xs
xsm
sm
md
lg

Copernicus ปราชญ์ดาราศาสตร์ผู้ยกโลกด้วยปากกา

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพเหมือน Nicolaus Copernicus โดย Jan Mateyko ศิลปินโปแลนด์
วิทยาศาสตร์มีสมบัติหนึ่งที่เหมือนกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย นั่นคือ มีวิวัฒนาการที่ดำเนินไปในหลายทิศทางตลอดเวลา จนไม่มีใครสามารถบอกได้อย่างมั่นใจว่า จุดเริ่มต้นของการค้นพบส่วนใหญ่เกิดขึ้นเมื่อใด และ ณ ที่ใด

แม้การระบุวัน เดือน ปีจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่นักประวัติวิทยาศาสตร์ได้พยายามแบ่งช่วงเวลาของวิทยาศาสตร์เป็นยุคที่มีปราชญ์คนสำคัญ เช่น ยุค Thales แห่ง Miletus, ยุค Anaximander แห่ง Miletus, ยุค Pythagoras แห่ง Samos และยุค Archimedes แห่ง Abdera เป็นต้น เพราะบุคคลเหล่านี้ได้ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลทั้งในด้านความคิดและในการสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ จนได้รับการยอมรับว่าต่างก็เป็นผู้บุกเบิกวิทยาศาสตร์ของโลกโบราณ

ลุถึงยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา (Renaissance) คือเมื่อประมาณ 500 ปีก่อนนี้ Nicolaus Copernicus ก็เป็นบุคคลหนึ่งผู้มีบทบาทสำคัญมากในการสร้างวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ ให้โลกได้นำวิธีคิดและวิธีทำงานของนักวิทยาศาสตร์ยุคก่อนๆ มาปฏิรูป และผลที่ตามมาคือ เขาได้ปฏิรูปความคิดมากมายของมนุษย์ที่ได้หลงงมงายมานานกว่าพันปี

ปี 2013 นี้เป็นวาระครบ 540 ปีแห่งชาตกาลของ Copernicus นี่จึงเป็นเวลาเหมาะสมที่จะนำบทบาทและความสำคัญของ Copernicus ในการบุกเบิกยุควิทยาศาสตร์ยุคใหม่มาพิจารณา ซึ่งจะช่วยชี้แนะทิศการทำงานวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคตด้วย

Nicolaus Copernicus เกิดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1473 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ที่เมือง Torun ในโปแลนด์ บิดาซึ่งมีชื่อเดียวกัน มีอาชีพเป็นพ่อค้า ส่วนมารดาชื่อ Barbara Watzelrode ครอบครัว Copernicus มีฐานะปานกลางและบรรพบุรุษของตระกูลมีเชื้อสายเยอรมัน

ในสมัยที่ Copernicus ยังเป็นเด็ก เมือง Torun ตกอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์โปแลนด์ ในอดีต Torun เคยถูกยึดครองโดยกษัตริย์เยอรมัน การแย่งชิงกันไปมาระหว่างสองชาติ ทำให้บรรดาคนคลั่งชาติต่างอ้างว่า Copernicus เป็นคนชาติเดียวกับตน

เมื่ออายุ 10 ขวบ Copernicus ได้สูญเสียบิดา จึงตกอยู่ในความอุปถัมภ์ของน้าชายชื่อ Lucas Watzelrode ผู้มีฐานะดี และน้าชายได้สนับสนุนให้หลานสุดที่รักได้เรียนถึงระดับมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัย Cracow ณ ที่นั่น Copernicus วัย 18 ปีได้เล่าเรียนหลายวิชา เช่น ศาสนา ดนตรี กฎหมาย ฯลฯ แต่กลับสนใจดาราศาสตร์มากเป็นที่สุด เพราะได้ Albert Brudzwoski เป็นอาจารย์สอน

หลังจากเรียนที่มหาวิทยาลัย Cracow ได้ 5 ปี Copernicus ก็เดินทางไปศึกษาต่อที่อิตาลีเพื่อเพิ่มพูนวิชาความรู้ เพราะที่นั่นคือแหล่งกำเนิดของศาสตร์ขั้นสูง ดังนั้นจึงเป็นศูนย์กลางการปฏิรูปความรู้ในยุค Renaissance จนทำให้ยุคนั้นมีอัจฉริยะนักวิทยาศาสตร์หลายคน เช่น Leonardo da Vinci, Andreas Vesalius และ Galileo Galilei เป็นต้น Copernicus ก็หวังจะได้เป็นมนุษย์สากล (uomo universale) อีกคนหนึ่งผู้รอบรู้ทุกเรื่องบ้าง

