สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน - “ซินโครตรอน” เปิดบ้านต้อนรับเยาวชน “วันเด็กแห่งชาติ” พร้อมสัมผัสมหัศจรรย์กระจกใน “นิทรรศการภาพสะท้อน” ที่จัดขึ้นเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคอีสาน
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ตั้งของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย เปิดบ้านต้อนรับเด็กเยาชน เนื่องในวันเด็กแห่งชาติปี 2556 เพื่อสนับสนุนให้เด็กมีโอกาสเข้ามาศึกษาและสัมผัสความมหัศจรรย์ของกระจกใน “นิทรรศการภาพสะท้อน” ซึ่งจัดขึ้นเพียงแห่งเดียวในภูมิภาค เพื่อเป็นการเปิดโลกกว้างด้านวิทยาศาสตร์ ให้กับเยาวชนของชาติ พร้อมรับแจกของขวัญของรางวัลฟรีตลอดงาน
ศ.นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เปิดเผยว่า เด็กและเยาวชนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งหากเด็กและเยาวชนมีความรู้ที่กว้างขวาง โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์จะทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรด้านนี้เพิ่มขึ้น และทำให้มีการพัฒนาที่ทัดเทียมกับนานาประเทศได้ ในปีนี้ทางสถาบันจึงกำหนดจัดกิจกรรมเนื่องในวันเด็กแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยการเปิดบ้านต้อนรับเด็กและเยาวชนเข้ามารู้จักกับ “แสงซินโครตรอน” เพื่อกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนมีความสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น
“โซนที่มีการจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ได้ร่วมสนุก คือ โซน “นิทรรศการภาพสะท้อน” (Reflection Exhibition) ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในภาคอีสาน และเป็นนิทรรศการที่ใช้กระจกเป็นเนื้อหาหลัก นำเสนอในมุมของภาพสะท้อนที่ปรากฏจากกระจกในรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งเด็กๆ ที่เข้าชมจะได้เรียนรู้ถึง หลักการของแสง การสะท้อนของภาพและแสง ประวัติ ขั้นตอนการผลิต และพัฒนาการของกระจก การจัดแสดงกระจกรูปแบบต่างๆ รวมกว่า 25 รูปแบบ บนพื้นที่กว่า 650 ตารางเมตร” ศ.นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ ได้มีการจัดแสดงไว้ 3 โซนหลัก ได้แก่
โซนความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับแสง ในโซนนี้เด็กๆ จะได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแสง ซึ่งเราเห็นสิ่งต่างๆ ได้นั้นก็เพราะแสงมาตกกระทบกับวัตถุ ชิ้นงานที่อธิบายความรู้เกี่ยวกับแสง คือ ใยแก้วนำแสง, กระจกส่องดูผู้ต้องหา, ภาพลวงตา, ค้นฟ้าคว้าเพชร, กระปุกออมสินลวงตาและภาพ 3 มิติ
โซนปรากฏการณ์ภาพสะท้อนจากแสง โซนนี้มีการนำเสนอการศึกษาถึงประวัติการค้นพบกระจกและขั้นตอนการผลิตส่วนประกอบ ประเภท และการสะท้อนภาพของกระจก ชิ้นงานในโซนนี้สร้างสรรค์จากสิ่งที่ได้จากการสะท้อนของกระจก เช่น ศีรษะมายา, กระจกสร้างภาพ, ไม้กวาดเหินเวหา, เขาวงกตมายา และแท่นกระจกไม่รู้จบ เป็นต้น
โซนเลื่อมพรายสายรุ้ง สิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่มีลักษณะปรากฏคล้ายกระจกในตัวของมัน ด้วยความสวยงามจากสีสันของกระจกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เราเรียกกระจกในสิ่งมีชีวิตว่า “เลื่อมพรายสายรุ้ง” (Iridescent Wilderness) เช่น ปีกผีเสื้อ แมลงทับ หอยมุก หางปลากัด ผิวหนังของงู และเส้นผมมนุษย์ เป็นต้น
“ขอเชิญชวน เด็ก เยาวชน และผู้ปกครอง เข้ามาเที่ยวชมและสัมผัสกับ “นิทรรศการภาพสะท้อน” ในงานวันเด็กแห่งชาติ ปี 2556 วันเสาร์ที่ 12 มกราคม 2556 เวลา 08.00 - 16.00 น. ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พร้อมรับของขวัญของรางวัลมากมาย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เชิญชวน