xs
xsm
sm
md
lg

สัตว์ซ่อนชู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พยาธิใบไม้ (Schistosoma mansoni) เป็นสัตว์ผัวเดียวเมียเดียว สัตว์คู่แท้ที่จับคู่เดียวกันเป็นเวลานานพบได้น้อยมาก คือราว 3-5% จากสัตว์บนโลกราว 5,000 ชนิด ซึ่งเมื่อก่อนนักวิทยาศาสตร์คิดว่าสัตว์ที่รักเดียวใจเดียวอาจจะเป็นดลุ่มที่มีขนาดใหญ่ และมีจำนวนน้อย แต่หลักฐานในปัจจุบันพบว่าสัตว์ที่มีขนาดเล็กหรืออยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่มีแนวโน้มสูงกว่า เช่น นกแก้ว นกเงือก ชะนี และหนูป่าบางชนิด 



นาทีนี้กระแสละครมือตบสยบชู้กำลังมาแรง ขนาดว่า นายปรี๊ดยังต้องกดรีโมตโทรทัศน์ติดตามบ้าง เพราะกลัวคุยกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ดูแล้วก็คิดถึงสัตว์ในธรรมชาติว่าจริงๆ แล้ว ต่างก็มีความหลากหลายของวิธี “ซ่อนกิ๊ก” อย่างเนียนๆ เหมือนกัน เผื่อวันหลังท่าน “ผอ.” ในเรื่องจะจำไปใช้บ้าง

เรื่องรักๆ ใคร่ๆ เป็นเรื่องธรรมดาที่สุดของสัตว์โลก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายเผ่าพันธุ์ การศึกษาวิธีการจับคู่ของสัตว์จึงเป็นเรื่องสำคัญทั้งในแง่วิชาการ จนไปถึงการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์แบ่งระบบจับคู่ของสัตว์ไว้ 4 แบบซึ่งนายปรี๊ดขอใช้ภาษาง่ายๆ คือ ระบบหลายผัวหลายเมีย (polygynandry) พบได้ในนกหลายชนิด อันดับถัดมา คือ ระบบผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) ตัวอย่างที่รู้จักกันดี คือ ชะนี นกเงือกและหนูหลายชนิด ต่อไป คือ ระบบหญิงหลายใจ (polyandry) ตัวอย่างที่มักพูดถึง คือ “นกอีแจว” ที่ “ฟีเจอริง” กับตัวผู้ตัวแรกเสร็จก็ “แจว” ไปออกไข่ แล้วก็ไปหาหนุ่มใหม่เรื่อยๆ ส่วนระบบสุดท้าย คือ ระบบชายหลายกิ๊ก (polygyny) ซึ่งเป็นระบบที่พบได้มากที่สุดในสัตว์ทั่วไป นักวิทยาศาสตร์ก็เห็นว่าคนเราก็มีระบบการจับคู่แบบนี้เช่นกัน แต่เมื่อมีกรอบของวัฒนธรรมและทรัพยากรที่จำกัดต่างกัน จึงมีลักษณะครอบครัวที่แตกต่างไปตามบรรทัดฐานของแต่ละสังคม ดังนั้นการมองเรื่อง “กิ๊ก” จึงอาจจะเป็นเพียงมุมมองของสังคมที่กำหนดกรอบจริยธรรมของการครองเรือนในระบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” ส่วนวัฒนธรรมอื่นๆ เราก็ควรเคารพในความหลากหลายของวิถีชีวิตเช่นกัน

