xs
xsm
sm
md
lg

Dumont d’ Urville นักสำรวจผู้มีความสนใจหลากหลาย

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


ในปี 1819 Dumont d’ Urville วัย 29 ปี ได้แล่นเรือชื่อ Chevrette ออกจากท่าที่เมือง Toulon ในฝรั่งเศส เพื่อไปทำแผนที่ และสำรวจธรรมชาติในบริเวณรอบทะเลดำ และด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียน ขณะเรือทอดสมอที่เกาะ Milos ในทะเล Mirtoan บรรดาเจ้าหน้าที่ และกงสุลฝรั่งเศสได้มาต้อนรับ และบอก d’ Urville ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ที่บนเกาะได้มีการขุดพบประติมากรรมหินอ่อนขนาดใหญ่ชิ้นหนึ่ง ข่าวนี้ทำให้ d’ Urville รู้สึกสนใจมากจึงแวะไปดู เมื่อเห็นก็รู้สึกประทับใจในความงามของประติมากรรมชิ้นนั้นมาก จึงเขียนจดหมายถึงรัฐบาลฝรั่งเศสเสนอแนะให้ซื้อศิลปวัตถุชิ้นนั้น และรัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้ตอบกลับในทันทีว่าให้ d’ Urville จัดการซื้อรูปแกะสลักชิ้นนั้น ไม่ว่าจะมีราคาสูงสักเพียงใด

ณ วันนี้วัตถุที่ d’ Urville ซื้อในครั้งนั้นยังประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Louvre ใน Paris เป็นประติมากรรมหินอ่อนที่โลกรู้จักในนาม Venus de Milo

ผลงานชิ้นนี้ทำให้สมเด็จพระเจ้า Charles ที่ 10 แห่งฝรั่งเศส ทรงปลื้มปีติมากทรงปูนบำเหน็จ d’ Urville ด้วยการประทานเหรียญ Cross of St. Louis และทรงโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งร้อยโทแห่งราชนาวีผู้มีสายสะพาย Legion of Honor ประดับ

อีก 3 ปีต่อมา d’ Urville ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้บังคับการเรือรบขนาดเล็กชื่อ Coquille ที่มีระวางขับน้ำ 380 ตัน เพื่อเดินทางไปสำรวจหมู่เกาะ Gilbert Caroline, Tahiti, หมู่เกาะ Falkland และบริเวณฝั่งตะวันตกของออสเตรเลีย ซึ่งในสมัยนั้นเรียก New Holland โดยมี Louis-Isidore Duperrey เป็นผู้บังคับบัญชา เรือ Coquille มีเจ้าหน้าที่ 11 คน นักธรรมชาติวิทยา นักแผนที่ แพทย์ จิตรกร รวมทั้งสิ้น 59 คน

หลังจากที่เวลาผ่านไป 31 เดือนกับ 13 วัน เรือ Coguille ได้เดินทางกลับถึง Toulon ในฝรั่งเศสอย่างปลอดภัย เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ.1825 พร้อมด้วยแผนที่ของดินแดนที่เรือแวะสำรวจ รวมถึงได้นำพืชและสัตว์ตัวอย่างกลับมามากมาย ความสำเร็จในการเดินทางรอบโลกครั้งนั้น ทำให้ Duperrey ได้รับคำสรรเสริญและเกียรติยศ ส่วน d’ Urville ได้รับคำชื่นชม

ในเวลาต่อมาเมื่อ d’ Urville เขียนรายงานการเดินทางครั้งนั้นลงเผยแพร่ในวารสาร Natural Science และเรียบเรียงหนังสือชื่อ Flores des Iles Malouines ซึ่งกล่าวถึงธรรมชาติของพืชและสัตว์บนหมู่เกาะ Falkland ผลงานเหล่านี้ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากประชาชน d’ Urville ผู้มีความทะเยอทะยานสูงว่าจะต้องก้าวหน้าในวิชาชีพ จึงขออนุญาตรัฐมนตรีนาวีของฝรั่งเศสชื่อ Count de Chabrol เดินทางไปสำรวจและค้นหาดินแดนใหม่ในมหาสมุทรที่อยู่ทางครึ่งซีกโลกใต้ เพื่อยึดครองเป็นของฝรั่งเศส และหวังจะให้ดินแดนที่พบใหม่เป็นที่มั่นของทหารในการปกป้องเรือประมงของฝรั่งเศสให้ปลอดภัยจากการถูกโจมตีโดยโจรสลัดชาติอื่น

