วิกฤต “เบคอน” ขาดแคลนเริ่มเป็นสัญญาณเตือนภัยของภาวะอากาศที่แปรปรวน ซึ่งรุกคืบใกล้จานอาหารมากขึ้นทุกที หากคนไทยไม่ใส่ใจ วันหนึ่งอาจถึงคิว “หมูปิ้ง” ขาดแคลน จนอาหารข้างทางราคาบ้านๆ อาจแพงขึ้นจนต้องซื้อกินทั้งน้ำตา
ขณะที่ผมเขียนบทความนี้มีเสียงฝนจากไต้ฝุ่น “แกมี” ดังซู่ซ่าสร้างบรรยากาศประกอบบทความอยู่ข้างหลัง “นายปรี๊ด” เดาว่า หลายท่านเริ่มวิตกว่า น้ำจะมาเยอะเหมือนปีที่แล้วหรือเปล่า และอาจจะ “เอาไม่อยู่” อย่างที่เค้าว่าไว้...นั่นคงต้องปล่อยเป็นเรื่องของการบริหารจัดการน้ำที่ต้องลุ้นกันไป แต่ที่มาของพายุและสภาวะอากาศแปรปรวนไปทั่วโลกคงโทษใครได้ยาก นอกจากต้องก้มหน้าหารกันรับส่วนแบ่งของผลกรรมซึ่งบรรพบรุษและพวกเราร่วมกัน “ก่อโรคให้แก่โลก” จนเรื้อรังมานาน
สาเหตุของพายุที่หนักมาก หรือหลงฤดูนั้น นักอุตุนิยมวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ผู้ทำงานเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมหลายท่าน มักอ้างถือการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำอุ่นและน้ำเย็นที่ไหลเวียนอยู่ในมหาสมุทรต่างๆ (ลานีญาและเอลนีโญ) ซึ่งมีผลต่อการหมุนเวียนของทิศทางลมบนแผ่นผิวโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนี้ นักวิทยาศาสตร์หลายท่าน เชื่อว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจาก “สภาวะโลกร้อน” ที่ทำให้อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น แม้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสภาวะโลกร้อนจะยังสรุปไม่ได้ว่าเกิดจากกระบวนการตามธรรมชาติของโลก หรือเพราะคนเราเป็นคนก่อเรื่อง แต่ที่แน่ๆ พฤติกรรมการใช้ทรัพยากรแบบไม่ยั้งคิด และการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่บรรยากาศมากขึ้นหลายเท่าตัวจน “เร่ง” ให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องคงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยาก
อย่างไรก็ตาม...จนถึงวันนี้ หลายคนอาจคิดว่าเรื่องโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศมันช่างไกลตัว แค่กลางร่มหลบแดดเข้าห้องแอร์ ยังนั่งจิ้มไอแพดได้ ยังเดินชอปปิ้งได้ ยังกินบุฟเฟต์ได้ ชีวิตนี้ฉันพอใจแล้ว...แต่เรื่องร้ายจากพฤติกรรมที่เราทำอยู่อย่างซ้ำๆ กำลังรุกคืบช้าๆ มาแบบไม่รู้ตัว
วิกฤตการณ์ “เบคอนขาดแคลน” เป็นตัวอย่างล่าสุดของผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งขยับใกล้ตัวใกล้ปากเรามากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุเริ่มต้นจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นในแหล่งปลูกข้าวโพดขนาดใหญ่ของโลกอย่างอเมริกา และบราซิล ส่งผลให้ข้าวโพดซึ่งเป็นวัตถุดิบของอาหารหมูเริ่มร่อยหรอ แต่ราคากลับดีดตัวสูงขึ้นจนผู้เลี้ยงหมูเริ่มร่อแร่ เพราะแบกรับค่าอาหารที่สูงขึ้นไม่ไหว ต้องลดจำนวนการผลิตเนื้อหมูลง
