xs
xsm
sm
md
lg

“ปานศิริ” กำชับทุกพื้นที่รายงานตัวเลขอาชญากรรมตามจริง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัติ รอง ผบ.ตร.เป็นประธานประชุมบริหาร มีรอง ผบ.ตร. ผู้ช่วยสบ 10 ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังสำนักงานตำรวจภูธรภาค 1-9 ใช้เวลาประชุมประมาณ 2 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปกำชับให้ทุกพื้นที่รายงานยอดตัวเลขปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่ตามความเป็นจริงเพื่อวางแนวทางลดปัญหาอาชญากรรม

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) วันที่ 6 พ.ย. พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัติรอง ผบ.ตร.เป็นประธานประชุมบริหาร มีรอง ผบ.ตร. ผู้ช่วย สบ 10 ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังสำนักงานตำรวจภูธรภาค 1-9 ใช้เวลาประชุมประมาณ 2 ชั่วโมง

ภายหลังการประชุม พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษก ผบ.ตร.กล่าวว่า ในวันนี้มีประชุมบริหารโดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมร่วมกับตำรวจสากลที่ประเทศอิตาลี ได้โทรศัพท์เข้ามาในที่ประชุม และกล่าวถึงหัวข้อการประชุมร่วมกับตำรวจสากลเรื่องการทำหน้าที่ของตำรวจชุมชนของประเทศต่างๆ ที่ได้บรรยายถึงความสำเร็จของมาตรการตำรวจรับใช้ชุมชน และเรื่องอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่ง ผบ.ตร.ระบุว่าเมื่อกลับมาจะประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน ตร.เพื่อดูความคืบหน้าในการดำเนินการปราบปราม ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้สั่งการไปยังทุก บช. เพื่อเป็นข้อตกลงว่าทุกพื้นที่รวมถึงศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะรับแจ้งเหตุอาชญากรรมและเรื่องร้องเรียนทุกเรื่องที่ประชาชนเข้ามาแจ้งความตามความเป็นจริงทั้งหมด โดยจากการรายงานเหตุอาชญากรรมในทุกพื้นที่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า ยังมีเหตุอาชญากรรมเกิดขึ้นซ้ำๆ ในหลายสถานี จึงได้กำชับให้ผู้การจังหวัดลงไปตรวจสอบการวิเคราะห์สภาพอาชญากรรมของ สน.นั้นๆ ว่ามีความบกพร่องอย่างไร หากมีอุปสรรคหรือกำลังไม่พอให้ทางจังหวัดช่วยส่งกำลังมาเสริม

“เราต้องยอมรับความเป็นจริงให้ได้ว่ามีเหตุอาชญากรรมเกิดขึ้นจริงเท่าไหร่ อย่างไร ไม่ต้องห่วงตัวเลขสถิติอาชญากรรมจะต้องสวยหรู แต่ให้รายงานตามสภาพความเป็นจริง เพื่อประเมินมาตรการในการป้องกันและปราบปราม เพราะตัวเลขเหล่านี้จะส่งผลถึงการแก้ปัญหาอาชญากรรม การจัดกำลังตำรวจ และการรายงานข้อมูลให้กับรัฐบาลทราบถึงสภาพอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจริงด้วย” โฆษก ตร.กล่าว

พล.ต.ต.ปิยะกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงสถานการณ์ยาเสพติดในช่วงนี้ โดย บช.ปส.ได้วิเคราะห์สรุปว่าช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้จะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวต้นกัญชาของประเทศลาว ซึ่งจะส่งผลให้มีการลักลอบค้ากัญชาเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีการใช้เรือประมงและเรือรับจ้างขนาดเล็กขนกัญชาจากชายแดนไทย-ลาว และกำหนดจุดส่งมอบที่บริเวณริมแม่น้ำโขงฝั่งไทย ก่อนส่งออกนอกประเทศโดยใช้เรือบรรทุกสินค้าไปยังแถบยุโรป และใช้รถบรรทุกสินค้าไปยังภาคใต้ของไทยเพื่อส่งไปทางประเทศมาเลเซีย โดยจะไม่ใช้เส้นทางหลักในการลำเลียงเข้ามาในพื้นที่หลักของประเทศไทย

กลุ่มนำเข้ายาเสพติดที่มีบทบาทสำคัญมี 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1. กลุ่มจากประเทศแอฟริกา 2. กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยเฉพาะประเทศอิหร่าน และ 3. ประเทศมาเลเซีย โดยยาเสพติดที่นำเข้าสูงสุดมียาไอซ์ กัญชา โคเคน และเฮโรอีน โดยเฉพาะยาไอซ์มีแหล่งผลิตในประเทศไนจีเรีย และกานา จะนำเข้ามาในรูปแบบของกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งจะซุกซ่อนในร่างกาย กระเป๋าเดินทาง อุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องใช้ต่างๆ และใช้เส้นทางจากแอฟริกาตะวันตกผ่านมาทางเอทิโอเปียและเข้าสู่สนามบินนานาชาติของไทย หรือผ่านมาจากประเทศตะวันออกกลาง จึงได้สั่งการไปยังสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่ประจำด่านตรวจคนเข้าเมืองในสนามบินนานาชาติให้ตรวจเข้มนักท่องเที่ยวทุกคน เพื่อป้องกันการลักอบนำยาเสพติดเข้ามา ร่วมถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองตามแนวชายแดนไทย-ลาว เนื่องจากผลกระทบจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศจีน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงจนแห้งสนิท ทำให้กลุ่มนักค้ายาใช้ช่องทางนี้ในการส่งมอบยา จึงให้ประสานความร่วมมือกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจน้ำตรวจเข้มด้วย

ทั้งนี้ ในวันที่ 8 พ.ย. เวลา 13.30 น. สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจะเปิดโครงการตำรวจตรวจคนเข้าเมืองต้นแบบ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ต.บางรักพัฒนา อ.บางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีการบริหารรถพยาบาลคันแรก โครงการไรท์ทรูระบบลงบาร์โค้ดอัจฉริยะ บริการตรวจคนเข้าเมืองเคลื่อนที่ระบบลงบาร์โค้ดอัจฉริยะ ระบบลงบัตรคิว 10 ภาษา
กำลังโหลดความคิดเห็น