โครงการที่ขอได้รับการอนุมัติในเดือนธันวาคม ค.ศ.1825 โดย d’ Urville ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการเรือ Coquille ลำเดิม แต่เรือได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Astrolabe หนังสือแต่งตั้งยังระบุให้ d’ Urville มีสิทธิ์เลือกเจ้าหน้าที่และลูกเรือทุกคนที่จะเดินทางไปด้วย

ในวันที่ 22 เมษายน ค.ศ.1826 เรือ Astrolabe ได้ออกจากท่าเมือง Toulon ไปหมู่เกาะ Fiji ทำแผนที่ของหมู่เกาะ Loyalty สำรวจริมฝั่งของ New Zealand หมู่เกาะ Tonga และเกาะเครื่องเทศ Molucca ความละเอียดของข้อมูลที่ได้จากการสำรวจทำให้นักภูมิศาสตร์ที่ได้อ่านรายงานของ d’ Urville สามารถจัดแบ่งหมู่เกาะต่างๆ ของโลกออกได้เป็นสามกลุ่มใหญ่ คือ Melanesia, Polynesia และ Micronesia เรือ Astrolabe เดินทางกลับถึงฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ.1829 นี้ จึงเป็นการเดินทางรอบโลกครั้งที่ 2 ของ d’ Urville

แต่ในช่วงเวลาที่ d’ Urville กำลังผจญภัยอยู่กลางมหาสมุทร คือในเดือนสิงหาคม 1826 นักวิชาการฝรั่งเศสหลายคนที่ได้อ่านรายงานของ d’ Urville และหนังสือชุด Voyages of Discovery Around the World ที่มี 20 เล่ม ได้ตั้งข้อสังเกตว่า รายงานนั้นมีข้อมูล และรายละเอียดที่เขียนเกินจริงมากมาย เช่นว่า ขณะเดินทางอ้อมแหลม Good Hope เรือ Astrolabe ได้เผชิญคลื่นยักษ์ที่สูงถึง 27 เมตร ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทะเลคิดว่าไม่จริง การถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยผู้ทรงคุณวุฒิ มีผลทำให้สถาบัน French Academy of Sciences ซึ่งเป็นองค์กรวิชาการที่ทรงอิทธิพลที่สุดในฝรั่งเศสลงมติไม่รับ d’ Urville เข้าเป็นสมาชิกด้วยข้อกล่าวหาว่า ไร้จริยธรรมด้านวิชาการ

ครั้นเมื่อเรือ Astrolabe เดินทางกลับถึงฝรั่งเศสได้ 5 เดือน d’ Urville ก็ได้เลื่อนยศให้เป็นกัปตันเรือ แต่รัฐบาลก็ยังไม่จัดเรือใดๆ มาให้เขาเป็นผู้บังคับบัญชา หรือสั่งให้เดินทางไปที่ใดเลยเป็นเวลานานถึง 7 ปี d’ Urville จึงต้องพำนักที่ Toulon อย่างเงียบๆ