ผลร้ายจึงตกสู่ผู้บริโภคเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์แปรรูปที่เป็นอาหารจานหลักของชาวตะวันตก อย่าง เบคอน แฮม และไส้กรอก จนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทั้งในอเมริกาและอังกฤษต้องออกแคมเปญ “Save Our Bacon (ปกป้องเบคอนของพวกเรา)” เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักถึงต้นทุนการผลิตและผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่เริ่มขยับใกล้ปากใกล้จานอาหารมากขึ้นทุกที ด้วยการรณรงค์ไม่ให้ซูเปอร์มาร์เก็ตกักตุนเบคอน ให้ประชาชนซื้อเบคอนและผลิตภัณฑ์จากหมูในตลาดท้องถิ่น และทำความเข้าใจกับการควักเงินจ่ายค่าเนื้อหมูให้กับเกษตรกรในราคาที่สูงขึ้น...เป็นตลกร้ายที่ไม่น่าเชื่อ แต่หากเปรียบเบคอนและไส้กรอกของฝรั่ง เป็นข้าวเนียวหมูปิ้งหรือไก่ย่างส้มตำแบบไทยๆ ซึ่งวันหนึ่งอาจมีโอกาสราคาพุ่งกระฉูดเพราะเกษตรกรแบกรับต้นทุนการผลิตวัตถุดิบไม่ไหวจนใครหลายคนอาจหัวเราะไม่ออก
บางท่านอาจร้องฮื้อ...ไม่หรอกมั้ง...เพราะตอนนี้บ้านเราราคาหมูตกต่ำจนต้องเอาซากหมูเป็นตัวๆ ไปวางประท้วงกันอยู่บ่อยๆ ราคาพืชอาหารสัตว์อย่างมันสำปะหลังและข้าวโพดก็ตกต่ำเหมือนกัน มันคงไม่เกิดเหตุการณ์แบบอเมริกามั้ง? นายปรี๊ดเองก็หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น
ถึงอย่างนั้นหากคิดแบบบ้านๆ โดยไม่ต้องใส่หมวกนักวิชาการใดๆ ผลผลิตที่เกษตรกรฟาร์มหมู ต้องผลิตเนื้อเพื่อต้องเลี้ยงปากท้องประชากรจำนวนหลายร้อยล้านคน ย่อมมีโอกาสไม่เพียงพอ ขณะที่เกษตรกรบ้านเราสามารถผลิตเนื้อหมูได้เกินปากท้องคนหลักสิบล้านได้สบาย หากแต่สักวันมีคนเลิกเลี้ยงหมู เลิกปลูกมันสำปะหลัง เลิกปลูกข้าวโพดไปทีละรายสองราย เพราะไม่อาจรับกับต้นทุนที่สูงลิ่วอันเป็นผลจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทั้งประเดี๋ยวน้ำท่วม ประเดี๋ยวน้ำแล้ง สวนทางกับประชากรไทยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร? ไม่แน่ว่าสักวันเมื่ออาหารสัตว์สำเร็จรูปราคาสูงขึ้นจนมีผลให้จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูลดจำนวนการผลิตลง เราอาจจะต้องนำเข้าอาหารสัตว์หรือหมูเนื้อแดงจากต่างประเทศจนอาจจะต้องมีแคมเปญ “ปกป้องหมูปิ้ง” เพื่อร้องเตือนความคลาดแคลนของเนื้อหมูในสังคมไทยก็เป็นได้
ในแง่มุมของนักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อม มองต้นทุนและวัตถุดิบในกระบวนการผลิตที่ไม่ยั่งยืนหรือใช้ทรัพยากรที่หมุนเวียนไม่ได้ อาหารสำเร็จรูปพวกเบคอน ไส้กรอก และหมูปิ้ง จึงรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ต้นทุนการผลิตจึงมากกว่าแค่การลงทุนค่าอาหาร โรงเรือน และค่าตัวสัตว์ แต่มองไปไกลถึง “รอยพิมพ์ทางนิเวศ” หรือ “Ecological Footprint” ที่เป็นวิธีเทียบเคียงการใช้ทรัพยากรในรูปต้นทุนการผลิต พฤติกรรมการบริโภคและของเสียในภาพรวมว่า ได้ใช้ทรัยากรทั้งทางตรงและทางอ้อมไปมากเพียงใด และสุดท้ายก็จะคำนวนเชิงเปรียบเทียบว่า เมื่อสิ้นสุดการผลิตและการบริโภคแล้วจะต้องใช้โลกจำนวนกี่ใบถึงจะเพียงพอต่อความต้องการ
โดยภาพรวมของประชากรโลกในปัจจุบันอาจจะต้องใช้ทรัพยากรเท่ากับโลกราว 2 ใบครึ่ง จึงจะพอเพียง เช่น หากเดินทางด้วยรถสาธารณะ ย่อมใช้ทรัพยากรน้อยกว่าเดินทางด้วยรถส่วนตัว เมื่อหากต่อหัวเทียบกับเชื้อเพลิงและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา หรือหากบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตซับซ้อนหลายขั้นตอน เช่น ไส้กรอก เบคอน ไก่หยอง ปลากระป๋อง หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ย่อมแปลว่าท่านได้ใช้ทรัพยากรทางอ้อมไปในกระบวนการผลิตมากกว่าการปรุงหมู สด ไก่สด หรือ ผักสด ในปริมาณอาหารที่เท่าๆ กัน นั่นเอง
