ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา สังคมยุโรปได้เริ่มสนใจศึกษาธรรมชาติมากขึ้น เพราะคาดหวังจะนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาชีวิต เช่น ในปี 1730 มีการจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์ Kew Gardens ขึ้นที่ลอนดอนเพื่อศึกษาพรรณพืชจากสถานที่ทุกหนแห่งบนโลก ที่ปารีสมีการสร้าง Jardin du Roi (สวนกษัตริย์) เพื่ออนุรักษ์ และพัฒนาสายพันธุ์พืช และสถานที่นี้ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น Museum of Natural History ภายใต้การบริหารของ Comte de Buffon ทั้ง Royal Society ของอังกฤษและ French Academy of Sciences ต่างก็ได้ส่งนักธรรมชาติวิทยาไปกับนักผจญภัยเพื่อสำรวจและค้นหาดินแดนต่างๆ ทั่วโลก และเมื่อได้ข้อมูลกลับมาแล้ว องค์กรวิชาการที่มีชื่อเสียงเหล่านี้ได้จัดให้มีการประชุม เพื่อรวบรวมและประมวลองค์ความรู้ที่ได้มาวิเคราะห์ดูว่านักวิทยาศาสตร์ควรศึกษาประเด็นใดอีกบ้างในอนาคต
ผลที่เกิดตามมา คือ ทำให้โลกรู้จัก Carl Linnaeus นักชีววิทยาแห่งสวีเดนผู้ได้จัดแบ่งแยกสิ่งมีชีวิตเป็นหมวดหมู่ ส่วนในฝรั่งเศสก็มี Comte de Buffon ผู้เรียบเรียงหนังสือชื่อ National History General and Particular ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1749 อีกทั้งได้แต่งหนังสือชุดโลกของสิ่งมีชีวิต และไร้ชีวิตซึ่งมี 35 เล่ม จนเป็นหนังสือคลาสสิกที่ช่วยให้ผู้อ่านสนใจธรรมชาติรอบตัวมากขึ้น นอกจากนี้ในฝรั่งเศสยังมีการจัดพิมพ์ Encyclopedia 3 เล่ม ซึ่งได้รวบรวมองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกรูปแบบซึ่งเป็นที่รู้จักในสมัยนั้น ด้านนักประวัติศาสตร์ Abbé Prevost ก็ได้เรียบเรียงหนังสือชุด General History of Voyage จำนวน 74 เล่ม ซึ่งกล่าวถึงประวัติการเดินทางสำรวจโลกของนักผจญภัยทั่วโลก เอกสารและกิจกรรมวิชาการเหล่านี้ได้ปลุกระดมให้ผู้คนสนใจและสนับสนุนการผจญภัย และการศึกษาธรรมชาติในต่างแดนอย่างกว้างขวาง เช่น ที่เมือง Dijon มีการจัดตั้ง Academy of Sciences and Letter ซึ่งมีสมาชิกคนหนึ่ง ชื่อ Charles De Brosses ผู้ได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ History of Navigation to the Southern Lands ในปี 1756 ซึ่งได้กล่าวถึง การที่โลกต้องมีทวีปใหญ่ในครึ่งซีกโลกใต้ หรือถ้าไม่มีทวีปใหญ่ ทะเลส่วนนั้นก็ต้องมีเกาะใหญ่น้อยมากมาย
หนังสือของ De Brosses ยังให้ข้อคิดว่า การสำรวจและรวบรวมข้อมูลธรรมชาติของพืชกับสัตว์จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างองค์ความรู้วิทยาศาสตร์มาก และในการสำรวจดินแดนใดก็ตามนักสำรวจต้องนำความเจริญมาสู่ประชาชนหรือผู้คนในท้องถิ่นนั้นด้วย
แนวคิดของ De Brosses ลักษณะนี้ได้รับความชื่นชมในฝรั่งเศส และต่างประเทศมาก จน Alexander Dalrymple ได้เขียนจดหมายติดต่อกับ De Brosses เพื่อบอกว่า สนใจจะร่วมสำรวจมหาสมุทรแปซิฟิกกับ De Brosses และหลังการสำรวจ Dalrymple ได้เขียนหนังสือชื่อ Account of the Discoveries made in the South Pacific Ocean Previous to 1764 หนังสือที่เผยแพร่ในปี 1768 นี้ได้ทำให้สมาคม Royal Society ของอังกฤษสนใจจะส่งคนไปสำรวจมหาสมุทรอย่างเป็นระบบ และหนังสือนี้ยังเป็นหนังสือที่ James Cook ได้อ่านเมื่อ 3 เดือนก่อนออกเดินทาง
