xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักไหม?...“ต้นผึ้ง” มีหนึ่งเดียวที่ราชบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ต้นผึ้งอายุนับร้อยปีโตอยู่ใกล้ห้วยกลางทุ่งนาใน อ.สวนผึ้ง ต้องใช้หลายคนโอบ
มีใครรู้จักบ้าง “ต้นผึ้ง” ไม้ใหญ่ตระกูลไทรที่อยู่อาศัยของ “ผึ้งหลวง” และมีอยู่เฉพาะใน จ.ราชบุรี ในอดีตเล่ากันว่าเมื่อครั้งสภาพแวดล้อมยังไม่เสื่อมโทรม ต้นผึ้งมีอยู่มากมายใน อ.สวนผึ้ง และมีผึ้งหลวงมาอาศัยอยู่รวมกันนับร้อยๆ รัง แต่ตอนนี้มีให้เห็นไม่ถึง 30 ต้น

“ต้นผึ้ง” เป็นไม้เนื้ออ่อนตระกูลไทร มีลักษณะสูงใหญ่ ลำต้นสีขาวนวลและมีผิวเรียบ มีกิ่งก้านที่แผ่กว้าง โดย ดร.อรวรรณ ดวงภักดี อาจารย์และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผู้ศึกษาเรื่องผึ้งในไทยมากว่า 13 ปี อธิบายว่า ต้นผึ้งได้ชื่อนี้มาเพราะเป็นต้นไม้ที่ผึ้งหลวงมาทำรังอาศัยอยู่จำนวนมาก และมีข้อมูลว่าบางต้นมีรังผึ้งมากถึง 300 รัง

แดนดงดิบเต็มไปด้วยต้นไม้ถิ่นอาศัยของผึ้ง

จากการเข้าไปสำรวจ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่ง ดร.อรววรณ คาดว่า จะได้พบต้นผึ้งมากมายสมกับที่ถูกนำมาตั้งเป็นชื่ออำเภอ แต่จากการสำรวจในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า นอกป่าอนุรักษ์มีต้นผึ้งเพียง 27 ต้นเท่านั้น และต้นที่สมบูรณ์เหมาะสมแก่การทำรังของผึ้งกลับมีอยู่แค่ 10 กว่าต้นเท่านั้น

“สวนผึ้งในอดีตเป็นป่าดงดิบ มีต้นไม้ที่ผึ้งหลวงมาเกาะทำรัง พอคนเข้ามาก็เหมือนเข้ามาในพื้นที่ของผึ้ง จึงเป็นที่มาของชื่ออำเภอ เมื่อก่อนพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ผลิตน้ำผึ้งส่งบรรณาการ และเคยเห็นว่าต้นผึ้งในป่าที่ต้องใช้เวลาเดินเท้าเข้าไปหลายวันนั้น ต้นผึ้ง 1 ต้นมีผึ้งหลวงมาทำรังกว่า 300 รัง โดยรังหนึ่งนั้นกว้างได้ถึง 2 เมตร ยาวถึง 1 เมตร ส่วนผึ้งหลวงมีขนาดใหญ่มากและเล็กกว่าตัวต่อเล็กน้อย” ดร.อรวรรณ กล่าว

ปัจจัยที่ทำให้ต้นผึ้งลดลงมีทั้งปัญหาไฟป่าที่รุนแรงจนทำให้ไม้ใหญ่ล้มได้ การขยายตัวของสิ่งปลูกสร้างและการรีสอร์ท ที่ทำให้ต้นผึ้งถูกตัดทิ้ง การทำไร่เลื่อนลอย รวมถึงสารพิษทั้งจากยาฆ่าแมลงและขยะชุมชน ซึ่งไหลซึมไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ต้นผึ้งที่มีพฤติกรรมชอบอยู่ใกล้ลำน้ำ (แต่ไม่อยู่ริมน้ำ) ดูดซึมสารพิษเรื่อยๆ และยืนต้นตายในที่สุด

“ต้นผึ้ง” จุดพบรักของ “ผึ้งหลวง”

