xs
xsm
sm
md
lg

ยกระดับ “ปลาเทราต์” ในพระราชดำริจากดอยอินทนนท์สู่มาตรฐาน GMP

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บ่อเพาะเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์ในศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด
นับเป็นความสำเร็จของสถานีวิจัยประมงน้ำจืดภายในสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ที่สามารถเพาะพันธุ์ “ปลาเรนโบว์เทราต์” สัตว์น้ำเมืองหนาวได้บนดอยอินทนนท์ที่มีอากาศหนาวเย็นทั้งปี และได้ผลผลิตจำหน่ายเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ถึงปีละ 20 ตัน และก้าวต่อไปคือการยกระดับการแปรรูปอาหารสู่มาตรฐาน GMP

นายสมชาย เขียวแดง ผู้อำนวยการสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ กล่าวถึงการวิจัยปลาเรนโบว์เทราต์ภายในสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ซึ่งเป็น 1 ใน 38 สถานีของมูลนิธิโครงการหลวงว่า มีการเริ่มวิจัยตั้งแต่ปี 2541 โดยนำเข้าไข่ปลาชนิดนี้จากเยอรมนีมาเพาะขยายพันธุ์ แต่ล้มเหลวอยู่หลายครั้งกว่าจะฟักไข่ปลาให้เป็นตัวและเพาะเลี้ยงได้

ทางด้าน นายสานนท์ น้อยชื่น นักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ของสถานีวิจัยประมงน้ำจืดพื้นที่สูงอินทนนท์ ให้ข้อมูลว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้ทำวิจัยปลากดอเมริกัน ปลาเรนโบว์เทราต์ และปลาสเตอร์เจียนบนดอยอินทนนท์เพราะมอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ ปลาเรนโบว์เทราต์เป็นปลากินเนื้อ และเป็นปลาโบราณที่มีอายุยืนถึง 50 ปี อาศัยอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิระหว่าง 5-25 องศาเซลเซียส แต่จากการวิจัยนายสานนท์ระบุว่า ช่วงอุณหภูมิที่ปลาเรนโบว์เจริญเติบโตได้ดีที่สุดในช่วงอุณหภูมิ 18-20 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 1 ปีก็สามารถจับมาจำหน่ายได้

“เริ่มจำหน่ายได้เมื่อปี 2547 ขายได้ปีละ 60,000-80,000 ตัวต่อปี แต่ถือว่าน้อยเพราะมีพื้นที่จำกัด มีบ่อเพาะเลี้ยงเพียง 40 บ่อ จำนวนที่ผลิตได้ส่งขายให้โรงแรมในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ แต่ไม่พอขาย เลยต้องวิจัยเพาะขยายพันธุ์ในบ่อที่มีอุณหภูมิน้ำแตกต่างกัน เพื่อขยายการเพาะเลี้ยงไปที่อื่น” นายสานนท์ระบุ

ส่วน ผอ.สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ให้ข้อมูลเสริมว่า เมื่อปี 2554 จำหน่ายปลาเรนโบว์เทราต์ไปทั้งหมด 200,000 ตัว โดยในจำนวนนั้นครึ่งหนึ่งจำหน่ายภายร้านอาหารของสโมสรสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ และมีจำหน่ายเฉพาะช่วงเดือน พ.ย.-เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่สามารถจับปลาเรนโบว์เทราต์ขึ้นมาจำหน่ายได้ และหลังจากนั้นก็ไม่มีปลาจำหน่าย

นายสมชายกล่าวว่าโดยลูกค้าที่รับซื้อปลาเรนโบว์ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับห้าดาวในกรุงเทพฯ บางรายเป็นสายการบินระดับชาติ และร้านอาหารชื่อดัง ซึ่งต่างมีความต้องการปลาเรนโบว์แปรรูปที่แตกต่างกัน เช่น บางรายต้องการ 1 ชิ้นไม่เกิน 100 กรัม บางรายต้องการแบบไม่มีหัว ไม่มีหาง ไม่มีก้าง เป็นต้น

“ช่วงแรกเราใช้แรงงานคนแล่เนื้อ ใช้คีมดึงก้าง แต่เป็นวิธีที่ไม่ผ่านมาตรฐาน และปัจจุบันมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและการควบคุมขององค์การอาหารและยา ทำให้ต้องกลับมาทบทวนถึงมาตรฐานการผลิต” นายสมชายกล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้เข้าไปให้คำแนะนำสถานีวิจัยประมงน้ำจืดพื้นที่สูงอินทนนท์ด้านการออกแบบและสร้างห้องแปรรูปปลาเรนโบว์เทราต์ เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการผลิตอาหาร GMP (Good Manufacturing Practice) โดยอยู่ในช่วงดำเนินการ ซึ่งนายสมชายคาดว่าจะได้รับมาตรฐานในอีก 3-4 ปี ขณะที่ลูกค้าก็เข้าใจถึงข้อจำกัดนี้

ด้านนายชายกร สินธุสัย นักวิชาการหน่วยบริการเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชนบท ไบโอเทค กล่าวว่า ขณะนี้การดำเนินการสู่มาตรฐาน GMP ยังอยู่ในการดำเนินการขั้นต้น ซึ่งได้เริ่มออกแบบโรงเรือนสำหรับการแปรรูปปลาเรนโบว์เทราต์ และในปลายปี 2556 คาดว่าสิ่งก่อสร้างจะแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะต้องอบรมเจ้าหน้าที่ให้เข้าใจถึงสุขลักษณะของการผลิตอาหารให้ได้มาตรฐาน

นอกจากปลาเรนโบว์เทราต์แล้วทางสถานีวิจัยประมงน้ำจืดยังวิจัยเพาะพันธุ์ปลาสเตอร์เจียนเพื่อนำ “ไข่” มาผลิตคาเวียร์ แต่ปลาสเตอ์เจียนจะให้ไข่ได้เมื่ออายุ 7 แต่อายุที่ให้ไข่สำหรับผลิตคาเวียร์คุณภาพดีคือ 12 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ดี นายสมชายกล่าวว่าทางสถานีกำลังวิจัยเพื่อให้ปลาออกไข่ในอายุที่น้อยลง โดยทดลองเลี้ยงปลาในห้องมืดและมีอากาศเย็น แต่ยังต้องศึกษาต่อว่าไข่ที่ได้จะให้คาเวียร์ที่ดีหรือไม่
ปลาเรนโบว์เทราต์ในบ่อเพาะเลี้ยง
นายสมชาย เขียวแดง ผู้อำนวยการสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์
นายชายกร สินธุสัย






กำลังโหลดความคิดเห็น