยเลยทีเดียวครับ...แหม่


อ้างอิง  John P. Wilson, Colin Beard. 2003. The learning combination lock – an experiential approach to learning design, Journal of European Industrial Training 27:2 (88 – 97).


เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย
ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์
กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว

ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์







กำลังโหลดความคิดเห็น