xs
xsm
sm
md
lg

เรียนรู้วิทย์แบบบูรณาการฉบับ “เด็กชายขอบ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภารกิจตามหาใบไม้
สสวท.- บนผืนดินถิ่นทุรกันดารตามแนวรอยต่อพรมแดนไทย-พม่า จังหวัดตาก ยังมีเด็กเยาวชนชายขอบจำนวนมากที่รอคอยความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อคืนโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยก้าวข้ามผ่านมิติที่แตกต่างทางภาษา ชาติพันธุ์ ระยะทางที่ห่างไกล และความเหลื่อมล้ำใดๆ

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ริเริ่ม “โครงการบูรณาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีปฐมวัย” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เพื่อร่วมเป็นกำลังสนับสนุนโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้แนวทางการจัดอบรมครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ให้มีทักษะการจัดกิจกรรมบูรณาการสหวิชา ตลอดจนสนับสนุนสื่ออุปกรณ์การศึกษาต่างๆ เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ของเด็ก ผ่านกระบวนการสืบเสาะ 4 ขั้นตอน ได้แก่ การตั้งคำถาม การสำรวจตรวจสอบ การตอบคำถาม และนำเสนอผลการสำรวจตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง

“วิทยาศาสตร์ คือ กระบวนการแสวงหาคำตอบและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งครูสามารถใช้สิ่งแวดล้อมรอบตัว มาสร้างกิจกรรมการเรียนการสอนโดยไม่ต้องมีห้องทดลองหรืออุปกรณ์ไฮเทคใดๆ ขอเพียงให้เด็กได้ฝึกฝนกระบวนการคิดวิเคราะห์ การสังเกต จำแนก เปรียบเทียบ และสรุปความรู้ ซึ่งเด็กสามารถนำไปใช้แก้ปัญหากับทุกเรื่องที่ต้องเผชิญต่อไปในอนาคต” ดร.เทพกัญญา พรหมขัติแก้ว นักวิชาการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าว

ในแต่ละปี สสวท.จะมีการจัดอบรมครูจากโรงเรียนในโครงการ ปีละ 1 ครั้ง ใช้เวลาทั้งสิ้น 5 วัน ซึ่งครูที่ผ่านการอบรมจะถูกพัฒนาเป็นครูแกนนำเพื่อไปขยายผลต่อในพื้นที่ โดยคณะนักวิชาการจาก สสวท.จะลงพื้นที่ทำงานร่วมกับศึกษานิเทศก์ในการติดตามผลว่า ครูได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอนและเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างไร การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาที่พบเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปรับปรุงต่อไป

เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ถือเป็นโมเดลที่ใหญ่ที่สุด และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ทั้งที่เพิ่งนำโครงการ ของ สสวท.เข้าสู่พื้นที่เมื่อปี 2552 โดยโครงการถูกขยายผลสู่โรงเรียนระดับอนุบาลทุกโรงเรียน ครอบคลุมทุกพื้นที่ การส่งครูผู้สอนเข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่อง จนขณะนี้มีครูแกนนำทั้งหมด 35 คน การจัดโครงการ “คาราวานเสริมสร้างเด็ก” เพื่อพัฒนาความรู้ของพ่อแม่ผู้ปกครองโดยให้มาเรียนรู้ร่วมกับเด็ก ซึ่งโรงเรียนจะคอยติดตามว่า ผู้ปกครองได้นำกิจกรรมไปกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กที่บ้านหรือไม่

“จากผลการประเมินของ สปศ.หรือสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เด็กของเราจะอ่อนด้อยในทักษะการคิดวิเคราะห์ แต่เมื่อนำกระบวนการของ สสวท.เข้ามาปรับใช้ ทำให้การประเมินมาตรฐานตามปีงบประมาณ 2554 เราส่งโรงเรียนระดับปฐมวัยเข้ารับการประเมิน 13 โรง ก็ผ่านการประเมินครบทุกโรงเรียน” นายทองสุข อยู่ศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 กล่าว