Copernicus เข้าเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัย Bologna แต่ได้ไปนั่งฟังการบรรยายดาราศาสตร์ของศาสตราจารย์ Dominico Maria Novara ด้วย และได้รู้ว่า มีนักดาราศาสตร์กรีกคนหนึ่งชื่อ Aristarchus แห่งเมือง Samos ซึ่งมีชีวิตในช่วง 320-250 ปีก่อนคริสตกาล ที่ได้เคยแถลงว่า โลกเคลื่อนที่ได้ ซึ่งถ้อยแถลงนี้นอกจากจะขัดแย้งกับสามัญสำนึกของทุกคน แล้วยังขัดแย้งกับคำสอนของมหาปราชญ์ เช่น Ptolemy และ Aristotle ที่เชื่อว่าโลกอยู่นิ่ง และดาวทุกดวงรวมถึงดวงอาทิตย์ด้วยล้วนโคจรรอบโลก ดังนั้น โลกจึงเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และนี่ก็ตรงกับคำสอนที่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลว่า พระเจ้าทรงสร้างโลก และสรรพสิ่งรวมถึงมนุษย์ และทรงให้มนุษย์อาศัยอยู่บนโลก ดังนั้นโลกจึงเป็นศูนย์กลางของเอกภพ

ความเชื่อนี้ได้ยืนยงมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 เมื่อ Nicolaus แห่งเมือง Cusa (ค.ศ.1401-1464) ได้เรียบเรียงตำราชื่อ “On Learned Ignorance” ซึ่งมีใจความว่า เอกภพมีขนาดกว้างใหญ่มโหฬารและไพศาลมากจนไม่มีใครสามารถวัดได้เลย ซึ่งนั่นก็หมายความว่า Nicolaus เชื่อว่า เอกภพไม่มีจุดศูนย์กลาง

หลังจากที่สำเร็จการศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัย Bologna แล้ว Copernicus ได้เดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Padua จนมีความรู้เรื่องการดูแลรักษาคนไข้ดีพอสมควร จึงเดินทางกลับบ้านเกิดในปี 1506 เพื่อเข้าทำงานในตำแหน่งเลขานุการของท่านบาทหลวงแห่ง Varmia ซึ่งก็คือน้าของ Copernicus เอง อีกหนึ่งปีต่อมา เมื่อท่านบาทหลวงละสังขาร Copernicus ซึ่งไม่ต้องการตำแหน่งบริหารใดๆ จึงได้ขอย้ายไปประจำการที่วิหารแห่งเมือง Frauenburg โดยมีหน้าที่รับผิดชอบการทำงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาทุกเรื่อง รวมถึงการต้องทำหน้าที่เป็นแพทย์รักษาคนไข้ด้วย ในยามว่าง Copernicus จะอ่านหนังสือดาราศาสตร์ และสังเกตดาวในท้องฟ้าจากหอคอยโบสถ์ในเวลากลางคืน

ชีวิตของ Copernicus ในช่วงนี้คือ ใช้เวลาอยู่คนเดียวครุ่นคิดอยู่ภายในบริเวณกำแพงโบสถ์ เพื่อจะได้หลุดพ้นจากความทุกข์ และหันไปทุ่มเทวิจัยค้นคว้าความลึกลับของสวรรค์แต่เพียงคนเดียว ทั้งนี้เพราะ Copernicus คิดว่า วิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่มีความลึกซึ้งและยากเกินกว่าที่สมองคนธรรมดาจะสามารถเข้าใจได้ ดังนั้น Copernicus จึงไม่ต้องการผู้ร่วมงาน การกีดกันของ Copernicus ทำนองนี้ เป็นไปในแนวเดียวกับ Plato ที่ได้เขียนคำจารึกที่ประตูสำนักของตนว่า “ห้ามคนที่ไม่รู้วิชาเรขาคณิตเดินผ่านเข้าสำนัก”

