บ่ายวันนี้ (7 มิ.ย.) ได้คุยกับพี่ที่น่ารักมากคนหนึ่ง คุยกับพี่เขาสักพักจนมาถึงเรื่องฟิสิกส์ พี่เขาบอกว่า เคยเรียนฟิสิกส์ตอนชั้นมัธยมได้ดีครับ แต่พี่เขาบอกผมว่าแต่ไม่กล้าเรียน เพราะเรียนแล้วก็ไม่รู้จะไปทำอะไร
ผมสังเกตว่า แนวความคิดของวัยรุ่นไทย ตั้งแต่สมัยก่อนหน้าผมจนปัจจุบัน เมื่อจะสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยหรือชั้นอื่นๆ ต่อจากชั้นมัธยมศึกษา วัยรุ่นไทย (รวมตัวผมตอนนั้นด้วย)ทั่วไปมักคิดว่าการเรียนมหาวิทยาลัยเป็นการเรียนครั้งสุดท้ายในชีวิตแล้ว ก็เลยต้องเรียนวิชาที่ต้องนำไปใช้ประกอบอาชีพได้โดยตรงด้วยเหตุผลปัจจัยแวดล้อมต่างๆ นานากันไป
หลายๆ คนจึงมักถามคำถามนี้ก่อนคำถามอื่นๆ เลยครับว่าเรียนคณะนั้นคณะนี้แล้วจบไปจะไปทำอะไร
ความเชื่อที่ว่า การเรียนมหาวิทยาลัยเป็นการเรียนครั้งสุดท้ายในชีวิตนั้นน่าจะผิดครับ
การเรียนรู้มันเกิดได้เรื่อยๆ ตราบที่สมองเรายังทำงานอยู่ มีสติสัมปชัญญะอยู่
เมื่อเรียนจบไปสมัครงาน ก็จะมีช่องให้กรอกในใบสมัครงาน ถามถึงประสบการณ์การทำงานหรือกิจกรรมที่ทำระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย
แนวคิดของวัยรุ่นไทยจำนวนมาก ซึ่งก็รวมผมในตอนนั้นด้วย วันนี้ผมเพิ่งจะรู้สึกว่ามันดูแปลกๆ อยู่สองอย่างครับ
อย่างแรก วัยรุ่นที่รักเรียนเข้าใจว่าความรู้่เป็นสิ่งสำคัญมาก วัยรุ่นที่รักเรียนจำนวนมากลืมให้คุณค่ากับคำว่าประสบการณ์
อย่างที่สอง วัยรุ่นหลายคนคิดว่าจำนวนของอาชีพที่ใช้เลี้ยงตัวเองในอนาคตนั้นมีให้เลือกเป็นจำนวนหนึ่งที่ชัดเจน เช่น ค้าขาย เป็นหมอ เป็นครู เป็นนักวิจัย เป็นวิศวกร เป็นเกษตรกร เป็นพยาบาล เป็นตำรวจ ฯลฯ
จากนั้นก็เข้าใจว่า เราต้องมีความรู้เกี่ยวกับอาชีพนั้้นๆ จากการเรียนในวิชานั้้นจึงจะสามารถทำงานได้ และประกอบอาชีพการงานได้ ความคิดตีบแคบลง และเป็นการคิดลู่ไปตามสายพานการผลิตในอุตสาหกรรมการศึกษา
ตอนนี้ผมคิดว่า ประสบการณ์ชีวิตมีค่ามากเช่นเดียวกับที่ความรู้นั้นมีค่า ประสบการณ์ทำให้แก้ปัญหาที่เราเคยพบมาก่อนหน้านี้ได้รวดเร็ว และประสบการณ์ทำให้เราคาดการณ์สถานการณ์ที่ยังมาไม่ถึงได้ ตอนนี้ผมคิดว่า ในจักรวาลนี้มีวิธีการเอาตัวรอดได้อย่างไม่จำกัดวิธี และดังนั้นอาชีพที่เราจะมีเพื่อหาเลี้ยงปากท้องจึงมีเป็นจำนวนอนันต์อาชีพ
