เมื่อ 4 ศตวรรษก่อน ซึ่งเป็นสมัยราชวงศ์ Ming ของจีน มีปราชญ์จีนคนหนึ่งผู้เป็นทั้งนักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ นักเกษตรกรรม และนักมานุษยวิทยา ซึ่งได้ช่วยชาวจีนนับแสนคนให้รอดพ้นจากทุพภิกขภัยด้วยการออกแบบเขื่อน และขุดคลองทดน้ำ รวมถึงได้นำพืชที่สามารถเติบโตได้ดีในภาวะน้ำมากมาให้ชาวบ้านปลูก และบุคคลเดียวคนนี้ยังได้ปรับปรุงปฏิทินจีนให้ถูกต้องโดยการนำความรู้ดาราศาสตร์ของโลกตะวันตกมาประยุกต์ แต่ผลงานที่นับว่าสำคัญที่สุด คือ การร่วมมือกับบาทหลวงต่างชาติแปลตำราเรขาคณิต ชื่อ Elements ของ Euclid และวิธีคิดของปราชญ์ตะวันตกเป็นภาษาจีน ความสำเร็จทั้งหลายที่ชายคนนี้ทำจึงมีผลทำให้ได้รับการขนานนามว่าเป็น Leonardo da Vinci ของจีน
ท่านผู้นี้ชื่อ Xu Guangqi (สีว์ กวงฉี่)* ซึ่งถือกำเนิดเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ.1562 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักพรรดิ) ที่เซี่ยงไฮ้ในจีน ในครอบครัวที่ยากจนบิดาเป็นชาวไร่ ซึ่งทำมาหาเลี้ยงชีพโดยการทำสวนผัก แม้จะขัดสนเงินทอง แต่ก็สามารถส่งบุตรชายวัย 6 ขวบเข้าโรงเรียนได้ เพราะ Xu เป็นเด็กมีสติปัญญาดี ดังนั้น จึงเรียนหนังสือเก่ง และเรียนสำเร็จขั้นปริญญาตรีตั้งแต่อายุ 19 ปี เพราะบิดามารดามีความประสงค์จะให้บุตรเข้ารับราชการ ดังนั้น จึงส่ง Xu เข้าสอบจอหงวน และสอบได้ จึงเข้าทำงานในตำแหน่งขุนนางแห่งราชสำนักของราชวงศ์ Ming
จุดเปลี่ยนในชีวิตของ Xu เกิดขึ้นในปี 1600 เมื่อ Xu วัย 38 ปี ได้พบบาทหลวง Matteo Ricci ผู้เป็นศิษย์ของ Christopher Clavius ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียง Xu รู้สึกประทับใจในความสามารถและความรอบรู้ของ Ricci มาก เมื่อ Ricci ถ่ายทอดความรู้เรขาคณิตที่ Xu ไม่เคยเรียนมาก่อนในชีวิต Xu จึงตื่นเต้น และมีความประสงค์จะแปลตำราเรขาคณิตของ Euclid ให้คนจีนทั่วไปได้เรียนรู้บ้าง
ในสมัยราชวงศ์ Ming (1368-1644) (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร-สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) ประเทศจีนมีความก้าวหน้าทั้งด้านการค้า อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ปรัชญาและวรรณกรรม โดยเฉพาะในแถบลุ่มแม่น้ำแยงซี จึงทำให้มีบุคคลสำคัญเช่น Xu Guangqi ถือกำเนิดในแผ่นดิน เมื่อถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 นักบวช Jesuit ชาวยุโรปได้เริ่มมาเยือนจีนโดยมีจุดประสงค์หลักคือจะเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโรมันแคทอลิกให้คนจีนนับถือ แต่การจะให้ชาวบ้านธรรมดาเปลี่ยนศาสนานั้น นักบวชรู้ว่าต้องทำให้ข้าราชการชั้นสูงศรัทธาและเลื่อมใสก่อน ดังนั้น จึงนำอุปกรณ์และเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่ชาวจีนไม่รู้จักมาสาธิตให้ดู รวมถึงนำความรู้วิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้างโบราณมาสอนชาวจีน ซึ่งก็ได้ผลเพราะชาวจีนรวมถึง Xu Guangqi ที่ได้รับการศึกษาดีแล้ว ต่างก็หลงใหลและชื่นชมความรู้ใหม่ๆ เหล่านี้