ในทางวิทยาศาสตร์ระบบผัวเดียวเมียเดียวถือว่าหายากมากๆ โดยมีคำนิยามว่าจะพิจารณา “วิธีการจับคู่เฉพาะในฤดูกาลผสมพันธุ์เป็นหลัก” การจับคู่แบบนี้สันนิษฐานว่าในขนิดพันธุ์นี้ธรรมชาติได้คัดเลือกตัวผู้ที่แข็งแรงที่สุดเป็นผู้สืบทอดลักษณที่ดีที่สุด เพราะตัวผู้ที่อ่อนแออาจจะไม่มีโอกาสได้ผสมพันธุ์เลย และเมื่อมีการจับคู่ทั้งสองตัวผัวเมียก็จะช่วยกันป้องกันอาณาเขต เพื่อหาอาหารและดูแลลูกน้อยได้มากกว่าเมื่อตอนแยกกันอยู่ แต่ก็อาจจะไม่ได้ครองคู่กันไปตลอดชีวิต เช่น เสือ หมี จึงถือว่าเป็นการจับคู่แบบผัวเดียวเมียเดียวในระยะสั้นและอาจมีการเปลี่ยนคู่ได้ในฤดูกาลถัดไป หรือ Serial monogamy ซึ่งนักพฤติกรรมศาสตร์เสนอว่า คนเราเองก็เริ่มเปลี่ยนระบบการจับคู่มาเป็นระบบ Serial monogamy คือแต่งงานกับคู่ที่ตนเลือกครั้งละคนเดียว แต่อาจมีการแต่งงานใหม่ได้เมื่อหมดสวาทขาดรักหรือตายจากกันไป ส่วนระบบผัวเดียวเมียเดียวที่จับคู่กันตลอดชีวิตอย่างแท้จริง หรือ lifelong monogamy นั้นมีเพียง 3-5% ของสัตว์บนโลกนี้ ซึ่งตัวอย่างที่มักกล่าวถึงก็เช่น นกเลิฟเบริด หงส์ นกเงือก นกอัลบราทรอส ชะนี หมาป่า และปลวก (ดังนั้นใครว่าเรา “หน้าปลวก” จงภูมิใจอย่างน้อยเราก็รักเดียวใจเดียว!)
ชาวเขาเผ่า Kipsigis ในเคนย่าที่เลี้ยงปากท้องด้วยการเลี้ยงสัตว์ไล่ทุ่งและฝ่ายหญิงต้องแต่งงานเข้าบ้านฝ่ายชาย มักถูกยกเป็นตัวอย่างของวัฒนธรรมการมีภรรยาจำนวนมากตามความสามารถของผู้ชายที่ครอบครองพื้นที่เกษตรและพื้นที่อาศัยได้กว้างกว่า ถือเป็นตัวอย่างการเทียบเคียงปัจจัยพื้นฐานที่สุดที่ผู้ชายจะมีกิ๊กได้หลายคนและผู้หญิงจะตัดสินใจเลือกสามีที่สามารถเลี้ยงดูตนเองได้อย่างสบายที่สุด เพราะสุดท้ายก็จะมีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนคนในครอบครัวที่ต้องไม่มากเกินกำลัง (wsu.edu)



ส่วนสัตว์ที่นิยมมีกิ๊กก็ต้องสู้กันต่อไป เมื่อชีวิตเริ่มยากจะกั๊กที่อยู่ที่กินก็ใช่เรื่อง ก็ต้องแบ่งสรรปันส่วนให้ดี แถมยังต้องคอยป้องกันไม่ให้กิ๊กของเราไปเป็นกิ๊กของเขาอีก นักวิทยาศาสตร์ชื่อ Gordon Orians ได้สร้างโมเดลที่นายปรี๊ดขอขนานนามว่า “จุดเปลี่ยนผ่านของการเพิ่มกิ๊ก” หรือ “Polygyny Threshold Model” ขึ้นมาผ่านการศึกษานกชนิดหนึ่ง โดยเสนอว่าการที่สัตว์ตัวเมียจะตัดสินใจไปอยู่ใน “ฮาเร็ม” ของตัวผู้สักตัว ก็ต้องพิจารณาแล้วว่าตัวผู้นั้นครองครองอาณาเขตที่ดีพอหรือไม่ ซึ่งนั่นแปลว่า ตัวผู้ตัวนั้นได้ครอบครองแหล่งอาหาร แหล่งทำรัง อันเป็นทรัพย์สมบัติที่มีค่าต่อการขยายเผ่าพันธุ์ ส่วนในคนมีชนเผ่าที่มักยกเป็นตัวอย่างคลาสสิกของโมเดลนี้ในด้านมนุษวิทยา คือ ชาวเขาเผ่า Kipsigis ในเคนย่า ซึ่งเลี้ยงปากท้องด้วยการทำปศุสัตว์ ดังนั้นชายใดที่สามารถครอบครองพื้นที่เกษตรและพื้นที่อาศัยได้กว้างกว่าก็จะมีสาวๆ ในครอบครัวจำนวนมากกว่า แต่ถ้าเริ่มมีสาวในบ้านมากขึ้น ความสามารถในการรับอนุภรรยาเข้ามาก็จะลดลงไปตามกำลังในการเลี้ยงดูคนในครอบครัวด้วยเช่นกัน

