xs
xsm
sm
md
lg

อัดป้ายหาเสียงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เละเทะ ไร้ระเบียบ สร้างปัญหาคนกรุง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่มาคู่กับการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นสนามใหญ่ หรือเล็ก ก็คือ "ป้ายหาเสียง" ซึ่งถือเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ และเป็นกลยุทธ์หลักในการแนะนำตัวเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนของผู้สมัครรับเลือกตั้งเลยก็ว่าได้ แต่ปัญหาที่ตามมา คือ เสียงโอดครวญของผู้ใช้รถใช้ถนนที่บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ป้ายหาเสียงรุกล้ำพื้นที่ทางเท้าและถนน ชนิดที่ไม่เกรงอกเกรงใจผู้สัญจรผ่านไปมาแม้แต่น้อย

ที่หนักไปกว่านั้น คือ ความไม่แน่นหนาของการติดป้ายหาเสียงของผู้สมัครบางท่านจนเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุตามมาเอาได้ง่าย ๆ

นี่คือจุดเล็ก ๆ ที่บานปลายกลายไปเป็นปัญหา และยังไม่ค่อยเห็นหน่วยงานใดสามารถจัดการขั้นเด็ดขาดได้เลย แม้แต่ในสนามการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ ก็ยังดูเหมือนไม่มีอะไรดีขึ้น เห็นได้จากป้ายหาเสียงที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในหลาย ๆ พื้นที่ หรือป้ายหาเสียงที่ดูโอ้อวดเกินจริงเหมือนกำลังดูถูกระดับสติปัญญาของคนกรุงเทพฯ ก็ยังมีปรากฏให้เห็นอยู่ไม่น้อย

ป้ายหาเสียง สร้างปัญหาไม่จบไม่สิ้น

ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้น แต่ได้สร้างปัญหามานมนานแล้ว สำหรับ "ป้ายหาเสียงเลือกตั้ง" เห็นได้จากปีที่ผ่าน ๆ มา มีเรื่องร้องเรียนเรื่องป้ายจำนวนมาก ซึ่งตำรวจจราจรหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร มักได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก ว่าได้รับความเดือดร้อนจากป้ายหาเสียงที่บดบังสายตาขณะขับขี่รถบนท้องถนน โดยเฉพาะบริเวณปากทางเข้า-ออกซอกซอยต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดอุบัติเหตุมากมาย

เช่นเดียวกับปีนี้ที่ นินนาท ชลิตานนท์ ปลัด กทม.ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร (ผอ.กกต.ทถ.กทม.) ก็ออกมาเผยถึงปัญหาเดียวกัน

กระนั้น แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร (กกต.ทถ.กทม.) จะกำหนด และบอกให้คำถึงถึงวิธีการปิด โดยจะต้องไม่ใช้วิธีทากาว แป้งเปียก หรือทาพ่น ระบายสี หรือ ตอกตะปูเป็นอันขาด และต้องไม่ติดตั้งในลักษณะแขวนเป็นราว หรือกีดขวางทาง สัญจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณศาลาที่พักผู้โดยสารจะต้องไม่ปิดประกาศห่างจากบริเวณโดยารอบศาลาที่พักผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 10 เมตร

ทว่ายังมีผู้สมัครรับเลือกตั้งบางท่าน โดยเฉพาะพรรคใหญ่ ๆ มักจะมองข้ามเรื่องเล็ก ๆ ที่สร้างความเดือดร้อน และความสกปรกเกลื่อนเมือง เห็นได้จากป้ายหาเสียงที่แปะติดตามเสาไฟฟ้า หรือแม้แต่เบาะนั่งบนรถประจำทางสาธารณะก็ไม่เว้น จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แบบจิก ๆ กัด ๆ ตามมาถึงอนาคตกรุงเทพฯ ต่อจากนี้

ไม่แปลกที่จะมีประชาชนหลาย ๆ คน (ไม่นับรวมขบวนการทำลายป้ายหาเสียงที่ออกอาละวาด) จะเกิดความรำคาญ และทำลายป้ายกันเกิดขึ้น

ยังไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็สร้างปัญหาแล้ว!

"นี่ขนาดยังไม่มีอำนาจปกครองกรุงเทพฯ นะเนี่ย ท่าน ๆ ทั้งหลายยังทำให้กรุงเทพฯ สกปรก และสร้างความเดือดร้อนได้มากถึงเพียงนี้ ไม่อยากจะนึกต่อไปเลยว่า ถ้าท่าน ๆ ทั้งหลายได้เข้ามามีอำนาจปกครองกรุงเทพฯ จะไม่ยิ่งทำให้กรุงเทพฯ ตกต่ำลงไปมากกว่านี้หรือ"

เป็นเสียงตัดพ้อจากคำให้การของ ลิลลี่ (ขอสงวนชื่อ และนามสกุล) สาวออฟฟิศรายหนึ่งที่ทนไม่ได้กับป้ายหาเสียงที่ตั้งผิดที่ผิดทางจนสร้างความเดือดร้อนในการเรียกรถประจำทาง ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร (กกต.ทถ.กทม.) มีข้อกำหนดต้องไม่ปิดประกาศห่างจากบริเวณโดยารอบศาลาที่พักผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 10 เมตร แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่จำนวนมาก