ลักษณะการทำงานที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ Copernicus คือ ชอบเสนอความคิดยิ่งกว่านำเสนอข้อมูล เพราะถือว่าความคิดรวบยอดมีความสำคัญยิ่งกว่าตัวเลข และคนที่จะเป็นอัจฉริยะ จะต้องเป็นคนที่สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้จากการพิจารณาข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น Copernicus จึงอาศัยการสังเกตของตน แล้วสร้างทฤษฎีของสุริยะจักรวาลขึ้นมา ส่วน Tycho Brahe นั้นยังไม่เป็นอัจฉริยะระดับสุดยอด เพราะแม้รู้ข้อมูลตำแหน่งของดาวอังคารอย่างละเอียด หลังจากที่ได้พยายามวัดเป็นเวลานานถึง 20 ปี แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่า วงโคจรของดาวอังคารและดาวเคราะห์ทุกดวงรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี จนกระทั่ง Johannes Kepler ได้ออกมาแถลงกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ในเวลาต่อมา

ในปี 1514 Copernicus ได้เขียนบทความสั้นๆ ชื่อ Little Commentary on the Hypothesis of Celestial Motions ซึ่งได้วิจารณ์เอกภพของ Ptolemy ว่าแบบจำลองนี้พยากรณ์ไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสังเกต Copernicus จึงเสนอความคิดเห็นใหม่ว่า

(1) ดาวเคราะห์ทุกดวงโคจรอบดวงอาทิตย์ ดังนั้น ดวงอาทิตย์จึงเป็นศูนย์กลางของเอกภพ
(2) ระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์สั้นกว่าระยะสูงของท้องฟ้า
(3) การที่เราเห็นดาวและดวงอาทิตย์ขึ้นและตก เพราะโลกหมุนรอบตัวเอง
(4) การสังเกตเห็นดาวเคราะห์บางดวงเคลื่อนที่ย้อนกลับ (retrograde) ไม่เท่ากัน เพราะดาวเคราะห์มีความเร็วไม่เท่ากัน

นอกจากนี้ Copernicus ก็ยังมีความเห็นอีกว่า การบังคับให้โลกเคลื่อนที่ ในขณะที่ดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์ทั้งหลายอยู่นิ่งนั้น เป็นเรื่องง่ายสำหรับพระเจ้ายิ่งกว่าการให้โลกอยู่นิ่ง แล้วให้ดวงดาวทั้งหลายโคจรรอบโลก เมื่อเขียนบทความแล้ว Copernicus ได้ส่งไปให้เพื่อนๆ อ่าน

เมื่อสถาบันศาสนาในโรมได้อ่านข้อเสนอนี้ องค์สันตะปาปา Leo ที่ 10 ทรงมีบัญชาให้พระคาร์ดินัลที่ทำงานถวายพระองค์เขียนจดหมายถึง Copernicus เพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติม เพราะข้อเสนอเกี่ยวกับโครงสร้างของเอกภพที่ Copernicus แถลงนี้ขัดแย้งกับสามัญสำนึกของคนทั่วไป และขัดกับคำสอนที่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลด้วย ดังที่ Martin Luther นักปฏิรูปสังคมผู้ยิ่งใหญ่ก็ได้ออกมาต่อต้าน Copernicus โดยอ้างว่า ในคัมภีร์ไบเบิลมีตอนหนึ่งที่เขียนไว้ว่า “Joshua ได้สั่งให้ดวงอาทิตย์หยุดเคลื่อนที่” นั่นแสดงว่าดวงอาทิตย์ตามปกติจะต้องเคลื่อนที่ ดังนั้นถ้า Copernicus อ้างว่า ดวงอาทิตย์อยู่นิ่ง นั่นหมายความว่า Copernicus กำลังกล่าวว่า คำสอนต่างๆ ในคัมภีร์ไบเบิลเป็นเรื่องเหลวไหล

ในประเด็นนี้ เราจะเห็นว่า Copernicus เชื่อว่า สามัญสำนึกมิสามารถบอกความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติได้ และความจริงในธรรมชาติอาจขัดแย้งกับความรู้สึกทั่วไปก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้นในบางครั้งความจริงดังกล่าวอาจเป็นสิ่งที่ตามองไม่เห็นด้วย เช่นแรงโน้มถ่วง หรือแรงไฟฟ้า ซึ่งมีจริงในธรรมชาติ แต่ตาเรามองไม่เห็น ดังนั้น เหตุการณ์ต่างๆ ที่เห็นแล้วไม่เข้าใจ จึงทำให้เรารู้สึกเสมือนว่า ธรรมชาติได้พยายามซ่อนเร้นความจริงไม่ให้มนุษย์พบได้โดยง่าย และคนที่จะพบความจริงได้จะต้องมีสติปัญญาที่สูงมาก จึงจะสามารถเห็นทะลุทะลวงภาพลวงตาทั้งหลายได้