ดังนั้น การได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยจึงมิใช่การเรียนครั้งสุดท้ายเพื่อจะเอาความรู้ไปทำอาชีพเฉพาะอย่างเท่านั้น หากแต่การเรียนมหาวิทยาลัยได้อนุญาติให้เรามีอาชีพที่เป็นวิชาชีพเฉพาะได้
การนั่งฟังบรรยายโดยอาจารย์ที่อายุมากๆ เราก็อาจได้รับความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์นับสิบปีของคนรุ่นก่อนหน้าเราได้โดยที่ไม่ต้องรอไปหามาเอง
และทุกๆ วันถ้าเราช่างสังเกต ช่างอ่าน และที่สำคัญ ก็คือ ช่างคิด เราก็จะได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
ผมเปรียบเทียบสนุกๆ แบบสยองๆ ไว้สำหรับการศึกษาชั้นอุดมศึกษาว่า
พอเรียนจบชั้นปริญญาตรี วิชาความรู้ที่มีมันฝึกให้เรามี “เครื่องมือ” ในการคิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น เปรียบเช่น เราเป็นเด็กทารกที่มีแต่ส่วนหัว เราสามารถมองเห็นโลก รับเอาประสบการณ์ผ่านสายตาและหูเข้ามาในตัวเราได้ ความคิดของเรายังไม่แหลมคมนักเพราะยังขาดความรู้อีกระดับ
พอเรียนจบปริญญาโท เราก็มีส่วนท้องและลำตัว แต่ยังไม่มีแขนขา เรามีระบบย่อยอาหารที่จะทำให้สมองเราเติบโตได้ เราเริิ่มคิดได้มากขึ้น หู ตา เห็นได้ชัดขึ้นเพราะมีอาหาร แต่เราก็ยังแบเบาะที่เดิม
พอเรียนจบปริญญาเอก แขนขามันก็งอกออกมา เราเป็นทารกที่เริ่มเรียนรู้ที่จะคลานไปสำรวจดูห้องอื่นๆ ในบ้านของเรา รับเอาประสบการณ์และความรู้จากต่างสถานที่ ต่างผู้คน และแน่นอนว่าต่างแนวคิด จากนั้นเราก็ค่อยๆลุกขึ้นเดิน และจากนั้นก็วิ่ง เราก็ได้มีประสบการณ์มากขึ้น
นี่เป็นการเปรียบเทียบเล่นๆ ที่ไม่ได้คิดว่าจะถูกต้องอะไร
ผมได้เข้าใจว่า การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่วิธีการแบบเชิงเส้นตรง
ทารกที่มีแต่ส่วนหัวขยับตัวมองทิศอื่นๆ ไม่ได้ ได้แต่มองไปข้างหน้า ทารกมองสิ่งต่างๆ จากระยะใกล้ๆ แล้วค่อยๆ ไปไกลขึ้น เปรียบเช่นเด็กชั้นมัธยมศึกษาที่ได้เรียนในโรงเรียนที่มีหลักสูตรการสอนเป็นขั้นเป็นตอน
พอเรียนสูงขึ้้น ตัวก็ขยับได้มากขึ้น กลิ้งตัวไปได้บ้าง เจ้าทารกลองได้มองขวดนมจากหลายมุมมากขึ้น พอมีแขนขา ทารกก็ได้เดินไป มองขวดนมขวดเดิม จากหลายๆ มุม ยกมันขึ้นมาดูก็ได้ อยากเดินไปดูสิ่งๆ อื่นๆ ก็ได้ในหลายๆ ที่ และดูได้จากหลายๆ มุม