อย่างไรก็ตาม นางกันยารัตน์ บุญมาลีรัตน์ ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ยอมรับว่า แรกดำเนินการประสบกับปัญหาหลายด้าน ตั้งแต่ปัญหาการสื่อสารทางภาษาเนื่องจากเด็กเกือบทั้งหมดเป็นเด็กชนเผ่า ผู้ปกครองก็เป็นชนเผ่า ปัญหาครูผู้สอนที่ไม่ได้จบด้านปฐมวัยมาโดยตรง จึงไม่มีพื้นฐานจัดกิจกรรม หรือความรู้จิตวิทยาเด็ก เกิดความสับสนเมื่อต้องรับผิดชอบทั้งกิจกรรมการเรียนการสอน 6 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมการเคลื่อนไหว กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมเสรี กิจกรรมกลางแจ้ง กิจกรรมเกมส์การศึกษา และกิจกรรมเสริมจาก สสวท.

จนเมื่อได้รับการอบรมก็เข้าใจว่า เป็นแผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการเสริมเข้าไปใน 6 กิจกรรมหลักที่มีอยู่แล้ว ส่งผลให้ครูมีองค์ความรู้ในการจัดรูปแบบการเรียนการสอนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถต่อยอดกิจกรรมตามสภาพแวดล้อมและภูมิปัญญาในท้องถิ่นของตน

“เราได้เห็นพัฒนาการเกิดขึ้นกับเด็กๆ อย่างชัดเจนถึง 4 ด้านภายหลังนำโครงการนี้เข้ามา คือ ด้านร่างกาย เด็กมีการเคลื่อนไหว ตื่นตัวต่อการเรียนรู้ตลอดเวลา ด้านสังคม เด็กมีการทำงานร่วมกัน มีพัฒนาการทางสังคมในการอยู่ร่วมกัน รู้จักเคารพกฎ-กติกา ด้านครอบครัว มีการพูดคุย และเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ปกครอง และด้านสติปัญญา เด็กค้นหาและค้นพบองค์ความรู้ด้วยตัวเอง แทนที่จะรอครูบอกเพียงอย่างเดียว” นางกันยารัตน์ กล่าว

ตามหาใบไม้...ที่บ้านแม่สลิดหลวงวิทยา
กิจกรรมการเรียนรู้จากใบไม้ที่โรงเรียนบ้านสลิดหลวงวิทยา ตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งเป็นโรงเรียนในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นตัวอย่างหนึ่งของกิจกรรมบูรณาการที่ให้เด็กๆ ได้ฝึกการสังเกตและวาดภาพใบไม้ ต่อยอดสู่การเรียนรู้เรขาคณิตจากรูปทรงของใบไม้ ตลอดจนช่วยกันคิดค้นเทคโนโลยีในการพิมพ์ลายใบไม้ให้เป็นศิลปะบนผืนผ้าอย่างง่ายๆ

“เดิมเด็กไม่ได้ลงมือปฏิบัติก็ไม่ค่อยสนใจเรียน เสียสมาธิง่าย อีกอย่างเด็กอนุบาลที่นี่เป็นเด็กชาวเขา 100% ครูก็สื่อสารยากเพราะไม่เข้าใจภาษาถิ่น เด็กก็ไม่เข้าใจภาษาไทย ต้องมีครูภาษาถิ่นเข้ามาช่วย โชคดีที่มีเด็กบางคนรู้ทั้งสองภาษาก็จะช่วยเพื่อน บางทีก็ช่วยครูด้วยเหมือนกัน” ครูโสรดา พลเสน คุณครูอนุบาล 2/1 เล่าให้ฟังถึงปัญหาที่ผ่านมา

“แต่พอนำเอาวิธีการสอนของ สสวท.มาใช้ เราก็บูรณาการวิชาภาษาไทยเพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งวิชา ทำให้เด็กๆ มีปฏิสัมพันธ์กับครูมากขึ้น กระตือรือร้น กล้าคิด กล้าแสดงออกมากกว่าเดิมที่ต้องรอให้ครูบอกเพียงอย่างเดียว”