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องไม่แปลกประหลาดที่ Copernicus จะถูกคนทั่วไป นักบวช และนักวิชาการทั้งหลายพากันต่อต้าน โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นคนจิตฟุ้งซ่าน การถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้ทำให้ Copernicus รู้สึกว่ายังไม่ต้องการจะตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานฉบับสมบูรณ์ เพราะเกรงจะถูกสถาบันศาสนาลงโทษด้วยข้อกล่าวหาว่า Copernicus ปฏิเสธศาสนา เพราะได้เคยกล่าวว่าคัมภีร์ไบเบิลสอนสิ่งที่เหลวไหลแบบไม่จริง จึงทำให้สถาบันศาสนาไม่เป็นที่เชื่อถืออีกต่อไป ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Copernicus ไม่ได้นำเสนอผลงานเต็มรูปแบบ คือ เขายังมีหลักฐานสนับสนุนไม่เพียงพอ เช่นไม่มีอุปกรณ์ใช้ตรวจสอบสำหรับดูข้างขึ้นข้างแรมของดาวศุกร์ และไม่มีวิธีที่ดีในการเห็นปรากฏการณ์ parallax ของดาวฤกษ์ เป็นต้น

ผลที่ตามมาคือ สังคมได้พากันประณาม Copernicus ว่าเป็นคนนอกรีต เป็นคนที่ต้องการล้มสถาบันศาสนา เป็นคนที่ไม่เห็นความสำคัญของมนุษย์ เพราะให้มนุษย์อยู่บนโลกที่ไม่เป็นจุดศูนย์กลางของเอกภพอีกต่อไป แต่ให้อยู่บนโลกที่เป็นดาวบริวารของดวงอาทิตย์

นี่จึงเป็นความขัดแย้งครั้งแรกระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสนา ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ Copernicus ได้พบองค์ความรู้ใหม่ ที่แสดงว่า คำสอนบางเรื่องของศาสนาไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีหลักฐานใดๆสนับสนุน แต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อและความศรัทธาเท่านั้น ในเวลาต่อมา เมื่อนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ศึกษาด้านธรณีวิทยา บรรพชีวินวิทยา ชีววิทยา จักรวาลวิทยา ฯลฯ ก็ล้วนได้พบองค์ความรู้ที่ขัดแย้งกับคำสอนต่างๆ ในคริสต์ศาสนามากขึ้น แต่ไม่กล้าตำหนิ และเปลี่ยนแปลงเพราะกลัวถูกพิพากษาโทษ ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์บางคนรู้สึกเสมือนว่า ถ้าวิทยาศาสตร์จะต้องเติบโต ศาสนาก็ต้องตาย

Copernicus ได้เก็บตัวทำงานต่อไปอย่างเงียบๆ และได้เขียนตำราชื่อ “On the Revolution of the Celestial Spheres” ซึ่งจะมีผลทำให้โลกสั่นสะเทือน และได้เรียบเรียงเสร็จก่อนปี 1530 แต่ยังไม่กล้าตีพิมพ์ เพราะเกรงจะถูกตุลาการศาสนาเรียกสอบสวน
ระบบสุริยะตามแนวคิด Nicolaus Copernicus
อีก 9 ปีต่อมา คือในปี 1539 ได้มีนักดาราศาสตร์หนุ่มคนหนึ่งชื่อ Georg Joachim Rheticus ซึ่งได้เดินทางมาพบ Copernicus เพื่อขอทำงานวิจัยดาราศาสตร์กับ Copernicusร่วมกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แต่กลับอยู่นานถึง 2 ปี

การเดินทางมาพบ Copernicus ของ Rheticus ในครั้งนั้นมีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์โลก เพราะยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับการพบปะระหว่างจักรพรรดิ Alexander กับพระอาจารย์ Aristotle ระหว่างนายพล Cortez กับกษัตริย์ Montezuma ระหว่างนักดาราศาสตร์ Johannes Kepler กับ Tycho Brahe ระหว่าง Edmond Halley กับ Isaac Newton และระหว่าง Karl Marx กับ Friedrich Engels เพราะหลังการพบ โลกได้เปลี่ยนแปลง

ในช่วงเวลาที่ Rheticus พำนักอยู่กับ Copernicus เขาได้ศึกษาผลงานต่างๆ ของ Copernicus ที่ยังซ่อนเร้นจากสายตาของโลกภายนอก แล้วได้เขียนรายงานส่งไปให้อาจารย์ชื่อ Johannes Schoemer อ่านในปี 1540 เพื่อเผยแพร่ภายใต้ชื่อว่า Narratio Prima โดยมีจุดมุ่งหมายจะอธิบายผลงานของ Copernicus ให้โลกภายนอกเข้าใจ

