xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. คงเป้าเงินเฟ้อ 0.5-3.0% ย้ำให้น้ำหนักการขยายตัว ศก. และเสถียรภาพการเงินเป็นโจทย์สำคัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ธปท. คงเป้าเงินเฟ้อ 0.5-3.0% สะท้อนทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย “ประสาร” ยืนยันจะให้น้ำหนักระหว่างอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจกับเสถียรภาพของระบบการเงินในประเทศเป็นโจทย์สำคัญ ระบุ สถานการณ์ปัจจุบัน กำลังสู่ยุคปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการแข่งขันทวีความรุนแรง แนะสถาบันการเงิน เร่งวางยุทธศาตร์ เพื่อเตรียมพร้อมเอาไว้รับมือ พร้อมให้การบ้าน 2 ข้อที่อาจเป็นโจทย์สำคัญในธุรกิจการเงิน

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการดำเนินนโยบายการเงินปี 2556 โดยยืนยันจะให้น้ำหนักระหว่างอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจกับเสถียรภาพของระบบการเงินในประเทศเป็นโจทย์สำคัญ เพราะมองว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้คงป้าหมายที่กำหนดไว้ 0.5-3.0% แต่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป

นายประสาร กล่าวว่า ปกตินโยบายการเงินจะดูความสมดุลของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน แต่โจทย์ปีนี้เป็นเรื่องอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงินของไทยที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นตัวแปรสำคัญในการส่งสัญญาณให้ผู้ที่อยู่ในตลาดการเงิน และมีบทบาทในการจัดสรรเงินทุนในระบบทั้งฝ่ายผู้ขอกู้ ซึ่งหากดอกเบี้ยต่ำก็อาจจูงใจให้คนใช้จ่ายเกินตัว และผู้ออมเงินที่อาจไม่อยากฝากเงินกับสถาบันการเงิน จึงนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า แต่ได้ผลตอบแทนมากขึ้น เช่น คอนโดมิเนียม ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ ธปท.ต้องดูแลให้มีความเหมาะสม

นอกจากนี้ ผู้ว่าการ ธปท. ยังให้ความเห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินเฉพาะกิจภาครัฐว่า ปัญหาที่สำคัญคือระบบบริหารจัดการของผู้บริหาร พร้อมกับมีการกันสำรองเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ไว้เพียงพอรองรับกรณีที่อาจมีเหตุการณ์คาดไม่ถึงเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ายังไม่มีกำหนดการนัดหารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่อย่างใด

นายประสาร ยังได้กล่าวปาฐกถาในงาน Banker to Broker 2013 โครงการ Banker to Broker เรื่อง"บทบาทสถาบันการเงินกับอนาคตประเทศไทย" วานนี้ โดยระบุว่า ระบบการเงินประเทศไทยในทุกวันนี้ ตนเองมองว่ามีระดับพัฒนาการที่ดีระดับหนึ่ง แต่ก็ยังจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับความท้าทายสำคัญ 2 ประการที่จะมีนัยสาคัญต่ออนาคตประเทศไทย ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของภาคเศรษฐกิจจริง และ การแข่งขันในระบบสถาบันการเงินที่รุนแรงขึ้น

"หากมองย้อนกลับไปถึงวิวัฒนาการในระบบการเงินของไทยจะพบว่าเป็นไปอย่างสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาแบบบูรณาการ ในอดีตไทยถูกมองว่าเป็นระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาระบบธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก แต่ปัจจุบัน ระดับการพึ่งพาระบบธนาคารพาณิชย์ของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมได้ลดลงตามลำดับ สะท้อนจากบทบาทของตลาดทุนทั้งการเป็นแหล่งระดมทุนและช่องทางการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง"