ผมเห็นด้วยที่การศึกษาระดับชั้นต้นเช่นมัธยมศึกษาจะมีการกำหนดในหลักสูตรว่าคาบที่หนึ่งต้องเรียนเรื่องนั้้นเรื่องนี้ก่อนที่จะไปเรียนเรื่องต่อๆ ไป เราคำนึงว่าเราต้องค่อยๆ ดูแลการเรียนรู้ของทารก เพราะทารกนั้นเรียนรู้และพยายามเลียนแบบได้รวดเร็วมาก เราจึงต้องสอนแบบเชิิงเส้น ไม่ให้หลงทางเข้ารกเข้าพง
แต่ในระดับชั้น “อุดมศึกษา” ขึ้นไปนั้้น ผู้เรียนมีลำตัวและแขนขาทางปัญญาในระดับหนึ่งที่จะเรียนรู้สิ่่งหนึ่งๆ การบรรยายในห้องเรียนอาจเป็นการประมวลย่อยจากประสบการณ์ของผู้สอนไปยังผู้เรียน การเริ่มเรียนศาสตร์ที่สูงขึ้นจึงอาจเริ่มมองจากมุมมองอื่นๆ ในหลากมุมได้
การบรรยายเรื่่องกฎของแก็สในฟิิสิกส์ชั้นปีที่ 2 ก็ไม่จำเป็นต้องเริ่่มจาก กฎของบอยล์ ก็ได้ แต่สามารถเริ่มได้จากพฤติกรรมเชิงสถิติของแก๊ส
การบรรยายเรื่องกฎของโอห์มในวิชาไฟฟ้ากระแสตรง อาจเริ่มจากแนวคิดของกฎคานกระดกแบบกฎข้อที่สองของนิวตันก็ได้
ผมได้สอนและได้เกี่ยวข้องกับการกรอกแบบฟอร์มกรอบมาตรฐาน TQF ในหลักสูตรชั้นอุดมศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่มีการระบุในแบบฟอร์มกรอบมาตรฐาน TQF ว่า คาบที่หนึ่งเราต้องสอนเรื่่องที่ระบุเรื่องนี้ในหลักสูตร คาบที่สองเราจะต้องบรรยายเรื่องนั้น และเมื่อเรียนไปแล้วผู้เรียนจะมีทักษะ วินัย หรือจริยธรรม คุณธรรมข้อใดเพิ่มขึ้นอย่างไร
ผมรู้สึกอึดอัดมาก ผมจำแนกความรู้สึกอึดอัดของผมเป็น 3 อย่าง คือ
หนึ่่ง ผมไม่เห็นว่า TQF จะทำให้จิตวิญญาณของการศึกษาไทยดีขึ้นได้อย่างไร รังแต่จะทำให้บุคลากรทางการศึกษาเสียเวลา เสียขวัญ เสียเสรีภาพ (ซึ่งเป็นดินสำหรับปลูกต้นไม้แห่งความเป็นเลิศ) เสียเวลาทำงานสร้างสรรค์ดีๆ และสุดท้ายผมก็เชื่อว่าไม่มีใครอ่านเอกสารหลักสูตรหนาปึ๊กที่ทำกองไว้นี้ มันเปลืองกระดาษ น่าจะใช้ห้องเก็บมากกว่าเดิม และทำให้มีขยะมากกว่าเดิม
สอง ผมรู้สึกโดนดูถูกดูแคลน ในสองแง่ คือ ในสมัยที่ผมเรียน มันยังไม่มีการวางกรอบมาตรฐานนี้ไว้ ผมสงสัยว่าผมสำเร็จการศึกษาจากระบบการศึกษาเดิมที่ไม่มีมาตรฐาน?
อีกแง่หนึ่งคือ ผมและเพื่อนอาจารย์หลายคนสอนหนังสือมาร่วมสิบกว่าปีแล้ว ก่อนหน้่าที่จะมีมาตรฐานนี้ การสอนของผมไม่ได้มาตรฐาน? ศิษย์ของผมก่อนที่จะมี TQF ก็ไม่มีมาตรฐาน?