เพราะผลงานมีปริมาณมาก ดังนั้น Rheticus จึงส่งต้นฉบับทั้งหมดไปให้ Andreas Osiander ซึ่งเป็นนักบวชแห่งเมือง Nuremberg ในเยอรมนีจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม และนี่คือที่มาของหนังสือ De Revolutionibus ที่มี Osiander เป็นบรรณาธิการ

ในคำนำของหนังสือ Copernicus ได้แถลงเหตุผลที่ตนนำเสนอแนวคิดว่าเพราะได้รับแรงกระตุ้นจากพระคาร์ดินัลแห่ง Capua จากบิชอบแห่ง Klum และจากนักวิชาการอีกหลายท่าน แต่ไม่ได้เอ่ยถึง Rheticus เลย ซึ่งทำให้ Rheticus รู้สึกผิดหวัง ที่ตนเป็นหมอสูติฯ ให้ทารกมหัศจรรย์ได้คลอดออกมาดูโลก แต่บิดาทารกมิได้พูดถึงหมอเลย

เพราะ Copernicus รู้ดีว่าหนังสือมีเนื้อหาหลายตอนที่ขัดแย้งกับคำสอนในคัมภีร์ไบเบิล ดังนั้นเพื่อให้สถาบันศาสนาไม่ขุ่นเคือง เขาจึงเขียนคำนำอุทิศคุณความดีของหนังสือถวายต่อองค์สันตะปาปา Paul ที่ 3 แล้วให้ Osiander เป็นบรรณาธิการและผู้พิสูจน์อักษร Osiander ซึ่งรู้สัจธรรมในโลกเป็นอย่างดี จึงเขียนบทความในหน้าแรก แต่ไม่ลงนามผู้เขียน ในทำนองให้คนอ่านคิดว่าข้อความทั้งหลายที่ปรากฏในหนังสือเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ที่คนทุกคนต้องไม่คิดว่าเป็นเรื่องจริง การหลบเลี่ยงเช่นนี้ทำให้หนังสือของ Copernicus รอดพ้นจากการถูกสถาบันศาสนาประณามเป็นเวลานานถึง 73 ปี

ตำนานเล่าว่า เมื่อหนังสือได้รับการตีพิมพ์ในปี 1543 Copernicus กำลังจะสิ้นใจ Osiander จึงนำหนังสือเล่มแรกที่ตีพิมพ์ไปให้ Copernicus เห็น และถือในมือก่อนตาย

De Revolutionibus เป็นหนังสือที่อ่านเข้าใจยากมาก จนเชื่อกันว่า นักดาราศาสตร์ปัจจุบันไม่มีใครสามารถอ่านและเข้าใจตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะภาษาที่ Copernicus เขียนเป็นภาษาละติน และเป็นภาษาโบราณ จึงยากจนไม่มีใครต้องการจะอ่านต้นฉบับ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพราะนิสิตและอาจารย์มหาวิทยาลัยทุกวันนี้ไม่มีใครต้องการอ่านผลงานต้นฉบับของ Kepler, Newton, Carnot, Maxwell, Einstein หรือ Bohr เพราะทุกผลงานที่กล่าวมาล้วนอ่านยาก และต้องอาศัยการแปลเป็นภาษาที่อ่านง่าย รวมถึงต้องใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ที่เป็นปัจจุบันด้วย การสื่อสารจากผู้เขียนจึงจะถึงผู้อ่านอย่างสัมฤทธิผล

แม้แบบจำลองสุริยจักรวาลของ Copernicus จะเปลี่ยนแปลงความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับเอกภพอย่างมโหฬาร กระนั้นในเบื้องต้นหนังสือเล่มนี้ถูกนักวิชาการถากถางเยาะเย้ยและวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ แต่ก็ไม่ถูกใครกล่าวประณาม จนกระทั่งปี 1615 เมื่อ Galileo Galilei ใช้กล้องโทรทรรศน์ที่เขาประดิษฐ์ส่องดูสวรรค์ และยืนยันว่า คำสอนของ Copernicus ถูกต้องทุกประการ

อีกหนึ่งปีต่อมา หนังสือซึ่งเป็น Magnum Opus (Most Important Work) ของ Copernicus ก็ถูกสำนักวาติกันห้ามตีพิมพ์ซ้ำ ถูกห้ามนำไปเผยแพร่ ห้ามอ่าน ห้ามใช้สอน และห้ามเก็บในบ้าน เพราะเป็นหนังสือต้องห้ามที่จะต้องถูกกำจัดให้สิ้นซาก

