เมื่อวันก่อนผมได้พบกับรุ่นพี่ที่นับถือ นั่งคุยกันเรื่องสัพเพเหระแล้ว วกเข้าเรื่อง “ด.ช.นิว” ลูกชายวัย 8 ขวบของแก ที่กำลังปลื้มการเลี้ยง “baby crystal” ซึ่งมีลักษณะเหมือนเม็ดสาคูสีสวยใส ทำจากโพลีเมอร์ชนิดหนึ่ง เมื่อใส่ลงน้ำแล้วจะพองตัวจนกลมดิ๊ก ด.ช.นิว ยังบอกแม่ด้วยว่า “มันออกลูกด้วยนะแม่...แม่อย่าเขย่าขวดแรงนะ เดี๋ยวมันจะแท้ง”
ด.ช.นิว เล่าว่า ที่โรงเรียนมีคนเล่นเยอะแยะ มีเพื่อนคนหนึ่งเพาะจนออกลูกเป็นหมื่นๆ เม็ด (คิดว่าเด็กๆ น่าจะประมาณจำนวนโอเวอร์ไปนิด) เค้าเลยขอแบ่งมาเล่นบ้าง และแน่นอนว่า ตามสไตล์คุณแม่ยุคใหม่ใส่ใจการเรียนรู้ ลูกอยากเล่นอะไรก็ไม่อยากขัดใจวัยรุ่น พี่สาวผมจึงต้องเตรียมขวดใส่สัตว์เลี้ยงพิศดารให้ไปเล่นกับเพื่อนที่โรงเรียน แม้จะรู้ว่ามันเป็นของอันตรายหากเผลอทำเข้าปาก แถม อย.ยังเคยออกโรงเตือนและห้ามขายไปแล้ว แต่เมื่อผู้ปกครองต้านทานความสนใจของบรรดาเด็กๆ ไม่ได้ การดุด่าห้ามปรามอาจกลับเป็นแรงส่งให้แอบเล่นกันเอง ซึ่งน่าจะอันตรายกว่าหลายเท่า ดังนั้น การดูแลอย่างใกล้ชิดเมื่อเด็กๆ สนใจเล่นของเล่นตัวร้ายและหาวิธีกลายร่างมันให้เกิดประโยชน์ เพื่อต่อยอดทางความคิด อาจเป็นทางออกที่ดีกว่า
ตามประสาคนชอบหลอกเด็กให้เรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์จากของเล่น ผมเลยเสนอให้รุ่นพี่ชวน ด.ช.นิว ใช้เจ้า “baby crystal” ออกแบบทดลองวิทยาศาสตร์จากคำถามง่ายๆ เพราะแม้แต่ผมและรุ่นพี่ก็ยังไม่แน่ใจว่าตกลงแล้วเจ้าสาคูตัวร้ายนี่มันแค่พองเพราะดูดซับน้ำหรือมันมีลูกได้จริงอย่าที่หลานว่ากันแน่ ? โดยเราแอบวางแผนกันว่าต้องกระตุ้น ด.ช.นิว ให้ตั้งคำถาม ลงมือทดลอง และจดบันทึก ที่สำคัญ ต้องเริ่มด้วยคำถามหรือความสนใจของเค้าเองไม่ใช่ของแม่...ในเย็นนั้นรุ่นพี่ผมโทรศัพท์มาเล่าว่า ลองชวนน้องนิวทดลองแล้ว ตอนแรกก็งอแงนิดหน่อยว่าทำไมต้องทำ แต่เมื่อแม่มีเหตุผลที่ดี เด็กๆ ย่อมพร้อมเปิดใจร่วมทำอะไรสนุกๆ อยู่แล้ว
คำถามแรกของ ด.ช.นิว คือ “มันพองตัว หรือมันมีลูก (แตกตัวได้) ?” โดยมีคุณแม่กระตุ้นให้ออกแบบการทดลองด้วยการนับเม็ด baby crystal แต่ะสีใส่ลงในขวดแก้ว แล้วให้ ด.ช.นิว บันทึกไว้ หลังจากนั้น ด.ช.นิว เสนอว่า เค้าจะต้องนับจำนวนต่อเนื่องสักหนึ่งเดือนจะได้เห็นผลชัดเจนว่ามันมีลูกจริงไหม? เพราะจากประสบการณ์ของเค้ากับเพื่อนจะต้องใช้เวลารอเจ้าสาคูสังเคราะห์เพิ่มจำนวนนานพอสมควร ถือเป็นการเริ่มกระบวนการสังเกตและตั้งคำถามที่ดีในขั้นแรก