เมื่อถูกสังคมเมิน และเป็นคนตกงาน ฐานะก็ยากจนลง ประจวบกับในช่วงเวลานั้น d’ Urville มีสุขภาพไม่ดี คือ ป่วยเป็นโรคเก๊าท์เรื้อรัง นอกจากจะมีทุกข์ทางกาย ทุกข์ทางการ และทุกข์ทางสังคมแล้ว d’ Urville ยังมีทุกข์ทางใจด้วย เพราะในปี 1835 เมือง Toulon ถูกอหิวาห์คุกคุกคามหนัก และเมื่อ 10 ปีก่อนนั้น d’ Urville ได้สูญเสียลูกชายให้โรคอหิวาห์ไปแล้วหนึ่งคน มาคราวนี้ d’ Urville ก็ได้สูญเสียบุตรสาวคนเดียวที่เหลือไปอีก ดังนั้น d’ Urville จึงมีสภาพเหมือนคนที่ไม่มีอนาคตอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งเป็นตัวอย่างของความล้มเหลว และความผิดหวังให้คนฝรั่งเศสทั้งประเทศเห็น ทั้งๆ ที่เคยเดินทางรอบโลกมาแล้วถึง 2 ครั้ง ได้พบหมู่เกาะมากมายหลายแห่ง รวมถึงได้จัดหาโบราณวัตถุที่มีค่าควรเมือง คือ Venus de Milo มาประดิษฐานที่ Louvre ด้วย

Dumont d’ Urville เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ.1790 ที่ Condé-sur-Noireau ในประเทศฝรั่งเศส ครอบครัวเป็นขุนนางผู้ดีเก่าแต่ยากจน เมื่ออายุ 7 ขวบ d’ Urville ได้กำพร้าบิดา อีก 3 ปีต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายเรือ Lycée of Caen และเรียนได้ดี แต่เพื่อนๆ เห็นว่า d’ Urville เป็นคนเย็นชาและวางตัวสูง จึงไม่มีเพื่อนสนิทเลย d’ Urville เคยพนันกับเพื่อนๆ ว่า ตนจะต้องเป็นนายพลแห่งราชนาวีให้ได้ก่อนมีอายุครบ 50 ปี

เมื่ออายุ 21 ปี d’ Urville สำเร็จการศึกษาได้คะแนนยอดเยี่ยมของห้อง และได้ครองตำแหน่งนายทหารถือธง ตามปกติ d’ Urville มีความสนใจที่หลากหลาย เช่น เป็นนักภาษาศาสตร์ที่สามารถพูดได้หลายภาษา ทั้งอังกฤษ เยอรมัน สเปน กรีก อิตาเลียน และฮิบรู อีกทั้งมีความรู้ด้านดาราศาสตร์ ธรณีวิทยา กีฏวิทยาเป็นอย่างดี แต่ถ้าจะให้เลือก d’ Urville บอกชอบวิชาพฤกษศาสตร์มากที่สุด

เมื่ออายุ 25 ปี d’ Urville ได้เข้าพิธีสมรสกับ Adelie Pepin และหลังจากที่จัดการซื้อ Venus de Milo ให้ฝรั่งเศส ในปี 1820 แล้ว ในปีต่อมาได้ช่วยจัดตั้งสมาคม Paris Geographical Society และในช่วงปี 1822-25 ได้เดินทางรอบโลกเป็นครั้งแรกกับ Duperrey ครั้นถึงปี 1826-29 ก็ได้ไปสำรวจมหาสมุทรแปซิฟิก ด้วยเรือ Astrolabe

ความสำเร็จที่โดดเด่นมากในการเดินทางครั้งนั้น คือนอกจากจะได้ทำแผนที่ของหมู่เกาะต่างๆ อย่างละเอียดแล้ว ยังได้พบซากเรือ La Perouse ที่ได้สาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยเป็นเวลานานถึง 40 ปีด้วย
 Venus de Milo
เมื่อเกิดการปฏิวัติในฝรั่งเศสในปี 1830 d’ Urville วัย 40 ปี ได้ช่วยนำสมเด็จพระเจ้า Charles ที่ 10 และครอบครัวเสด็จหนีออกจากฝรั่งเศสไปอย่างปลอดภัยด้วยเรือสินค้าชื่อ Seine