ในช่วงเวลาที่หนังสือของ De Brosse ปรากฏนั้น สถานการณ์การเมืองระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสไม่ราบรื่นเพราะเกิดสงคราม 7 ปี ระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งมีผลให้โครงการส่งนักสำรวจไปศึกษาโลกของสองประเทศต้องหยุดชะงัก เมื่อสงครามสงบ และฝรั่งเศสแพ้สงครามทำให้ต้องลงนามในสัญญา Treaty of Paris ยกแคนาดา เซเนกัล และหมู่เกาะ Antilles ให้อังกฤษครอบครอง อีกทั้งต้องยกรัฐ Louisiana ให้สเปน และชดเชยค่าเสียหายให้รัฐ Florida ด้วย การเป็นผู้พิชิตทำให้อังกฤษได้เป็นมหาอำนาจ และเป็นนักล่าอาณานิคมชาติใหม่ แสวงหาแผ่นดินในมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อค้นหาทวีปใหญ่ทางตอนใต้ และศึกษาธรรมชาติในดินแดนแถบนั้น
เพราะเทคโนโลยีการเดินทางตั้งแต่ปี 1764 เป็นต้นมา ได้รับการพัฒนาไปมากทำให้การเดินทางปลอดภัยขึ้น ด้วยการมีอุปกรณ์เดินทางที่ทันสมัย กัปตันเรือมีการวางแผนเดินทางทุกขั้นตอน เป็นคนที่มีความรู้วิทยาศาสตร์ระดับดี และมีความสามารถในการเดินเรือระดับดีเยี่ยม นอกจากนี้จุดประสงค์ของการเดินทางก็ได้ปรับเปลี่ยนคือ มิใช่จะแสดงเพียงว่านักสำรวจสามารถเดินทางรอบโลกได้เท่านั้น แต่เขาต้องนำข้อมูล และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์กลับมาด้วย ดังนั้นในการเดินทางแต่ละครั้ง จะมีนักดาราศาสตร์ นักฟิสิกส์ นักชีววิทยา และจิตรกรผู้จะทำหน้าที่วาดภาพสิ่งที่เห็นไปด้วย เพื่อนำเอกสารและหลักฐานต่างๆ กลับมายืนยัน และบุคคลผู้ที่ทำตัวเป็นแบบอย่างให้นักสำรวจทุกคนเจริญรอยตาม คือ Cook
ในการเดินทางสมัยนั้นเรือที่ใช้มักมีระวางขับน้ำมากกว่า 300 ตัน แต่ไม่ถึง 600 ตัน และเป็นเรือใบที่สามารถทนสภาพเลวร้ายของทะเล และพายุได้ดีและนาน เพราะเรือต้องใช้เวลาในการเดินทางนานหลายปี ดังนั้นห้องเก็บเสบียงสัมภาระบนเรือจึงต้องมีขนาดใหญ่พอ ตัวเรือต้องได้รับการออกแบบให้แข็งแรง จึงมีการนำแผ่นทองแดงมาบุครอบกระดูกงู และกราบเรือ เพื่อไม่ให้เรือผุถึงเรือจะมีความเร็วไม่มาก แต่กัปตันก็ต้องแล่นใบเก่งในทุกสภาพดินฟ้าอากาศ และเวลาเรือโคลงเคลงเพราะพายุ กัปตันจะใช้ท่อนเหล็กและตะกั่วถ่วงเรือแทนถุงทราย และก้อนหินเพื่อให้เรือเสถียร นอกจากนี้ ชิ้นเหล็กที่มีบนเรืออาจใช้แลกเปลี่ยนในการซื้อ-ขายสินค้ากับชาวเกาะได้ด้วย
เมื่อการเดินทางเป็นการผจญภัยในต่างแดน ดังนั้นจึงไม่มีใครมั่นใจว่า โอกาสการกลับบ้านอย่างปลอดภัยจะมีถึง 100% ผู้อุปถัมภ์การเดินทางที่ไม่ร่ำรวยจึงใช้เรือเก่าที่มีจุดบกพร่องมากมาย แต่ก็แนะนำให้กัปตันนำช่างซ่อมไปด้วย เพื่อช่วยเรือในกรณีฉุกเฉิน อนึ่งในการเดินทางแสวงหาดินแดนใหม่ เพราะดินแดนเหล่านั้นไม่ปรากฏบนแผนที่ ดังนั้นนักทำแผนที่จึงเป็นบุคคลอีกอาชีพหนึ่งที่ต้องเดินทางไปด้วยเพื่อบันทึกตำแหน่งและรูปร่างของดินแดนที่พบใหม่ โดยใช้ sextant และ octant วัดระยะทาง และทิศ
ในส่วนของการรู้เวลา นักเดินทางจำเป็นต้องใช้นาฬิกาที่เดินอย่างถูกต้องซึ่งจะทำให้รู้ตำแหน่งของเส้นแวงที่เรืออยู่ ซึ่ง James Cook ก็ได้ใช้นาฬิกาที่ John Harrison ออกแบบในปี 1775 ในการเดินทางรอบโลกครั้งที่ 2 ของเขาด้วย เพราะถ้าไม่รู้ตำแหน่งเส้นแวง การทำแผนที่เกาะจะผิดพลาด ดังเช่นที่เกิดในกรณีหมู่เกาะ Solomon ซึ่ง Mendana เป็นผู้พบในปี 1568 และเกาะเดียวกันนี้ Dalrymple, Bougainville และ Suville เรียก New Guenea, Bougainville และ Land of the Arsacides ตามลำดับจนทำให้เกิดความสับสนมากมาย
สภาพความเป็นอยู่ของคนบนเรือก็มีปัญหาพอสมควร เพราะที่พักบนเรือค่อนข้างคับแคบและเรือมีผู้โดยสารมาก ดังนั้นพื้นที่พักผ่อนของคนแต่ละคนจึงค่อนข้างน้อย และเมื่อการเดินทางต้องใช้เวลานานหลายปี การถูก “กักขัง” จึงทำให้จิตใจลูกเรือ ห่อเหี่ยว และอึดอัด