หาก ด.ช.นิว ยังไม่เบื่อของเล่นชนิดนี้ไปเสียก่อน คุณแม่ก็แอบเตรียมคำถามต่อยอดอื่นๆ ไว้ให้แล้ว เช่น อัตราการดูดน้ำและขนาดที่เพิ่มขึ้นในเวลาที่เปลี่ยนไป หรือการวาดแผนภูมิการเพิ่มจำนวนของ baby crystal (หากมันเพิ่มจำนวนได้จริงตามสมมุติฐานของ ด.ช.นิว) วิธีการเรียนรู้และลงมือทดลองด้วยตัวเองแบบนี้ นอกจากจะสร้างกระบวนคิดที่ดีสำหรับเด็กแล้ว พ่อแม่ยังไม่ต้องนั่งสาธยายถึงความอันตรายจากของเล่นให้เมื่อยปาก เพราะหากเด็กได้ทดลองให้เห็นด้วยตาตนเอง และคิดตามอย่างเป็นระบบแล้ว เหตุการณ์นำของเล่นเข้าปากอย่างไร้สติก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น แถมพ่อแม่ยังสามารถเชื่อมโยงการดูดน้ำ การเพิ่มขนาด และขยายจำนวนของเจ้าสาคูจอมดูดเข้ากับเหตุการณ์อันตราย เมื่อมันไปนอนอยู่ในท้องเล็กๆ ได้อีก หรือหากต่อยอดให้ไกลด้วยการร่วมกันสืบค้นข้อมูลทางชีววิทยาของร่างกายมนุษย์ พ่อแม่อาจชวนเด็กๆ ตั้งคำถามถึงการจำลองขนาดกระเพาะและของเหลวภายใน เพื่อร่วมกันทดสอบอันตรายจากการกลืน baby crystal ลงท้อง แบบไม่ต้องมารอให้ใครมาสร้างความอัจริยะให้ลูกท่าน เพราะผู้ปกครองก็สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ในบ้านได้ เพียงแค่พลิกมุมมองจากของเล่นที่ลูกหลานกกำลังปลื้มเท่านั้น
นายปรี๊ดสาบานได้ว่าไม่ได้ได้ค่าโฆษณามาจากพี่จีนฝ่ายผลิต หรือพยายามเสนอให้พ่อแม่ไปซื้อเจ้าสาคูตัวร้ายมาให้ลูกเล่น เพราะถ้าลูกท่านหรือเพื่อนที่โรงเรียนไม่ได้เห็นของเล่นอันตรายเป็นสิ่ง “ฮอตฮิต” แบบ ด.ช.นิว ก็ถือว่าท่านได้หมดห่วงเรื่องความปลอดภัยไปมากแล้ว แต่จริงๆ ของรอบตัวที่สามารถทำหน้าที่แบบ baby crystal ยังซ่อนอยู่อีกหลายที่ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ปกครองจะดึงอาวุธลับเหล่านั้นออกมาใช้อย่างไร ตัวอย่างที่ผมเคยทดลองกับเด็กๆ แล้วเป็นเรื่องสนุก คือ “ขนมบัวลอย” ขนมยอดฮิตที่ไม่มีอันตรายใดๆ แถมทำเสร็จแล้วยังสามารถกินกันอร่อยพุงด้วย ผมเริ่มต้นด้วยการไม่ตั้งคำถามใดๆ แต่มีวัตถุดิบหลากหลายให้เลือกทดลอง และไม่มีการบังคับให้ทำบัวลอยจนเสร็จเป็นถ้วย แต่กลับขอให้เด็กๆ ที่ร่วมกิจกรรมออกแบบการทดลองจากวัตถุดิบให้ได้ผลสำเร็จเท่านั้น ความสนุกเริ่มต้นตั้งแต่แป้งที่ใช้ เพราะผมไม่บอกว่าเป็นแป้งชนิดไหน แม้เด็กหลายคนจะรู้ว่าต้องใช้แป้งข้าวเหนียวทำบัวลอย แต่บนโต๊ะมีเพียงถ้วยใส่แป้งติดอักษร A B C D ไว้ ซึ่งจริงๆ แล้ว คือ แป้งข้าวโพด แป้งข้าวเจ้า แป้งมัน และแป้งข้าวเหนียว เด็กบางกลุ่มจึงตั้งคำถามจากสัดส่วนการผสมแป้งปริศนาแล้วนำไปต้มในเวลาที่เท่ากัน เพื่อหาว่าแป้งชนิดใดหรือสัดส่วนใดเหมาะสมที่สุด บางคนตั้งคำถามเรื่องรูปทรงของเม็ดบัวลอยกับความเร็วในการสุก โดยมีการชั่งปริมาตรและปั้นเป็นทรงกลม ทรงกระบอก ทรงปิรามิด ทรงลูกเต๋า แล้วนำไปต้ม เพื่อทดลองว่ารูปทรงแบบไหนสุกเร็วที่สุด บางกลุ่มเลือกผสมสีสังเคราะห์เปรียบเทียบกับสีสกัดจากธรรมชาติ เช่น แครอท อัญชัน และใบเตย เพื่อเปรียบเทียบความเร็วในการสุกและความพึงพอใจของผู้ชิม
