xs
xsm
sm
md
lg

เก็บตก! “สุริยุปราคาเต็มดวง” ที่ออสเตรเลียจากทีมไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่ที่ชายหาดปาล์มโคฟ เมืองแคนส์ ออสเตรเลีย เมื่อ 14 พ.ย.2012 (ภาพโดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา)
เก็บตกภาพปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาเต็มดวง” ที่ออสเตรเลีย จากทีม สดร.ซึ่งเป็นปรากฏการณ์คราสเต็มดวงครั้งแรกในรอบปี 2012 และต้องรอถึงปี 2015 จึงจะเกิดขึ้นอีกครั้ง

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 14 พ.ย.ซึ่งแนวคราสได้พาดผ่านตอนเหนือของออสเตรเลีย และมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ เป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งแรกของปี 2012 ซึ่งต้องรอไปถึงปี 2015 เราจึงจะมีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์นี้อีกครั้ง

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ระบุว่า สุริยุปราคาครั้งนี้ เป็นชุดซารอสที่ 133 ชุดเดียวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคยทอดพระเนตร (เกิดคนละครั้งแต่อยู่ในชุดซารอสเดียวกัน)

พร้อมกันนี้ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้รับภาพถ่ายจาก ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร.ซึ่งนำคณะเดินทางไปเก็บภาพปรากฏการณ์ครั้งนี้ ณ ชายหาดปาล์มโคฟ (Palm Cove) เมืองแคนส์ (Cairns) ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นจุดเหมาะสมที่สุดในการสังเกตปรากฏการณ์ ซึ่งมีช่วงเวลาที่คราสบังดวงอาทิตย์เต็มดวงทั้งหมด 2.23 นาที

ปรากฏการณ์สุริยุปราคา เกิดขึ้นได้เฉพาะวันเดือนดับ (New Moon) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าไปอยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ และเคลื่อนที่เข้ามาอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันพอดี โดยวันเดือนดับจะเกิดขึ้นทุกๆ 29.5 วัน แต่ปรากฏการณ์สุริยุปราคาไม่ได้เกิดขึ้นทุกเดือน ทั้งนี้ เป็นเพราะระนาบวงโคจรของดวงจันทร์ไม่ได้อยู่ในระนาบเดียวกับวงโคจรของโลกแต่จะเอียงทำมุมประมาณ 5 องศา ทำให้มีบางโอกาสเท่านั้นที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และโลก จะโคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน แต่โดยปกติแล้วเงาของดวงจันทร์จะไม่ทอดลงบนโลกเมื่อดวงจันทร์อยู่เหนือ หรือใต้ระนาบวงโคจรของโลกในช่วงเดือนดับ
ปรากฏการณ์แหวนเพชร ซึ่งจะเกิดขึ้นก่อนและหลังคราสบังเต็มดวง (ภาพโดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา)
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา และคณะ
นักท่องเที่ยวรอชมและเก็บภาพปรากฏการณ์ ณ ชายหาดปาล์มโคฟ เมืองแคนส์ ออสเตรเลีย






กำลังโหลดความคิดเห็น