xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเป็นเจ้าภาพงานประชุม “อุทยานวิทยาศาสตร์” ชูประเด็น “นวัตกรรมเปิด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แคปซูลอาหารเสริมที่เกิดจากนวัตกรรมเปิด
ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม “อุทยานวิทยาศาสตร์” ในระดับภาคพื้นเอเชีย ชูประเด็น “นวัตกรรมเปิด” แนวคิดเปิดรับแนวคิดและองค์ความรู้จากแหล่งต่างๆ เพื่อพัฒนานวัตกรรมโดยไม่ต้องเริ่มต้นทำวิจัยใหม่ พร้อมระบุอุทยานวิทยาศาสตร์ไทยที่ดำเนินการมา 10 สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจกว่า 1,000 ล้านบาท

ระหว่างวันที่ 26-28 พ.ย.55 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนดลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมระดับภาคพื้นเอชีย ประจำปี 2555 โดยสมาคมอุทยานวิทยาศาสตร์นานาชาติ (International Association of Science and Technology Park: IASP) ณ โรงแรมแชงกรี-ลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิดนวัตกรรมเปิด (Open Innovation) แก่ภาครัฐและเอกชน

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช.อธิบายว่า นวัตกรรมเปิดนั้นเป็นแนวคิดที่สนับสนุนให้องค์กรเปิดรับแนวคิดและองค์ความรู้ต่างๆ โดยที่การพัฒนานวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นตั้งแต่งานวิจัยและพัฒนาภายในองค์กรทั้งหมด แต่ควรพร้อมเปิดรับจากภายนอกมาผสมผสานกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งใหม่ ขณะเดียวกันก็ถ่ายทอดความรู้ที่มีไปให้องค์กรอื่นเพื่อพัฒนาเป็นวัตกรรม

สำหรับอุทยานวิทยาศาสตร์ของไทยนั้น ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า เริ่มมีแนวคิดเกี่ยวกับอุทยานวิทยาศาสตร์ในไทยเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว และมีการดำเนินงานมาได้ 10 ปี และมีศูนย์แห่งชาติ 4 ศูนย์ พร้อมทั้งบริษัทขนาดเล็ก กลาง และใหญ่กว่า 60 บริษัทเข้ามาทำวิจัย ซึ่งงานวิจัยจากอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยนั้นก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า 1,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ รูปแบบของอุทยานวิทยาศาสตร์นั้นมีหลายรูปแบบ แบบแรกคือ เป็นนิคมวิจัยที่มีโครงสร้างพื้นฐาน ห้องปฏิบัติการกลาง และเครื่องมือให้เอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกัน และมีบริการทดสอบหรือจ้างหน่วยงานในอุทยานวิทยาศาสตร์ทำวิจัยหรือมีนักวิจัยให้คำปรึกษาทางเทคนิค แบบที่ 2 คือ นิคมธุรกิจวิทยาศาสตร์ที่บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ซึ่งมักเป็นบริษัทเกิดใหม่ มีเทคโนโลยีใหม่ที่จะพัฒนาเป็นสินค้าหรือบริการออกสู่ตลาด มีพื้นที่สำหรับวิจัยพัฒนา และประกอบธุรกิจ รวมถึงสนับสนุเงินทุน การเข้าถึงตลาดและการบริหารจัดการธุรกิจ

สำหรับอุทยานวิทยาศาสตร์ของไทยซึ่งมีอยู่ 1 แห่งนั้น จัดอยู่ในรูปแบบที่ 3 คือ เป็นนิคมอุตสาหกรรมธุรกิจวิทยาศาสตร์ ที่มีโครงสร้างพื้นฐานให้บริษัทต่างๆ เข้าไปทำอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีได้ตลอด ผลิตสินค้าเทคโนโลยีมูลค่าสูง มีบริการเอกชนด้านเทคโนโลยี สนับสนุนเงินทุนธุรกิจ และการเข้าถึงตลาด และบริษัทยังได้ประโยชน์ทางด้านภาษี ค่าเช่า ค่าบริการ และเงินสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล






กำลังโหลดความคิดเห็น