xs
xsm
sm
md
lg

Fund Flow (เงินจาก ตปท.) และผลกระทบต่อการออม การลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ Money Tips

วรวรรณ ธาราภูมิ
CEO กองทุนบัวหลวง

เงินบาทที่แข็งค่าเนื่องมาจาก Fund flow ที่เข้ามาบ้านเรา ซึ่งทั้งเป็นการลงทุนโดยตรงในภาคเศรษฐกิจจริง และลงทุนทางอ้อมที่เรียกว่า Portfolio investment ในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น ที่เงินไหลเข้าก็เพราะเรามีปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจดี และยิ่งมีการลงทุนโดยตรง ก็ยิ่งทำให้เกิดการจ้างงานและเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น Fund flow ที่เข้ามาหาโอกาสจากตลาดหุ้นและพันธบัตรนั้น นอกจากเขาจะต้องการได้ส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ยแล้ว เขายัง bet กับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอีกด้วย ส่วนนี้เราเรียกว่าเงินร้อน เหมือนนักพนันที่มีเวลาน้อยๆ แต่มีเงินเยอะ และยังไม่ถึงเวลานัด เลยแวะคาสิโนเสียหน่อย

ส่วนเงินไหลเข้าที่เขาต้องการลงทุนในหุ้นจริงๆ ก็มี ซึ่งส่วนนี้เขาจะมองแต่โอกาสของการเติบโตกำไรดีของกิจการที่เขาสนใจ กับมองที่อัตราเงินปันผลที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต ทำให้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจากค่าเงินที่แข็งขึ้นนั้นเป็นเพียงผลพลอยได้ พวกนี้เขาไม่ได้เข้ามาลงทุนเพื่อหวังกำไรจากบาทที่แข็งขึ้นเป็นหลัก และไม่ใช่เงินร้อน ซึ่งถ้าดูช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2009 (2552) จนถึงวันนี้ ค่าเงินไทยก็แข็งขึ้นไม่ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านเท่าไหร่นัก

มุมมองต่อนักลงทุน

ตั้งแต่ต้นปีถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา SET Index ขึ้นไปแล้ว 9% ทำให้ผู้ลงทุนได้กำไรกันไปพอสมควรจาก Fund Flow ที่ไหลเข้ามาต่อเนื่อง แต่ผู้ลงทุนหน้าใหม่จะมีต้นทุนซื้อที่แพงขึ้น เพราะราคาหุ้นหลายตัวทำ new high หรือ all time high กันไปแล้ว

มุมมองต่อนักออมเงิน

เอเชียผ่านวิกฤตมามากแล้ว ทำให้มีประสบการณ์และความระมัดระวัง คือ “เข็ดหลาบ” อย่างน้อยก็ไม่ผลีผลามขยายตัวสร้างหนี้มากไปในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เอเชียมีงบดุลหรือ Balance sheet ที่ยังแข็งแรง และมีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลในระดับที่สูงขึ้น

จากสภาพคล่องในตลาดการเงินที่มีอยู่สูง (ตราบเท่าที่ประเทศใหญ่ๆ ยังพิมพ์เงินอยู่) และอัตราดอกเบี้ยที่หักด้วยอัตราเงินเฟ้อแล้วยังติดลบ เงินก็จะยังไหลเข้าไปอยู่ในภูมิภาคที่เติบโตและมีอัตราเงินปันผลที่ดีอย่างภูมิภาคเอเชีย เป็นต้น

การฝากเงินแบบเดิมๆ ทำให้มูลค่าของเงินนับวันจะด้อยค่าลง เพราะ fund inflow จะผลักดันให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ราคาข้าวของ อาหาร ราคาหุ้น หรือราคาที่ดินที่จะยิ่งสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและการขยายตัวของ Urbanization เพราะฉะนั้น อย่าฝากเงินเพียงอย่างเดียว ต้องรู้จักให้เงินทำงานด้วยการมองหาทางเลือกในการลงทุนเพิ่มด้วย เราควรพิจารณาแบ่งส่วนไปลงมุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้กันบ้าง