กรรมดีที่ทำในครั้งนั้นครั้งนั้น มีผลให้ในปี 1837 เมื่อ d’ Urville เสนอโครงการจะเดินทางสำรวจหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกต่อรัฐมนตรีนาวีชื่อ de Rosamel โดยจะเดินทางผ่านทางช่องแคบ Magellan ทั้งๆ ที่โครงการไม่มีอะไรแปลกใหม่เลย แต่รัฐมนตรีก็นำทูลเกล้าถวายแด่กษัตริย์ Louis-Philippe ผู้ทรงเห็นการณ์ไกลว่า ฝรั่งเศสจำต้องคงไว้ซึ่งอิทธิพลในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนใต้บ้าง เพราะพระองค์ทรงทราบว่า ในปี 1823 ที่ผ่านมา มีนักสำรวจอังกฤษผู้หนึ่งชื่อ James Weddell ได้เดินทางลงใต้จนถึงเส้นรุ้งที่ 74◦ 15’ ใต้ นี่เป็นสถิติโลกในขณะนั้น และพระองค์ทรงรู้อีกว่ารัฐบาลอังกฤษกับรัฐบาลอเมริกาต่างก็สนใจจะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาอย่างละเอียด จึงทรงดำริให้ชาติฝรั่งเศสได้เข้ามามีบทบาทในการสำรวจด้วย

ดังนั้น เมื่อ d’ Urville เสนอโครงการจะขอเรือสำรวจเพียงหนึ่งลำ กษัตริย์ Louis-Philippe จึงทรงประทานเรือให้ถึงสองลำ คือ Astrolabe กับ Zélée เพื่อเดินทางสู่เกาะ Pitcairn, หมู่เกาะ Fiji, หมู่เกาะ Solomon ดินแดนตอนเหนือของ New Guinea, แล้วแวะสำรวจทวีปออสเตรเลียด้านตะวันตก เกาะ Tasmania และ New Zealand แต่ก่อนจะไปสำรวจหมู่เกาะเหล่านั้น โครงการกำหนดให้ d’ Urville ต้องเดินทางค้นหาทวีปแอนตาร์กติกาให้พบตามพระราชประสงค์ของพระเจ้า Louis-Philippe ด้วย และควรไปให้ถึงก่อนเดือนธันวาคม เพราะช่วงเวลานั้นเป็นฤดูร้อน ซึ่งจะทำให้เรือไม่มีปัญหาในการพุ่งชนเกาะน้ำแข็งที่ลอยเต็มในทะเล

d’ Urville จึงเลือกลูกเรือ และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่จะเดินทางไปด้วยตนเอง และได้เพื่อนชื่อ Charles Hector Jacquinot เป็นรองกัปตันทำหน้าที่ควบคุมเรือ Zélée เพราะ Jacquinot ได้เคยเดินทางร่วมกันมาครั้งหนึ่งแล้วในอดีตกับตนด้วยเรือ Coquile ในการเดินทางครั้งนี้ เรือ Astrolabe และเรือ Zélée มีเจ้าหน้าที่ 102 คนและ 81 คนตามลำดับ และเพื่อทำให้เกิดแรงจูงใจในการเดินทาง พนักงานและเจ้าหน้าที่ทุกคนในขบวนเรือสำรวจได้ยินคำมั่นสัญญาจากกัปตันว่า ถ้าเรือเดินทางถึงเส้นรุ้งที่ 75◦ ใต้คนทุกคนจะได้รับเหรียญทอง 100 เหรียญ และจะได้อีก 20 เหรียญทองทุกครั้งที่เดินทางลงไปได้เพิ่ม 1 องศาใต้

ลุถึงวันที่ 7 กันยายน ค.ศ.1837 เรือ Astrolabe และ Zélée ได้แล่นใบออกจากท่าเมือง Toulon แล้วแวะพักที่เกาะ Tenerife เพื่อให้ลูกเรือขึ้นฝั่ง เติมเสบียงและพักผ่อน แต่ลูกเรือได้สร้างความโกลาหลวุ่นวายด้วยการดื่มสุราจนเมาอาละวาด d’ Urville จึงต้องรีบออกเรือจากเกาะ Tenerife เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม แล้วมุ่งหน้าลงใต้ ท่ามกลางพายุที่พัดรุนแรง และทะเลมีหมอกหนัก ขบวนเรือสำรวจเดินทางถึงช่องแคบ Magellan เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม แม้ขณะนั้นจะเป็นเวลาใกล้คริสตมาสแล้ว แต่กองเรือก็ต้องเดินทางต่อ เพื่อออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกให้จงได้ บนเรือมีการเฉลิมฉลองใหญ่ในวันคริสตมาสและวันปีใหม่ และ d’ Urville ให้ช่างซ่อมเรือให้อยู่ในสภาพดีเพื่อจะได้ปลอดภัยในการเดินทางไกล

ในวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1838 ขบวนเรือของ d’ Urville สามารถแล่นใบผ่านช่องแคบ Magellan ได้สำเร็จจากนั้นก็แล่นขนานกับฝั่งของ Tierra del Fuego อีก 4 วันต่อมา เรือก็ทิ้งฝั่งออกสู่เกาะต่างๆ กลางมหาสมุทรแปซิฟิกท่ามกลางพายุฝน หมอกและอากาศที่หนาวจัด จนลูกเรือได้เห็นเกาะน้ำแข็งในทะเลเป็นครั้งแรก ณ ตำแหน่งเส้นรุ้งที่ 60 องศาใต้ ด้วย d’ Urville คาดหวังจะเดินทางตามเส้นทางที่ James Weddell เคยใช้ในปี 1823 แต่ในปี 1838 นี้ ภูมิอากาศบนเส้นทางเดียวกันนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะฤดูร้อนของปี 1823 อากาศอบอุ่น แต่ฤดูร้อนของปี 1838 อากาศหนาวเหน็บ

ในเวลาดึกของวันที่ 21 มกราคม d’ Urville ได้ตกใจตื่น เมื่อยามตะโกนบอกว่าเห็นเกาะน้ำแข็งขนาดยักษ์ปรากฏที่ขอบฟ้าเป็นแนวยาว เมื่อ d’ Urville ไม่มีทางเลือกว่าจะนำเรือฝ่าไปได้ เขาจึงสั่งให้เรือกลับทิศไปทางเหนือและนั่นหมายความว่า ตำแหน่งเส้นรุ้งใต้สุดที่ d’ Urville ได้ลงไปถึงคือเส้น 63◦ 27’ ใต้ แต่ d’ Urville ก็ยังไม่ยอมแพ้ หลังจากที่พักรักษาโรคเก๊าท์เรื้อรัง และไมเกรนจนรู้สึกดีขึ้น เขาก็ยังไม่เห็นช่องทางให้เรือทะลุกำแพงน้ำแข็งไปได้ จึงต้องยอมแพ้จริงๆ และอดสงสัยไม่ได้ว่า Weddell ได้ให้ข้อมูลจริง หรือเท็จกันแน่ เหตุผลอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ d’ Urville ต้องถอยหนีเกาะน้ำแข็งคือ แพทย์ประจำเรือ Astrolabe ได้แจ้งว่า กะลาสีเรือจำนวนหนึ่งกำลังป่วยหนักด้วยโรคลักปิดลักเปิด d’ Urville จึงตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือให้มุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือสู่ชิลี และพบว่า ในวันที่ 27 มีนาคม จำนวนผู้ป่วยบนเรือ Astrolabe ได้พุ่งสูงถึง 21 คน ส่วนเรือ Zélée นั้นก็มีสภาพไม่ต่างจากโรงพยาบาลลอยน้ำ เพราะมีผู้ป่วยมากถึง 38 คน ดังนั้นเมื่อเรือทั้งสองแวะพักที่ท่าเมือง Talcahuano ในชิลีเมื่อวันที่ 3 เมษายน ลูกเรือ 9 คนได้หนีทิ้งเรือไปด้วยความกลัวตาย ส่วนคนที่ใกล้จะตายก็ถูก d’ Urville ทิ้งที่นั่นก่อนที่เรือจะเดินทางไป Valparaiso