เหล่านี้คือปัญหาที่ไม่รุนแรงนัก เมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาอาหารขาดแคลน เช่นมีน้ำดื่มไม่พอเพียง อาหารผักสดไม่มี เนื้อสัตว์เน่าส่งกลิ่นเหม็น และสัตว์เลี้ยงที่นำไปบนเรือเพื่อเป็นอาหารต้องล้มตาย
สำหรับเรื่องน้ำดื่มนั้น กัปตันได้ฝากความหวังจะหาเองกลางทาง จากฝนที่ตกหรือจากเกาะกลางมหาสมุทร และจะเก็บน้ำโดยใช้ถังไม้ เพราะถ้าใช้ถังเหล็ก เหล็กจะเป็นสนิมทำให้น้ำในถังดื่มไม่ได้ ด้านอาหารแห้งจะใส่ในภาชนะกระป๋อง และไม่ให้ถูกแดดจัด และเรือจะต้องมีฟืนสำหรับหุงต้มอาหารด้วย
ส่วนเรื่องที่พักบนเรือ เฉพาะกัปตันเท่านั้นที่มีห้องส่วนตัว คนอื่นๆ จะอยู่ห้องละ 2 ถึง 3 คน ด้านนักชีววิทยาเวลานำพืชและสัตว์ตัวอย่างมาเก็บในเรือ บางครั้งของเหล่านี้ส่งกลิ่นรุนแรงจนผู้โดยสารคนอื่นๆ ทนไม่ไหว จึงต้องโยนทิ้ง บนดาดฟ้าของเรือนั้นก็อาจมีสัตว์เช่น แพะ แกะ กวาง ไก่ ที่จะถูกฆ่าเป็นอาหาร ดังนั้นทุกพื้นที่บนเรือ จึงหนาแน่นด้วยผู้คนและสิ่งของจำเป็น สำหรับคนโดยสารทั่วไปมีตู้เก็บเสื้อผ้า ในห้องมีของใช้ส่วนตัว เก้าอี้นั่งและโต๊ะที่พับได้
ด้านสุขภาวะก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเจ้าหน้าที่เรือทุกคนต้องรักษาความสะอาดส่วนตัว บางคนเมาคลื่น บางคนล้มป่วยเพราะกินอาหารไม่สะอาด แต่โรคที่กะลาสีทุกคนกลัวมากที่สุดคือโรคลักปิดลักเปิด ซึ่งในสมัยนั้นเป็นกันมากและอาจทำให้ถึงตายได้อย่างทรมานที่สุด และแพทย์มักคิดว่า อากาศเสียในทะเลคือสาเหตุหลักที่ทำให้คนเป็นโรคนี้ จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทุกคนจึงรู้ว่า การขาดอาหารสด คือสาเหตุสำคัญ
ในด้านการหากะลาสีที่จะเดินทางไปกับเรือก็มิใช่เรื่องง่าย กัปตันจึงต้องใช้วิธีหลอกล่อหรือบังคับให้ขึ้นเรือ เพราะสภาพความเป็นอยู่บนเรือเป็นที่เลื่องลือในแง่ลบ และคนบนเรือมักไม่รู้ว่า เรือจะแวะที่ใดบ้างสำหรับโอกาสที่จะกลับมาอีกนั้น ก็ไม่มีใครบอกได้ กัปตันจึงต้องใช้วิธีเอาเงินล่อ และให้เบิกเงินล่วงหน้าเพื่อเป็นแรงจูงใจ
ด้านคนที่จะเดินทางไปในเรือนั้นต้องมีความรู้เรื่องวิธีเดินเรือพอสมควร และต้องผ่านการสัมภาษณ์วิชาดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์และทฤษฎีการเดินเรือ ลูกเรือจึงมีความรู้ด้านสมุทรศาสตร์ แผนที่ และชีววิทยาพอประมาณ
ชีวิตบนเรือขณะเดินทางเป็นอะไรที่น่าเบื่อหน่ายเพราะจำเจ ตามปรกติในตอนเช้าเสียงกลองจะดังปลุกลูกเรือเมื่อเวลา 6 โมงเช้าเพื่อเตรียมตัวกินอาหารเช้า ซึ่งมีขนมปัง ขนมปังกรอบ ซุป และเหล้าองุ่น หรือบรั่นดี เวลา 8.30 นาฬิกาเป็นเวลาแต่งตัว ให้ผู้บังคับบัญชาตรวจ 10 โมงเช้าเป็นเวลาซ่อมอุปกรณ์และอาวุธประจำเรือ ถึงเวลาเที่ยงวัน อาหารเที่ยงจะประกอบด้วยขนมปัง เนื้อสดหรือเนื้อแห้ง เหล้าองุ่น เวลาบ่าย 2 โมง - 4โมง เป็นเวลาซ้อมอาวุธ ถึงเวลาอาหารเย็น คือบ่าย 4.30 นาฬิกา เมนูมีขนมปังกรอบ ซุป เหล้าองุ่น หลังจากนั้นเป็นเวลาพักผ่อนจนถึงเวลาพระอาทิตย์ตกน้ำ แล้วลูกเรือจะแบ่งออกเป็นสองหน่วย หน่วยหนึ่งให้นอน อีกหน่วยหนึ่งเป็นยาม กิจกรรมทุกวันจะซ้ำๆ กัน ยกเว้นวันอาทิตย์ซึ่งหลังจากสวดมนตร์แล้ว อาจจัดงานปาร์ตี้และเต้นรำระหว่างผู้ชายด้วยกัน เพราะผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไกลในเรือ
สำหรับวิธีการลงโทษนั้นก็เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อความเป็นระเบียบบนเรือ และบทลงโทษที่ทุกคนกลัวที่สุด คือการถูกถ่วงน้ำ โดยคนที่ทำผิดจะถูกเชือกมัดมือทั้ง 2 ข้าง แล้วถ่วงที่เท้าด้วยลูกตุ้มหนัก จากนั้นจะถูกหย่อนลงจนศีรษะจมน้ำและสำลัก บางครั้งก็อาจถูกส่งผ่านใต้ท้องเรือให้โผล่อีกฟากหนึ่ง บางคนอาจถูกโบยด้วยแซ่ หรือถูกฆ่า เมื่อการลงโทษรุนแรงเช่นนี้ การทิ้งเรือจึงเกิดขึ้นบ่อย จนมีผลทำให้จำนวนพนักงานบนเรือขาดแคลน กัปตันจึงต้องหลอกล่อพนักงานบนเรือลำอื่นมาทำงานแทน หรือถ้าต้องการตัวเร่งด่วน ก็อาจจับมอมเหล้าจนหมดสติ แล้วเอาตัวขึ้นเรือ การใช้กฎลงโทษที่เหี้ยมโหดบนเรือนี้ได้ดำเนินมาจนถึงปี 1848 กฎโหดจึงถูกยกเลิก