แม่ละเมา...เขาชวนล่องแก่ง
อีกหนึ่งกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กชายขอบให้สามารถ “ล่องแก่งอย่างไรให้ปลอดภัย” ซึ่งสอนเด็กๆ รู้จักและเรียนรู้ถึงประโยชน์อุปกรณ์ที่ใช้ในการล่องแก่ง เช่น ไม้พาย หมวกกันน็อก เสื้อชูชีพ และวิธีการล่องแก่งที่ปลอดภัย จากการสังเกต คิดวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ซึ่งไม่เพียงเป็นการสอดแทรกความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และศิลปะแล้ว ยังปลูกฝังแนวทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และรักในถิ่นเกิดของตนเอง

ครูพัชรา อังกูรขจร ครูวิทยฐานะชำนาญการ โรงเรียนบ้านแม่ละเมา ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า ขณะนี้พ่อแม่เด็กหลายคนที่เข้ามาเรียนรู้ร่วมกับเด็กๆ ได้กลายมาเป็นแกนนำผู้ปกครอง และสามารถจัดตั้งเป็น “เครือข่ายพ่อครู-แม่ครู” ถึง 12 กลุ่มเครือข่าย มาอาสาช่วยสอนและจัดกิจกรรมกับโรงเรียน ผู้ใหญ่หลายท่านในชุมชนมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้ก็มาช่วยกัน ซึ่งช่วยแบ่งเบาปัญหาครูขาดแคลนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

“เนื่องจากผู้ปกครองหรือครูบางท่านไม่ได้มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์โดยตรง ดังนั้น ก่อนทำกิจกรรม เราจะมาประชุมกันก่อนเพื่อสรุปว่า กิจกรรมแต่ละชุด เด็กจะต้องเรียนรู้คำสำคัญหรือคีย์เวิร์ดอะไรบ้าง ทุกฝ่ายจะได้เข้าใจตรงกันและดำเนินกิจกรรมไปในทิศทางเดียวกัน” ครูพัชรากล่าว

แม่ครูทัศวรรณ ปู่ลมดี ผู้ปกครองจิตอาสาในเครือข่ายพ่อครู-แม่ครูท่านหนึ่ง ยืนยันว่า การที่พ่อแม่ร่วมดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ทำให้รู้ว่า ลูกเรามีความบกพร่องหรือด้อยในด้านใด ที่สำคัญคือ พ่อแม่ได้ตระหนักว่า จะปล่อยให้การเรียนรู้ของเด็กๆ เป็นภาระของครูทั้งหมดไม่ได้ เพราะเวลาของเด็กส่วนใหญ่นั้นอยู่ที่บ้าน จึงเป็นเรื่องดีที่โรงเรียน พ่อแม่ และชุมชน จะมาช่วยกันหาวิธีการศึกษา หรือช่วยกันตอกย้ำซ้ำทวนสิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนรู้มา ซึ่งเราสัมผัสได้เลยว่า เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นมาก ครอบครัวก็อบอุ่นเพราะได้ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น

“ตอนนี้เริ่มมีเสียงเรียกร้องจากเด็กปฐมวัยให้จัดการเรียนการสอนแบบนี้ เมื่อเขาขึ้นสู่ระดับประถมและมัธยมศึกษา ซึ่งเราคงเริ่มที่ระดับประถมศึกษาก่อน ถ้าหาก สสวท. สามารถขยายกิจกรรมลักษณะนี้ไปจนถึงประถมศึกษา 3 เท่ากับเด็กจะมีเวลาฝึกฝนกระบวนการคิดวิเคราะห์ถึง 5 ปี ซึ่งน่าจะเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมพอในการปลูกฝังเด็กให้เป็นคนมีจิตวิทยาศาสตร์ ที่ติดตัวไปกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ หรือเด็กบางคนอาจกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของประเทศก็เป็นได้” ผอ.ทองสุข สรุปทิ้งท้าย
กิจกรรมภาพพิมพ์จากใบไม้
เรียนรู้เรขาคณิตจากใบไม้






กำลังโหลดความคิดเห็น