นายประสาร ระบุว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (structural adjustments) ซึ่งเกิดจากความพยายามร่วมกันทั้งภาครัฐฯและเอกชนในการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ซึ่งมีนัยสาคัญต่อความท้าทายของระบบการเงินใน 3 ด้าน คือ ความท้าทายในด้านขนาดของการระดมทุน วัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ (new investment cycle) นี้จะประกอบไปด้วยโครงการขนาดใหญ่ ทั้งที่ดำเนินการโดยภาครัฐฯและภาคเอกชน ขนาดของการระดมทุนนี้จะส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์ต้องเตรียมสภาพคล่องและเงินทุนรองรับความเสี่ยงให้เพียงพอ

อย่างไรก็ดี เพื่อมิให้ความเสี่ยงของโครงการขนาดใหญ่กระจุกตัวอยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์มากจนเกินไป การระดมทุนผ่านตลาดทุนโดยการออกหุ้นกู้ก็เป็นช่องทางที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงออกจากระบบธนาคารพาณิชย์ได้ นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ก็สามารถใช้ตลาดทุนเป็นช่องทางในการระดมทุนโดยลด maturity mismatch อาทิการออก covered bond หรือเป็นช่องทางในการผ่องถ่ายความเสี่ยงโดยใช้ช่องทาง securitization

ขณะที่ความท้าทายด้านรูปแบบความเสี่ยงของการระดมทุน เมื่อพิจารณาโครงการลงทุนในอนาคต ความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสาคัญมี 2 ประเภท ได้แก่ ความเสี่ยงจากการลงทุนต่างประเทศ และความเสี่ยงจากการลงทุนในโครงการใหญ่ที่ซับซ้อนและมีสภาพคล่องตต่ำ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน ในด้านการลงทุนต่างประเทศ สำหรับธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถให้บริการผู้ระดมทุนได้โดยที่สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงทั้งด้านอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการติดตามและบริหารจัดการความเสี่ยงของคู่ค้าที่ดำเนินการในต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการลงทุนในรูปแบบที่ซับซ้อนและมีสภาพคล่องต่ำ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอาจระดมทุนได้หลายช่องทาง สำหรับธนาคารพาณิชย์ก็สามารถทำได้ทั้งให้กู้โดยตรงหรือทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการระดมทุนของโครงการ ธนาคารพาณิชย์ก็จะต้องเตรียมระบบการติดตามและบริหารจัดการความเสี่ยงให้พร้อม

ส่วนตลาดทุนที่อาจมีการระดมทุนโดยใช้รูปแบบ securitization อาทิ infrastructure fund ก็จะต้องร่วมมือกับองค์กรกำกับดูแลเพื่อพัฒนาตราสารและกรอบกฎหมายรวมถึงกรอบกำกับดูแลให้มีมาตรฐานสากล เพื่อให้สามารถขยายฐานระดมทุนไปยังนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งคุ้นเคยกับตราสารเหล่านี้ระดับหนึ่งแล้ว

นอกจากนั้น ความท้าทายในด้านความจำเป็นในการเปลี่ยนรูปแบบการออมในประเทศ ปัจจุบันการออมภาคประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในรูปเงินฝากหรือกองทุนที่มีลักษณะการลงทุนระยะสั้น ซึ่งไม่สอดคล้องเมื่อเทียบกับทั้งรูปแบบการระดมทุนภาคเอกชนในอนาคตซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวมากขึ้นและความจำเป็นในการออมเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การส่งเสริมให้เกิดการออมระยะยาวมากขึ้นจึงเป็นการลดความเสี่ยง maturity mismatch ในระบบลง