สาม ผมแน่ใจว่าTQF เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นจากความกลัวล้วนๆ
เราทำตามอย่างต่างประเทศเพื่อย้อมใจตัวเอง ว่า เรามีมาตรฐานเกิดขึ้นแล้ว และเรากลัวว่าเราจะไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศอื่นๆ โดยลืมไปว่า ความรู้ คุณธรรม จิตวิญญาณการแสวงหาความรู้ มันเป็นคุณค่าความสุขมีได้จากการซาบซึ๊งในความรู้มันเป็น “ทิพย์” และความเป็นทิพย์มันเขียนกรอกในแบบประเมิน ประกันคุณภาพไม่ได้
กว่าจะรู้และตระหนักได้ว่าความรู้นั้นจะทำให้ผู่้เรียนคาบนั้น มีวินัย มีคุณธรรม มากขึ้นอย่างไร มันประเมินกันไม่ได้ในปลายภาคเรียนหรอก มันสั่งสม และหล่อหลอม จากประสบการณ์ต่างๆ ทั้งในและนอกห้องเรียน จนวันหนึ่งปัญญาจึงเกิด ตาจึงสว่าง (เช่น กรณีที่ผู้อ่านได้อ่านในบทความ ฟิสิกส์ไปทั่ว 101 เมื่อเดือนที่แล้ว) หากยังหล่อหลอมไม่พอ เราก็จะได้บัณฑิตที่เป็นคนที่มีความรู้แต่ไม่มีความคิด และไร้สำนึก สังคมไทยจะดีขึ้นได้เราต้องการเยาวชนที่เป็นคนดี เก่งและกล้า ในคนๆ เดียวกัน ไม่ใช่แค่เก่ง และไม่ใช่แค่ดีและเก่งครับ
จะบรรลุจุดนั้นได้เราต้องเลิกมองเด็กเป็นผลผลิตหรือกลุ่มตัวอย่างในสายพานการผลิตของระบบอุตสาหกรรมการศึกษา เราต้องไม่มองว่าอาจารย์ ครู เป็นอุปกรณ์การผลิต ตามลัทธิอุปกรณ์นิยม (instrumentalism) ที่เข้ามาในทฤษฎีองค์กรและทฤษฎีการศึกษาต่างๆ ซึ่งได้รับแนวคิดจากฟิสิกส์ก่อนยุค ค.ศ.1920
ผมไม่เชื่อว่า การสร้างแบบจำลองระบบสังคมในวิทยาศาสตร์สังคม (สังคมศาสตร์) โดยใช้ฟิสิกส์ยุคเก่าแบบ determinitism เช่น กฎของนิวตัน ทฤษฎีการไหล ระบบควบคุม จะทำนายสังคมที่เต็มไปด้วยการแพร่กระจายของข่าวสารได้ (ขออภัยผู้อ่านล่วงหน้า)
เลิกส่งเสริมให้เด็กเราลุ่มหลงในแข่งขัน การประกวดประชัน กันเถอะ เด็กเรานิยมการใช้ความรู้ทับถม อวดโอ้ หมิ่นน้ำใจคนอื่น ตักตวง อำนาจนิยม และใจคับแคบลงไปเรื่อยๆ
เราชี้และสอนให้เขาเห็นคุณค่าของความรู้ ขยันและมีความสุขที่จะเรียน
เป็นเด็กที่น่ารัก อ่อนน้อมแต่ไม่อ่อนข้อต่อสิ่งผิดต่อหลักการหรือจุดยืนที่ถูกต้อง
เรามองเด็กของเราเป็นคนที่มีเหตุผลและความหมาย มีสมองและหัวใจ ให้เขาเป็น คนดี เก่งและกล้า
มิใช่ มองเขาเป็นวัตถุดิบเข้าและจบออกจากมหาวิทยาลัยไปอุปกรณ์เพียงตัวหนึ่งในสังคม
**********************
เกี่ยวกับผู้เขียน
บุรินทร์ กำจัดภัย
สำเร็จการศึกษาด้านฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยาจากประเทศอังกฤษ
มีอาชีพเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎี ปัจจุบันทำงานวิจัยและสอนในฐานะอาจารย์ประจำที่สถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์ฯ วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน หรือ IF มหาวิทยาลัยนเรศวร
Perspective 7 เป็นบทความเกี่ยวกับทรรศนะของตัวผู้เขียนเองซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ ต่อธรรมชาติ สังคม และปรัชญา ทรรศนะเหล่านี้นำเสนอในหลายประเด็นผ่านหลายเรื่องราวจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองโดยผ่านเลนส์ตาของวิทยาศาสตร์
“สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าศีลธรรมและจารีต คือ สติและการรู้จักตัวตนของตัวเอง”