เมื่อกัปตัน James Cook ออกเดินทางรอบโลกเป็นครั้งแรกด้วยเรือ Endeavour ในปี 1768 เพื่อค้นหาทวีปใหม่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ Joseph Banks หนุ่มวัย 25 ปี ผู้เป็นลูกเศรษฐีต้องการร่วมขบวนสำรวจ จึงขออนุญาตเดินทางไปกับ Cook ด้วย โดยจะใช้เงินร่วม 10,000 ปอนด์ของตนเองเป็นค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อนำเพื่อนนักธรรมชาติวิทยา เช่น Daniel Solander ผู้เป็นศิษย์ของ Karl Linnaeus และนักจิตรกรเพื่อวาดภาพสิ่งต่างๆ ที่เห็น (ในสมัยนั้นยังไม่มีกล้องถ่ายรูป) ไปด้วย
เมื่อคณะสำรวจของ Cook เดินทางกลับถึงอังกฤษในปี 1771 Banks กับคณะได้นำพืช และสัตว์ตัวอย่างที่แปลก น่าสนใจ และสวย ซึ่งไม่มีใครเคยเห็นมาก่อนกลับมามากมาย เช่น พืช 1,400 สปีชีส์ใหม่ซึ่งได้แก่ ยูคาลิปตัส กระถิน เฟื่องฟ้า ฯลฯ รวมถึงสัตว์แปลกๆ เช่น จิงโจ้ เป็นต้น
วัสดุที่นำกลับมานี้ ปัจจุบันถูกเก็บสะสมอยู่ที่ British Museum ในส่วนของธรรมชาติวิทยา และความสำเร็จของ Cook ในการเดินทาง และความยิ่งใหญ่ของ Banks ในการเก็บรวบรวมธรรมชาติทั้งที่เป็นสิ่งมีชีวิต และไร้ชีวิตนี้ได้ชักนำให้ Charles Darwin ออกเดินทางสำรวจโลกบ้างในปี 1831 ซึ่งมีผลทำให้ Darwin พบทฤษฎีวิวัฒนาการในที่สุด
Joseph Banks เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1743 (ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าบรมโกษฐ์) ที่กรุงลอนดอนในครอบครัวที่มีฐานะดี เพราะบิดา William กับมารดา Sarah เป็นเจ้าของที่ดินพื้นที่กว้างใหญ่ที่เมือง Revesby ในแคว้น Lincolnshire เด็กชาย Banks รู้สึกชอบสิ่งมีชีวิตธรรมชาตินอกเมือง เช่น พืช และแมลงมาก เมื่ออายุ 9 ขวบได้ไปศึกษาที่โรงเรียนที่มีชื่อเสียง คือ Harrow จากนั้นได้ย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียน Eton เมื่ออายุ 17 ปี Banks ได้สอบเข้าเรียนที่วิทยาลัย Christchurch แห่งมหาวิทยาลัย Oxford
แต่เมื่อรู้ว่าที่มหาวิทยาลัยไม่มีการเรียน การสอนวิชาพฤกษศาสตร์เลย Banks จึงตัดสินใจจ้าง Israel Lyons ซึ่งเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัย Cambridge มาสอนตน และนั่นนับเป็นครั้งแรกที่ Oxford มีการสอนวิชาพฤกษศาสตร์
เมื่ออายุ 18 ปี Banks ก็กำพร้าบิดา และได้รับเงินมรดกปีละ 6,000 ปอนด์ ซึ่งนับว่ามากพอสำหรับ Banks ที่จะให้ใช้ชีวิตต่อไปโดยไม่ต้องทำอะไรเลย และเมื่อ Banks ได้พบว่า ชีวิตนิสิตที่ Oxford ไม่มีอะไรท้าทายมาก เขาจึงลาออกโดยไม่ขอสอบรับปริญญา
เมื่ออายุ 23 ปี Banks ได้เดินทางไกลเป็นครั้งแรก เพื่อเก็บรวบรวมสิ่งมีชีวิตตัวอย่างที่ Newfoundland เป็นเวลา 10 เดือนกับที่ Labrador เป็นเวลา 5 เดือน และได้ล้มป่วยเป็นไข้จนเกือบเสียชีวิต ในการเดินทางครั้งนั้น Banks ได้พบนกชนิดใหม่ 34 สปีชีส์ รวมถึงพบซากของนก Auk ที่สูญพันธุ์ไปแล้วด้วย โดยในเบื้องต้น Banks คิดว่ามันเป็นนกเพนกวิน สำหรับใบไม้ของพืชตัวอย่างที่ Banks เก็บกลับมานั้น ปัจจุบันก็ยังอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ British Museum ผลงานที่สำคัญนี้ทำให้ Banks ได้รับเลือกเป็น Fellow of the Royal Society (F.R.S.)