ตัวอย่างกระบวนการผลิต “เบคอน” ซึ่งถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องการทรัพยากรในการแปรรูปในทุกขั้นตอน เพราะเริ่มต้นด้วยการปลูกข้าวโพดด้วยน้ำปริมาณมหาศาล มีการเปลี่ยนป่าเป็นไร่เกษตร มีการใช้สารเคมีในรูปของปุ๋ย ฮอร์โมน และยาฆ่าแมลงซึ่งมีโอกาสสะสมในดิน ไปจนกระทั่งถึงกระบวนการเก็บเกี่ยวและแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ก็ต้องอาศัยเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ใช้เชื้อเพลิงมหาศาล จนพูดได้ว่ากว่า “ข้าวโพดจะลำเลียงเข้าปากหมู” ก็ผลาญทรัพยากรไปมากโขอยู่
ส่วนเจ้าหมูอู๊ดๆ ที่มาของ “เบคอน” เองก็ใช้ทรัพยากรอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เพราะกว่าหมูตัวหนึ่งจะถูกแปลงร่างมาเป็นสามชั้นเค็มๆ หอมๆ ในกระทะได้ ก็ต้องขุนด้วยอาหารและน้ำปริมาณมาก ต้องเสียที่ดินสร้างโรงเรือนเลี้ยงดู บรรดาของเสียจากหมูก็ล้วนแต่เป็นก๊าซคาร์บอนและมีเทน ซึ่งเทียบได้กับการปล่อยควันเสียจากรถหลายคัน เมื่อเข้าสู่สายพานโรงงานก็ต้องผ่านการแปรรูป และมีของเสียจากการผลิตมากมาย เช่น น้ำร้อนและกากโปรตีนที่ต้องบำบัดหลายขั้นกว่าจะปล่อยกลับสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ บรรจุภัณฑ์ก็ไม่วายเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายยากอีกต่างหาก
ร่ายมายาว แต่สุดท้ายถึงมือเราเพียงแค่เบคอนห่อนิดเดียว แต่ต้องแลกกับทรัพยากรจำนวนมหาศาล จนอาจจะพูดได้ว่าเจ้าผลิตภัณฑ์ที่มีการแปรรูปหลายขั้นตอนแบบนี้นี่แหละ ที่เมื่อเกิดสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในแหล่งวัตถุดิบขึ้นพร้อมๆ กัน ก็ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อกระบวนการผลิตในขั้นต่อๆ มาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นายปรี๊ด ไม่ได้กล่าวหาว่า ผลิตภัณฑ์ใดใช้ทรัพยากรมากเกินไป แต่ที่หยิบยกมาเล่าก็เพราะต้องการสะกิดให้คิดถึงอาหารทุกคำที่ท่านได้เคี้ยวว่า “ต้นทุน” ของการผลิตไม่ใช่เพียงแค่ “เงิน” เท่านั้น แต่หมายรวมถึงป่าที่เปลี่ยนเป็นแปลงเกษตร ผืนดินที่ต้องสะสมสารเคมี สายน้ำที่เหือดหาย ไล่ไปจนถึงเชื้อเพลิงที่หมุนฟันเฟืองเครื่องจักร และก๊าซคาร์บอนจากการขนส่ง ซึ่งล้วนแต่เป็น “ต้นทุนของโลก” ที่เราหยิบยืมมาใช้ และมักไม่สนใจจ่ายคืน จนวันข้างหน้าเราทุกคนอาจต้องส่งดอกเบี้ยเป็น “รสแห่งโลกร้อน” ที่อาจต้องกล้ำกลืนลงท้องอย่างฝืดคอเลยทีเดียว
เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด”
นักเรียนทุนวิทยาศาสตร์ที่บ่น โวยวาย บ้าพลังและไม่ชอบกรอบ แต่มีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์ล้นเหลือระหว่างตะกายบันไดการศึกษาสู่ตำแหน่ง “ดอกเตอร์” ด้านชีววิทยา ทั้งงานสอน ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการเรียนวิทยาศาสตร์ ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ กรรมการตัดสินโครงงานวิทยาศาสตร์และวิทยากรบรรยายเรื่องวิทยาศาสตร์ใกล้ตัว
“แคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ สะกิดต่อมคิด”
อ่านบทความของนายปรี๊ดได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์
***
อ้างอิง
เว็บไซด์เกษตรผู้เลี้ยงสุกรในอังกฤษรณรงค์แคมเปญ “Save Our Bacon”