สำหรับคำแนะนำสำหรับนักลงทุนในการวางแผนการเงิน ช่วงนี้เป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนจะประกาศผลประกอบการประจำปี พร้อมทั้งประกาศจ่ายเงินปันผล เราเลือกหาหุ้นปันผลที่ให้ Yield สูงๆ และมีอัตรากำไรต่อหุ้นที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้ ดังนั้น จึงน่าจะลงทุนในหุ้น หรือกองทุนที่ลงทุนในหุ้นได้ถึง 100% เพื่อรับผลตอบแทนจาก Capital gain แต่ถ้าต้องการรายได้จากปันผลไปใช้สอย ก็ให้เข้าลงทุนในกองทุนหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง (เช่น BSIRICG, BCAP และ BKD ของกองทุนบัวหลวง เป็นต้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเราเห็นลูกค้าซื้อกองทุนหุ้นของเราอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกองทุนหุ้นที่มีนโยบายการเงินปันผล)

แม้ว่าคนจะมีมุมมองต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (เช่น หุ้น) ที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมามาก แต่ไม่ใช่ว่าความผันผวนของตลาดจะหายไป เพราะความเสี่ยงของการขยายตัวของเศรษฐกิจอาจจะแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ นอกจากนี้ ความเสี่ยงในระยะใกล้ๆ อย่าง Fiscal cliff และผลการเลือกตั้งในอิตาลี ก็ยังคงมีอยู่

ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงควรมีการปรับสมดุลย์สัดส่วนในพอร์ตลงทุนของตนเอง (Rebalance Portfolio) เพื่อเป็นการจัดการความเสี่ยงไปในตัว เช่น ถ้าสัดส่วนหุ้นมีมากเกินกว่าแผนที่กำหนดก็ต้องลดลงไป เพื่อไม่ให้สัดส่วนเบ้ไปจากที่เราตั้งใจไว้ แล้วเอาเงินส่วนเกินนี้ไปเพิ่มน้ำหนักทองคำหรืออื่นๆ ที่สัดส่วนพร่องลงไปจากแผนแล้ว ทั้งนี้ ในส่วนพันธบัตรนั้นยังไม่ควรลงทุนในรุ่นอายุยาว ในการปรับพอร์ต เราต้องกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ตามความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ภายใต้ข้อจำกัดด้านระยะเวลาที่จะลงทุน กับความต้องการในการใช้เงิน

และเนื่องจากอัตราผลตอบแทนในท้องตลาดถูกกำหนดด้วยปัจจัยสภาพแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอน เช่น ภาวะเศรษฐกิจ นโยบายภาครัฐ ปัจจัยจากต่างประเทศ ดังนั้น จึงไม่ควรคาดหวังกับอัตราผลตอบแทนในระดับที่สูงเกินจริงโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงและขาดความเข้าใจ

หากนักลงทุนยังไม่มั่นใจ หรือไม่เข้าใจเรื่องการลงทุนและภาวะตลาด หรือมีเวลาอันจำกัด ควรลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งมีความเป็นมืออาชีพในการลงทุนในการดูแลเรื่องเงินแทน ผู้ลงทุนระยะยาว จะมองไปที่ผลตอบแทนของการลงทุนระยะยาว อันประกอบด้วยผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) + พลังของเงินลงทุนที่สะสมต่อเนื่อง (Reinvestment Compounding Effect)

ดังนั้น ต้องมีความอดทนในการรอคอย และหากปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยมองก็ต้องมีความยืดหยุ่นในการลงทุนด้วย เหมือนที่ John Maynard Keynes บอกว่า ...

“ผมจะเปลี่ยนแนวคิด ถ้าความจริงมันเปลี่ยนไป”


กำลังโหลดความคิดเห็น