สำหรับธนาคารพาณิชย์การส่งเสริมให้เกิดการออมในระยะยาวทำได้โดยการระดมทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุยาวขึ้น อย่างไรก็ดีแม้ตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์จะมีสภาพคล่องที่ดีระดับหนึ่งและได้รับความน่าเชื่อถือจากประชาชน แต่การถือครองตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ก็ยังถือว่ายังมีความเสี่ยงด้านเครดิตของธนาคารพาณิชย์อยู่ จึงไม่ได้ช่วยกระจายความเสี่ยงด้านเครดิตต่อผู้ออมจากระบบธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น ตลาดทุนจึงต้องรับบทบาทหลักในการส่งเสริมการออมระยะยาว โดยส่งเสริมความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และสร้างความลึกโดยการส่งเสริมการขยายฐานผู้ลงทุนเพื่อให้ตลาดมีสภาพคล่องสูงขึ้น ในระยะแรกการส่งเสริมให้กองทุนเพื่อการลงทุนระยะยาวซึ่งเป็นตัวกลางทางการเงินที่สาคัญในระบบการเงิน ก่อนที่ภาคประชาชนจะมีความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอต่อการตัดสินใจด้วยตนเอง

นายประสาร กล่าวว่า การแข่งขันในระบบสถาบันการเงินที่รุนแรงขึ้นจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่กระทบต่อประเทศไทยมีแนวโน้มจะเร่งตัวขึ้น ทั้งจากการส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศโดยภาครัฐฯ ความต้องการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจของภาคเอกชน และแนวโน้มที่ต่างประเทศจะมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยใช้ไทยเป็น logistic hub เชื่อมต่อกับ new economic corridors

การเร่งตัวของผลกระทบของกระแสโลกาภิวัตน์ต่อประเทศไทยจะส่งผลให้เกิดความท้าทายต่อระบบการเงิน 2 ประการ คือ ฐานลูกค้ามี exposure กับต่างประเทศมากขึ้น โดยบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งเดิมใช้บริการธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นหลักจะเริ่มลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น และจะเริ่มคุ้นชินกับการใช้บริการสถาบันการเงินระดับนานาชาติมากขึ้น หากพบว่าบริการที่ได้รับเป็นที่น่าพอใจก็อาจเพิ่มสัดส่วนการใช้บริการกับธนาคารต่างประเทศมากขึ้น สำหรับบริษัทต่างประเทศที่จะมาตั้งสานักงานในประเทศไทย หากพบว่าบริการทางการเงินมีราคาและคุณภาพที่แตกต่างจากที่เคยได้รับในต่างประเทศ ก็อาจหันกลับใช้บริการจากสถาบันการเงินต่างประเทศซึ่งมีความคุ้นเคยอยู่แล้วเป็นหลัก

ความสามารถในการแข่งขันเทียบกับสถาบันการเงินต่างประเทศ ปัจจุบันสัดส่วนของรายได้ของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของภูมิภาคอาเซียนที่มาจากธุรกรรมในต่างประเทศเฉลี่ยสูงกว่าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยพอสมควร การที่สถาบันการเงินต่างประเทศมีแหล่งรายได้จากหลายประเทศนอกจากช่วยกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจแล้ว หากสถาบันการเงินเหล่านั้นมีบริษัทลูก บริษัทร่วมทุน หรือสาขาในต่างประเทศ ก็จะได้เปรียบจากปัจจัยต่างๆ อาทิแง่ความกว้างขวางของเครือข่ายลูกค้า แหล่งระดมทุน ทรัพยากรมนุษย์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากต่างประเทศ ความได้เปรียบเหล่านี้จะเป็นจุดแข็งในการให้บริการธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์

ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า โจทย์ที่จะต้องช่วยกันขบคิด คือ สถาบันการเงินไทยสามารถเพิ่มศักยภาพเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากปัจจัยเหล่านี้เพิ่มขึ้นอีกได้หรือไม่ หากสถาบันการเงินไทยใช้ประโยชน์จากปัจจัยเหล่านี้ได้ดีก็จะถือเป็นความสาเร็จ ซึ่งทั้งสถาบันการเงินไทยและผู้ใช้บริการทางการเงินได้ประโยชน์ร่วมกัน