เมื่อถึง Valparaiso d’ Urville ก็ได้รับข่าวว่า ผู้คนที่นั่นมีความเห็นว่า การผจญภัยของเขาครั้งนี้ล้มเหลวเป็นที่สุด d’ Urville รู้สึกโกรธและไม่พอใจมากจึงนำบันทึกการเดินทางทุกขั้นตอน รวมถึงแผนที่ และตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์ทุกชิ้นมาให้ทุกคนดู เสียงวิพากษ์วิจารณ์จึงลดลง การถูกติเตียนและถูกดูแคลนครั้งนี้ทำให้ d’ Urville มุมั่นว่า จะต้องเดินทางถึงทวีปแอนตาร์กติกาให้จงได้

เมื่อกำจัดคนที่ป่วยเป็นโรคลักปิดลักเปิดจากเรือหมด โรคใหม่ที่เข้ามาแทนที่คือ โรคท้องร่วงรุนแรง ซึ่งทำให้ลูกเรืออีก 23 คนต้องเสียชีวิต จึงทำให้เรือทั้งสองลำมีเจ้าหน้าที่ประจำการไม่เพียงพอ ดังนั้น d’ Urville จึงตัดสินใจต้องหาลูกเรือเพิ่มเติมและก็หาได้

ดังนั้น ในวันที่ 2 มกราคม ค.ศ.1840 เรือ Astrolabe กับ Zélée จึงออกจากท่าเรือเมือง Hobart มุ่งลงทางทิศใต้ผ่านเส้นรุ้งที่ 64 องศาใต้ เมื่อวันที่ 18 มกราคม และในเช้าวันรุ่งขึ้น d’ Urville ก็ได้เห็นเกาะน้ำแข็ง 6 เกาะ ลอยอยู่ใกล้ๆ เรือ แต่เมื่อถึงเวลา 6 โมงเย็น จำนวนเกาะลอยได้เพิ่มถึง 59 เกาะ เหตุการณ์นี้ทำให้เจ้าหน้าที่คนหนึ่งรายงานต่อ d’ Urville ว่า “เห็นแผ่นดิน” แล้ว
ภาพวาดเรือ Chevrette
ความรู้สึกที่ว่าเรือใกล้จะถึงผืนแผ่นดินแล้ว ทำให้ทุกคนมีความรู้สึกดีขึ้นมาก ในบันทึกวันที่ 20 มกราคมนั้น d’ Urville ได้เขียนว่า ณ เบื้องหน้าเรือเป็นแผ่นดิน แต่เรือของเราไม่สามารถเดินทางเข้าใกล้ได้ เพราะจะถูกเกาะน้ำแข็งปิดล้อมหมดจนเรือไม่สามารถแล่นต่อไปได้ จากนั้นก้อนน้ำแข็งจะอัดจนเรือพังทลาย ทั้งนี้เพราะเกาะน้ำแข็งแต่ละเกาะมีขนาดมโหฬารมาก และเรือมีขนาดเล็กจนเรือเปรียบเสมือนคนที่กำลังเดินอยู่ท่ามกลางยักษ์

ในวันที่ 21 มกราคม 1840 d’ Urville ได้พบว่า เรือของเขาอยู่ห่างจากทวีปแอนตาร์กติกาประมาณ 7 กิโลเมตร และเห็นแผ่นดินที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งเป็นหน้าผาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตร ดังนั้นเขาจะไม่มีทางขึ้นฝั่งได้เลย ขบวนเรือจึงมุ่งหน้าเดินทางต่อไปทางทิศตะวันตก จนพบเกาะขนาดเล็กเกาะหนึ่งอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 300 เมตร ลูกเรือจึงขึ้นเกาะไล่จับนกเพนกวินมาเป็นอาหาร และได้ปักธงชาติฝรั่งเศสบนเกาะเพื่อประกาศให้โลกรู้ว่า นี่คือ ดินแดนในความปกครองของฝรั่งเศส จากนั้น ลูกเรือได้ออกสำรวจเกาะเพื่อค้นหาตัวอย่างพืช หอย หรือ lichen แต่ไม่พบอะไรเลย นอกจากหินแกรนิตซึ่งแสดงให้เห็นว่า ที่นี่เป็นเกาะจริงๆ มิใช่เกาะน้ำแข็ง d’ Urville จึงตั้งชื่อบริเวณบนทวีปที่เห็นว่า Terre Adélie (แปลว่าดินแดนของ Adélie ตามชื่อของภรรยา) และพื้นน้ำในบริเวณนั้น ปัจจุบันคือทะเลของ Dumont d’ Urville

