ก.วิทย์ - กระทรวงวิทย์ พร้อมตั้ง “ศูนย์รสชาติอาหารไทย” เพื่อส่งผ่านรสชาติความอร่อยจากครัวไทยสู่ครัวโลกนำร่องด้วย 3 เมนูสุดฮิต ต้มยำกุ้ง ผัดไทย และแกงมัสมั่น อีกทั้งเพื่อส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกวัตถุดิบสำหรับเป็นส่วนผสมของอาหารไทยได้มากขึ้น
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดงานเปิดตัว “ศูนย์รสชาติอาหารไทย (Thai delicious)” เพื่อสร้างเอกลักษณ์และมาตรฐานของรสชาติอาหารไทยให้ได้คุณภาพไม่ผิดเพี้ยนไปจากตำรับดั้งเดิม ภายใต้แนวคิด “อาหารไทยไม่ว่าครัวไหน ก็ต้องมีรสชาติไทยเดียวกัน” พร้อมส่งผ่านรสชาติความอร่อยจากครัวไทยสู่ครัวโลก อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกวัตถุดิบสำหรับเป็นส่วนผสมของอาหารไทยได้มากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารของโลก ในโครงการ “นวัตกรรมครัวไทยสู่ครัวโลก”
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “อาหารไทยถือเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมมากกว่า 93 ประเทศ และติด 1 ใน 4 อาหารยอดนิยมของโลก ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนร้านอาหารไทยที่กระจายอยู่มากกว่า 20,000 แห่งทั่วโลก โดยในแต่ละปีร้านอาหารไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อปีมากกว่า 6 ล้านบาท ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 120,000 ล้านบาท”
“ปัจจุบันพบว่าร้านอาหารไทยรวมถึงห้องอาหารไทยในโรงแรมในระดับ 4 และ 5 ดาวในต่างประเทศกำลังประสบปัญหาความผิดเพี้ยนของรสชาติอาหารไทยที่แตกต่างไปจากตำรับดั้งเดิม ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว วท.จึงได้ริเริ่มจัดตั้ง “ศูนย์รสชาติอาหารไทย” เพื่อสร้างความตระหนักใน “สูตรมาตรฐานรสชาติอาหารไทย” ให้ตรงความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และต้องมีรสชาติไม่ผิดเพี้ยนไปจากตำรับดั้งเดิมของไทย” นายวรวัจน์กล่าว
ทั้งนี้ เป็นการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้ในการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยกระทรวงได้มอบหมายให้ สนช.เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการครอบคลุมตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ การแปรรูป การเพิ่มมูลค่าสินค้าแปรรูป รวมถึงการบริหารจัดการร้านอาหารไทย การตลาด การสร้างตราสินค้า และการออกแบบบรรจุภัณฑ์
ทาง สนช.ระบุว่า “ศูนย์รสชาติอาหารไทย” เปรียบเสมือนคลังสูตรมาตรฐานรสชาติอาหารไทยที่จะสนับสนุนให้เกิดบริการ และรูปแบบธุรกิจใหม่ โดยจะเป็นศูนย์กลางในการจัดการและบริการด้านการรับรองมาตรฐานรสชาติอาหารไทยตามมาตรฐานที่กำหนด การอบรมพ่อครัวแม่ครัวชาวไทยและต่างประเทศ และธุรกิจแฟรนไชส์ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเครื่องปรุงรสสำเร็จรูปที่ปรุงตามสูตรมาตรฐานอาหารไทย ซึ่งสามารถเข้ามาช่วยแก้ไขและตอบโจทย์ความต้องการอาหารไทยในต่างแดนต่อไปในอนาคต
เบื้องต้นศูนย์จะดำเนินการในอาหารไทย 3 รายการ ได้แก่ ต้มยำกุ้ง ผัดไทย และแกงมัสมั่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นเมนูอาหารไทยยอดฮิตสำหรับชาวต่างชาติ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกอาหารไทยทั้ง 3 ชนิด ที่มีรสชาติตรงกับตำรับดั้งเดิมของไทยและได้รับการรับรองความอร่อยจากผู้เชี่ยวชาญด้านการชิมและวิจารณ์อาหารระดับแนวหน้าของประเทศ จากนั้นจึงนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาวิเคราะห์ทั้งทางด้านกายภาพและเคมี รวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับคุณภาพเพื่อนำผลที่ได้มากำหนดเป็นมาตรฐานและตำรับมาตรฐานอาหารไทยที่ตรงความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
“สำหรับในอนาคตมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีโลกเสมือนผสมโลกจริง (Augmented Reality) หรือ AR ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ผสานเอาโลกแห่งความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือนมาประยุกต์ใช้ในการสื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภค เพื่อส่งผ่านคุณประโยชน์ต่อสุขภาพของวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหาร และเอกลักษณ์ของอาหารไทยให้ชาวโลกได้มีโอกาสรับรู้และเข้าถึงมากขึ้น และเพื่อใช้เป็นจุดขายของอาหารไทย ภายใต้แนวคิด “อาหารไทย อาหารสุขภาพ” ที่สามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมการบริโภคของคนที่เปลี่ยนแปลงไปใส่ใจในสุขภาพและโภชนาการ การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และวิถีการดำเนินชีวิตที่มีความเร่งรีบ และต้องการความสะดวกสบาย” นายวรวัจน์กล่าว