"มันน่าโมโหไหมล่ะคุณ ติดได้อย่างไรตรงป้ายรถประจำทาง ติดกินเลนถนน ใครจะไปมองเห็นรถ ที่โกรธไปกว่านั้น รถก็มองไม่เห็นเรา และก็ไม่จอดรับด้วย เพราะป้ายเจ้าปัญหาป้ายเดียว อยากให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ทุกท่านในครั้งนี้ และครั้งต่อ ๆ ไป ใส่ใจสังคมกับเรื่องเล็ก ๆ แบบนี้ด้วย แต่ถ้าเรื่องแค่นี้ยังไม่รับผิดชอบสังคม แล้วจะหวังอะไรได้หากพวกคุณ ได้อำนาจเข้ามาปกครอง ดูแลกรุงเทพฯ" ลิลลี่เผย

อย่างไรก็ดี ลิลลี่สะกิดใจผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. บางท่านด้วยความหวังดีว่า แม้ว่าป้ายหาเสียงเลือกตั้ง จะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ดึงคะแนนเสียง แต่ถ้าไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยแล้ว ก็อาจจะเสียคะแนนนิยมไปได้ง่าย ๆ และส่วนตัวก็ไม่คิดจะเลือกผู้สมัครที่มองข้ามเรื่องเล็ก ๆ แบบนี้แน่นอน

ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้น "ลิลลี่" เสนอความเห็นในฐานะผู้มีสิทธิ์มีเสียง และมีอำนาจในการใช้สิทธิ เลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่บริหารกรุงเทพฯ ไว้อย่างน่าสนใจว่า ควรจัดให้มีสถานที่รวม หรือสถานที่เฉพาะในการติดป้ายโฆษณาหาเสียงในทุก ๆ เขตเลือกตั้ง หรือสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อรวบรวมทั้งป้าย และอื่น ๆ ไว้ในที่เดียวกัน ไม่ใช่กระจัดกระจาย เกะกะขวางทาง และถูกทิ้งเป็นขยะเกลื่อนเมืองอย่างที่ผ่าน ๆ มา

ด้านความเห็นจากคุณ น.นิรนาม ได้แสดงทัศนะไว้ในบล็อกแห่งหนึ่งเช่นกันว่า "การหาเสียงที่ใช้เงินสาด กับการที่ กกต.ให้งบประมาณเพื่อการนี้ มันทำลายโอกาสคนมีเงินน้อย คือ กีดกัน ไม่เป็นธรรม ทำไมไม่แก้เสีย เอาป้ายทิ้งไป แล้วจัดเวทีกลางให้ทุกคนมีโอกาส ทุกชุมชนไปปราศรัยได้ ไม่ต้องใช้เงินมาก คนจน ๆ ดี ๆ เขาก็มีเหมือนกัน ชูป้ายเล็ก ๆ พากันเดินไป แบบต่างประเทศเขาทำกัน"

ทัศนะป้ายหาเสียงจาก "ชูวิทย์"

ประเด็นเดียวกันนี้ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรครักประเทศไทย โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก "ชูวิทย์ I'm No.5" ระบุว่า "ป้ายโปสเตอร์หาเสียงเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการโฆษณาหาเสียงระหว่างเลือกตั้ง ช่วงนี้ตามเสาไฟฟ้า เสาต้นไม้ แล้วเลยไปถึงเสาป้ายซอย เสาจราจร เต็มไปด้วยป้ายหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะดูแลรักษาให้ป้ายเหล่านี้อยู่อย่างแข็งแรงเหมือนเดิมจนกระทั่งวันเลือกตั้ง"

"สมัยผมติดหาเสียงถึงขนาดต้องมีคอลเซ็นเตอร์เพื่อให้โทร.มาแจ้งเรื่องป้ายโดยเฉพาะ รวมทั้งมีทีมมอเตอร์ไซค์ขับตรวจดูป้ายว่าแข็งแรงเรียบร้อยเหมือนเดิมหรือไม่ บางครั้งพบว่าถูกลมพัดหรือฝนตกก็หลุดออกมา ทั้งกีดขวางทางฟุตบาท หล่นไปกลางถนน หรือทีมงานไปติดแบบไม่รู้เรื่อง ไปติดทับป้ายจราจร หรือป้ายปากซอย แทนที่จะมาหาเสียงเพื่อให้เขาเลือก กลับถูกเขาด่า"

ล่าสุดได้ออกมาพูดถึงกรณีป้ายหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ภายหลังที่ป้ายต่อต้านคอรัปชั่นของตนเองถูกเก็บ โดยระบุว่า ก่อนที่กรุงเทพมหานครเก็บป้ายของตนเองออก ควรพิจารณากรณีป้ายหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ หลายคนที่มีการนำไปติดตั้งไม่เหมาะสม โดยยกตัวอย่างการติดป้ายหาเสียงบริเวณปากซอยต่าง ๆ ว่าเป็นการทำลายทัศนวิสัยในการสัญจรไปมา และก่อให้เกิดอุบัติเหตุมากมาย รวมไปถึงการติดป้ายหาเสียงบดบังป้ายสัญลักษณ์การจราจร การติดป้ายหาเสียงกับป้ายโรงเรียน