ฟังดูแล้วเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ผลที่ได้กลับน่าตื่นเต้น เช่น กลุ่มที่ทดลองผสมแป้งกลับพบว่าหากผสมแป้งข้าวเหนียวและแป้งข้าวเจ้าในสัดส่วนที่พอดีจะทำให้มีรสชาดดีกว่าการใช้แป้งเพียงชนิดเดียว กลุ่มที่ปั้นแป้งเป็นรูปทรงต่างๆ พบว่า แป้งทรงปิรามิดสุกเร็วกว่าทรงกลมเมื่อมีปริมาตรเท่ากัน และกลุ่มที่เปรียบเทียบสีสังเคราะห์กับสีธรรมชาติพบว่าบัวลอยสีธรรมชาติใช้เวลาต้มนานกว่าแต่ได้รสชาติที่ผู้ชิมพอใจมากกว่า ตัวอย่างที่เล่ามาล้วนแต่เป็นจุดเริ่มต้นง่ายๆ ที่ผู้ปกครองสามารถนำไปปรับใช้ในบ้านเพื่อจุดประกายความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัวลูกหลานได้ แม้หลายคนจะกลัวว่าเมื่อได้ผลออกมาจะอธิบายไม่ถูกว่ามันเกิดเหตุการณ์นั้นได้อย่างไร แต่ผมว่านั่นเป็นแค่ปัญหาเล็กจิ๋วในยุคที่ทุกคนเข้าถึงระบบออนไลน์ได้ สมาชิกในครอบครัวสามารถร่วมวงกันสืบค้นข้อมูลจากแหล่งต่าง หรือชวนกันโพสต์สอบถามตามเว็บบอร์ดที่เกี่ยวข้องทางวิทยาศาสตร์ได้ ผมมั่นใจว่าหากได้เล่าเรื่องการทดลองของเด็กๆ ให้ชุมชนคนรักวิทยาศาสตร์ฟังแล้ว คำตอบหรือการอภิปรายผลดีๆ จะพรั่งพรูจนตามอ่านแถบไม่ทันกันเลยทีเดียว...ไหนๆ เด็กไทยจะมีแท็บเลตใช้กันทั่วถ้วนแล้ว จะได้เปิดโอกาสให้ลูกหลานฝึกกระบวนการคิด แล้วยังได้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเกิดประโยชน์ด้วย ผู้ปกครองเองก็สามารถได้เรียนรู้ไปกับเด็กๆ เข้าทำนองการเรียนรู้เกิดใหม่ได้ไม่มีที่สิ้นสุด
ของทุกอย่างเหมือนดาบสองคม ของเล่นยอดนิยมจึงมักผลิตตามจริตของคนตัวเล็ก ที่ถูกหลอกล่อให้ตื่นตาตื่นใจกับสิ่งมหัศจรรย์ได้ง่ายๆ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยอันตรายหากใช้งานไม่ถูกต้อง การห้ามด้วยความเป็นห่วงนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่การสอนด้วย “ความจริง” ที่เปิดโอกาสให้เด็กลงมือทดลองจนเห็นกับตานั้น ป้องกันอันตรายได้แน่นอน ยาวนาน และเสริมสร้างระบบคิดได้มากกว่า เหมือนดาบที่ด้านหนึ่งอาจใช้ขัดเกลาเด็กให้เป็นคนเก่ง แต่อีกด้านเหมือนมีดที่พร้อมตัดปีกห้ามเด็กหัดบินด้วยตนเอง หากเลือกใช้ผิดเวลาผิดวิธี...ในอนาคตจะไปโทษว่าลูกหลานของท่านว่าคิดเองไม่เป็น...ไม่ได้นะครับ
***************
เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด”
นักเรียนทุนวิทยาศาสตร์ที่บ่น โวยวาย บ้าพลังและไม่ชอบกรอบ แต่มีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์ล้นเหลือระหว่างตะกายบันไดการศึกษาสู่ตำแหน่ง “ดอกเตอร์” ด้านชีววิทยา ทั้งงานสอน ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการเรียนวิทยาศาสตร์ ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ กรรมการตัดสินโครงงานวิทยาศาสตร์และวิทยากรบรรยายเรื่องวิทยาศาสตร์ใกล้ตัว
“แคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ สะกิดต่อมคิด”
อ่านบทความของนายปรี๊ดได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์