คำอีกคำหนึ่งที่น่าสนใจในทางพฤติกรรมศาสตร์ คือคำว่า “ชู้” หรือ “Extra pair” ซึ่งพบในนกและสัตว์หลายชนิดที่ถูกมองว่าเป็นพวก monogamy หรือผัวเดียวเมียเดียว แต่จริงๆ แล้วแอบไปมีกิ๊กอยู่บ่อยๆ เช่น ในนกหลายชนิดที่ทำรังอยู่ด้วยกันเป็นคู่อยู่ดีๆ บางวันก็จะแอบตีมึนบินไปรังอื่นบ้างเหมือนกัน เชื่อกันว่า ปัจจัยหลักๆ ก็เพื่อให้เกิดการความหลากหลายทางพันธุกรรมซึ่งอาจจะมีผลทำให้สัตว์ในกลุ่มประชากรนั้นมีลูกหลานที่มีลักษณะแข็งแรงขึ้น ตัวอย่างที่น่าสนใจคือนก Indigo Buntins ที่พบว่านกตัวเมียมีอัตราการลักลอบมีกิ๊กกับตัวผู้ตัวอื่นๆ สูงสุดในช่วง 3 วันก่อนการวางไข่ การศึกษาชะนีมือขาวในเขาใหญ่ก็พบว่าชะนีราว 12% ก็แอบมีกิ๊กกะเค้าบ้างเหมือนกัน ในนกเงือกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์รักเดียวใจเดียวก็พบว่ามีตัวผู้จำนวนหนึ่งแอบมีกิ๊กกะเค้าด้วยหากตัวผู้ตัวนั้น “ป๋า” พอที่จะหาอาหารได้จนพอเพียงสำหรับแม่นกทั้งสองบ้าน แต่ด้วยวิธีการเลี้ยงลูกนกที่ตัวเมียขังตัวเองและลูกไว้ในโพรงแล้วตัวผู้ต้องบินหาอาหารมาป้อน การมีกิ๊กในนกเงือกจึงถือว่ายากมากและโอกาสรอดขอลูกนกก็จะน้อยตามไปด้วย เมื่อรู้ว่าคู่ของตัวอาจจะมีชู้และลูกที่เกิดมาอาจจะไม่ใช่ของตัวเองจะเสียพลังงานเลี้ยงดูก็ใช่ที่ สัตว์แต่ละชนิดจึงมีวิธีรป้องกันชู้หลากหลายเช่นกัน ในลิงชิมแพนซี งู แมงป่อง และหนูตะเภา ตัวผู้จะขับ “แท่งกันชู้” หรือ “mating plug” ซึ่งมีลักษณะเหมือนไขเหนียวตามออกมาหลังจากการผสมพันธุ์เพื่อไม่ให้ตัวผู้อื่นมีโอกาสได้สวมรอย หรือในนกดันน็อก (Prunella modularis) ยิ่งกลัวชู้มากกว่าถึงขนาดที่ตัวผู้ต้องใช้จงอยปากตรวจสอบก่อนร่วมหอลงโรงกับเจ้าสาว เพราะต้องแน่ใจว่าลูกนกที่เกิดมาต้องเป็นของตัวเองเท่านั้น!

โบราณท่านว่าดูหนังดูละครแล้วให้ย้อนดูตัว อันจะห้ามลูกหลานไม่ให้ติดละครงองแงมก็แสนจะยากเย็น (เพราะตนเองก็ไม่อยากพลาดสักตอนเดียว) การนั่งประกบตามสอนเรื่องจริยธรรมควบคู่กันไปอาจเป็นทางออกที่ดี หรือจะเริ่มสะกิดใจให้เด็กๆ อยากค้นคว้าเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์จากละครซ่อนกิ๊กบ้างก็คงจะมีประโยชน์ไม่น้อยนะครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด”
นักเรียนทุนวิทยาศาสตร์ที่บ่น โวยวาย บ้าพลัง และไม่ชอบกรอบ แต่มีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์ล้นเหลือระหว่างตะกายบันไดการศึกษาสู่ตำแหน่ง “ดอกเตอร์” ด้านชีววิทยา ทั้งงานสอน ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการเรียนวิทยาศาสตร์ ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ กรรมการตัดสินโครงงานวิทยาศาสตร์และวิทยากรบรรยายเรื่องวิทยาศาสตร์ใกล้ตัว

“แคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ สะกิดต่อมคิด”

อ่านบทความของนายปรี๊ดได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์








อ้างอิง
Dugatkin, L.A. 2009. Principles of Animal Behavior (2nd Ed.). W. W. Norton & Company. p 226-256
Kinnaird, M.F. and O'Brien, T. G. 2008. The Ecology and Conservation of Asian Hornbills: Farmers of the Forest. University of Chicago Press. p 40-41.
Reichard, U. 1995. Extra-pair Copulations in a Monogamous Gibbon (Hylobates lar). Ethology 100 (2): 99–112
กำลังโหลดความคิดเห็น