เมื่อสนธิสัญญา Treaty of Paris มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1763 ภาวะสงครามสงบทำให้ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสมีเรือรบ และทหารที่ว่างงานเป็นจำนวนมาก รัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสจึงคิดใช้อุปกรณ์และบุคลากรที่มีคุณค่านี้ในการทำงานด้านอื่นที่ไม่เป็นอันตรายมากซึ่งได้แก่ การเดินทางสำรวจโลก และรอบโลก
โดยอังกฤษได้เป็นผู้นำก่อน ในวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ.1764 เรือสำรวจชื่อ Dolphin ได้ออกเดินทางจากท่าเมือง Plymouth ภายใต้การนำของ John Byron ผู้เป็นปู่ของกวี Lord Byron เพื่อค้นหาทวีปใหญ่ตอนใต้ เรือมีเจ้าหน้าที่ 190 คน และมีเรือพี่เลี้ยงชื่อ Tarmar พร้อมลูกเรือ 115 คนเดินทางไปด้วย นอกเหนือจากจะค้นหาทวีปใหญ่แล้ว Byron ยังรับงานค้นหาเกาะใหญ่ในมหาสมุทรแอตแลนติกที่อยู่ระหว่างแหลม Good Hope กับช่องแคบ Magellan ด้วย และให้ตรวจสอบความเป็นไปได้ในการใช้หมู่เกาะ Falkland เป็นฐานทัพเรือของอังกฤษ
Byron ผู้นี้เมื่อครั้งที่อายุ 17 ปี ได้เคยเดินทางไปกับ George Anson ในเรือชื่อ Wager เพื่อสำรวจ Patagonia และเรือได้อับปางลงที่บริเวณช่องแคบ Magellan จึงถูกชาวอินเดียนพื้นเมืองจับไปทรมาน 1 ปี แล้วนำตัวส่งเข้าคุกของสเปนที่ Chile ก่อนถูกนำส่งขึ้นเรือ St.Malo กลับอังกฤษ หลังจากที่ได้จากบ้านทั้งหมด 6 ปีเมื่อถึงบ้านก็ได้เขียนหนังสือบรรยายประสบการณ์ทั้งหมด และหนังสือได้รับการต้อนรับดีมาก
ก่อนออกเดินทาง Byron ได้สัญญาจะให้เหรียญทองคำสมนาคุณลูกเรือทุกคน ถ้าเรือกลับถึงอังกฤษอย่างปลอดภัย เพื่อให้ลูกเรือยินยอมและเชื่อฟัง เรือ Dolphin และ Tarmar ได้แวะพักที่ Port Desire บนฝั่งของ Patagonia ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน – วันที่ 3 ธันวาคม Byron ได้พบชาวพื้นเมืองที่นั่น แล้วออกสำรวจหมู่เกาะ Falkland จากนั้นได้ประกาศยึดหมู่เกาะเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
ในเดือนมิถุนายน 1765 เรือแล่นผ่านช่องแคบ Magellan เข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิก แล้วมุ่งหน้าไป Batavia (จาการ์ต้า) และถึงในเดือนพฤศจิกายน 1765 จากนั้นแวะ Cape Town ในเดือนกุมภาพันธ์ 1766 แล้วกลับถึงบ้านเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 1766 รวมเวลาเดินทาง 23 เดือนการเดินทางในภาพรวมจึงไม่ประสบความสำเร็จมาก
เมื่อเวลาผ่านไปอีก 3 เดือนในวันที่ 22 สิงหาคม 1776 เรือ Dolphin ได้ออกเดินทางอีกจากเมือง Plymouth แต่คราวนี้ภายใต้การบังคับบัญชาของ Samuel Wallis
ในการเดินทางครั้งนี้เรือ Dolphin มีเรือติดตามชื่อ Swallow ซึ่งอยู่ในการบังคับบัญชาของ Philip Carteret แต่ Swallow มีสภาพทรุดโทรมมาก Carteret จึงตั้งเงื่อนไขว่า จะรับเป็นกัปตันให้แต่เมื่อเรือเดินทางถึงหมู่เกาะ Falkland จะขอเปลี่ยน Swallow เป็นเรือพิฆาตลำใหม่ที่แข็งแรง และเมื่อ Wallis รู้ข่าวว่าลูกเรือของ Byron ได้พากันล้มป่วยด้วยโรคลักปิดลักเปิด เพราะขาดอาหารสด Wallis จึงแก้จุดบกพร่องนี้ โดยให้มีเรือเสบียงชื่อ Prince Frederick เดินทางไปด้วย
