xs
xsm
sm
md
lg

“กุดจี่” กลิ้งมูลสัตว์ไปตาม “ทางช้างเผือก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถึงจะเป็นแมลงที่ดูต่ำต้อยด้อยค่า แต่รู้ไหมว่า “กุดจี่” อาศัยทางช้างเผือกเพื่ออ้างอิงในการหมุนมูลสัตว์ไปรอบๆ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาพบว่า แมลงรู้จักใช้ดวงดาวในการนำทาง เช่นเดียวกับคน นก หรือว่าแมวน้ำ

สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องด้วงขี้ควาย หรือ “กุดจี่” นี้ เป็นผลงานของ ดร.มารี ดัคเก (Marie Dacke) จากมหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University) สวีเดน โดยงานวิจัยของเธอตีพิมพ์ในวารสารเคอร์เรนท์ไบโอโลจี (Current Biology) ซึ่งเธออธิบายกับทางบีบีซีนิวส์ ว่า กุดจี่ไม่จำเป็นต้องหมุนตามหรือทำตัวตั้งฉากกับทางช้างเผือก เพียงแต่มันใช้กาแลกซีของเราเป็นจุดอ้างอิงเท่านั้น

ด้วงขี้ควายชอบวิ่งเป็นเส้นตรง เมื่อเจอกองมูลสัตว์เจ้าแมลงปีกแข็งชนิดนี้ก็จะปั้นเป็นกล้อนกลมๆ และเริ่มกลิ้งออกไปยังสู่ระยะที่ปลอดภัยเพื่อที่จะได้กินมูลสัตว์เหล่านั้น ซึ่งโดยปกติจะอยู่ใต้ดิน และการประคับประคองก้อนมูลสัตวืให้ดีเป็นเรื่องสำคัญ เพราะด้วงตัวอื่นจ้องจะขโมยมูลสัตว์อยู่เสมอ

ก่อนหน้านี้ ดร.ดัคเก ได้เผยว่า ด้วงขี้ควายสามารถรักษาแนวเป็นเส้นตรงได้ด้วยการติดตามดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ หรือแม้แต่ใช้แสงที่ออกมาเป็นทิศทางเดียวจากแหล่งกำเนิดแสงดังกล่าวในการอ้างอิงทิศทาง หากแต่เมื่ออยู่ในคืนไร้แสงจันทร์ด้วงขี้ควายก็ยังมีความสามารถหาทิศทางได้

ดร.ดัคเก ทำการทดลองโดยใช้ด้วงขี้ควายที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า สการาเบียสซาไทรัส (Scarabaeus satyrus) ซึ่งชาวพื้นเมืองแอฟริกาใต้ได้นำเข้าไปในท้องฟ้าจำลองเมืองโจฮันเนสเบิร์กของแอฟริกาใต้ ซึ่งในสถานที่ดังกล่าวทำให้ควบคุมได้ว่าจะใช้แสงจากดาวประเภทไหนทดลองกับด้วงขี้ควาย โดยทำให้แมลงปีกแข็งนี้เห็นแสงเหล่านั้นอยู่ด้านบนหัว

ที่สำคัญ เธอจับกุดจี่ใส่ในกล่องที่ทาสีดำทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่า แมลงปีกแข็งนี้ไม่ได้อาศัยข้อมูลจากจุดอ้างอิงอื่นๆ ในแนวระนาบเพื่อหาทิศ ซึ่งด้วงเหล่านั้นก็ทำหน้าที่ปกติได้ดีเยี่ยม เมื่อฉายภาพที่ดาวระยิบบนฟ้าภายในโดมท้องฟ้าจำลอง แต่ทำได้ดีเมื่อฉายให้เห็นแถบแสงของกาแลกซีทางช้างเผือกเท่านั้น ซึ่งเธอคิดว่าแถบแสงดังกล่าวมีความสำคัญมากกว่าเป็นแค่ “จุดแสง”

“ด้วงเหล่านี้มีตาประกอบ (compound eyes) โดยเป็นที่ทราบกันว่า ปูซึ่งมีตาประกอบเช่นเดียวกันนั้น สามารถมองเห็นดาวที่สว่างจ้าบางดวงบนท้องฟ้าได้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าด้วงขี้ควายก็อาจจะมองเห็นเช่นนั้นได้ แต่เราก็ยังไม่ทราบชัด ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่เรากำลังพิจารณา อย่างไรก็ดี เมื่อเราฉายให้ด้วงเราเห็นเฉพาะดาวที่สว่างที่สุด ปรากฏว่า พวกมันหลงทาง ดังนั้น จึงไม่ใช่แค่ดาวบางดวงที่ด้วงใช้เป็นจุดอ้างอิงในการหมุนตัว” ดร.ดัคเก บอกทางบีบีซีนิวส์

นอกจากนี้ ในการสำรวจภาคสนามเธอยังสังเกตเห็นว่า ด้วงวิ่งพล่านเมื่อทางช้างเผือกย้ายตำแหน่งไปอยู่บริเวณแนวขอบฟ้าในบางช่วงของปี แต่ก็มีคำถามอีกว่า มีสัตว์อื่นอีกมากแค่ไหนที่อาศัยดวงดาวในการนำทาง ซึ่งมีสิ่งบ่งชี้ว่ากบบางชนิดและแมงมุมใช้ดวงดาวเป็นจุดอ้างอิงในการหมุนตัว ซึ่งนักวิจัยลุนด์มั่นใจว่ายังมีสิ่งมีชีวิตอีกมากที่เป็นเช่นนี้ เพียงแต่นักวิทยาศาสตร์ต้องออกไปค้นหา








กำลังโหลดความคิดเห็น