xs
xsm
sm
md
lg

ชวนฟัง “มหัศจรรย์ความโน้มถ่วง” โดยนักฟิสิกส์จากเนเธอร์แลนด์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.แอริก เบิร์กฮอฟฟ์
31 ม.ค.นี้ จุฬาฯ ชวนฟัง “มหัศจรรย์ความโน้มถ่วง” โดยศาสตราจารย์จากเนเธอร์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีสตริง และความโน้มถ่วงที่ได้รับการยอมรับจากนักฟิสิกส์ทั่วโลก การบรรยายเป็นภาษษอังกฤษ เหมาะแก่ผู้ฟังที่มีพื้นความรู้ฟิสิกส์ระดับ ม.ปลายขึ้นไป

ผศ.ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูติ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แจ้งข่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า ในวันที่ 31 ม.ค.56 จะมีการเสวนาเรื่อง “มหัศจรรย์ความโน้มถ่วง” (How Does Gravity Work?) โดย ศ.แอริก เบิร์กฮอฟฟ์ (Prof. Eric Bergshoeff) แห่งมหาวิทยาลัยโกรนิงเกน (Groningen University) เนเธอร์แลนด์

เอกสารเชิญชวนเข้าฟังเสวนา ระบุว่า ในบรรดา “แรงธรรมชาติ” ทั้งหมด แรงโน้มถ่วงเป็นแรงที่เราส่วนใหญ่คุ้นเคย เพราะเป็นแรงที่ดูดตัวเราไว้กับพื้นดิน และทุกคนที่เรียนฟิสิกส์ ม.ปลายย่อมรู้จักกฎความโน้มถ่วงของเซอร์ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton) แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าแท้จริงแล้ว เรื่องราวของแรงโน้มถ่วงไม่ได้จบแค่บทเรียนมัธยม และมีความซับซ้อน มหัศจรรย์มากกว่าที่และยังไม่มีใครเข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ในการบรรยายครั้งนี้ ศ.เบิร์กฮอฟฟ์ จะบอกเล่าถึงปริศนาอันแสนมหัศจรรย์ของความโน้มถ่วง รวมถึงความพยายามของนักฟิสิกส์ทั่วทุกมุมโลกในค้นหาคำตอบของความลี้ลับนี้ ไล่ตั้งแต่ยุคของไอน์สไตน์มาจนถึงยุคของทฤษฎีสตริง รวมถึงพัฒนาการล่าสุดในการแก้ไขปริศนาที่อาจกุมกุญแจสู่ความเข้าใจในเรื่องของการกำเนิดและวิวัฒนาการของเอกภพ” จดหมายจาก ผศ.ดร.อรรถกฤต ระบุ

สำหรับ ศ.เบิร์กฮอฟฟ์ นั้นเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีสตริง (String Theory) และซูเปอร์กราวิตี (Super gravity) และได้รับการยอมรับมอย่างกว้างขวางในวงการฟิสิกส์ รวมถึงสร้างการค้นพบที่สำคัญหลายครั้ง โดยเขาเป็นหนึ่งในผู้ค้นพบองค์ประกอบพื้นฐานที่เรียกว่า “เบรน” (Brane) ในทฤษฎีซูเปอร์กราวิตี

“ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2530 ศ.เบิร์กฮอฟฟ์ และเพื่อนร่วมงานของเขา คือ อี เซซกิน (E.Sezgin) และ พีเค ทาวน์เซนด์ (P.K.Townsend) ได้ตีพิมพ์บทความชื่อ “Supermembranes and eleven dimensional supergravity” ในวารสารฟิสิกส์เลตเตอร์ส (Physics Letters) ซึ่งเป็นการพัฒนาทฤษฎีพื้นฐานอันใหม่ที่องค์ประกอบพื้นฐานมีลักษณะเป็น “เมมเบรน” (membrane) อันเป็นวัตถุที่มีลักษณะ 2 มิติ และ “เบรน” ซึ่งเป็นวัตถุที่มีจำนวนมิติมากขึ้นไปอีก”

“นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นักฟิสิกส์จึงได้ใช้ศัพท์คำว่า “เบรน” เพื่ออธิบายวัตถุที่มีจำนวนมิติต่างๆ กัน ซึ่งโดยปกติแล้วเรามักจะคุ้นเคยกับอวกาศสามมิติ แต่แนวคิดของทฤษฎีซูเปอร์กราวิตีนั้นจำกัดจำนวนมิติของกาลอวกาศ (spacetime) ไว้ที่ 11 มิติเลยทีเดียว ผลงานบุกเบิกของเขาและเพื่อนร่วมงานนี้ได้ส่งผลกระทบอย่างมากมายในวงการฟิสิกส์ทฤษฎีอนุภาคพลังงานสูงและจักรวาลวิทยา” ข้อมูลจาก ผศ.ดร.อรรถกฤต

การเสวนาดังกล่าวจะมีขึ้นในเวลา 16.30 น.วันที่ 31 ม.ค.56 ณ ห้อง 207 ชั้น 2 อาคารมหามกุฎ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สนใจและต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ผศ.ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูติ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อีเมล์ auttakit@sc.chula.ac.th หรือโทรศัพท์ 02-218-7550







กำลังโหลดความคิดเห็น