เมื่อเรือทั้ง 3 เดินทางถึงหมู่เกาะ Falkland เรือพิฆาตที่จะถูกส่งมาแทนที่เรือ Swallow ก็ไม่มาให้เห็นเลย Carteret จึงคิดจะกลับอังกฤษโดยไม่เดินทางต่อ และให้เรือ Dolphin เดินทางตามลำพัง แต่ Wallis ไม่ฟัง และตัดสินใจเดินหน้า Cateret จึงนำเรือ Swallow เดินทางผ่านช่องแคบ Magellan อย่างทุลักทุเลโดยใช้เวลานานถึง 4 เดือน เมื่อผ่านไปได้ Carteret ก็ได้เห็นเรือ Dolphin ถูกกระแสน้ำพัดพาไปอย่างรวดเร็ว จนหายลับขอบฟ้าไป เรือ Swallow จึงต้องเดินทางต่อไปตามลำพัง
เรือ Dolphin ของ Wallis ได้เดินทางถึงหมู่เกาะ Tuamotu (หมู่เกาะ Polynesia) และแวะพักในวันที่ 18-19 มิถุนายน ค.ศ.1767 ขณะดึกสงัดทะเลมีหมอกลงจัดและปกคลุมเรือหมด เมื่อถึงเวลาเช้า กะลาสีรู้สึกแปลกใจที่เห็นเรือแคนูนับร้อยลำกำลังห้อมล้อมเรือ Dolphin และเห็นชาวเกาะ 3 คนปีนขึ้นเรือ แต่ถูกแพะไล่ขวิด จึงตกใจกลัว เพราะไม่เคยเห็นแพะมาก่อน คนทั้งสามจึงลนลานหนี แต่ก็หวนกลับมาอีก ในขณะเดียวกัน Wallis ก็สั่งให้เรือ Dolphin หาที่ทอดสมอ
แต่ในวันที่ 24 มิถุนายน ขณะเรือ Dolphin กำลังจะทอดสมอ Wallis กับคณะได้เห็นชาวเกาะนำเรือแคนูประมาณ 300 ลำ เข้าห้อมล้อมเรืออีก แล้วปาก้อนหินใส่คนบนเรือ ทำให้กะลาสีหลายคนบาดเจ็บ Wallis ได้สั่งให้ทหารยิงปืนขู่เป็นการป้องกันตัว มีผลให้ชาวเกาะคนหนึ่งเสียชีวิต และอีกคนหนึ่งบาดเจ็บ
เมื่อพบว่าชาวเกาะพยายามบุกโจมตีอีก Wallis คิดจะทำให้ชาวเกาะไว้ใจ และวางใจว่า คณะสำรวจมาเยือนเกาะด้วยความเป็นมิตร ในที่สุด Wallis ก็ได้เซ็นสัญญาสงบศึกกับชาวเกาะ และ Wallis ได้ประกาศให้เกาะเป็นดินแดนในครอบครองของอังกฤษ แล้วเรียกชื่อเกาะนั้นว่า เกาะ King George หรือในปัจจุบันเรียก Tahiti
เมื่อชาวเกาะและอาคันตุกะต่างแดนเป็นมิตรกันแล้ว พระราชินีชาวเกาะชื่อ Oberea ได้เสด็จที่เรือ และเชิญ Wallis ไปที่บ้านพัก เพื่อให้คนใช้นวดตัว การต้อนรับที่ดีนี้ทำให้ Wallis พบว่า ชีวิตบนเกาะเหมือนชีวิตบนสวรรค์ เพราะ Tahiti มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม คือ มีภูเขาและหุบเขามากมาย ในทะเลมีปลาอุดมสมบูรณ์ บนเกาะมีผลไม้ โดยเฉพาะสาเก และต้นไม้หลายชนิดที่ชาวยุโรปไม่รู้จัก ชาวเกาะเลี้ยงหมูกับไก่ เป็นอาหารและใช้ชีวิตอย่างสบายๆ ส่วนเด็กหญิงและสตรีไม่รักนวลสงวนพรหมจรรย์เลย เพราะเพียงตาปูตัวเดียวก็สามารถแลกตัวสาวชาวเกาะได้ และเกณฑ์ก็มีว่าสาวคนใดที่สวย ตาปูที่ใช้แลกต้องยาว
เมื่อถึงวันที่ 23 กรกฎาคม เรือ Dolphin จำต้องเดินทางออกจากเกาะ Tahiti เพื่อกลับอังกฤษ พระราชินี Oberea และสาวชาวเกาะได้มาส่ง หลายคนน้ำตาไหล เรือ Dolphin เดินทางผ่านหมู่เกาะ Tonga (Friendly Islands) ถึง Batavia (Jakarta), Cape Town และ St.Helena และถึง Plymouth Downs เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ.1768 ตลอดเวลาที่เดินทางในทะเลนาน 21 เดือน ไม่มีลูกเรือคนใดเสียชีวิตหรือทิ้งเรือเลย
รายงานการเดินทางของ Wallis ถูกส่งให้กัปตัน Cook อ่านก่อน Cook ออกเดินทางเล็กน้อย
Samuel Wallis เกิดที่ Fentonwood ในอังกฤษ เมื่อปี 1728 เมื่ออายุ 27 ปี ได้รับยศเป็นนายเรือโทแห่งราชนาวี และได้เป็นกัปตันในอีก 1 ปีต่อมา เคยถูกส่งไปทำงานที่แคนาดา ในสงครามยึดเมือง Louisbourg ระหว่างปี 1766-1768 Wallis ได้เป็นผู้บังคับบัญชาเรือ Dolphin และ Swallow ในการเดินทางสำรวจโลก
เมื่ออายุ 74 ปี Wallis ได้เกษียณชีวิตเดินทางในทะเล และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บังคับการแห่งราชนาวีเมื่ออายุ 52 ปี
Wallis เสียชีวิตที่ลอนดอน เมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1795 สิริอายุ 67 ปี