ในเดือนสิงหาคม ปี 1768 Banks ได้เดินทางไกลไปสำรวจมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ และไปสังเกตดูดาวศุกร์โคจรตัดหน้าดวงอาทิตย์ (ในปี 1769) กับกัปตัน James Cook โดยเรือ Endeavour ในเรือมีอุปกรณ์สำรวจธรรมชาติครบครัน เมื่อเรือเข้าเทียบท่าที่ Brazil, Banks ได้สังเกตเห็นดอกเฟื่องฟ้า (bougainvillea) เป็นครั้งแรก และเมื่อเรือเดินทางถึง Tierra del Fuego ในเดือนธันวาคม ณ ที่นั่น ขณะนั้นอากาศหนาวจัดจนลูกน้องของ Banks 2 คนเป็นโรคปอดบวมตาย
จากอเมริกาใต้เรือ Endeavour ได้เดินทางต่อถึง Tahiti เมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ.1769 และทุกคนก็ได้พบว่าชาวเกาะให้ความเป็นมิตรมาก จนกะลาสีเรือที่ไม่ได้เห็นสตรีมานานร่วมปีรู้สึกต้องการจะมีความสัมพันธ์ด้วย และพบว่าอัตราแลกเปลี่ยนคือ ตาปู 1 ดอกกับความสัมพันธ์ 1 ครั้ง และสตรีชาวเกาะเหล่านี้ต่างก็มีความถนัดทางเศรษฐศาสตร์มาก เพราะเมื่อเวลาผ่านไปอัตราแลกเปลี่ยนก็ยิ่งเพิ่ม จนลูกเรือต้องขโมยตะปูเป็นถังไปแอบซ่อน และถึงจะถูกจับได้หัวขโมยก็ไม่ยอมบอกที่ซ่อน
Banks เองก็มีสัมพันธ์กับหญิงชาวเกาะ จึงได้พยายามเรียนและพูดภาษาพื้นเมือง เพื่อเข้าใจวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของชาวพื้นเมืองด้านการใช้ชีวิต การทำมาหากิน การทำอุปกรณ์เครื่องใช้ การนับถือศาสนา ฯลฯ นี่จึงเป็นการศึกษาด้านมานุษยวิทยาของชาวเกาะที่ Banks เป็นผู้จัดทำเป็นคนแรก และเพื่อให้จุดประสงค์นี้บรรลุผล Banks ได้ลงทุนใช้ถ่านไม้ทาตามตัวให้ผิวดำ รวมถึงลงสักด้วย ซึ่งประเพณีการลงสักตามตัวที่ Banks ทำนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้กะลาสีได้ทำกันเป็นประเพณีในเวลาต่อมา
หลังจากที่ได้สังเกตเห็นปรากฏการณ์ดาวศุกร์บดบังดวงอาทิตย์แล้ว เรือ Endeavour ได้เดินทางต่อไปถึง New Zealand ซึ่ง Banks ได้ใช้เวลา 6 เดือนในการสำรวจเกาะนี้ จากนั้นได้เดินทางต่อไปถึงฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย แล้วแล่นเรือผ่าน Great Barrier Reef เพื่อเก็บสัตว์และพืชตัวอย่างเพิ่มเติม อนึ่งลูกเรือได้พบว่า ชาวพื้นเมือง aborigine ของออสเตรเลีย มิได้เป็นมิตรที่ดีเท่าชาวเกาะ Tahiti
ขณะเรือเดินทางเข้าใกล้บริเวณที่เป็นที่ตั้งของเมือง Sydney ในปัจจุบัน กัปตัน Cook ได้พบว่า ตัวเรือบางส่วนชำรุดจึงต้องแวะขึ้นฝั่ง เพื่อซ่อมเป็นเวลานาน 7 สัปดาห์และ Banks ได้เห็นว่าบนฝั่งมีต้นไม้สายพันธุ์แปลกๆ มากมาย เหมือนเป็นสวนสวรรค์ Eden เขาจึงเรียกชื่ออ่าวนี้ว่า Botany Bay (อีกหลายปีต่อมา Banks เป็นคนที่เสนอแนะให้สถานที่นี้เป็นที่กักขังนักโทษที่จะถูกส่งมาจากอังกฤษ นี่จึงเป็นสถานที่แรกที่คนผิวขาวได้อพยพมาอาศัยอยู่ในแปซิฟิก)