หลังจากแวะพักได้ไม่นาน สภาพอากาศก็เริ่มเลวลง อุณหภูมิอากาศลดต่ำยิ่งกว่าจุดเยือกแข็ง พายุหิมะเริ่มพัด และหิมะตกหนักปกคลุมเรือทั้ง 2 ลำ การสื่อสารระหว่าง Astrolabe กับ Zélée จึงเป็นไปไม่ได้เลย จากนั้นคลื่นในทะเลได้พัดพาเรือไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จนถึงเส้นรุ้งที่ 64◦ 48’ ใต้ในสภาพอากาศที่มีหมอกปกคลุมหนาทึบ เมื่อถึงวันที่ 29 มกราคม เวลาประมาณ 4 โมงเย็นยามประจำเรือ Astrolabe ได้ตะโกนบอกทุกคนว่า เห็นเรือลำหนึ่งกำลังมุ่งหน้าจากทางทิศตะวันออก เรือลำนั้น คือ เรือสำรวจชื่อ Porpoise ซึ่งมี Charles Wilkes เป็นกัปตันชาวอเมริกัน แต่เรือ Astrolabe กับ Porpoise มิได้ทักทายหรือส่งสัญญาณใดๆ ถึงกัน และไม่มีแม้กระทั่งการตะโกนถามสารทุกข์สุขดิบ แล้วเรือทั้งสองก็แล่นแยกจากกัน เรือ Porpoise เดินทางต่อไปทางทิศตะวันตก ส่วน Astrolabe มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ

Dumont d’ Urville ได้เดินทางสำรวจมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนใต้ต่ออีก 8 เดือนแล้วได้กลับไป Hobart อีก จากนั้นได้แล่นใบต่อไปที่ New Zealand แล้วมุ่งหน้าไป New Guinea, Timor และ St.Helena

จนกระทั่งวันที่ 6 พฤศจิกายน 1840 เรือ Astrolabe และ Zélée ที่มีสภาพสะบักสะบอมเต็มทีก็กลับถึงท่าเมือง Toulon รวมเวลาที่จากบ้านเกิดไป คือ 3 ปี กับ 2 เดือน

เมื่อกลับถึงบ้านเกิดเมืองนอน d’ Urville ได้เลื่อนยศเป็นพลเรือเอก สมาคม geographical Society ได้มอบเหรียญทองคำให้ ซึ่งถือเป็นเกียรติยศสูงสุด ส่วนเจ้าหน้าที่เรือ 130 คนที่รอดชีวิตกลับมารัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบเงินรางวัลให้เป็นเหรียญทองคำ 15,000 เหรียญเพื่อแบ่งปันกัน

d’ Urville เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุรถไฟชนรถบรรทุก และ d’ Urville กับภรรยาและลูกชายถูกไฟคลอกที่ Bellevue เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ.1842 ขณะเดินทางไป Versailles สิริอายุ 52 ปี

การเดินเรือรอบโลกของ d’ Urville ด้วยเรือ Coquille เป็นการเดินทางที่ประสบความสำเร็จเชิงวิทยาศาสตร์มาก จนสามารถถือเป็นตัวอย่างของการสำรวจสำหรับคนรุ่นหลังได้ ดังที่ปรากฏ ในรายงานการประชุมของ French Academy of Sciences ว่า เรือได้นำหินตัวอย่างกลับมาร่วม 300 ชิ้น d’ Urville เองได้เก็บพืชตัวอย่างกลับมาประมาณ 3,000 สปีชีส์ และ Cuvier ได้รายงานว่า ในนั้นมี 400 สปีชีส์เป็นชนิดใหม่ที่ไม่มีนักพฤกษศาสตร์คนใดรู้จักมาก่อน สำหรับตัวอย่างสัตว์ เรือได้นำกะโหลกศีรษะคนกลับมาหลายชิ้น สัตว์สี่เท้าพันธุ์ใหม่ 12 สปีชีส์ จากตัวอย่างนก 254 สปีชีส์ มี 46 สปีชีส์ที่ใหม่จริงๆ ซึ่งทั้งนี้รวมถึงนกปักษาสวรรค์ด้วย นอกจากนี้ก็มีสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 63 สปีชีส์ โดย 17 สปีชีส์เป็นชนิดใหม่ ปลา 298 สปีชีส์ซึ่งถูกเก็บดองรักษาในแอลกอฮอล์ ส่วนจิตรกรก็ได้วาดภาพปลา 70 สปีชีส์ แมลง 1,100 ชนิด และสัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลังอีกกว่า 1,000 ชนิด