การลดลงของจำนวนต้นผึ้งย่อมส่งผลกระทบต่อจำนวนผึ้งหลวง ซึ่ง ดร.อรวรรณ อธิบายว่า ต้นผึ้งนั้นเป็นจุดนัดพบในการผสมพันธุ์เพื่อขยายรังของผึ้ง โดยผึ้งหลวงจะมีการอพยพย้ายรังไปตามที่ต่างๆ แต่จะกลับมายังรังเดิมที่เคยอยู่เพื่อขยายพันธุ์

เมื่อมีการขยายรังจาก 1 รัง เป็น 2 รัง นางพญาเก่าจะนำผึ้งงานจำนวนย้ายไปสร้างรังใหม่ ส่วนนางพญาตัวใหม่ที่เติบโตจากการเลี้ยงของผึ้งงานด้วยการป้อน “น้ำนมผึ้ง” จะอยู่ขยายพันธุ์ที่รังเดิม โดยนางพญาเก่าจะวางไข่เพื่อสร้าง “ว่าที่นางพญา” ขึ้นมาหลายสิบตัว และว่าที่นางพญานี้จะสู้กันจนตาย ซึ่งตัวที่แข็งแรงที่สุดจะได้ครองรังและทำหน้าที่ขยายรังต่อไป

นางพญาใหม่ที่ได้ครองจะบินไปผสมพันธุ์กลางอากาศกับผึ้งตัวผู้นับร้อยตัว และเก็บน้ำเชื้อเหล่านั้นเพื่อวางไข่ไปตลอดชีวิต นางพญาผึ้งจะมีขนาดใหญ่กว่าผึ้งงานถึง 3 เท่า มีอายุยาว 3 ปี ส่วนผึ้งงานซึ่งเป็นตัวเมียจะมีอายุสั้นเพียง 3 เดือน ขณะที่ผึ้งตัวผู้จะตายหลังจากผสมพันธุ์กับนางพญาแล้ว

เหตุผลที่ผึ้งหลวงชอบอาศัยอยู่บนต้นผึ้งนั้น ดร.อรวรรณ อธิบายว่า ด้วยลักษณะของต้นผึ้งที่สูงใหญ่และมีแผ่กิ่งก้านที่ระดับสูงมาก อีกทั้งกิ่งยังแผ่กว้างได้ถึง 20 เมตร เป็นสิ่งที่ผึ้งชอบ เพราะวิวัฒนาการของผึ้งมาคู่กับหมี หมีนั้นปีนต้นไม้ได้สูง ผึ้งจึงต้องหาต้นไม้สูงๆ ที่หมีปีนไม่ไหว

ผึ้งพันธุ์มีปัญหา “ตายยกรัง”

ดร.อรวรรณ กล่าวว่า จากที่มีการศึกษาพบว่าผึ้งที่อาศัยอยู่บนต้นผึ้งเดียวกันนับร้อย 100 รังนั้นไม่ใช่ญาติพี่น้องกัน ทำให้ผึ้งมีความหลากหลายทางสายพันธุ์ และทำให้พันธุกรรมมีความยั่งยืน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กำลังหันหลับมาศึกษาวิธีสร้างภูมิคุ้มกันใหแก่ผึ้ง เนื่องจาก “ผึ้งพันธุ์” ที่นำมาเลี้ยงผลิตน้ำผึ้งนานนับ 100 ปีนั้น เริ่มมีปัญหา “ตายยกรัง”

สำหรับผึ้งพันธุ์นั้นมีความหลากหลายทางพันธุกรรมน้อย จึงเกิดการตายยกรัง โดยในยุโรปพบปัญหาผึ้งตายยกรังแล้ว 5-6 ล้านรัง ซึ่งอนาคตจะเกิดขึ้นกับผึ้งเลี้ยงในไทยเพราะมีพันธุ์มาจากแหล่งเดียวกัน ซึ่งมีการคัดพันธุ์เมื่อประมาณ 200 ปีก่อนในยุโรป โดยน้ำผึ้งในตลาดกว่า 80% นั้นได้มาจากผึ้งพันธุ์ สำหรับผึ้งสายพันธุ์ไทยที่ให้น้ำผึ้งนั้นมีอยู่ 4 พันธุ์ คือ ผึ้งหลวง ผึ้งโพรง ผึ้งมิ้ม และผึ้งมิ้มเล็ก ขณะที่ทั่วโลกมีผึ้งทั้งหมด 11 ชนิด

