นักวิจัยมหิดลเผยงานวิจัย “ปลากัดป่ามหาชัย” สายพันธุ์ไทยแท้ๆ คือปลากัดพันธุ์ใหม่ของโลก หลังถกเถียงกันมานานว่าเป็นสายพันธุ์ผสมที่หลุดไปในธรรมชาติหรือสายพันธุ์บริสุทธิ์ที่มีมานาน นับเป็นปลากัดชนิดเดียวและชนิดแรกที่ใช้ชื่อไทย
“เบตตามหาชัยเอนซิส” (Betta mahachaiensis) คือ ชื่อวิทยาศาสตร์ของป่ากัดมหาชัย ซึ่งเป็นปลากัดป่ากลุ่มก่อหวอดของไทย ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาและยืนยันว่าคือสายพันธุ์ใหม่ของโลก และยังเป็นปลากัดป่าชนิดแรกที่ได้ชื่อวิทยาศาสตร์เป็นชื่อไทย และได้ตีพิมพ์ลงวารสาร “ซูแทกซา” (ZOOTAXA) วารสารวิชาการเกี่ยวกับอนุกรมวิธานของสัตว์เมื่อ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา
ลักษณะของปลากัดป่ามหาชัยจะมีสีเข็มไล่จากสีน้ำตาลไปจนดำสนิทมีเกล็ดวาวประดับตั้งแต่สีเขียวอมฟ้าไปจนถึงสีเขียว เรียงอย่างสม่ำเสมอบนตัวเหมือนเม็ดข้าวโพดบนฝัก ที่แก้มมีขีดสีเขียวอมฟ้า 2 ขีด เมื่อตกใจจะเป็นสีเขียวมรกต ซึ่งเป็นการแสดงลักษณะของความก้าวร้าว แต่เมื่อผ่อนคลายจะ “ถอดสี” และมีสีซีดลง และมีพฤติกรรมที่ไม่ดุ กัดกันเพียง 5 นาทีก็แยกกัน ต่างจากปลากัดหม้อที่กัดกันจนตายหรือใช้เวลานานเป็นชั่วโมง
รศ.ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ หัวหน้าโครงการศึกษาปลากัดป่ามหาชัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า งานวิจัยจำแนกสายพันธุ์ปลากัดป่ามหาชัยนี้ถูกจุดประกายขึ้นโดย นายอธิสรรค์ พุ่มชูศรี ผู้เชี่ยวชาญในการผลิตและส่งออกปลากัด ซึ่งเมื่อ 5 ปีก่อนเขาได้ชี้นำนักวิจัยว่ามีการถกเถียงในเวทีนานาชาติว่าปลากัดชนิดดังกล่าวคือสายพันธุ์บริสุทธิ์หรือสายพันธุ์ผสมที่ถูกปล่อยสู่ธรรมชาติ
ทางทีมวิจัยจึงได้ออกสำรวจเก็บตัวอย่างปลากัดป่ามหาชัยมาศึกษา โดยแบ่งเป็นการศึกษาทางด้านสัณฐานวิทยา คือ นับจำนวนเกล็ด ดูลักษณะสี รูปร่าง และศึกษาเปรียบเทียบทางพันธุกรรมโดยใช้เทคนิค “ดีเอ็นเอบาร์โค้ด” (DNA Barcode) ในการจำแนกทางชีวโมเลกุลจากปลากัดป่าสายพันธุ์อื่นๆ คล้ายกับการจำแนกสินค้าต่างๆ จากข้อมูลบาร์โค้ดบนสินค้า
ในการศึกษาครั้งนี้ทีมวิจัยได้อาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญปลาในหลายสถาบันการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา รวมถึงใช้ผู้เชี่ยวชาญคณิตศาสตร์มาช่วยตัดสินข้อมูลเชิงสถิติจากการศึกษาในระดับชีวโมเลกุล เพื่อจำแนกปลากัดป่ามหาชัยออกจากปลากัดป่าชนิดอื่นๆ รวมถึงความร่วมมือจากชาวบ้านที่อำนวยความสะดวกในการสำรวจปลาในพื้นที่
ในเมืองไทยมีกลุ่มก่อหวอดที่จำแนกได้ชัดแล้ว 3 ชนิดคือ ปลากัดป่าภาคกลาง หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เบตตาสเปลนเดนส์ (Betta splendens) ซึ่งได้รับการจำแนกเมื่อ 102 ปีก่อน ปลากัดป่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เบตตาสมาแรกดินา (Betta Smaragdina) ซึ่งจำแนกได้เมื่อ 40 ปีก่อน และปลากัดปลาภาคใต้ หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เบตตาอิมเบลลิส (Betta imbellis) ซึ่งจำแนกได้เมื่อ 37 ปีก่อน
เมื่อจำแนกทางพันธุกรรมพบว่าปลากัดป่ามหาชัยมีพันธุกรรมใกล้เคียงกับปลากัดป่าภาคกลาง และมีการแยกวิวัฒนาการออกมาเป็นพันธุ์ใหม่เมื่อประมาณ 4 ล้านปี แม้ระยะเวลาดังกล่าวอาจมีการคลาดเคลื่อน แต่ รศ.ดร.ภิญโญ ระบุว่าปลากัดชนิดนี้ต้องมีการวิวัฒนาการมาไม่ต่ำกว่าล้านปีอย่างแน่นอน ซึ่งมีมานานก่อนลิงและมนุษย์ โดยมนุษย์เพิ่งวิวัฒนาการขึ้นมาบนโลกเมื่อราวแสนกว่าปีก่อน