ส่วน Galileo นั้นจะถูกบังคับให้ไม่เชื่อและไม่ให้สอนความรู้ที่ Copernicus พบ แต่ในปี 1632 Galileo ก็ได้ยืนยันอีกครั้งว่า คำสอนของ Copernicus ถูกต้องทุกประการ เขาจึงถูกตุลาการศาสนาลงโทษโดยสั่งให้กักบริเวณจนกระทั่งเสียชีวิต และในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น Johannes Kepler ก็ได้ออกมาแถลงว่า แบบจำลองของสุริยะจักรวาลตามแนวคิดของ Copernicus ถูกต้อง ดังในหนังสือ Epitome of Copernicus Astronomy ที่ Kepler เขียน Kepler ได้แถลงกฎการโคจรของดาวเคราะห์ (รวมทั้งโลก) รอบดวงอาทิตย์ และกฎทั้งสามของ Kepler นี้ ได้ชี้นำให้ Newton พบกฎการเคลื่อนที่และกฎแรงโน้มถ่วง ซึ่งได้ทำให้วิทยาศาสตร์เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สำหรับเหตุการณ์ต่อมาที่เกิดขึ้นกับหนังสือ De Revolutionibus ของ Copernicus นั้น คือในปี 1939 ได้มีความพยายามจะแปลตำรานี้เป็นภาษาอังกฤษ และผู้แปลได้พบว่ายากมาก และเมื่อตำรานี้เป็นตำราไอคอน (icon) ทางดาราศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่มาก จนเล่มที่ตีพิมพ์ครั้งแรกมีมูลค่าปัจจุบันสูงถึง 350,000 เหรียญ (ประมาณ 10 ล้านบาท)

ลุถึงปี 1976 Noel Swerdlow และ Otto Neugebauer ได้เรียบเรียงผลงานของ Copernicus เป็นภาษาอังกฤษปัจจุบันโดยใช้ชื่อว่า The Mathematical Astronomy of Copernicus’s De Revolutionibus ซึ่งได้อธิบายเนื้อหาอย่างค่อนข้างสมบูรณ์และอ่านง่าย

ณ วันนี้ Copernicus ผู้มีชื่อในภาษาโปแลนด์ว่า Mikolaj Kopernik และมีชื่อในภาษาเยอรมันว่า Niklas Koppernigk (ส่วนชื่อ Copernicus นั้นเป็นชื่อในภาษาละตินที่ Copernicus ใช้เรียกตนเอง) ได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของโลก

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.2009 ทีมนักฟิสิกส์แห่ง Gesellschaft für Schwerionenforschung ที่เมือง Darmstadt ในเยอรมนี ได้เสนอตั้งชื่อธาตุ 112 ที่พบใหม่ว่า copernicium (สัญลักษณ์ Cn) โดยให้เหตุผลว่า สถาบันวิจัยนี้ได้พบธาตุที่ 110 ชื่อ darmstadtium (สัญลักษณ์ Ds) ซึ่งเป็นชื่อของเมืองที่สถาบันตั้งอยู่ และธาตุที่ 108 ชื่อ hassium (สัญลักษณ์ Hs) ซึ่งเป็นชื่อของแคว้นที่สถาบันนี้ตั้งอยู่แล้ว มาคราวนี้สถาบันได้พบธาตุใหม่ จึงต้องการตั้งชื่อธาตุใหม่โดยใช้ชื่อที่คนทั้งโลกรู้จัก แม้จะเป็นชาวโปแลนด์ แต่ Copernicus ก็มีเชื้อชาติเยอรมัน

ดังนั้นเมื่อถึงวันเกิดครบ 537 ปี ของ Copernicus องค์กร International Union of Pure and Applied Chemistry จึงยอมรับชื่อที่สถาบันวิจัยไอออนหนักของเยอรมันเสนอให้เป็นชื่อของธาตุใหม่ เพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลผู้ใช้ปลายปากกายกโลกออกจากจุดศูนย์กลางของจักรวาล และสะบัดปากกาอีกครั้ง โลกกับดาวต่างๆ ก็หมุนรอบตัวเองและเคลื่อนที่

อ่านเพิ่มเติมจาก The Copernicus Revolution ของ T.S. Kuhn ที่จัดพิมพ์โดย Harvard University Press, Cambridge, Massachusetts ในปี 1957

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์

ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น