เหลือน้ำผึ้งให้ผึ้งกินบ้าง

พร้อมกันนี้ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ยังได้เดินทางไปดูต้นผึ้งในเขตทุ่งนาของชาวบ้านใน อ.สวนผึ้ง ซึ่งเป็นต้นผึ้งที่คาดว่ามีอายุร่วม 100 ปี โดย สกล คุณาพิทักษ์ อายุ 58 ปี ผู้เป็นกำนัน ต.สวนผึ้ง กล่าวว่า เมื่อก่อนใครเจอต้นผึ้งก่อนก็จะได้สิทธิ์จับจองเป็นเจ้าของในการตีรังผึ้ง ซึ่งจะมีการทำทำบันไดปีนขึ้น จากนั้นใช้อุปกรณ์ที่ทำจากเถาวัลย์กวาดตัวผึ้งลงมา และแบ่งเก็บเป็น 2 ช่วง ตัวอ่อนผึ้งจะถูกโยนลงพื้น ส่วนน้ำหวานจะถูกเก็บใส่ปี๊บแล้วค่อยนำลงมา แต่ในอดีตนั้นต้องเข้าไปหาต้นผึ้งและรังผึ้งในป่า ซึ่งบางต้นมีมากถึง 50 รัง

ดร.อรวรรณ กล่าวว่า ตอนนี้มีกลุ่มอนุรักษ์ที่สามารถขยายพันธุ์ต้นผึ้งจากเมล็ดได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเมล็ดที่เพาะได้นั้นต้องเกิดในปีที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น เป็นเมล็ดในปีที่แล้งจัด หรือเป็นเมล็ดที่เกิดในช่วงไฟป่า ซึ่งเป็นธรรมชาติของต้นไม้ที่จะให้เมล็ดที่แข็งแรงและเจริญเติบโตง่ายเมื่ออยู่ในภาวะมีภัย และตอนนี้ทาง มจธ.ได้เพาะพันธุ์ต้นผึ้งไว้กว่า 100 ต้น โดยปลูกไว้ที่วิทยาเขตราชบุรี

“การสูญสิ้นต้นผึ้งและผึ้งหลวง ไม่ได้หมายถึงการหายไปของ 2 สิ่ง แต่หมายถึงล้มเหลวของการรักษาระบบนิเวศ เก็บต้นไม่ได้หมายความว่าจะเก็บไว้ได้ทั้งหมด ถ้าดูแลไม่ดีก็ตาย การดูแลต้นผึ้งนั้นยาก เพราะปัจจัยสำคัญ คือ สิ่งแวดล้อม หากสารพิษ ยาฆ่าแมลง หรือแม้แต่สารเคมีจากขยะชุมชนซึมเข้าราก แปบเดียวก็ยืนต้นตาย” ดร.อรวรรณ กล่าว

ดร.อรวรรณ กล่าวว่า การหาน้ำผึ้งป่านั้นเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวบ้าน การห้ามไม่ให้เก็บน้ำผึ้งมาเลยนั้นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน แต่อยากแนะนำว่าหากจะตีรังผึ้งก็ควรเหลือน้ำผึ้งไว้ประมาณ 30% ให้ผึ้งใช้เป็นทุนในการสร้างรังและขยายพันธุ์ต่อไป เพราะน้ำผึ้งก็เป็นอาหารของผึ้งเช่นกัน อีกทั้งไม่ควรเก็บตัวอ่อนลงมาเพราะขายไม่ได้ราคาอยู่แล้ว และส่วนใหญ่ก็นำไปกินเอง ดังนั้น จึงควรเก็บไว้เพื่อขยายพันธุ์ เพราะหากผึ้งลดลง อนาคตน้ำผึ้งก็จะหาได้ยากขึ้น
กำนันสกล วัย 58 ปี ผู้เห็นต้นผึ้งนี้มาตั้งแต่เด็ก และเคยไปตีรังผึ้งบนต้นผึ้งในป่าเมื่อสมัยเด็กๆ สำหรับต้นนี้จะเห็นร่องรอยของการทำขั้นบันไดปีนขึ้นไปเก็บน้ำผึ้งเมื่อในอดีต
ต้นผึ้งต้นใหญ่ ได้ชื่อว่าเป็น พญาไม้
ดร.อรวรรณ ดวงภักดี






กำลังโหลดความคิดเห็น