ส่วน Philip Carteret นั้น เมื่อได้รับคำสั่งให้นำเรือ Swallow แล่นใบเดินทางรอบโลก เขาแทบไม่เชื่อหูตัวเอง เพราะใครๆ ก็รู้ว่า Swallow นอกจากจะเดินทางได้ช้าแล้ว ยังขาดอุปกรณ์ที่ทันสมัย จึงทำให้การควบคุมและบังคับเป็นไปได้ยาก อีกทั้งเคยรั่วมาแล้วด้วย นอกจากนี้ เรือยังมีขนาดเล็กจึงไม่มีห้องเก็บเสบียงอาหารให้ลูกเรือบริโภคอย่างเพียงพอ เพื่อการเดินทางที่ต้องใช้เวลานานเป็นปี
แต่ Carteret เป็นคนทะเยอทะยาน และฝันสูง ดังนั้นเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาเขาจึงคิดว่า ถ้า Swallow ไม่อับปาง ถ้าลูกเรือของเขาไม่อดอาหารตายทั้งลำ ถ้าไม่มีใครเป็นโรคลักปิดลักเปิดเลย และถ้าเรือสามารถเดินทางกลับถึงอังกฤษได้อย่างปลอดภัย ชื่อของเขาก็จะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นนักผจญภัยผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งอย่างแน่นอน
ตลอดเวลา 3 ปีต่อมา Carteret ได้ประคับประคองเรือฝ่าคลื่นลมผ่านทะเลและมหาสมุทรเพื่อค้นหาดินแดนใหม่ในครึ่งซีกโลกใต้ และสามารถนำเรือ Swallow กลับบ้านได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็คาดไม่ถึง ถึงจะไม่ได้พบทวีปใหม่ แต่ Carteret ก็ได้แสดงให้ทุกคนเห็นว่า เขามีความสามารถที่โดดเด่นมากในการเดินเรือผ่านทะเลที่โหดร้ายทารุณ ซึ่งสามารถทำให้เรืออับปางได้ตลอดเวลา
ส่วนผลงานการพบดินแดนใหม่นั้นได้แก่ การพบหมู่เกาะ Solomon ซ้ำที่นักเดินเรือคนอื่นๆ ได้พบก่อนแล้ว และพบหมู่เกาะ Carteret ซึ่งปัจจุบันกำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง ในฐานะเป็นหมู่เกาะแรกของโลกที่ชาวเกาะต้องอพยพหนี เพราะระดับน้ำทะเลกำลังเพิ่มสูง และอีกไม่นานหมู่เกาะจะจมลงใต้น้ำหมด
ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า เรือ Swallow ออกเดินทางในฤดูร้อนของปี 1766 ภายใต้การบังคับบัญชาของ Carteret ผู้เพิ่งกลับจากการเดินทางรอบโลกด้วยเรือ Dolphin ของ John Byron แต่คราวนี้ Carteret ได้รับคำสั่งให้เดินทางรอบโลกภายใต้การบังคับบัญชาของ Samuel Wallis
เพราะ Dolphin ของ Wallis มีประสิทธิภาพสูงจึงสามารถแล่นใบได้เร็ว แต่ Swallow เป็นเรือเก่าที่มีสภาพไม่ดีจนอาจได้รับตำแหน่งเรือที่แย่ที่สุดแห่งราชนาวีก็เป็นได้ จึงแล่นได้ช้ากว่ามาก
ในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ.1766 เรือ Dolphin และ Swallow ได้ออกเดินทางจาก Plymouth Downs แล้วมุ่งลงทางใต้ เพื่อพักแวะเติมเสบียงที่เกาะ Madeira เรือ Dolphin ซึ่งมีสภาพที่ดีกว่าได้แล่นใบหนีไปไกล ถึงจะติดต่อกันยาก แต่ Carteret ก็รู้ว่า Wallis ต้องการจะสำรวจหาดินแดนใหม่ในมหาสมุทรแปซิฟิก
เพราะ Wallis เป็นนักเดินเรือที่สามารถยิ่งกว่า Carteret ดังนั้นเรือ Dolphin จึงนำเรือ Swallow ตลอดทาง เมื่อเรือทั้งสองต้องเผชิญพายุรุนแรงที่ช่องแคบ Magellan ทำให้กว่าเรือจะผ่านไปได้ต้องใช้เวลานานถึง 4 เดือน และเมื่อผ่านช่องแคบแล้ว Dolphin ได้แล่นใบออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือทันที ทิ้ง Swallow ไปอย่างไม่เหลียวแล และไม่บอกด้วยว่ากำลังจะไปที่ใด
เมื่อไม่เห็นเรือ Dolphin อีกเลย Carteret จึงรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งให้แล่นใบกลับอังกฤษตามลำพังตามลำพัง และ Carteret ก็ตระหนักว่า คงไม่ได้เรือใหม่มาแทน Swallow ดังนั้นจึงขออนุญาตราชนาวีเพื่อซ่อมเรือ Swallow ของตน แต่ราชนาวีไม่เห็นด้วยกับการซ่อมแซมตามที่ Carteret ต้องการ จึงไม่อนุมัติการซ่อมแทบทุกรายการที่ Carteret เรียกร้อง