"จุดนี้พวกเราคงเห็นร่วมกันแล้วว่าความท้าทายที่รออยู่นั้น มีนัยสาคัญอย่างยิ่งและถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องปรับตัวให้เท่าทัน โดยแนวทางการปรับตัวต้องทำอย่างมียุทธศาสตร์ มีแผนที่ชัดเจน รอบคอบรัดกุม และทำอย่างเป็นระบบ โดยร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ทั้งภาครัฐและเอกชน ทุกภาคส่วนต้องยื่นมือเข้ามามีบทบาทร่วมกันในการพัฒนาระบบการเงินไทย

ผู้ว่า ธปท.ยังเสนอแนะบทบาทสถาบันการเงิน การวางแผนธุรกิจที่เน้นการรุกอย่างมียุทธศาสตร์ถือเป็นหัวใจที่จะนาไปสู่การปรับตัวรองรับสภาพแวดล้อมในอนาคตและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเทียบกับสถาบันการเงินต่างประเทศ บทบาทภาครัฐและองค์กรการกำกับดูแล การวางภูมิทัศน์ระบบสถาบันการเงิน (Financial Landscape) ซึ่งเอื้อให้มีระดับการแข่งขันที่เหมาะสม โดยไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจการเงินนั้น เป็นบทบาทสาคัญของภาครัฐฯ ซึ่งตามแผน Financial Sector Master Plan II ก็จะเปิดให้มีการแข่งขันจากต่างประเทศมากขึ้นทั้งในรูปแบบการออกใบอนุญาตใหม่และการเจรจาต่อรองให้ใบอนุญาตภายใต้กรอบ Qualified ASEAN Bank

นอกจากนี้ภาครัฐฯก็มีบทบาทในการสร้าง regulatory environment ที่เอื้อให้สถาบันการเงินดำเนินธุรกิจได้เต็มประสิทธิภาพ โดยลดกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น บางส่วนภาครัฐฯได้ร่วมมือกันส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศเพื่อเอื้อให้ทั้งภาคธุรกิจและสถาบันการเงินมีโอกาสทางธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น มีส่วนร่วมในการพัฒนาได้โดยการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับองค์กรกำกับดูแลต่างประเทศ รวมถึงธนาคารกลางเพื่อช่วยประสานเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชน

บทบาทสำคัญขององค์กรกำกับดูแลที่จะต้องให้ความสาคัญเป็นพิเศษ คือ การเตรียมพร้อมระบบติดตามและดูแลความเสี่ยงรูปแบบใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับการพัฒนาระบบการเงิน เพื่อให้พัฒนาการที่เกิดขึ้นไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินจนทำให้พัฒนาการของประเทศสะดุดลง ซึ่ง ธปท. ได้จัดกระบวนการทำงานภายในให้มีการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงในระบบการเงินได้ดีขึ้น รวมถึงมีการประสานเชิงนโยบายระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงินและนโยบายสถาบันการเงิน เพื่อร่วมพิจารณาประเด็นเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน ในอนาคตการประสานงานระหว่างองค์กรกำกับดูแล โดยเฉพาะ ธปท. กลต. คปภ.หรืออาจรวมถึงองค์กรกากับดูแลอื่นๆ อาทิ สศค. ตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรจะต้องมีรูปแบบการประสานงานและประสานนโยบายอย่างใกล้ชิดขึ้น ทั้งในเรื่องของเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินและการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

บทบาทร่วมระหว่างภาครัฐฯและเอกชน ความร่วมมือนั้นจะต้องเริ่มจากการเห็นภาพความท้าทายร่วมกัน โดยมีเป้าหมายร่วมกันชัดเจนในการตอบสนองความต้องการผู้ใช้บริการให้ดีขึ้นและปรับศักยภาพในการแข่งขัน ภาคเอกชนจะมีความเข้าใจสภาพการแข่งขันทางธุรกิจและข้อจำกัดที่ปิดกั้นไม่ให้แข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ภาครัฐฯสามารถเอื้ออำนวยและประสานงานเพื่อลดอุปสรรคได้
กำลังโหลดความคิดเห็น