อนึ่ง ขณะสำรวจ Botany Bay, Banks ได้เป็นชาวยุโรปคนแรกที่ได้บันทึกเรื่องราวของจิงโจ้ด้วย
จากออสเตรเลียขบวนสำรวจได้เดินทางต่อไปถึง New Guinea และชวาในอินโดนีเซีย แต่คนพื้นเมืองไม่เป็นมิตรนัก Banks จึงเก็บรวบรวมสิ่งมีชีวิตตัวอย่างได้ไม่สะดวกนัก
ครั้นเมื่อเรือสำรวจของ Cook เดินทางกลับถึงอังกฤษในวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.1771 กะลาสีเรือทุกคนได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดียิ่ง โดยให้ความสำคัญกับ Banks ยิ่งกว่า Cook เสียอีก เพราะ Banks มีผลงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น เก็บพืชตัวอย่างได้กว่า 1,000 สายพันธุ์ใหม่ ปลาประมาณ 500 สายพันธุ์ใหม่ และนก 500 สายพันธุ์ใหม่ แมลงจำนวนนับไม่ถ้วน หอย ปะการัง หิน ผ้าพื้นเมือง ไม้แกะสลัก รวมถึงวัตถุประดับมากมาย ซึ่งแสดงอารยธรรม และการรู้เทคโนโลยีของชาวแปซิฟิกได้เป็นอย่างดี
เมื่อมีชื่อเสียงโด่งดังใครๆ ก็อยากพบปะกับ Banks แม้แต่กษัตริย์ George ที่ 3 ก็ทรงประสงค์ให้ Banks เข้าเฝ้าถวายรายงาน มหาวิทยาลัย Oxford ที่ Banks เคยเรียน แต่เรียนไม่จบ ก็ประกาศมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้ แม้จะมีคนชื่นชมมากแต่ Banks ก็ถูกสื่อมวลชนกล่าวตำหนิเรื่อง ที่ได้ประพฤติสำส่อนกับชาวเกาะ
ในวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ.1772 เมื่อ Cook ออกเดินทางรอบโลกเป็นครั้งที่ 2 Banks ได้ตั้งใจจะเดินทางไปด้วยอีก และคิดจะนำสมัครพรรคพวกไปด้วย 15 คน (โดยมีนักดนตรีไปด้วย) จากเดิมที่จะไปกัน 8 คน ดังนั้นเรือ Resolution ของ Cook จึงต้องเพิ่มจำนวนห้องพัก และได้พบว่าการดัดแปลงเรือจะทำให้เรือไม่ปลอดภัย Cook จึงขอร้องให้ Banks ลดจำนวนผู้ติดตาม แต่ Banks ไม่ยอม จึงประกาศไม่ร่วมขบวนไปด้วย และจัดทีมไปสำรวจใหม่ไปที่ Hebrides ในสก็อตแลนด์ และ Iceland แทน
แม้จะไม่ได้ไปสำรวจด้วยกันอีก แต่ Cook กับ Banks ก็ยังเป็นเพื่อนกัน เพราะ Cooks จะนำสิ่งมีชีวิตตัวอย่างที่น่าสนใจกลับมาฝาก Banks เสมอ และเมื่อ Cook เสียชีวิต Banks ได้เสนอให้สมาคม Royal Society ทำเหรียญที่ระลึกในนาม Cook
ชีวิตนักเดินทางของ Banks ได้สิ้นสุดลงตั้งแต่ Banks มีอายุยังไม่ถึง 30 ปีเลย
ในปี 1776 Banks ได้ย้ายออกจากบ้านที่ถนน New Burlington ในลอนดอน เพื่อไปอยู่บ้านใหม่ที่ Soho Square และอีก 1 ปีต่อมา ก็ได้รับเลือกเป็นนายกของสมาคม Royal Society (สืบต่อจาก Sir John Pringle) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอิทธิพลมาก และ Banks ได้ดำรงตำแหน่งนี้นานถึง 42 ปี นี่จึงเป็นประจักษ์หลักฐานว่าสมาชิกของสมาคมทุกคนยอมรับในความสามารถของ Banks