รศ.ดร.ภิญโญกล่าวว่าปลากัดนั้นเป็นปลาอาเซียน ซึ่งพบอยู่ในประเทศแถบอาเซียนเกือบทั้งหมด ยกเว้นฟิลิปปินส์ ซึ่งอธิบายได้ว่าในยุคน้ำแข็งมีร่องวอลเลซ (Wallace Line) ที่แยกฟิลิปปินส์ออกจากพื้นที่ซึ่งกลายเป็นประเทศอื่นๆ ของอาเซียนในปัจจุบัน และปลากัดเหล่านี้ไม่น่าจะว่ายข้ามไปได้ จึงไม่ปรากฏปลากัดในฟิลิปินส์ รวมถึงไม่พบที่อินโดนีเซียในแถบบาหลีด้วย
“งานวิจัยนี้จะส่งผลกระทบไปยังวงการค้าปลาสวยงาม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสายพันธุ์ให้ได้ตามต้องการ เพราะปัจจุบันพัฒนาสายพันธุ์แบบเดาสุ่ม โดยที่ไม่ทราบว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร บางครั้งปลาตายทั้งหมด ส่วนวงการวิชาการก็จะมีการศึกษาพันธุกรรมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสายพันธุ์เช่นกัน และสุดท้ายคือการอนุรักษ์สายพันธุ์ ถ้าไม่มีชื่อสายพันธุ์ จะไม่มีทางอนุรักษ์ได้ เพราะถ้าไม่ทราบสปีชีส์ก็ไม่อาจบอกได้ว่าเป็น Extinct Species” หัวหน้าโครงการศึกษาปลากัดป่ามหาชัยกล่าว
แม้จะพบข่าวดีว่าปลากัดป่ามหาชัยคือสายพันธุ์ใหม่ของโลกจากการจำแนกและตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการที่ได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญด้านปลากัด แต่ข่าวร้ายสำหรับปลากัดชนิดนี้คือแหล่งอาศัยกำลังถูกทำลายลงเรื่อยๆ และอาจจะเป็นเหตุให้สูญพันธุ์ในที่สุด เนื่องจากบริเวณที่พบในปัจจุบันเหลือเพียงบางส่วนของ จ.สมุทรสาครและแสมดำของกรุงเทพฯ จากในอดีตที่เคยพบในจังหวัด “สามสมุทร” คือ สมุทรสงคราม สมุทรสาครและสมุทรปราการ และพบเพียงในไทยเท่านั้น ต่างจากอีก 3 ชนิดที่พบในระแวกประเทศเพื่อนบ้านด้วย
“ปัญหาตอนนี้คือหากวันใดต้นจากหมดไป ปลากัดป่ามหาชัยก็คงหมดไปด้วย เพราะที่อยู่อาศัยถูกทำลาย และยังถูกจัดอยู่ในเส้นแดงขององค์การสหประชาชาติ นั่นคืออยู่ในสถานะวิกฤตและกำลังจะสูญพันธุ์” รศ.ดร.ภิญโญซึ่งเกษียณมาร่วม 10 ปีและเป็นที่ปรึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าว
รศ.ดร.ภิญโญเสริมอีกว่า แนวโน้มในในตอนนี้เริ่มมีการขายปลากัดป่าธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่มีราคาเพียงตัวละไม่กี่บาทเพราะกัดไม่เก่งและสีสันไม่สวย แต่ปัจจุบันจำหน่ายกันตัวละ 200-300 บาท ซึ่งหากมีการจับจากแหล่งธรรมชาติโดยไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์ ย่อมมีโอกาสจะหมดไปจากธรรมชาติได้ และทางญี่ปุ่นยังได้เข้ามาซื้อปลากัดชนิดในพื้นที่ แล้วทำการเพาะพันธุ์เพื่อส่งไปขายที่ญี่ปุ่นด้วย
สิ่งที่ทีมวิจัยต้องศึกษาต่อไปคือโครงสร้างพันธุกรรมของปลากัดสายพันธุ์นี้เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพันธุ์ และศึกษาพฤติกรรมของปลา โดยทีมวิจัยยังไม่ทราบว่าปลากัดป่ามหาชัยมีบทบาทต่อระบบนิเวศอย่างไร ทราบเพียงว่าปลาชนิดนี้กินลูกน้ำ จึงยังต้องมีการศึกษาต่อไป รวมถึงประสานงานกันภาครัฐเพื่อกันให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์
นอกจากนี้ต่างชาติยังให้ความสนใจในการนำปลากัดไปศึกษาวิจัย เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการร่วมล้านปีและมีการแสดงออกของความก้าวร้าว ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจถึงพฤติกรรมก้าวร้าวในมนุษย์ เพราะนักวิจัยไม่สามารถนำมนุษย์มาศึกษาได้โดยตรง รวมถึงเข้าใจวิวัฒนาการของระบบประสาทและฮอร์โมนที่เป็นจุดเริ่มต้นของอารมณ์และความก้าวร้าว
คลิปการกอดรัดของปลากัดตัวผู้และตัวเมียระหว่างผสมพันธุ์ โดยตัวผู้จะกอดรัดตัวเมียให้ปล่อยไข่ของออกมา ก่อนที่ตัวอมไข่เพื่อผสมน้ำเชื้อแล้วนำไปก่อหวอดอนุบาลตัวอ่อน