xs
xsm
sm
md
lg

จีนพบฟอสซิลปลา 400 ล้านปี เชื่อมทฤษฎีวิวัฒนาการครั้งสำคัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพกราฟิกจำลองใบหน้าของปลาเกราะดึกดำบรรพ์ จากหลักฐานฟอสซิลที่คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ในจีนพบครั้งล่าสุด (ภาพเอเอฟพี)
รอยเตอร์ส รายงาน (26 ก.ย.) การศึกษาวิจัยของคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ในจีน ที่เผยการค้นพบ ฟอสซิลปลาโบราณคำนวณอายุได้กว่า 419 ล้านปี ซึ่งสามารถเชื่อมต่อทฤษฎีวิวัฒนาการของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ที่ยังขาดช่วงหายไป

รายงานของวารสารเนเจอร์ (Nature) ระบุเมื่อวันพฤหัสบดี (25 ก.ย.) ว่า ฟอสซิลปลาดึกดำบรรพ์นี้พบที่ อ่างเก็บน้ำเสี่ยวซิง ประเทศจีน นับเป็นโครงกระดูกของสัตว์น้ำมีกระดูกสันหลังดั้งเดิมที่สุดที่เคยค้นพบ โดยมีขากรรไกรรวมถึงกระดูกฐานฟันที่เป็นโครงสร้างเช่นเดียวกับที่พบในมนุษย์

จอห์น ลอง ศาสตราจารย์ภาควิชาสัตว์และพืชดึกดำบรรพ์ ที่มหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส (Flinders University) ในแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า ในที่สุดเราก็สามารถหารอยต่อเพื่อสืบค้นวิวัฒนาการของปลาในยุคโบราณ ซึ่งมีเกราะ และเคลื่อนไหวช้า อีกทั้งสืบพันธุ์ยากกว่า นอกจากนั้นยังไม่สามารถผลัดฟันให้คมอยู่ตลอดได้อย่างปลานักล่ายุคหลังเช่นฉลามผู้เข้ามาแทนที่

นักวิทยาศาสตร์ต้องประหลาดใจที่พบว่า ฟอสซิลปลาเกราะ (Entelognathus primordialis) ที่ค้นพบนี้ เป็นสายพันธุ์เดียวกันกับ ตระกูลปลาพลาโคเดิร์ม (Placoderm) ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว โดยมีกะโหลกศีรษะเล็ก ๆ ที่ซับซ้อนและกระดูกขากรรไกร อันเป็นหลักฐานพิสูจน์หักล้างทฤษฎีก่อนหน้า ที่ว่าสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังสมัยใหม่นั้น ได้วิวัฒนาการมาจากสิ่งมีชีวิตเหมือนปลาฉลาม ขณะที่ให้ข้อมูลที่ขาดหายไปจากความรู้ความเข้าใจ ด้วยเป็นหลักฐานยืนยัน ต้นสายวิวัฒนาการของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังทั้งกระดูกและกระดูกอ่อนก่อนหน้ายุคของฉลาม

จอห์น ลอง กล่าวว่า เวลานี้เราได้รู้แล้วว่า ปลาเกราะดึกดำบรรพ์นี้ เป็นวิวัฒนาการของปลายุคใหม่ และว่าการค้นพบฟอสซิลปลานี้ มีความหมายสำคัญ ต่อความรู้ความเข้าใจวิวัฒนาการมากพอๆ กับการค้นพบฟอสซิล ของ อาร์คีออปเทอริกซ์ (Archaeopteryx) อันว่าด้วยการส่งผ่านวิวัฒนาการจากไดโนเสาร์สู่นก กับ ฟอสซิลลูซี่ (Lucy) ซึ่งไขปริศนาเกี่ยวข้องกับทฤษฎีวิวัฒนาการของมนุษย์

แบบจำลองฯ กะโหลกศีรษะปลาเกราะ ซึ่งเป็นปลายุคก่อนประวัติศาสตร์ในชั้น Placoderm ซึ่งปัจจุบันสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว (ภาพเอเยนซี)
ภาพวาดปลาเกราะดึกดำบรรพ์ ซึ่งมีเกราะทั้งบริเวณส่วนหัวและลำตัว ที่ผู้เชี่ยวชาญสัตว์ดึกดำบรรพ์ เชื่อว่าเป็นต้นตระกูลวิวัฒนาการของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ในยุคต่อมา (ภาพเอเยนซี)
กำลังโหลดความคิดเห็น