เมื่ออายุ 36 ปี Banks ได้เข้าพิธีสมรสกับ Dorothea Hugesson ซึ่งมีอายุน้อยกว่าถึง 16 ปี และเข้าพักที่ Soho Square ซึ่งมีเนื้อที่กว้างขวางถึง 80 ไร่ ในฐานะนายกของสมาคมวิชาการที่ทรงเกียรติ Banks ได้สนับสนุนให้สมาชิกหลายคนของสมาคมสร้างองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ใหม่ เช่น ให้ William Bligh เดินทางไปเกาะ Tahiti เพิ่มนำต้นสาเกกลับอังกฤษ แล้วจะได้ส่งไปปลูกเป็นอาหารทาสที่ West Indies สนับสนุน Muengo Park ไปสำรวจแอฟริกา ส่ง Matthew Flinclers ไปออสเตรเลียร่วมกับ Robert Brown จัดส่งแกะพันธุ์ Merino ไป New South Wales ส่งชาไปปลูกในอินเดีย ส่ง George Vancouver ไปสำรวจฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ สนับสนุน William Smith ทำแผนที่ธรณีวิทยาของเกาะอังกฤษเป็นครั้งแรก และในฐานะที่ปรึกษาแห่งราชสำนัก Banks ได้ทูลขอให้พระเจ้า George ที่ 3 ทรงจัดตั้ง Kew Gardens เป็นสวนพฤกษศาสตร์แห่งชาติ โดยให้เป็นที่รวบรวมพืชจากทุกหนแห่งของโลกมาเพื่อศึกษา อีกทั้งยังได้จัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ที่ Jamaica และที่ Ceylon ด้วย
ในบั้นปลายชีวิต Banks ป่วยเป็นเก๊าท์ จนเดินทางไปไหนมาไหนไม่ได้ ทำให้ต้องนั่งรถเข็นตลอด 15 ปีสุดท้ายของชีวิต แต่สมองและจิตใจยังดี
จนถึงวันที่ 19 มิถุนายน 1820 Banks ก็ได้ลาจากโลกที่ Isleworth ใกล้กรุงลอนดอน และได้มอบหนังสือ กับพืชตัวอย่างที่เก็บเป็นสมบัติส่วนตัวแก่ Robert Brown และหลังจากที่ Brown เสียชีวิต สมบัติทุกชิ้นของ Banks ได้ตกเป็นของ British Museum ทั้งนี้เพราะ Banks ไม่มีทายาทสืบสกุลนั่นเอง
ณ วันนี้ ที่ Natural History Museum มีอนุสาวรีย์ของ Banks ติดตั้งอยู่ ส่วนที่ New Zealand มีแหลม Banks และที่แคนาดามีเกาะ Banks’s Island สำหรับชาวออสเตรเลียแล้ว แม้ Banks จะไม่ได้ไปเยือนออสเตรเลียอีกเลย แต่ทุกคนก็รู้ดีว่า Banks คือ บิดาคนหนึ่งของออสเตรเลีย เขาผู้เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักบริหาร และนักการเมือง ผู้มีสายตายาวไกล มีความตั้งใจแน่วแน่ และถึงแม้ตนเองจะไม่มีเวลาทำงานชิ้นสำคัญก็ตาม แต่ก็รู้ว่า ควรสนับสนุนผู้ใดให้ทำงานแทน และสามารถทำได้สำเร็จ
อ่านเพิ่มเติมจาก Sir Joseph Banks (1743-1820) โดย Harold B. Carter จัดพิมพ์โดย British Museum (Natural History) 1988
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์
“หนังสือ “สุดยอดนักชีววิทยา” ของ ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน
ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดี มีวางจำหน่ายแล้วในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ จากราคาปก 220 บาท ลด 30%”