แม้ว่าเราจะปรบมือดังๆ ให้กับโนเบลแพทย์ปีล่าสุด ที่ช่วยปลดล็อกปัญหาจริยธรรม การนำตัวอ่อนมาใช้ทำสเต็มเซลล์ได้ แต่ตัวนักวิจัยเองกลับกังวลว่า เทคโนโลยีใหม่จะก่อปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมด้วยซ้ำ
“เซอร์ จอห์น กัวร์ดอน” (Sir John Gurdon) นักวิจัยชาวอังกฤษแห่ง สถาบันกัวร์ดอน (Gurdon Institute) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อังกฤษ และ “ศ.ชินยะ ยามานากะ” (Shinya Yamanaka) มหาวิทยาลัยเกียวโต ญี่ปุ่น ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ปี 2012 ที่สามารถสร้างเซลล์ต้นกำเนิดจากเซลล์ผู้ใหญ่
ทั้งคู่ใช้วิธีการเหนี่ยวนำเซลล์ที่ทำงานอยู่ ให้กลายเป็นเซลล์ต้นกำเนิดโดยธรรมชาติ หรือ “เซลล์ไอพีเอส” (iPS : induced pluripotent stem cells) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเซลล์ต้นกำเนิดแบบตัวอ่อน (ES : embryonic stem cells) แต่สร้างขึ้นได้ง่ายกว่า และปลอดจากข้อกังขาด้านจริยธรรม โดยทีมข่าววิทยาศาสตร์ได้ประมวลข้อมูลมาจากวารสารเนเจอร์ (Nature) ว่าเซลล์ iPS จะไม่มีปัญหาดังกล่าวจริงหรือ
เมื่อปี 2006 ศ.ชินยะ ยามานากะ และลูกศิษย์ของเขา คาซูโตชิ ทากาฮาชิ (Kazutoshi Takahashi) นักศึกษาระดับหลังปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเกียวโต พบว่า สามารถใช้ยีน 4 ชุด เปลี่ยนหน้าที่ของเซลล์ผู้ใหญ่ในหนูได้ และได้เก็บงำไว้ถึง 6 เดือนก่อนจะบอกเพื่อนฝูง เพราะทากาฮาชิบอกเองว่า ขบวนการทดลองนั้นง่ายมาก และถ้าใครรู้เทคนิคก็สามารถทำได้
แม้ว่าขั้นตอนจะง่ายขนาดไหน แต่เซลล์ iPS ในช่วงแรกก็ไม่ได้สร้างขึ้นมาง่ายๆ ซึ่งแคทริน พลาธ (Kathrin Plath) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในลอสแองเจลิส ได้ประมาณไว้ว่า ทุกครั้งที่ทดลองปรับเปลี่ยนหน้าที่ของเซลล์ จะประสบความสำเร็จเพียงแค่ 15% หรือถ้าสามารถเปลี่ยนเซลล์ผู้ใหญ่ได้หมด แต่ก็จะมีเพียงแค่ 5% ที่จะได้เซลล์อ่อนสมบูรณ์
อย่างไรก็ดี เมื่อ ศ.ยามานากะ ได้ทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีกในหนู และพัฒนาเทคนิคขึ้นมา จนกระทั่งทดลองสร้างเซลล์ iPS ของมนุษย์เมื่อปี 2007 ทำให้กรรมวิธีการสร้างเซลล์ iPS ง่ายขึ้น และนักวิจัยได้สร้างการทดลองกันอย่างแพร่หลาย
หลังจากยามานากะและทีมประกาศความสำเร็จในการสร้างเซลล์ iPS ของมนุษย์ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นได้ยกย่อง ว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในขอบเขตของจริยธรรม
ทว่า อีกสัปดาห์ต่อมา ศ.ยามานากะ ได้บอกกับเนเจอร์ว่า งานวิจัยของพวกเขา ได้สร้างประเด็นทางจริยธรรมใหม่ขึ้นมา และอาจจะแย่กว่าปัญหาที่มีอยู่เดิม เพราะใครๆ ก็ทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องแจ้ง ต่างจากการทำสเต็มเซลล์ตัวอ่อนที่ต้องมีรายงานก่อนการทดลอง
ศ.ยามานากะ กังวลว่า อาจจะมีคนนำเซลล์ iPS ไปสร้างเป็นเซลล์สืบพันธุ์ ไข่ และสเปิร์มอาจพัฒนามาจากเซลล์ iPS และนำไปใช้ปฏิสนธินอกมดลูก อย่างการสร้่างเด็กหลอดแก้ว ซึ่งเซลล์สืบพันธุ์จากเซลล์ iPS นั้น อาจกลายเป็นที่ต้องการในการรักษาภาวะการมีบุตรยาก และอาจนำไปสู่การสร้างผู้สืบสายเลือดให้กับคู่ชายรักร่วมเพศ ด้วยการนำเซลล์ผู้ชายมาสร้างเป็นเซลล์ไข่
อย่างไรก็ดี เรื่องน่ากังวลดังกล่าวคงยังไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพราะมีการทดลองนำเซลล์ iPS ใส่ในหนู เพื่อให้พัฒนาเป็นตัวอ่อนได้ แต่หนูทดลองไม่สามารถให้กำเนิดหนูในท้องออกมาได้ ซึ่งการทดลองสร้างมนุษย์ด้วยวิธีเดียวกันนี้ บวกกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน จึงเป็นไปได้แค่หลักการในหน้ากระดาษ
ทว่า ศ.ยามานากะ ก็ยังเป็นห่วงเรื่องจริยธรรมที่อาจจะเป็นปัญหาในภายหลัง จึงผลักดันให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกกฎระเบียบการทดลอง โดยรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ได้แจ้งเตือนไปยังทุกมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยในประเทศว่า ห้ามไม่ให้ปลูกถ่ายตัวอ่อนที่ได้จากเซลล์ iPS เข้าไปในมดลูกของมนุษย์หรือสัตว์ รวมถึงการใส่เซลล์ iPS ลงในตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ และห้ามสร้างเซลล์สืบพันธุ์จากเซลล์ iPS
ศ.ยามานากะ ย้ำว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะนักวิทยาศาสตร์ แต่สังคมจะต้องติดตามความท้าทายจากการใช้เซลล์ iPS ให้ทัน แม้ว่าเขาจะภูมิใจกับเทคโนโลยีที่พัฒนาขึึ้นมา แต่เขาก็รู้สึกว่ามีความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ อันเป็นผลจากเทคโนโลยีนี้ตามติดมาด้วย