เมื่อข้อมูลมีมากมายเช่นนี้ รายงานการเดินทางจึงสามารถเขียนได้มากถึง 7 เล่ม แต่ก็ทำได้เรียบร้อยในเวลาไม่นาน เพราะเล่มแรกได้ปรากฏออกมาในปี 1825 ซึ่งเป็นปีที่เรือกลับถึงฝรั่งเศส ส่วนเล่มที่ 7 ได้ปรากฏในปี 1830 ในการเรียบเรียงรายงานทั้ง 7 เล่ม d’ Urville ให้ทุกคนแบ่งงานกันเขียน ตัว Dumont d’ Urville รับผิดชอบด้านพฤกษศาสตร์กับกีฏวิทยา

สำหรับการเดินทางครั้งสุดท้ายในระหว่างปี 1837-1840 นั้นแม้ d’ Urville จะไม่สามารถเข้าไปยืนบนทวีปแอนตาร์กติกาได้ แต่เขาก็ได้พบดินแดน Adélie (Terri Adélie) บนทวีปแอนตาร์กติกา และเห็นนกเพนกวินสปีชีส์ใหม่หัวดำ และท้องขาว เขาจึงตั้งชื่อว่า เพนกวิน Adélie ตามชื่อของภรรยาอีก

แม้ลูกเรือจะเสียชีวิตไปกว่า 20 คนและ 21 คนทิ้งเรือ อีกหลายคนถูกทอดทิ้งที่ท่า (เพื่อให้ตายหรือให้รักษาจนหาย) แต่ความสำเร็จของการเดินทางเชิงวิทยาศาสตร์ในครั้งนั้นก็นับว่ายิ่งใหญ่มาก เพราะเรือนำสิ่งมีชีวิตตัวอย่างกลับมามากกว่านักเดินทางคนอื่นๆ เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม Marsupial, ลิงจมูกยาว (proboscis monkey), flying fox, ตัวกินมด นก 300 สปีชีส์ สัตว์เลื้อยคลาน 160 สปีชีส์ ปลา 400 สปีชีส์ แมลง 1,300 สปีชีส์ และสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลังอีกเป็นจำนวนมาก

ปณิธานของ Dumont d’ Urville ที่จะเป็นผู้บังคับบัญชาเรือให้ได้ก่อนจะมีอายุครบ 50 ปีก็เป็นจริง และเขาได้เริ่มเขียนรายงานการเดินทางที่ตั้งใจว่าจะมีจำนวน 4 เล่ม แต่เมื่อเขียนเสร็จไป 3 เล่ม ก็ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิต ข่าวการเสียชีวิตของ d’ Urville ได้ทำให้ชาวฝรั่งเศสทั้งประเทศเศร้าใจมาก แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป งานเขียนที่เหลือจึงได้รับการเขียนต่อจนสมบูรณ์ในปี 1854 และใช้ชื่อว่า Voyages to the South Pole and Oceania

*****************

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน - ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์

ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์

*********

สำหรับผู้สนใจต่อยอดความรู้ หนังสือ “สุดยอดนักผจญภัย” โดย ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน มีวางจำหน่ายแล้วในราคาเล่มละ 250 บาท







กำลังโหลดความคิดเห็น