xs
xsm
sm
md
lg

โลกงามๆ ยามค่ำคืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Black Marble โลกในยามค่ำคืนจากดาวเทียมซูโอมิ (บีบีซีนิวส์/นาซา/โนอา)


ยืนยันความสวยงามของโลกอีกครั้งด้วยภาพจากดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา “ซูโอมิ” ในยามค่ำคืน ที่ประกอบขึ้นจากภาพถ่ายโลกอันปราศจากเมฆบดบัง อวดลวดลาย “หินอ่อนดำ” ที่งดงาม

ภาพของโลกงามค่ำคืนดังกล่าวประกอบขึ้นจากภาพถ่ายปราศจากเมฆที่บันทึกโดยดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา “ซูโอมิ” (Suomi) หนึ่งในดาวเทียมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดที่โคจรอยู่บนท้องฟ้าในตอนนี้ ซึ่งดาวเทียมดวงนี้ถูกตั้งชื่อตาม “เวอร์เนอร์ อี.ซูโอมิ” (Verner E. Suomi) นักอุตุนิยมวิทยาผู้ล่วงลับจากมหาวิทยาลัยวิสคันซิน (University of Wisconsin) สหรัฐฯ เพื่อเป็นเกียรติในฐานะ “บิดาแห่งดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา” โดยถูกส่งขึ้นไปโคจรเมื่อปีที่ผ่านมา

ซูโอมิเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) กับองค์การสมุทรศาสตร์และบรรยากาศสหรัฐ (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) ซึ่งหน้าที่หลักของดาวเทียมดวงนี้คือส่งข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยากลับมายังโลก ส่วนภาพโลกยามค่ำคืนที่ได้ชื่อว่า “แบล็คมาร์เบิล” (Black Marble) นี้เป็นผลพลอยได้ ซึ่งบีบีซีนิวส์ระบุว่าเป็นภาพจากชุดข้อมูลที่แสดงถึงประสิทธิภาพของอุปกรณ์ไวแสงชื่อ VIIRS ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมสำคัญของดาวเทียมซูโอมิ

VIIRS อุปกรณ์บันทึกแสงย่านอินฟราเรดสามารถแยกช่วงคลื่นปรากฏการณ์ต่างๆ ที่นักพยากรณ์อากาศให้ความสนใจได้ แม้ว่าจะเข้าไปอยู่ในด้านกลางคืนของโลก เช่น ช่วงคลื่นของเมฆ หิมะ หมอก เป็นต้น โดยสิ่งที่จำเป็นในการทำงานของอุปกรณ์ชิ้นนี้คือแสงสว่างจากดวงจันทร์

หากไม่มีแสงจันทร์ VIIRS บนดาวเทียมก็ยังคงตรวจจับสิ่งที่อยู่เบื้องล่างได้จากการเรืองแสงยามกลางคืนของชั้นบรรยากาศ และแน่นอนว่าอุปกร์ณนี้สามารถจับภาพแสงจากเมืองต่างๆ บนโลกได้ โดยภาพล่าสุดนี้เปิดเผยภายในการประชุมประจำฤดูใบไม้ร่วงของสหพันธ์ธรณีวิทยาอเมริกัน (American Geophysical Union: AGU) ซึ่งเป็นการประชุมที่รวมนักวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ (Earth scientist) ไว้มากที่สุด

การบันทึกภาพของ VIIRS นั้นต่างจากกล้องทั่วไปที่จะจับภาพทั้งหมดจากการเปิดรับแสงครั้งเดียว แต่จะผลิตภาพจากสแกนภาพซ้ำๆ และแปลงให้เป็นจุดภาพแยกเดี่ยวนับล้านจุด จากนั้นระบบจะตรวจสอบปริมาณแสงในแต่ละจุดภาพ ห่างสว่างมากก็จะปรับไม่ให้แสงสว่างเกิน แต่หากจุดภาพนั้นมืดเกินก็ขยายสัญญาณแสงให้มากขึ้น

บีบีซีนิวส์ระบุว่ากองทัพสหรัฐฯ พยายามพัฒนาดาวเทียมที่มีเซนเซอร์ไวแสงในที่มืดมาหลายทศวรรษ แต่จากการนำเสนอภายในการประชุมของนักวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ ทั้งนาซาและโนอาเผยว่า อุปกรณ์ VIIRS นั้นมีความสามารถที่สูงขึ้นอีกขั้นของดาวเทียมกองทัพ และหนึ่งในภาพสังเกตการ์ณที่สำคัญจากดาวเทียมซูโอมิคือการเฝ้าดูเฮอร์ริเคนแซนดี (Hurricane Sandy) ที่ทำให้เกิดดินถล่มในสหรัฐฯ เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
ภาพเฮอร์ริเคนแซนดีจากดาวเทียมซูโอมิ ที่ช่วยให้นักอุตุนิยมวิทยาติดตามพายุลูกนี้ได้ในทุกย่านความถี่ (บีบีซีนิวส์/นาซา/โนอา)
ลอนดอนยามค่ำคืนจากดาวเทียมซูโอมิ (บีบีซีนิวส์/โนอา/นาซา)








กำลังโหลดความคิดเห็น