ในความเป็นจริง ณ เวลานั้น คณิตศาสตร์ของจีนได้ตกต่ำเป็นเวลานานแล้ว คือตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 หลังจากที่ Li Zhi พบวิธีแก้สมการพีชคณิตชั้นเดียว ตำราคณิตศาสตร์ก็ได้สูญหายไป จนคนจีนแทบไม่รู้จักใช้คณิตศาสตร์ในการแก้โจทย์ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน และนี่ก็คือช่วงเวลาที่ Ricci จากโรมได้มาเยือนจีนในปี 1582 และได้แวะพักที่ Macau ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของจีนเพื่อเรียนภาษาจีน และเพื่อจะได้เข้าใจวัฒนธรรมจีนด้วย อีก 7 ปีต่อมาเขาก็เริ่มสอนคณิตศาสตร์ให้คนจีนเรียน
ในปี 1595 Ricci ได้พยายามจะเดินทางเข้านครปักกิ่ง แต่ไม่ได้รับอนุญาตเพราะเป็นคนต่างชาติ จึงต้องไปพำนักที่ Nanking แทนเป็นเวลา 4 ปี เพราะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี หลังจากนั้นก็ได้ขออนุญาตเข้ากรุง Peking อีกครั้งหนึ่งในปี 1601 คราวนี้ทางการได้อนุญาต Ricci จึงเริ่มสอนหนังสือ และหนึ่งในบรรดาศิษย์ของ Ricci คือ Xu Guangqi ซึ่งเมื่อได้เรียนวิชาเรขาคณิต และวิทยาศาสตร์ของโลกตะวันตกเป็นครั้งแรก ได้เลื่อมใสในวิธีคิดอย่างมีตรรกะมากจนหมดหัวใจ จึงต้องการให้คนจีนทุกคนได้เรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ บ้าง Xu กับ Ricci จึงร่วมมือกันแปลตำราคลาสสิกชื่อ Elements ของ Euclid เป็นภาษาจีน
ในความพยายามจะแปลตำรานี้ Xu กับ Matteo ต้องสร้างคำใหม่ๆ ขึ้นมากมาย เช่น จุด เส้นขนาน มุมแหลม มุมป้าน ฯลฯ เพราะคำเหล่านี้ ไม่เคยมีในภาษาจีน และในบางครั้ง คำจำกัดความที่เป็นที่เข้าใจดี ในบรรดานักคณิตศาสตร์ เช่น จุด คือ สิ่งที่ไม่มีขนาด แต่มีตำแหน่งก็ได้ทำให้คนจีนคิดว่า เป็นเรื่องเหลวไหล แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน คำศัพท์ใหม่ๆ ที่เป็นภาษาจีนก็เริ่มเป็นที่ยอมรับ และถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
ในขั้นตอนการแปลนั้น Ricci จะเริ่มอธิบายเนื้อหาในตำราให้ Xu ฟังจนเข้าใจ แล้ว Xu เขียนลงไปตามที่ตนเข้าใจ ผลงานนี้ทำให้นักวิชาการจีนทุกวันนี้ ยกย่อง Xu ว่าเป็นคนเปิดศักราชการฟื้นฟูศิลปะวิทยาของจีน เพราะนอกจากจะแปลตำราของ Euclid แล้ว ยังได้แปลตำราวิทยาศาสตร์ด้านอุทกวิทยา และดาราศาสตร์ด้วย
เพราะความมุ่งหมายหลักของ Ricci คือ ต้องการให้คนจีนนับถือคริสต์ศาสนาและวิธีที่จะทำให้คนจีนเปลี่ยนศาสนา Ricci คิดว่า ต้องใช้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของโลกตะวันตก ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นได้ว่ามีทั้งพลังและความประเสริฐ โดยเฉพาะในด้านดาราศาสตร์เรื่องการทำนายปรากฏการณ์สุริยุปราคา ซึ่ง Ricci ได้พยากรณ์ไว้ว่าจะเกิดในวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ.1610 ซึ่งก็ถูกต้องตรงเวลา และตรงสถานที่ นอกจากนี้ ก็ยังพยากรณ์ว่าจะเกิดอีกครั้งในปี 1629 รัฐบาลจีนซึ่งกำลังลังเลไม่เชื่อความสามารถของชาวตะวันตกจึงประกาศแข่งขันความถูกต้องในการพยากรณ์นี้ ผู้เข้าแข่งขันได้ใช้ปฏิทินของจีน ของอิสลาม และของยุโรป ผลปรากฏว่า คำพยากรณ์ของ Xu Guangqi ที่ใช้เทคนิคของยุโรปใกล้เคียงที่สุด คือ วันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ.1629 เมื่อผลเป็นเช่นนี้ องค์จักรพรรดิจึงมีบัญชาให้ Xu Guangqi กับคณะนักบวชชาวยุโรปปฏิรูปปฏิทินจีน แต่ทำยังไม่สำเร็จ Xu Guangqi ก็สิ้นชีวิตก่อน งานชิ้นนี้จึงถูกส่งต่อให้ Li Tang-jing ดำเนินการจนเสร็จ นี่เป็นการร่วมมือกันครั้งแรกระหว่างนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกกับตะวันออกไกล
ความสำเร็จเหล่านี้ทำให้ Xu Guangqi เปลี่ยนใจไปนับถือคริสต์ศาสนา และคิดว่าวัฒนธรรมจีนสู้ของตะวันตกไม่ได้ ดังนั้น องค์ความรู้จีนบางเรื่องที่ผิด จำต้องถูกล้มล้างและต้องไม่ใช้สอนอีกต่อไป เปรียบเสมือนรองเท้าเก่าที่ไม่มีประโยชน์อีกต่อไปแล้ว จะต้องถูกทิ้งไปโดยไม่จำเป็นต้องรู้สึกเสียดาย
ในช่วงปี 1607 ถึง 1610 Xu ได้ลาออกจากราชการเพื่อกลับไปใช้ชีวิตเรียบง่ายที่บ้านเกิด และเริ่มนำเทคโนโลยีเกษตรกรรมของตะวันตกมาใช้ในจีน โดยการขุดคลองระบายน้ำ สร้างเขื่อนและแนะนำให้คนจีนปลูกมันฝรั่งและฝ้าย ผลงานเหล่านี้ทำให้ได้รับตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ตัว Xu เองเป็นคนที่มีความรักชาติมาก และรู้สึกกังวลว่าจีนจะถูกรุกรานโดยกองทัพแมนจู จึงเขียนตำราทหารและกลยุทธสงคราม ชื่อ Cook Xu’s Words ซึ่งก็ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านว่า คนเขียนมิใช่นักการทหาร ในหนังสือเล่มนั้น Xu ได้เสนอความคิดว่า “ประเทศชาติจะร่ำรวย ถ้ากองทัพเข้มแข็ง”
นักวิชาการจีน ปัจจุบันยอมรับว่า Ricci เป็นชาวต่างชาติที่มีบทบาทมากในการพัฒนาวัฒนธรรม และอารยธรรมจีน เพราะนอกจากจะนำความรู้ตะวันตกเข้าเมืองจีนแล้ว ยังได้นำวัฒนธรรมกับอารยธรรมจีนออกสู่โลกตะวันตกด้วย โดยการแปลตำราของขงจื้อหลายเล่มเป็นภาษาละติน ทุกวันนี้ชาวจีนก็ยังชื่นชม Ricci อยู่ ที่ไม่ได้แปลไบเบิลเป็นภาษาจีน แต่แปล Elements ชอง Euclid แทน
ในด้านชีวิตครอบครัว Xu Guangqi มีภรรยาชื่อ Wu มีลูกสาวหนึ่งคนชื่อ Xu Ji และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ.1633 สิริอายุ 71 ปี ที่ Beijing ศพถูกนำไปฝังในสุสานที่อยู่ห่างจาก Partner Institute for Computational Biology (PICB) ประมาณ 30 กิโลเมตร
เมื่อเดือนตุลาคมปี ค.ศ.2007 ได้มีการเฉลิมฉลองครบรอบ 400 ปีแห่งการตีพิมพ์ตำรา Elements เล่มแรกใน 6 เล่ม เป็นภาษาจีนที่ PICB ที่ประชุมได้กล่าวยกย่อง Xu ว่า เป็นผู้ริเริ่มให้คนจีนเรียนรู้จากโลกตะวันตก เป็นคนที่ฝึกทหารหลวงให้รู้จักใช้ปืนใหญ่ อีกทั้งเป็นปราชญ์ที่มีความสามารถหลายด้าน และเป็นผู้ที่เผยแพร่ความรู้และความสนใจของตนไปให้คนจีนทั่วประเทศ
แต่มีข้อที่น่าสังเกตเกี่ยวกับ Xu คือ รัฐบาลจีนไม่มีการกล่าวถึงการเปลี่ยนศาสนาเป็นโรมันแคทอลิกของเขาในปี 1603 รวมถึงการเปลี่ยนชื่อเป็น Paul Xu Guangqi แม้นักวิชาการบางคนคิดว่าการที่ Xu ทำเช่นนี้ เพราะต้องการตอบแทนความช่วยเหลือของ Ricci แต่เขาก็ยังนับถือและศรัทธาในลัทธิขงจื้ออย่างแนบแน่น เพราะในตำรา และหนังสือที่ Xu เขียนมีปรัชญาขงจื้อแอบแฝงอยู่มากมาย
เมื่อราชวงศ์ Ming ล่มสลายในปี 1644 (ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง) มรดกทางความรู้ของ Xu เริ่มถูกเพิกเฉย แต่เมื่อถึงยุคปัจจุบัน คนจีนปัจจุบันได้กลับหันมาชื่นชม Xu อีกว่าเป็น คนที่เปิดประตูสู่การสนทนาระหว่างตะวันตกกับจีน และการสนทนากับความผูกพันนั้นก็ยังมีอยู่จนทุกวันนี้ และจะตลอดไปในอนาคต
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน - ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์
* Edited