Carteret จึงให้แล่นใบขึ้นทางทิศเหนือเพื่อแวะหาเสบียงอาหารที่หมู่เกาะ Juan Fernandez ซึ่งตั้งอยู่นอกฝั่งของ Chile แล้วมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก เพื่อข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก
ในขณะที่ Wallis กำลังมีความสุขที่เกาะ Tahiti เพราะได้ประจักษ์ว่าเกาะนี้มีสภาพเหมือนสวนสวรรค์ แม้จะมีการบูชายัญบ้าง แต่ผู้ชายชาวเกาะก็ไม่ดุร้ายเลย ส่วน Carteret ก็นำเรือ Swallow แล่นตามเส้นรุ้งที่อยู่ใต้ยิ่งกว่านักสำรวจคนอื่นๆ จึงพลาดการพบ Tahiti แต่ก็ได้พบเกาะๆ หนึ่งชื่อ Pitcairn ซึ่งมีลักษณะเป็นหินภูเขาไฟกลางทะเล บนเกาะมีต้นไม้ไม่มาก และเกาะมีปะการังกับหินโสโครกล้อมโดยรอบ Carteret จึงตัดสินใจไม่แวะพักที่เกาะนี้แต่ก็ได้ตั้งชื่อว่า Pitcairn ตามชื่อของเจ้าหน้าที่เรือผู้เห็นเกาะนี้เป็นคนแรก ในช่วงเวลานั้น เกาะ Pitcairn ยังไม่มีชื่อเสียงมาก แต่อีก 30 ปีต่อมาเมื่อ Fletcher Christian ได้ก่อกบฏบนเรือ Bounty ของกัปตัน Blight แล้วพาลูกเรือที่ซื่อสัตย์ต่อตนมาหลบซ่อนตัวและสร้างครอบครัวบนเกาะนี้ การที่ Christian รู้จักเกาะนี้ เพราะได้อ่านรายงานการเดินทางของ Carteret แต่ Carteret บันทึกตำแหน่งของเกาะ Pitcairn ผิด ทำให้ Christian และเพื่อนๆ สามารถหลบภัยจับกุมได้นานถึง 19 ปี เพราะไม่มีใครสามารถเดินทางถึง Pitcairn ได้ในช่วงเวลานั้นเลย
ในวันที่ 11 กรกฎาคม Carteret ได้พบเกาะใหม่ 3 เกาะในหมู่เกาะ Tuamoto และเดินทางผ่านหมู่เกาะ Solomon โดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ปรารถนาจะไป เพราะคิดว่า กษัตริย์ Solomon ทรงฝังทองคำอยู่ที่หมู่เกาะนี้
แต่บนเรือ Swallow กำลังเริ่มมีปัญหา เพราะลูกเรือหลายคนได้ล้มป่วยด้วยโรคลักปิดลักเปิด และเสบียงอาหารบนเรือร่อยหรอ Carteret จึงต้องขวนขวายหาอาหาร ในวันที่ 12 สิงหาคม เรือ Swallow เริ่มรั่วจึงหยุดซ่อม และ Carteret ได้พบหมู่เกาะ Queen Charlotte จึงตั้งชื่อเกาะที่ใหญ่ที่สุดว่า Egmont เกาะนี้มีต้นมะพร้าวและน้ำจืดบริบูรณ์ และชาวเกาะก็เป็นมิตร Carteret จึงส่งลูกเรือขึ้นฝั่งเพื่อขนเสบียง และได้กำชับไม่ให้ลูกเรือทำอะไรที่ชาวเกาะไม่พอใจ แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ลูกเรือได้ระดมโค่นต้นมะพร้าว ซึ่งเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเกาะ เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวเกาะบุกโจมตีจนลูกเรือ 8 คนได้รับบาดเจ็บ และ 4 คนเสียชีวิตด้วยบาดทะยักในเวลาต่อมา
เมื่อมะพร้าว และน้ำบนเรือมีไม่พอเพียง ลูกเรือก็ล้มตายลง Carteret เริ่มหมดความรู้สึกอยากไปสำรวจค้นหาเกาะใหม่ๆ (เกาะ Egmont ของ Carteret คือเกาะ Santa Cruz ที่นักสำรวจ Alvaro Mendoña ของสเปนเคยพบ) จึงตัดสินใจเดินทางกลับอังกฤษ
วันที่ 20 สิงหาคม Carteret ได้พบเกาะใหม่อีก 3 เกาะ แต่ความอยากรู้อยากเห็นได้แทบจะหมดไปจากความรู้สึกแล้ว มีแต่ความกังวลแทน อีก 4 วันต่อมาได้เห็นหมู่เกาะปะการังซึ่งประกอบด้วยเกาะเล็กๆ 9 เกาะ จึงตั้งชื่อว่าหมู่เกาะ Carteret
การเดินทางกลับบ้านเกิดต้องประสพความยากลำบากไม่แพ้ขาออก แต่ในที่สุดก็ได้อาหารและน้ำอย่างพอเพียงที่เมืองท่า Bonthain บนเกาะ Macassar (Sulawesi ในปัจจุบัน) ของเนเธอร์แลนด์
ตามสนธิสัญญาระหว่างอังกฤษกับเนเธอร์แลนด์ ถ้าเรือของชาติทั้งสองลำใดต้องการความช่วยเหลือ เรือนั้นต้องได้รับความช่วยเหลือทันที ในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่เนเธอร์แลนด์ปฏิเสธที่จะช่วย Carteret แต่กลับใจในภายหลังในที่สุด เรือ Swallow ได้รับการซ่อมแซม และเดินทางกลับถึง Spithead ในอังกฤษ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ.1769 พร้อมลูกเรือประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ออกเดินทาง คิดเป็นเวลา 31 เดือนในทะเล และเหตุการณ์ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือในทันทีของเจ้าหน้าที่เนเธอร์แลนด์ในครั้งนั้นได้ทำให้สัมพันธภาพระหว่างสองประเทศเย็นชากันเป็นเวลานาน