ถึงเวลาทบทวนป้ายหาเสียงกันใหม่

สื่อหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นป้ายหาเสียง คัทเอาต์ขนาดใหญ่ และสื่อหาเสียงขนาดกลาง และขนาดย่อม ที่ติดไปทุกสถานที่โดยทั่วไป และก็สร้างปัญหา และความเดือดร้อนไปทั่วด้วย ทำให้นักวิชาการหลาย ๆ ท่านเห็นควรให้ส่วนที่เกี่ยวข้องกลับมาทบทวนเรื่องป้ายโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งกันใหม่

เห็นได้จาก รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเปรียบเทียบและการเลือกตั้ง มองในประเด็นนี้ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่เห็นป้ายหาเสียงขนาดใหญ่บึ้ม กีดขวางสายตาแล้วบางทีต้องถามว่า ป้ายมันมีผลต่อการตัดสินใจหรือไม่ เพราะป้ายหาเสียงในหลาย ๆ ประเทศ จะมีขนาดเท่าโต๊ะนักเรียนแผ่นเล็กๆ เท่านั้นเอง และก็ไม่ได้ติดในจำนวนมหาศาลเหมือนในประเทศไทยด้วย

ด้าน ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเรื่องผังเมือง ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "ป้ายหาเสียงในยุคนี้ ไม่สร้างสรรค์เหมือนยุคก่อน อย่างผู้สมัครบางท่านไม่ใช้ป้ายหาเสียง ส่วนยุคก่อนที่มีคุณจำลองลงสมัคร อันนั้นเหมือนเป็นงานแฮนด์เมดเลยนะ ส่วนตอนคุณพิจิตรเราจะเห็นป้ายสวยๆ เหมือนงานศิลปะ"

หาเสียงทางเลือกใหม่ในยุคดิจิตอล

เรียกว่าสร้างสีสันให้แก่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้ไม่น้อย เมื่อผู้สมัครท่านหนึ่ง มีนโยบายไม่ใช้ป้ายหาเสียงติดตั้งตามท้องถนน ให้เสียทัศนียภาพและสิ้นเปลืองทรัพยากรด้วยการใช้เทคโนโลยี AR หรือ Augmented Reality ในการนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ ให้กับคนทั่วไปที่สนใจได้รับรู้และรับชมกัน

สำหรับป้ายหาเสียงที่ว่านี้ คือ "ป้ายหาเสียงดุ๊กดิ๊ก" ซึ่งเป็นป้ายหาเสียงที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถฟังเสียงปราศรัย รับชมวิดีโอ กดไลค์ กดแชร์ หรือแม้กระทั่งแสดงความคิดเห็นผ่านการโหวตแบบเรียลไทม์ นับเป็นครั้งแรกในเมืองไทยกับป้ายหาเสียงในลักษณะดังกล่าวนี้

กระนั้น แม้จะดูเป็นแนวคิดที่แปลกใหม่ในสายตาใครหลายคน แต่การจะตัดสินใจเลือก "ผู้แทน" เข้าไปเป็น "ตัวแทน" ในการพัฒนากรุงเทพฯ คงจะต้องดูองค์ประกอบอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะตัวคน และตัวนโยบายที่อวดอ้าง โอ้อวดเกินจริงหรือไม่

สุดท้ายนี้ ไม่เพียงแต่ปัญหาที่เกิดขึ้น เชื่อว่ายังคงมีหลาย ๆ ฝ่ายตั้งคำถามถึงการใช้งบประมาณในการรณรงค์หาเสียงทั้งของพรรคการเมือง และของนักการเมืองแต่ละคน เห็นได้จากการเลือกตั้งในครั้งนี้ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) ได้กำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งคนละไม่เกิน 49 ล้านบาท แต่จะดีกว่าไหม ถ้าจะลดงบประมาณในส่วนที่ว่านี้ เพื่อนำงบประมาณไปใช้ในส่วนอื่น ๆ ที่มีประโยชน์มากกว่า?

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.facebook.com/SickofPaiBanner




นี่คือภาพป้ายหาเสียงหลุดปลิวอยู่กลางถนน ไม่อยากคิดต่อไปว่า ถ้ารถวิ่งมาเหยียบจะเป็นอย่างไร หรือรถมอเตอร์ไซค์วิ่งมาเร็วๆ เบรคหลบป้ายนี้กะทันหันจะเป็นอย่างไร (ขออนุญาติคุณ Sarisa เซฟภาพมาให้ดู)
นี่เป็นตัวอย่างของป้ายริมถนน ที่เกะกะขวางทางเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ถนนเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะใหญ่ล้ำออกมาแล้ว ยังอยู่ตรงโค้งของถนนในซอยอีก สุดท้ายก็มีรถเฉี่ยวชนเสียหายกันไป
กำลังโหลดความคิดเห็น