ขณะ Swallow ใกล้จะถึงอังกฤษ Carteret ได้เห็นเรือฝรั่งเศสลำหนึ่งไล่ตาม และตามทัน ผู้บังคับการเรือลำนั้นชื่อ Comte de Bougainville ซึ่งได้บอก Carteret ว่า เรือ Dolphin ได้เดินทางถึงอังกฤษเรียบร้อยแล้ว และชาวอังกฤษคิดว่า Swallow ได้อับปางลงที่ช่องแคบ Magellan แล้ว จึงส่งคนออกค้นหา Carteret ตัว Bougainville เองได้รับข้อความที่ Carteret เขียนใส่ในขวด แล้วทิ้งไว้บนเกาะ Ascension
คำถามหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์สนใจคือ เหตุใด ณ วันนี้ จึงแทบไม่มีใครรู้จัก Carteret เลย ทั้งๆ ที่ เรือ Swallow อยู่ในสภาพไม่พร้อม แต่เขาก็สามารถนำเรือกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย และเส้นทางเดินเรือของเขาได้กลายเป็นเส้นทางที่อังกฤษใช้ในการเดินทางไป-กลับจีน และอินเดีย
คำตอบก็มีว่า ขณะ Carteret อยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น กัปตัน James Cook ได้เริ่มออกเดินทาง และประสบความสำเร็จในการสำรวจมากจนผลงานของ Carteret แทบไม่มีความหมาย ดังนั้นจึงแทบไม่มีใครรู้จัก Carteret เลย
อีก 200 ปีต่อมา ชื่อ Carteret ก็ได้รับการกล่าวขวัญอีก เพราะหมู่เกาะ Carteret กำลังจะจมน้ำ ทำให้ชาวเกาะร่วม 1,500 คนต้องอพยพหนี และผู้เชี่ยวชาญคิดว่า ในอีก 6 ปี หมู่เกาะ Carteret ก็จะจมน้ำอย่างสมบูรณ์ และชื่อ Carteret ก็จะถูกลบเลือนหายไปอีกครั้งหนึ่งอย่างถาวร
Philip Carteret เกิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม 1733 ที่ Trinity Manor บนเกาะ Jersey ในประเทศอังกฤษ เข้ารับราชการในราชนาวี เมื่ออายุ 14 ปี และเป็นเจ้าหน้าที่ในเรือ Dolphin ที่มี John Byron เป็นผู้บังคับบัญชา เพื่อเดินทางรอบโลกในระหว่างปี 1764-1766
ทันทีที่กลับถึงอังกฤษ ก็ได้ตำแหน่งกัปตันนำเรือ Swallow ออกเดินทางไปกับเรือ Dolphin ซึ่งมี Samuel Wallis เป็นผู้บังคับบัญชาและเดินทางกลับถึงอังกฤษเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 1769
เมื่ออายุ 35 ปี ได้เข้าพิธีสมรสกับ Mary Silvester มีลูก 5 คน แต่เสียชีวิต 1 คน
การเดินทางไกลทำให้สุขภาพของ Carteret ไม่ดี และเมื่อกลับมาก็ไม่เคยได้รับคำชื่นชมจากผู้บังคับบัญชา จึงมีฐานะและความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก เพราะขาดเงินรายได้ และไม่มีผู้อุปถัมภ์
ในปี 1779 Carteret ได้รับตำแหน่งเป็นกัปตันเรือ Endymion ให้เดินทางไป West Indies เรือเกือบอับปางเพราะถูกพายุเฮอริเคนกระหน่ำที่หมู่เกาะ Leeward เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง ทางราชนาวีได้มอบเรือ Endymion ให้คนอื่นเป็นผู้บังคับบัญชา
แม้ Carteret จะอุทธรณ์ แต่ไม่เป็นผล ความเครียดทำให้เส้นเลือดในสมองแตก ในปี 1792 เมื่ออายุ 59 ปี และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 1796 สิริอายุ 63 ปี ที่เมือง Southampton
อ่านผลงานและประวัติของ Carteret ได้จาก “Carteret’s Voyage Round The World 1766-1769” ที่ Carteret รายงานและจัดพิมพ์ในปี 1965 โดยสมาคม The Halluyt Society
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน - ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์